กทม.ชี้แจงปมอาหารหมาเร่ร่อนได้คุณภาพ หลังพลเมืองดีร้องเรียน "สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์" กรณีอาหารสุนัขในศูนย์พักพิงหมาเร่ร่อน ของ กทม. จ.อุทัยธานี ไม่ได้คุณภาพ ยืนยันขั้นตอนประมูลโปร่งใสตรวจสอบได้ ส่งกรมปศุสัตว์ ตรวจอาหารสุนัขยืนยันโภชนาการครบ เผยอาหารลอตท้ายๆ ความน่ากินลดลง เป็นเรื่องปกติ

“ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ติดตามกรณีการร้องเรียนเรื่องปัญหาอาหารสุนัข ในศูนย์พักพิงหมาเร่ร่อน ของ กทม. จ.อุทัยธานี ที่กลุ่มคนรักสัตว์มีห่วงใยในเรื่องสวัสดิภาพ การดูแลในเรื่องอาหาร และการเลี้ยงดูที่เหมาะสม 

“นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์” ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชี้แจงกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ด้วยทางศูนย์มีสุนัขกว่าพันตัว มีทั้งที่อายุมาก และป่วยตายเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีที่มีความสงสัยในเรื่องการตายของสุนัข ส่วนนึงมาจากการป่วย ผอมไม่กินอาหาร รวมถึงชรา และกัดกันเอง ซึ่งจำนวนสุนัขเร่ร่อนในศูนย์พักพิงหมาเร่ร่อน จ.อุทัยธานี ปัจจุบันมีจำนวน 2,400-2,500 ตัว ประเด็นอาหารสุนัข ที่นำมาเลี้ยง มีการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีความโปร่งใส่ตาม TOR สามารถตรวจสอบได้ จากกรณีที่มีความสงสัยว่าคุณภาพอาหารสุนัขที่ใช้อยู่ไม่มีคุณภาพ ได้มีการนำอาหารสุนัขส่งตรวจไปที่กรมปศุสัตว์ และผลตรวจออกมาพบว่าคุณภาพตรงตามมาตรฐานกำหนด

...

ส่วนอาหารลอตใหม่ที่สั่งเข้ามา มีการคำนึงถึงความสดใหม่ เพราะเป็นเรื่องปกติที่อาหารสุนัขในลอตท้ายๆ จะมีความน่ากินลดลง โดยอาหารสุนัขในลอตท้ายของปีที่แล้ว จะหมดในเดือนพฤษภาคมนี้

“กรณีที่อาหารสุนัขลอตเก่ามีกลิ่น ตอนแรกเราก็สงสัยว่าผู้ผลิตมีการเปลี่ยนวัสดุอะไรหรือไม่ แต่เมื่อส่งอาหารสุนัขไปให้กรมปศุสัตว์ตรวจ พบว่าอัตราของโปรตีน ไขมัน กากใย ผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ถือเป็นหน่วยงานกลางที่มีความชัดเจนโปร่งใสในการตรวจสอบ”

อาหารสุนัขในช่วงท้ายๆ ของลอต มีความน่ากินลดลง แต่คุณภาพอาหารยังเป็นปกติ เลยมีการแก้ปัญหา ในการเพิ่มความน่ากินด้วยการสั่งอาหารกระป๋องมาช่วยคลุก เพื่อเพิ่มความน่ากินให้กับอาหารสุนัข

ตอนนี้มีการสั่งอาหารลอตใหม่ในปีงบประมาณนี้ ผ่านการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตใหม่เข้ามา โดยอาหารสุนัขลอตใหม่มีคุณภาพและความน่ากินตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จึงไม่ต้องกังวลว่าสุนัขจะไม่กินอาหาร เพราะอาหารลอตเก่าที่เหลือมีการผสมอาหารกระป๋องให้มีความน่ากิน และอาหารลอตใหม่ก็มีความน่ากิน แต่ถ้าเปลี่ยนอาหารเป็นลอตใหม่ทันที สุนัขอาจมีอาการท้องเสีย จึงต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหาร

อาหารสุนัขที่ประมูลลอตใหม่ มีการนำมาส่งเป็นงวดๆ เพื่อให้อาหารมีความสดใหม่ เช่น มาส่งทุก 3 เดือน ซึ่งอาหารส่วนนี้ต้องผลิตใหม่ แต่ไม่ใช่ผลิตมาตั้งแต่ต้นปีแล้วนำมาเก็บไว้ทั้งปีตามที่หลายคนเข้าใจ

กทม.ชี้แจงงบประมาณอาหารสุนัขเร่ร่อน


สำหรับประเด็นที่มีการตั้งคำถามถึงงบประมาณในการจัดสรรอาหารสุนัขเร่ร่อนของ กทม. “นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล” ชี้แจงว่า งบประมาณส่วนนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงบประมาณจะจัดสรรให้ต่อปี แต่ในส่วนของการคำนวณจะดูจากจำนวนสุนัข และดูอัตราการใช้งานย้อนหลังที่สุนัขกินกันอยู่ เพื่อนำมาคิดในการขอจัดสรรงบประมาณ

การจัดสรรงบประมาณให้กับสุนัขเร่ร่อน คิดเป็นรายหัวไม่ได้ แต่ต้องคิดว่า สุนัข 1 ตัว ต้องกินโปรตีนในอัตราส่วนเท่าไร ไขมันอยู่ที่เท่าไร เพราะแต่ละตัวมีความต้องการไม่เท่ากัน และต้องมาดูว่าการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในปีนั้นมีกำหนดในอัตราเท่าไร สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถกำหนดเป็นรายตัวได้

...

“ในทีโออาร์ การประมูลอาหารสุนัขของ กทม. มีการกำหนดมาตรฐานชัดเจนว่า ขนาดของอาหารต้องไม่เกิน 1 ซม. ซึ่งอาหารสุนัขที่ประมูลมีการกำหนดไว้ตามบล็อกการผลิต ขณะที่สุนัขที่ส่งมาที่ศูนย์อุทัยธานี เป็นสุนัขที่โตเต็มวัย โดยการคัดแยกเบื้องต้นจะผ่านศูนย์ที่ประเวศ ที่คัดแยกลูกหมา เพื่อนำไปเลี้ยงไว้ที่นั่น และรอการหาเจ้าของใหม่ ส่วนหมาที่ป่วยจะดูแลให้แข็งแรง ก่อนส่งมาที่อุทัยธานี”

...

กทม.ยืนยันมีทีมแพทย์ดูแลอย่างดี ป้องกันโรคติดต่อ

ส่วนประเด็นความเป็นห่วงเรื่องโรคติดต่อ เมื่อมีการขังสุนัขไว้รวมกัน “นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล” กล่าวว่า กรณีที่อ้างว่าสุนัขมีอาการป่วยเรื่องโรคลำไส้ หรือโรคหัด ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สุนัขจรจัดจะไม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนหมาบ้าน แต่มีอาการเจ็บป่วยแฝงมาอยู่บ้าง ซึ่งเรื่องโรคระบาดหรือโรคติดต่อมีการตรวจสอบย้อนหลังไป 2 ปี ยังไม่พบ ซึ่งในศูนย์มีสัตวแพทย์ดูแล 2 ท่านอย่างใกล้ชิด

ทางศูนย์มีการแยกสุนัขป่วยและสูงอายุออกจากกรงรวม สุนัขบางตัวที่มีอาการหง่อม หรือแก่เกิดจากช่วงอายุของเขา ทางหน่วยงานมีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำคอกประมาณ 70-80 คน ดังนั้นความกังวลต่างๆ ประชาชนทั่วไปสามารถมาเยี่ยมที่ศูนย์ได้ และอยากให้มาพบนายสัตวแพทย์ก่อน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

สำหรับข้อเสนอแนะที่อยากให้ปรับปรุง ทางศูนย์พร้อมรับฟังความคิดเห็น เพราะด้วยความที่เป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งศูนย์แห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2548 อาจมีบางจุดที่ชำรุดไปบ้าง ส่วนทางผู้ใหญ่ของ กทม. มีการลงพื้นที่และให้คำแนะนำในเรื่องการจัดการเชิงระบบ และพร้อมปรับเปลี่ยนเสมอ.