องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้ ส่วยตำรวจ ยิ่งแฉยิ่งเสื่อม ดังฝีระเบิดเป็นมะเร็งร้าย 30 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ชี้ลักษณะการจ่ายไม่ได้มีแค่เงิน แถมยกระดับเพื่อตัดตอน...

จากจุดเริ่มต้นในการเสนอชื่อชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. กลายเป็นมหากาพย์ “ตำรวจ ตัด ตำรวจ” 

จากการดำเนินคดี ปัญหาเว็บพนัน นำไปสู่การ “แฉ” กันไปมา ระหว่าง นายพล ตัด นายพล 

จากการเด้ง ระดับ ผบ.ตร. กับ รอง ผบ.ตร. เข้ากรุ กลายเป็นนายกฯ ตัด ตำรวจ แก้ปัญหา นายพล ตัด นายพล 

และล่าสุด เมื่อมีทนายดัง งัดข้อมูล โยงลูกน้อง ผบ.ตร. กลายเป็นเรื่อง ทนาย แฉ นายพล 

จากปัญหาที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น มีประเด็นสำคัญมาจาก “ส่วย” ในวงการตำรวจ

30 ปี ไม่เคยเปลี่ยน ส่วย อำนาจ สมบัติผลัดกันชม 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจ โดยระบุว่า เรื่องนี้สิ่งที่คนไทยรู้ดี และอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีงานวิจัยเกี่ยวกับส่วยและตำรวจ ก็พบว่า เป็นองค์กรที่มีปัญหา “คอร์รัปชันเชิงระบบ” 

...

“ถ้าใครเข้ามาองค์กรนี้...ถ้าไม่โกง ก็จะอยู่ยาก ขาดโอกาส ในการเติบโต ก้าวหน้าในทางวิชาชีพ ใคร..ที่ไม่โกงก็จะต้องอยู่เงียบๆ รู้เห็นแต่พูดอะไรไม่ได้ สภาพเช่นนี้คือ ราว 30 กว่าปีก่อน แต่พอมาถึงปัจจุบัน นักวิชาการก็จะมองไม่แตกต่างจากเดิม และยังเห็นว่าองค์กรตำรวจ ยังมีปัญหาการ “คอร์รัปชัน” เชิงระบบเช่นเดิม...” 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ย้ำว่า ถึงเวลานี้ “ส่วย” กับ “ตำรวจ” ยังเป็นของคู่กันอยู่กันมา 30 ปี...

สาเหตุที่ไม่เปลี่ยน ดร.มานะ ชี้ว่า มาจากคนที่อยู่ในตำแหน่ง ไม่คิดที่จะ “สละ” ผลประโยชน์ของตนเอง ใครที่มาเป็นใหญ่ ก็จะทำตัวเหมือน “สมบัติผลัดกันชม” 

ใครมีอำนาจทางการเมือง ที่สามารถแก้ไข หรือ เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ ทุกคนยังมอง “ตำรวจ” เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของตนเอง 

ด้วยความ “ผุกร่อน” ของระบบตำรวจ กลายเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจแสวงหาประโยชน์ หรือ อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง ฉะนั้น จึงไม่มีใครใส่ใจและแก้ปัญหา 

ปัจจัยอะไร ที่ทำให้ “ตำรวจ” หา “ส่วย” ได้ ดร.มานะ ชี้ว่า เพราะตำรวจมีอำนาจมาก แค่อำนาจในส่วน พระราชบัญญัติ ก็มีมากถึง 200 กว่าข้อ เช่น จราจร ยาเสพติด คดีอาญา มันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน 

“ประเด็นปัญหามันอยู่ที่กลไกในการใช้อำนาจ โดยมากจะใช้อย่างไม่เปิดเผย และการที่เป็นแบบนี้มาอย่างยาวนาน จน “ใครๆ ก็ทำ” จึงทำให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้อำนาจโดยมิชอบ”

กลับมาอีกฝั่ง เหตุใด ประชาชนต้องจ่ายส่วย ดร.มานะ บอกว่า บางเรื่องเป็นสิ่ง “จำยอม” ไม่อยากให้มีเรื่องยุ่งยาก ถึงแม้เรื่องนั้นจะผิดหรือไม่ 

ขณะที่คนบางคน เลือกจะจ่ายส่วย เพื่อให้ตนเองทำผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บ่อน ซ่อง ค้าประเวณี พนันออนไลน์ ดังนั้น จึงถูกมองว่าเป็นเรื่อง “สมประโยชน์” กันและกัน แต่...ประชาชนผู้บริสุทธิ์ คือ คนที่รับเคราะห์กรรม และการปล่อยให้ธุรกิจผิดกฎหมายดำเนินอยู่นั้น มันส่งผลโดยตรงกับสังคม คุณภาพชีวิตประชาชน และชื่อเสียงของชาติด้วย 

คนเก็บส่วย มีทั้งตำรวจ และ ไม่ใช่ตำรวจ กับการตัดตอน 

...

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ชี้ว่า เวลานี้ คนที่เดินเก็บส่วยนั้น มีทั้งตำรวจ และ ไม่ใช่ตำรวจ 

ในอดีต คนที่เก็บส่วย มักจะเป็น นายสิบ จ่า หรือ นายดาบ เรียกรวมๆ ว่าเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย จากนั้นก็นำเงินที่ได้ส่งต่อเป็นขั้น เป็นตอน ส่งเป็นทอดๆ และ ก็รู้กันภายในว่านี่แหละคือ “ผลงาน” 

หากพูดถึง ระดับ สน. หรือ สภ. มักจะมีตำรวจยศจ่า หรือ นายดาบ จะทำหน้าที่เป็น “แม่บ้าน” เพื่อไปเก็บ หรือ ใช้ลูกน้องอีกทีไปเก็บ แล้วคนๆ นี้จะเป็นคนเดียว ที่รวบรวมเงินไปแจกจ่ายให้ผู้บังคับบัญชา 

นี่คือ ข้อมูลในอดีต และ ปัจจุบัน ก็ยังเป็นอยู่บ้าง หากเราลงพื้นที่ไปสอบถามก็อาจจะยังพบเจอ ดังนั้น เมื่อมีการโยกย้าย ในระดับผู้บริหารโรงพัก เขาก็มักจะรู้ว่าใครทำหน้าที่ตรงนี้

วิธีการปัจจุบันนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ ให้ “ใครก็ได้” มาเดินเก็บ และถือเป็นการป้องกันตนเองด้วยการ “ตัดตอน” เพราะหากถูกจับได้ เขาก็จะโยนความผิดให้ อ้างว่าเป็นบัญชีม้า แอบอ้าง เข้าใจผิด ฉันไม่เกี่ยว ถือเป็นวิธีการปัดปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่มีใครเก็บ “ส่วย” ได้หรอก 

เพราะคำว่า “ส่วย” นั้น จะทำกันแบบ “เก็บประจำตามงวด” ตามที่ตกลงกัน เช่น ทุกๆ 10 วัน, 15 วัน หรือ 1 เดือน หากจะมีการแอบอ้างกันนั้น ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง 

ยิ่งเวลานี้เรามี “ระบบดิจิทัล” ก็ยิ่งทำให้ระบบ “ส่วย” งอกงามยิ่งขึ้น หากเขาลงพื้นที่เก็บส่วย หรือ เรียกว่า “ตีเมืองขึ้น” จากนั้นก็เชิญคนที่จะจ่ายส่วยเข้ากลุ่มไลน์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเก็บส่วย เป็นอะไรที่ง่ายและรวดเร็วขึ้น ตรวจสอบได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญ คนที่อยู่ในระดับบน ก็จะเห็นตัวเลขชัดเจนด้วย 

...

ลักษณะการจ่ายส่วย ราคาที่ต้องจ่ายขึ้นลงตามเศรษฐกิจ 

ลักษณะการเก็บส่วย บางครั้งไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน บางครั้งจ่ายเป็นอย่างอื่น เช่น สถานประกอบการ ร้านอาหาร ให้คนเป็น ผู้กำกับ กินอาหารได้เท่าไรต่อเดือน, อาบอบนวด มาใช้ได้กี่ครั้งต่อเดือน หากเป็น “เลาจน์” ก็จะมีวงเงินให้ ส่วน “แขกขายโรตี” จะเป็นเรื่อง “ค่าคุ้มครอง” ในประเด็นเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ ทำอาชีพที่กฎหมายห้าม หากมีการจ่ายส่วยแล้ว จะมีการคุ้มครอง 

ดร.มานะ อธิบายว่า มูลค่าของส่วย จะมีขึ้นลงเป็นระยะ ตามมูลค่าเศรษฐกิจ หากเติบโต ส่วยก็จะมากขึ้นไปด้วย เพราะหากผู้ประกอบการมีรายได้มาก โอกาสถูกเรียกเป็นจำนวนเงินมหาศาลก็มากขึ้นตาม 

กรณี เป้รักผู้การแค่ไหนก็เขียนไป... สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่า บางประเภท ไม่ได้มีราคามาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับคุณมีรายได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะแบ่งปันให้ 

สิ่งที่ตามมา คือ ราคา “ซื้อขายตำแหน่ง” ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นเดียวกัน ซึ่งมันคือ “ผลประโยชน์” ที่เชื่อมโยงกัน เพราะหากมีการซื้อขายตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องเร่งหาเงินทอง และเมื่อเลื่อนขึ้นมาแล้ว ก็ยังจะต้องเลื่อนขึ้นไปอีก มันไม่ได้จบ แค่หัวหน้าสถานี แต่มันเลื่อนไปเรื่อยๆ จนสุดทาง หรือ บางครั้ง อาจจะเลือกเข้าเครือข่าย ในแต่ละช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะมีการผลักดันนโยบาย หรือ ถึงขั้นมีนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์ซ้อนเข้าไปอีก

...

ปรากฏการณ์แฉ “บิ๊กตำรวจ” ฝีระเบิดที่รอวันเป็นมะเร็ง 

ปรากฏการณ์การแฉ ถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง เวลานี้มันสะท้อนอะไร... เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองว่า เวลานี้คือ เป็นช่วง “ระเบิดของฝี ที่เน่าอยู่ในตัวองค์กร เพราะมีปัญหาการซื้อขายตำแหน่งมายาวนาน และยิ่งปะทุ รุนแรงขึ้นทุกปี จนกลายเป็นว่า เวลานี้เบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 ขององค์กรกำลังปะทะกัน มันจึงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หากไม่ปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น ถ้าไม่ทำ องค์กรนี้จะพังทลาย ฝีที่เป็นหนองอยู่ มันจะกลายเป็นมะเร็งที่ฆ่าตัวองค์กร 

สิ่งที่ประชาชน อยากเห็นมากที่สุด คือ การทำให้ “ตำรวจ” เป็นที่พึ่งของประชาชนเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ การรีดไถจะน้อยลง การซื้อขายตำแหน่ง จะลดน้อยลง  

ปฏิรูปอีกเรื่องคือ ทำให้ สตช. เป็นองค์กรที่ทันสมัย อย่าทำอะไรกันเงียบๆ รู้กัน ตัดสินกันโดยตำรวจเอง สอบสวนเอง เรื่อง “ระดับอาวุโส” ทำให้ชัดเจนขึ้น...

ตัวอย่างการแก้ปัญหา “ตำรวจ” คอร์รัปชัน ได้ผล และ คอร์รัปชัน น้อยลงอย่างมาก คือ “ฮ่องกง” จากเหตุการณ์หนึ่ง คือ มีเหตุไฟไหม้บ้าน ตำรวจดับเพลิงเขาไปถึง ไม่ยอมฉีดน้ำ ต้องเอาเงินมาจ่ายก่อน ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจประชาชนมาก จากเรื่องดังกล่าว ทำให้มีการดำเนินคดี ตำรวจในระดับหัวหน้า 2 คน ปลด และดำเนินคดี ถึงขั้นติดคุก จากนั้น ประชาชนได้ใจมาก จึงมีการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแท้จริง 

กลับมาประเทศไทย เรามี ตำรวจราว 2.2 แสน นาย ถ้าเราจะต้องปลด นายพลตำรวจ ที่มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง สัก 10 คน หรือ ปลดนายตำรวจระดับชั้นรองลงมาอีก 2,000 คน เพื่อดำเนินคดี หากทำได้แบบนี้ก็เชื่อว่า องค์กรตำรวจอาจใสสะอาดขึ้น มันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้...?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ