ดราม่า นศ.ฝึกงาน ต้องทำงานหนัก ล่วงเวลา ไม่ได้เงิน จนท.กรมสวัสดิการฯ ชี้ บริษัทเล็ก รับฝึกงานถึง 30 คนถือว่าไม่ปกติ ต้องดูวัตถุประสงค์ ชี้ จ่าย ไม่จ่ายค่าแรง ไม่ผิด แต่ควรมีสวัสดิการ...  

กลายเป็นประเด็นดราม่า สำหรับช่องยูทูบช่องหนึ่งได้สัมภาษณ์ อดีตเด็กฝึกงาน ช่องยูทูบอีกช่องหนึ่ง ที่มีคนติดตามหลายล้านซับ ว่าใช้งานหนัก บางวันทำงานถึงตี 4 โดยให้ทำงานฟรีๆ  

และต่อมา มีการแถลงการณ์ จากเจ้าของช่องยูทูบช่องหนึ่ง โดยมีการแถลงการณ์เกี่ยวกับนโยบายฝึกงาน ข้อตกลงในการรับฝึกงาน การดูแลนักศึกษาฝึกงาน ว่ามีพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิด พร้อมกับชี้แจงในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยระบุ ตอนหนึ่งว่า 

- บริษัทไม่ได้บังคับนักศึกษาทำงานล่วงเวลา

- ทางบริษัทมีกฎระเบียบชัดเจนตั้งแต่ก่อนรับสมัคร เพื่อเน้นผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพและทัศนคติที่ดี ออกสู่โลกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนทางแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นในจุดที่ต้องปรับปรุง บริษัทจะดำเนินการดังนี้

- ทบทวนนโยบายการรับนักศึกษาฝึกงาน

- กำหนดขอบเขตงานนักศึกษาฝึกงานให้ชัดเจน

- เพิ่มพนักงานพี่เลี้ยง

- จัดกิจกรรมอบรมให้กับพนักงานพี่เลี้ยง

สุดท้าย บริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและการเรียนรู้ของนักศึกษาฝึกงาน และขอบคุณทุกคนที่ช่วยเน้นย้ำเรื่องนี้ และขออภัยในความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นได้กับผลกระทบที่ตามมา 

จากกรณีดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผอ.กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยได้รับมอบหมาย จาก นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งติดงานอยู่ในรัฐสภา 

...

ดราม่าเด็กฝึกงาน ทำงาน ต้องได้เงินไหม 

นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงในประเด็นที่เป็นดราม่า ขณะนี้ว่า ที่ผ่านมา ก็มีการร้องเรียนเรื่องเหล่านี้เป็นระยะ 

“การฝึกงาน” นั้น คือหนึ่งในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ดังนั้น ก่อนจะไปฝึกงานที่สถานประกอบการใดๆ ทาง มหาวิทยาลัย ต้องมีหนังสือ มาถึงสถานประกอบการ ว่า มาฝึกงานจากวิชาอะไร ระยะเวลานานแค่ไหน และที่สำคัญคือต้องมีอาจารย์ในการควบคุมการฝึก 

ทั้งนี้ หากมีการ “ฝึกทั่วไป” ที่บริษัท กล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร  เจตนาดังกล่าว อาจจะตีความหมายได้ว่า “นี่คือการทำงาน” ไม่ใช่เป็นการฝึกงาน แบบนี้ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ต้องได้รับเงินอย่างน้อยเป็นค่าแรงขั้นต่ำ... มีวันหยุด วันพัก เหมือนพนักงานทั่วไป 

หลักการทำงาน จะเป็นอย่างนี้ คือ มีวันพัก 2 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง เหมือนกับพนักงาน แต่ถ้าเกินกว่านั้น แล้วยังทำงานอยู่ ก็อาจจะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นการทำงาน “นอกเหนือ” จากการฝึกงาน 

ฝึกงาน ต้องได้เงินไหม.. 

กรณีที่ทางมหาวิทยาลัยมีหนังสือมาฝึกงาน เด็กฝึกงานต้องได้เงินหรือไม่... ผอ.กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้คำตอบว่า ให้ก็ได้ หรือ ไม่ให้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลง 

ไม่ให้เงิน : ไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากไม่ได้ทำงานในฐานะ “ลูกจ้าง” กับ “นายจ้าง” 

แต่โดยส่วนใหญ่ หลายๆ บริษัท เขาก็มีเงินให้ จะมากจะน้อยแตกต่างกัน วันละ 100-200 บาท ก็แล้วแต่จะให้ เนื่องจากการทำงานนั้นย่อมมีค่าเดินทาง ค่าอาหาร 

เมื่อถามว่า มี “หลักเกณฑ์” ไหม ว่าควรเป็นเท่าไร นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า “ไม่มี” เพราะไม่ได้อยู่ฐานะนายจ้าง ลูกจ้าง ตามสัญญาการจ้างงาน 

“เรื่องนี้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เคยมีหนังสือไปถึง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) โดยระบุว่า หากมีการปฏิบัติงานเหมือนลูกจ้างทั่วไป ก็ควรปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ มีวันหยุดที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการ “ขอความร่วมมือ”    

...

จำเป็นไหม กับการ “ฝึกงาน” และ “งานต้องห้าม” การฝึกงาน 

เมื่อถามว่า เคยมีการพูดคุยกับ ก.ศึกษาธิการไหม กับความจำเป็นในการฝึกงาน นายณรงค์ฤทธิ์ อธิบายว่า การเรียนในบางสาขา นั้นก็ยังจำเป็น และควรมี เช่น วิชาชีพ ทนายความ แพทย์ บัญชี เหล่านี้จำเป็นต้องฝึก เพราะถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการทำงาน 

วิธีปฏิบัติ คือ ต้องปฏิบัติเสมือนลูกจ้าง หากจะให้ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง ก็ต้องอาศัยความยินยอม  

หากพบว่ามีการใช้งานหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษอย่างไร ผอ.กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า หากเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว การปกป้องตนเองก็ควรทำในระดับหนึ่ง เช่น ต้องรู้สิทธิของตนเอง หากถูกใช้งานในเวลากลางคืน ก็ควรปฏิเสธไปเลย หรือ อาจารย์ที่ดูแลก็ต้องเข้าช่วยเหลือในระดับหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นผู้ควบคุมการฝึกงาน สามารถเข้าพูดคุยกับผู้ประกอบการได้ 

“ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในการฝึกงาน และพบว่ามีการใช้งานแบบนี้ อาจารย์ไม่ควรจะส่งลูกศิษย์ไปฝึกในรุ่นถัดไป หรือ ทำการถอนตัวจากการฝึก”

เมื่อถามว่า มีโอกาสงดเว้นการฝึกไหม หากสถานที่นั้นๆ มีปัญหา นายณรงค์ฤทธิ์ อธิบายว่า หากตามหลักสูตรมีระบุชัดเจนว่าต้องผ่านการฝึก กี่ชั่วโมง แบบนี้ถือว่ายากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในแต่ละสถาบันการศึกษาจะกำหนด 

มีงานต้องห้ามในการฝึกหรือไม่ นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า งานต้องห้าม จะเทียบเคียงกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาทิ งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เครื่องจักร ซึ่งเรื่องนี้คือห้ามฝึก 

...

กฎหมาย และ ค่าตอบแทน “เด็กฝึกงาน” 

กรณีกับ การฝึกงานกับ ยูทูบเบอร์ เคยมีปัญหา หรือ การร้องเรียนบ้างไหม นายณรงค์ฤทธิ์ เผยว่า เหมือนเคสดังกล่าวจะเป็นเคสแรกที่เคยเกิดขึ้นและเป็นข่าว แต่ก็ยังไม่ได้มีการร้องเรียนเข้ามา

ควรมีกฎหมาย หรือ ข้อกำหนดค่าตอบแทน สำหรับการฝึกงาน หรือไม่ ผอ.กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยว่า ที่ผ่านมา เคยมีการเสนอกำหนดค่าตอบแทนของเด็กฝึกงาน แต่...ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่า หากเป็นการ “บังคับ” จะเป็นการ “บีบ” ผู้ประกอบการมากเกินไป เพราะถือเป็นการเพิ่มรายจ่าย 

“การฝึกงานนั้น ให้ยึดเทียบหลักกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ต้องมีวันหยุด ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง การทำงานกลางคืน เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้น แต่ลักษณะงานบางงาน เช่น การเดินเรือทางทะเล อาศัยน้ำขึ้นน้ำลง หรือ ถ่ายละครทีวี ที่ต้องถ่ายกลางคืน แต่โดยทั่วไปต้องทำงานกลางวัน สวัสดิการต้องให้ความสมควร 

ปกติหรือไม่ ที่บริษัทเล็กๆ มีพนักงานไม่เกิน 10 คน แต่รับเด็กฝึกงานถึง 30 คน มีกฎหมายใดดูแลหรือไม่...? ผอ.กองนิติการ ที่ได้รับมอบหมายจาก อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตอบว่า ตามกฎหมายนั้นสามารถทำได้ แต่ปกติหรือไม่ “ส่วนตัวมองว่ามันผิดปกติ เขาต้องอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดต้องใช้คนมากขนาดนั้น เพราะมากกว่าจำนวนพนักงาน 3-4 เท่า” 

จะมีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมไหน นายณรงค์ฤทธิ์ ตอบว่า หลังจากนี้จะมีนำเรียนกับทางผู้บริหารเพื่อหารือว่าจะเชิญบริษัทดังกล่าวมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ พร้อมทั้งการตรวจสอบข้อมูลพนักงานว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 

มีอะไรต้องทบทวนกับปัญหาเรื่องเด็กฝึกงาน กับกฎหมาย นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า หากบริษัท และ เด็กฝึกงาน นั้น มีการดูแลกันอย่างดี และเคารพซึ่งกันและกัน จะไม่เกิดปัญหาเลย 

...

“การฝึกงานคือ การเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา และทุกบริษัทต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือเป็นกฎหมายขั้นพื้นฐาน แม้ว่า ตัวผู้รับการฝึก จะไม่ใช่ “สัญญาจ้าง” ตามสัญญาลูกจ้าง นายจ้าง แต่ควรอิงมาตรฐาน ค่าตอบแทนที่จะให้ ก็อาจเป็นไปตามสมควร”

หากบริษัทมีการเลี้ยงข้าว เด็กฝึกงานก็ควรได้ด้วย การดูแลด้านสาธารณสุข ยารักษาโรค ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน อาจจะไม่จำเป็น หากแต่บริษัทนั้นๆ จะให้ ก็อาจจะอิงตามค่าแรงขั้นต่ำก็ได้ เฉลี่ยเป็นรายวัน ทำ 5 วัน ก็ให้เป็นวันก็ได้... 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ