กูรูด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ 4 เหตุผล เชียงใหม่ และ 9 จังหวัดภาคเหนือ จมฝุ่น PM 2.5 ยาวนาน 2 เดือน แนะทางแก้ระยะสั้น-ยาว ชี้ยิ่งล่าช้าศรัทธายิ่งเสื่อม....

ต้องยอมรับว่า เวลานี้อาการหนักหนาสาหัสมาก สำหรับปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ซึ่งล่าสุด ถึงขั้นมีนักวิชาการ สื่อ วิวาทะกับทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัญหาการ “สื่อสาร” ที่คลาดเคลื่อน 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งวันนี้ (9 เม.ย. 2567) ก็กำลังถกเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่รัฐสภา เพียงแต่วันนี้ สภาพของคนเหนือ เข้าสู่วิกฤติแล้ว คงรอกฎหมายไม่ไหว... 

ที่มา เว็บไซต์ : www.iqair.com/th/
ที่มา เว็บไซต์ : www.iqair.com/th/

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในเชียงใหม่ว่า ตอนนี้ทาง ผวจ.เชียงใหม่ ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติ ใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย เชียงดาว แม่แตง ไชยปราการ ฝาง และ พร้าว ซึ่งเป็นอำเภอที่ติดกับเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยมาจากเหตุ “ไฟป่า” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน 

ในขณะที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ยังคงไม่ประกาศ ถึงแม้สภาพอากาศจะเลวร้ายและประชาชนมีความเดือดร้อนอย่างมาก สิ่งที่ทางจังหวัด “ขอความร่วมมือ” ไปยังหน่วยงานเอกชน คือ อยากจะให้ WFH หรือทำงานที่บ้าน อย่าออกจากบ้าน ถ้าออกข้างนอก ก็ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย N95 ที่สำคัญ คือ กลุ่มเปราะบาง ขอให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น ซึ่งหน่วยงานราชการได้มีการทำห้องไว้   

การประกาศ “เขตภัยพิบัติ” และการบังคับใช้กฎหมาย 

ดร.สนธิ ชี้ว่า การประกาศเขตภัยพิบัติ คือ การใช้ พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 ซึ่งอำนาจ ผู้ว่าฯ จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัตืจาก PM 2.5 สิ่งที่ทำได้ คือ การนำงบประมาณ มาใช้ในการเยียวยาประชาชน คือ การเอางบมาใช้ในการช่วยดูแลสุขภาพ พาไป ตรวจสุขภาพ รักษาฟรี ทำห้องปลอดฝุ่น แจกหน้ากาก N95 โดยเอางบประมาณจากทางราชการมาใช้ ขณะเดียวกัน หากพื้นที่ไหน ยังไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ พื้นที่นั้นก็ต้อง “ดูแลตัวเอง...” ผู้ว่าฯ ทำได้แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น

เมื่อถามว่า ทำไมบางพื้นที่ถึงไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ PM 2.5 กูรูด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นว่า ในตัวเชียงใหม่ มีการประเมิน ว่า หากประกาศไปแล้ว มันจะกระทบกับการท่องเที่ยว ซึ่งในความเป็นจริง การจะเข้ามาเที่ยวหรือไม่ เขาก็ดูสภาพอากาศอยู่แล้ว เพราะแอปฯ เกี่ยวกับ Air visual เขาก็มีทั่วโลก เขาก็คงสังเกตเห็นว่า ทำไมเชียงใหม่ ติดอันดับ 1-2 ของโลก ฉะนั้น ประเด็นการท่องเที่ยวนั้น คนต่างชาติก็คงจะเห็นและคงไม่มาเที่ยว...

“ดังนั้น ที่บอกว่า อาจกระทบกับการท่องเที่ยวนั้น มุมมองผมว่าไม่น่าเกี่ยว...ประเด็นคือ หากไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ประชาชนก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเรื่องสุขภาพ ประชาชนต้องดูแลตัวเอง ซื้อหน้ากากเอง ซื้อเครื่องฟอกเอง ฝุ่นขนาด เกือบ 200 แต่มาตรฐานคือไม่เกิน 37.5 เรียกว่าเกินไปหลายเท่า... แบบนี้ชาวบ้านเขาจะตั้งคำถามว่า รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาหรือไม่ สุขภาพของประชาชนต้องมาก่อนการท่องเที่ยว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันจึงส่งผลต่อแรงศรัทธาของประชาชน”  

สาเหตุที่ เชียงใหม่ และภาคเหนือ จมฝุ่นหนัก ยาวนาน 

ชาวบ้านสงสัย 2 เดือนที่ผ่านมา ฝุ่น PM 2.5 ไม่ลดน้อยถอยลง ดร.สนธิ กล่าวอธิบายว่า เกิดจากหลายส่วนประกอบด้วย 

1. สภาพ 9 จังหวัดภาคเหนือ เป็นลักษณะ “แอ่งกระทะ” : เหมือนกับที่ราบมันอยู่ในแอ่ง กลายเป็นสถานที่สะสมฝุ่น เวลาเราเผา หรือทำอะไรให้เกิดฝุ่น มันจะกระจายออกไม่ได้ มันฝุ่นกระจายในแนวดิ่งไม่ได้ ที่สำคัญ “ลม” ยังนิ่ง...ฉะนั้น ภาพรวม คือ “สภาพภูมิประเทศ” มีปัญหา 

2. การเผา : จะพบว่ามีจุดความร้อนอยู่ตลอดเวลา ทั้งพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึง อาทิ ไร่ข้าวโพด ข้าว โดยควันไฟต่างๆ มีทั้งในประเทศเรา และเพื่อนบ้าน 

...

3. สภาพอากาศปิด : ตอนนี้เจออากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมา ซึ่งอากาศก็ไม่ได้เย็น ทำให้เปรียบเสมือน “ฝาชีครอบต่ำ” ทำให้อากาศระบายไม่ได้

4. การบังคับใช้กฎหมายไม่เต็มที่ : ต้องยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ขาดแคลนรถฝังกลบ เมื่อไม่มีเครื่องจักร เขาก็เผา... 

นี่คือ 4 ปัจจัย หลักที่ทำให้ ภาคเหนือ “จมฝุ่น” 

แก้ปัญหา ระยะสั้น และระยะยาว ...คุมที่แหล่งกำเนิด 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมฯ ชี้ว่า เราคุมแหล่งกำเนิดไม่ได้ เราดับไฟป่าไม่ได้ ชาวบ้านแอบเผา เพื่อนบ้านปล่อยควันพิษมาเยอะแยะ ลมพัดเข้ามา เราเจรจากับเพื่อนบ้านไม่ได้ ที่สำคัญ เพื่อนบ้านบางประเทศ กำลังรบกันอีก...

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การแก้ปัญหาระยะยาว โดย จัดรูปแบบการใช้ดินและการเพาะปลูก อาจใช้กฎหมายมาควบคุม เช่น หากเป็นพื้นที่ สปก.ห้ามเผา หากเผา...เอาคืน, ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากการเผา ทั้งในและต่างประเทศ 

ระยะสั้น : ต้องประกาศเขตภัยพิบัติ อย่างน้อยก็เอาเงินมาใช้ เพื่อซื้อหน้ากากอนามัยมาแจกก่อน

...

เมื่อถามว่า สมัยก่อนทาง กทม. เราเคยฉีดน้ำ แปลว่าไม่ได้ผล ดร.สนธิ บอกว่าช่วยได้น้อยมาก เพราะฝุ่นอยู่ในอากาศชั้นบน ฉะนั้น การฉีดต้องสูงถึง 100 เมตร และน้ำที่ฉีดต้องเป็นฝอย ขนาด 0.3 ไมครอน น้ำต้องขนาดเล็กมาก เพราะไม่เช่นนั้นมันจะจับฝุ่นไม่ได้...

ฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. และเชียงใหม่ ความร้ายแรงแตกต่างกันหรือไม่ ดร.สนธิ อธิบายว่า ความร้ายแรงของฝุ่นนั้น ต่างกันที่แหล่งกำเนิด ของ กทม. มาจากควันรถ และการเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล ฉะนั้น ในฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. ก็จะมีกำมะถัน โลหะหนัก

ฝุ่นเชียงใหม่ เกิดจากการเผา ฉะนั้น จึงมีกลุ่มชีวมวล ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งก็คือ สารก่อมะเร็ง 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีอาจารย์จาก มช. เสียชีวิตจาก มะเร็งปอด การที่มีปัญหา PM 2.5 อย่างหนัก เวลานี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ ดร.สนธิ ชี้ว่า ในรอบ 5 ปี มีอาจารย์จาก มช. เสียชีวิตจากมะเร็งปอด 4-5 คน เรื่องนี้สะท้อนว่า ถึงแม้คนที่มีความรู้ สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย อยู่ในห้องตลอด ยังเป็นมะเร็งปอด แล้วแบบนี้ ชาวไร่ชาวนาจะมีอะไรป้องกัน 

...

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เรายังไม่มีสถิติที่ชัดเจน ว่าเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ ทั้งนี้ ความเป็นจริงพิษภัยจาก PM 2.5 ไม่ได้เป็นแค่มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สโตรก หัวใจตีบตัน ซึ่งโรคเหล่านี้เกี่ยวข้องหมด 

“สิ่งที่เราทำนั้น เราเริ่มตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัญหาคือ เราทำตามแผนไม่ได้ เวลาแอ็กชันจริงๆ ไม่มีเจ้าภาพ งบประมาณ ก็ให้ส่วนกลางทั้งหมด ซึ่งแนวทางแก้ที่ถูกคือ งบต้องลงท้องถิ่น อบต. เทศบาล อบจ. เพราะหน่วยงานเหล่านี้เขารู้จักชาวบ้านเป็นอย่างดี แต่เรากลับไปใช้ กรมต่างๆ เป็นการสั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งที่ถูกคือ ต้องจากข้างล่างขึ้นบน พยายามกระจายอำนาจ และต้องมีตัวชี้วัด เช่น หากมีปัญหาในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษ” 

ในขณะที่เพื่อนบ้านนั้น เดิมเราไปทำสัญญา “อาฟตา” คือ ส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตร 8 ชนิด ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำมาขายเราโดยไม่เสียภาษี ส่วนมากคือ จะเอามาเป็นอาหารสัตว์ แต่เมื่อเราทำสัญญาไปแล้ว เรานึกไม่ถึงว่า เขาจะไปเผา ตอ ซัง ฟางข้าว ข้าวโพด กลายเป็นว่า เราไปลงทุน แล้วเขาก็เผา 

ทางแก้เรื่องนี้ รัฐบาล จะต้องหาวิธีใหม่ คือ แบนสินค้า ที่ใช้การเผา และลงโทษ “นักธุรกิจเรา” ที่ไปทำธุรกิจในต่างประเทศ แล้วเกิดการเผา ด้วยการไม่รับซื้อสินค้า ทั้งใน และต่างประเทศ 

แปลว่าประเทศไทย เองก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดการเผา ในประเทศเพื่อนบ้าน? ดร.สนธิ ตอบว่า “ใช่...เราเข้าใจว่าเพื่อนบ้านเขาทำ เขาอาจขายให้จีนบ้าง ไทยบ้าง แต่เราเองต้องป้องกันที่ตัวเราก่อน ต้องไม่ซื้อสินค้าเหล่านี้” 

สำหรับ ชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือ ก่อนอื่นต้องระมัดระวังตัวเองก่อน ก่อนออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัย N95 ไม่ควรออกกำลังกายนอกบ้าน สิ่งสำคัญคือ อยากให้รัฐบาลเข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่ให้มากๆ กว่านี้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ