ค่าแรง 400 บ. เป็นประเด็นสืบเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความเห็นถึงการปรับค่าแรงให้ไปถึง 400 บาท หรือใกล้เคียง หลังนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจในการประชุมพิจารณาปรับอัตราค่าแรง จนมีการพิจารณารอบ 2 เพื่อปรับขึ้นช่วงสงกรานต์นี้ แต่แล้วกลับปรับเฉพาะธุรกิจโรงแรม 10 จังหวัด โดยนักวิชาการมองว่า แรงงานทั้งประเทศกำลังถูกหลอก
เพราะพอเอาเข้าจริง กลายเป็นหนังคนละม้วน เมื่อ 26 มี.ค. 67 คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ เห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบสองเป็น 400 บาท นำร่องเฉพาะธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ใน 10 จังหวัด เริ่ม 13 เม.ย.นี้
ตรงข้ามกับนักวิชาการแรงงาน ออกมาแสดงความเห็นผิดหวัง เพราะโรงแรมระดับ 4 ดาว ส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงให้กับพนักงานในระดับเกินมาตรฐาน แม้มีการอ้างว่า เป็นมาตรการนำร่อง แต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงสูตรการปรับค่าแรง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า การที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เฉพาะธุรกิจโรงแรม แม้อ้างว่าเป็นการนำร่อง แต่ยังมีข้อสงสัยในการคำนวณสูตรการปรับค่าจ้าง จึงอยากเรียกร้องให้บอร์ดออกมาเปิดเผยตัวเลขที่ใช้ในสูตรการปรับอัตราค่าจ้างครั้งนี้
...
“การทำแบบนี้เหมือนกับการหาเสียงของรัฐบาล โดยการปรับแค่บางธุรกิจ เพื่อให้เหมือนบรรลุสิ่งที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่อแรงงานในภาพรวม เพราะในธุรกิจโรงแรมเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว อัตราค่าจ้างย่อมสูงเกินกว่าที่กำหนด บวกกับจังหวัดที่ประกาศออกมาก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก จึงไม่น่ามีผลกระทบกับนายจ้างส่วนใหญ่”
การขึ้นค่าแรงแบบนำร่องครั้งนี้ เป็นการทำที่ผิดหลักเกณฑ์ ทั้งที่จริงบอร์ดควรดูแลลูกจ้าง ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง และควรไปดูในอุตสาหกรรมที่มีปัญหาและมีค่าแรงที่ต่ำ ในอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงสูงอยู่แล้วไม่ควรเข้าไปยุ่งกับธุรกิจเหล่านั้น แต่ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปปกติ
“แรงงานทั้งประเทศเหมือนถูกหลอก เพราะรัฐบาลชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่คนที่ไม่รู้ก็อาจรู้สึกว่าทำสำเร็จแล้ว แต่จริงแล้วขึ้นเฉพาะในธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่ผ่านมามีการสัญญากับแรงงานว่าจะปรับขึ้นให้ช่วงสงกรานต์ ท่าทีของผู้ที่ออกมา เหมือนผลัดวันไปเรื่อย ทั้งที่ต้นปีนายกฯ แสดงออกถึงความไม่พอใจในการปรับค่าแรงน้อยเกินไป”
สูตรปรับค่าแรง คิดผิดตั้งแต่ต้นปี
รศ.ดร.กิริยา กล่าวถึงสูตรการปรับค่าแรง นักวิชาการพยายามออกมาติงบอร์ดค่าจ้างว่าเป็นสูตรที่คิดผิดตั้งแต่ต้นปี แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ นายจ้างยังยืนยันว่าเอาสูตรเดิม เลยทำให้การปรับอัตราค่าจ้างเมื่อต้นปีน้อยมาก จนแทบไม่มีนัยสำคัญต่อแรงงานและเศรษฐกิจ
“บอร์ดค่าจ้างจะตั้งอนุกรรมการทางวิชาการมาเพื่ออะไร มีการเสนอให้ปรับสูตรการคิดที่เหมาะสม แต่กลับมีนโยบายปรับขึ้น 400 บาท เฉพาะธุรกิจโรงแรม สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ามีการเมืองแทรกแซง แถมยังหลอกต่อว่า นี่เป็นธุรกิจนำร่อง ขายฝันให้แรงงานไปเรื่อย”
...
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของไตรภาคีที่พิจารณาการปรับค่าจ้าง แต่ในทางปฏิบัติลูกจ้างกลับไม่มีอำนาจต่อรอง เลยถูกแทรกแซงจากนายจ้างและการเมือง จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนคนที่จะเข้าไปนั่งบอร์ดพิจารณาปรับค่าแรง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ประกาศขึ้นค่าแรง ควรต้องบอกถึงสูตรการคำนวณค่าแรง ที่มาของตัวเลขที่นำมาคิด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ตอนนี้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันว่าต้องการพาประเทศไปทิศทางไหน จะได้ไปกำหนดค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจในอุตสาหกรรมนั้น และคิดสูตรคำนวณค่าแรงใหม่ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ประกอบกับต้องพัฒนาทักษาะแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการ
การปรับค่าแรงควรต้องปรับทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานไม่มีมาตรฐานในการปรับอัตราเงินเดือนที่ชัดเจนว่า จะอยู่ในช่วงเวลาใดของปี ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อโดนการเมืองทักท้วงก็เริ่มขยับเพื่อปรับตามความต้องการของการเมือง เลยส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในภาพรวม.