อิหร่าน เปิดหน้าโจมตี อิสราเอล ด้วยโดรน-ขีปนาวุธกว่า 300 ลูก เมื่อ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ชาติมหาอำนาจ จับตาการโต้กลับของสองประเทศ นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งคู่มีรอยบาดหมางผ่าน "สงครามลับ" กว่า 40 ปี การเปิดหน้าสู้ครั้งนี้ แสดงถึงนัย ที่ไม่ใช่แค่การตอบโต้ผ่านอาวุธ เพราะถ้า "อิหร่าน" ปิดเส้นทางเดินเรือ ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง จะสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก รวมถึงไทยที่อ่วมหนัก แม้ยังไม่มีการตอบโต้กลับ แต่สงครามลับจะรุนแรงหนักขึ้น

ที่ผ่านมาอิหร่าน และอิสราเอล ไม่ได้เปิดหน้าสู้กันโดยตรง แต่มีการตอบโต้ผ่านกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ไปตลอดจนการลอบสังหารบุคคลสำคัญของสองประเทศ การตอบโต้ของอิหร่าน เมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจาก มีการโจมตี สถานกงสุลของอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย อิหร่านเชื่อว่าอิสราเอล เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

...

ความแค้นซ่อนปมของสองประเทศ ทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จับตาการถูกโจมตีของอิสราเอล ซึ่งเป็นชาติพันธมิตร ขณะอิหร่าน ที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศ แนบแน่นกับจีนและรัสเซีย ทำให้หลายชาติในโลกจับตาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น "ดร.ศราวุฒิ อารีย์" ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า หลังดูท่าทีของหลายฝ่าย คาดว่าอิสราเอลยังไม่ตอบโต้อิหร่าน ด้วยท่าทีรุนแรง จนนำสู่สงครามเต็มรูปแบบอย่างที่หลายคนกลัว น่าสนใจว่าคณะรัฐมนตรีด้านสงครามของอิสราเอล ได้มีมติว่าจะต้องตอบโต้ แต่ตอบโต้เมื่อไหร่ รุนแรงแค่ไหน ยังไม่ได้ข้อสรุป

“สหรัฐอเมริกา ถึงจะอยู่เคียงข้างอิสราเอล แต่ โจ ไบเดน ออกมาบอกว่าจะไม่เข้าร่วมกับอิสราเอล ในการเข้าไปโจมตีอิหร่าน จึงเป็นสัญญาณชัดเจนว่า สงครามที่เต็มรูปแบบยังไม่เกิดขึ้นขณะนี้ ด้านวิกฤติในฉนวนกาซา ก็ไม่ได้ยกระดับสู่สงครามครั้งใหญ่”

อิหร่านและอิสราเอล ต่างมีศักยภาพเรื่องการทหารด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้ามีสงครามเกิดขึ้น อิสราเอล มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ เนื่องจากพื้นที่ของอิสราเอลมีขนาดเล็กกว่า ขณะอิหร่าน มีพันธมิตรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐกระจายอยู่ทั่วตะวันออกกลาง สิ่งนี้ทำให้อิสราเอล ไม่กล้าตัดสินใจบุกโจมตีอิหร่าน โดยลำพัง แต่ใช้กลวิธีในดึงให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วย แต่จนถึงตอนนี้อิสราเอล ก็ยังทำไม่สำเร็จ

หากวิเคราะห์ถึงการโจมตี สถานกงสุลของอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา มีความจงใจให้อิหร่านตอบโต้อิสราเอล เพื่อให้ชาติมหาอำนาจเข้ามาช่วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อีกด้านหนึ่ง การโจมตีสถานกงสุลอิหร่าน มีความจงใจเบี่ยงเบนความสนใจของประชาคมโลก ให้ออกจากวิกฤติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา

“อิหร่าน กับอิสราเอล ต่อสู้กันผ่านสงครามลับมากกว่า 40 ปี มีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และบุคคลสำคัญของอิหร่าน ขณะที่อิหร่านก็ใช้สงครามลับต่อสู้กับอิสราเอล เช่นกัน หลายคนอาจไม่รู้สึกว่ามีการตอบโต้ดังกล่าว แต่นักวิชาการมองว่า การปะทะกันของสองประเทศผ่านสงครามลับ ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเทียบเท่ากับสงครามในระดับย่อยๆ”

การโต้ตอบต่อจากนี้ของอิหร่าน และอิสราเอล

"ดร.ศราวุฒิ อารีย์" มองการเผชิญหน้ากันโดยตรงของอิหร่านและอิสราเอล ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ทำให้ประชาคมโลกเริ่มหวาดกลัว ที่จะสร้างความเสียหายไปในระดับโลก เพราะอิหร่าน มีข้อได้เปรียบในการควบคุมช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางการค้าน้ำมันของโลก รวมถึงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮูตี (Houthi) ควบคุมช่องแคบที่ผ่านเข้าไปยังทะเลแดง และเป็นเส้นทางการค้าทางเรือที่สำคัญของโลก ถ้าเกิดสงครามใหญ่ขึ้นจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

...

สำหรับท่าทีของสหรัฐอเมริกา ได้ประเมินว่าถ้าสนับสนุนอิสราเอล โจมตีอิหร่าน จะสร้างความเสียหายมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ เพราะอิหร่านได้เปรียบในการควบคุมเส้นทางการค้าของโลก ขณะเดียวกันอเมริกาก็มีฐานทัพอยู่ในหลายประเทศของตะวันออกกลาง ซึ่งอยู่ในพิสัยของขีปนาวุธอิหร่าน สามารถโจมตีได้

“อีกประเด็นสำคัญคือ ท่าทีของ โจ ไบเดน ไม่ต้องการเห็นสงครามขยายตัวไปในระดับภูมิภาค ทำให้อเมริกา ไม่แสดงท่าทีสนับสนุนให้อิสราเอล โจมตีคืนอิหร่าน แต่ยังยืนเคียงข้างอิสราเอลอยู่ แม้การตอบโต้ของอิหร่าน ในรอบนี้เป็นแบบจำกัด ไม่ให้เกิดความเสียหายจนบานปลาย แต่การต้องโจมตีสถานกงสุล เป็นเหมือนตัวแทนอำนาจอธิปไตยของประเทศถูกโจมตี จึงต้องมีการเปิดหน้าสู้อย่างชัดเจน”

สำหรับผลกระทบที่จะมาสู่คนไทย หากมีสงครามของสองประเทศเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในอิสราเอล และคนไทยที่อาศัยอยู่ในอิหร่าน น่าสนใจว่าถ้าอิหร่านปิด เส้นทางการเดินเรือที่ส่งออกน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงทั่วโลก จนกระทบถึงไทย ดังนั้นหน่วยงานรัฐของไทย ไม่ควรประมาท ต้องวางแผนรองรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในอนาคต.

...