กทม. ยังไม่มีการแก้ปัญหาชัดเจน หลังพลเมืองดีร้องเรียน "สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์” กรณีพบสุนัขเร่ร่อนในสถานกักสัตว์ผอมโซ ตายต่อเนื่องมากผิดปกติ ล่าสุดหน่วยงานช่วยเหลือสุนัขเร่ร่อน เผยบรรยากาศสุดสะเทือนใจ อาหารเม็ดขนาดใหญ่ หมาตัวเล็กกินไม่ได้ สัตวแพทย์ไม่พอ ดูแลหมาป่วยรอวันตาย

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ยังติดตามกรณีที่มีการร้องเรียน เรื่องสวัสดิภาพของสุนัขเร่ร่อน ในสถานกักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ของกรุงเทพฯ หลังสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ เปิดภาพสุดอนาถ หมาเร่ร่อนส่วนใหญ่ผอมโซ ทยอยตายจากการกินอาหารไม่ได้ แม้มีการจัดสรรงบให้ตัวละ 8 บ. แต่คุณภาพอาหารต่ำ มีกลิ่นเหม็น ทำให้มีสุนัขจรจัดในสถานที่กักกันเสียชีวิตต่อเนื่อง

มหากาพย์หมาเร่ร่อน สวัสดิภาพสัตว์ที่ กทม.ต้องเปลี่ยนแปลง

หลังมีการร้องเรียนเรื่อง สุนัขเร่ร่อนตายมากผิดปกติ ในสถานกักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ความดูแลของกรุงเทพฯ ผ่าน "สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์" ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ พยายามติดต่อสอบถาม "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ "ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่มีการตอบรับให้ข้อมูลจากประเด็นร้องเรียน มีเพียงข่าวประชาสัมพันธ์จากเว็บไซต์ "สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.” ถึงการสุ่มตัวอย่างอาหารสุนัข ส่งตรวจที่กรมปศุสัตว์-จับมือภาคีร่วมดูแลสุนัขจรจัด

...

อีกด้านนึง ทีมข่าวสอบถามไปยังแหล่งข่าวที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพฯ ในการดูแลสัตว์เร่ร่อน ให้ข้อมูลว่า การที่หมาจรจัดต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่กักกันสัตว์ของกรุงเทพฯ จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกต ส่วนหนึ่งมาจากสุนัขไม่ยอมทานอาหารเม็ด อาจมาจากอาหารเม็ดมีขนาดใหญ่ ทำให้สุนัขขนาดเล็กและสุนัขป่วย ไม่สามารถทานได้ ประกอบกับอาหารที่ให้สุนัขมีเพียงอาหารเม็ดชนิดเดียว ทั้งที่หมาจรบางส่วนกินอาหารเหมือนกับคน เมื่อต้องกินอาหารเม็ดทำให้ไม่กิน

คาดว่างบที่จัดสรรค่าอาหารสุนัขจรจัดภายในสถานกักสัตว์ มีงบประมาณที่ต่ำระดับหลักหน่วยต่อตัว ถือว่าเป็นการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมในเรื่องอาหาร เมื่อสุนัขไม่กินอาหารก็ป่วยตามมา ประกอบกับโรคหัดที่แพร่ระบาดภายใน ทำให้ไม่มีงบในการรักษาดูแล

ด้านบุคลากรสัตวแพทย์ที่ดูแลศูนย์มีจำนวนที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนสุนัขที่อยู่ภายใน เช่น มีสุนัขเร่ร่อนต้องดูแล 5 พันตัว แต่มีสัตว์แพทย์ดูแลคนเดียว จากประสบการณ์เคยไปดูการขนย้ายสุนัขจรจัดของ กทม.จากกรุงเทพฯ ไป อุทัยธานี กรงในการขนย้ายก็มีขนาดเล็ก แต่มีสุนัขอยู่ในกรงมาก ทำให้หมาหลายตัวมีอาการป่วย เนื่องจากภาวะอากาศร้อนระหว่างขนย้าย

นอกจากนี้ สุนัขที่อาการป่วยหนัก ขาดการดูแลอย่างเป็นระบบ เพราะไม่มีโรงพยาบาลภายในศูนย์ ทำให้สุนัขที่มีอาการเรื้อรัง ต้องให้น้ำเกลือ ไม่ได้รับการดูแล ตามแนวทางสวัสดิภาพสัตว์

“เคยไปดูแล้วเห็นกับตาว่าอาหารเม็ดที่ให้สุนัขมีขนาดใหญ่และแข็ง ทำให้หมากินไม่ได้ เห็นได้ชัดว่าเป็นประเภทอาหารของสุนัขที่โตเต็มวัย ภาพที่อนาถมากคือ หมาที่คลอดลูกก็ปล่อยไว้ในกรงเดียวกับหมาชนิดอื่น ไม่ได้จับแยกกรงออกมา ซึ่งตอนแรกที่เข้าไปกะจะไปนำหมามารักษา 5 ตัว แต่ต้องเอากลับมา 9 ตัว เพราะทนสภาพการดูแลไม่ไหว ลองคิดดูว่าวันนั้นเข้าไปในศูนย์ เดินดูได้แค่คอกเดียว แล้วไม่กล้าเดินต่อ เพราะภาพที่เห็นสะเทือนใจมาก”

การดูแลสุนัขจรจัดที่อยู่รวมกัน การทำความสะอาดต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่อาจมีการทำความสะอาดแค่น้ำเปล่า ทำให้หมามีการติดเชื้อต่างๆ ค่อนข้างสูง

ตอนนี้อยากให้ กทม.แก้ไข การดูแลสุนัขจรจัดที่อยู่ในศูนย์ และอยากให้ทุกงบประมาณมาถึงสุนัขจริงๆ เพราะการที่สุนัขตายจำนวนมาก น่าจะมีสาเหตุของการตาย โดยเฉพาะการจัดการเรื่องอาหารที่ให้ ซึ่งไม่ควรให้เพียงอาหารเม็ด แต่ควรมีข้าวและอาหารประเภทอื่นผสมด้วย นอกจากนี้ ควรมีการแยกประเภทอาหารของสุนัขเด็ก โตเต็มวัย สูงอายุ และสุนัขป่วย

...

เท่าที่ทราบข้อมูลพบ จำนวนสุนัขในสถานกักกันสัตว์ จ.อุทัยธานี มีประมาณ 3 พันตัว จริงแล้วมีจำนวนมากกว่านี้ แต่ปีที่แล้วตายไปจำนวนมาก สิ่งที่ทำอยู่เป็นเหมือนการการุณยฆาต หน่วยงานที่รับผิดชอบรู้ดีทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าจะเลือกแก้ปัญหาหรือไม่

ปัญหาเรื่องจากการสถานกักกันสัตว์เร่ร่อน ของกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื้อรังมาตลอดหลายสิบปี ตั้งแต่ก่อนท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เข้ามา แต่ไม่ถูกจัดการเป็นระบบ แม้อาหารมีการประมูลแบบปีต่อปี แต่การจัดเก็บที่มีปัญหา และคุณภาพของอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้สุนัขไม่กิน ทางผู้ใหญ่ของกรุงเทพฯ น่าจะมีการชี้แจงที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อได้มีการแก้ปัญหาร่วมกันในหลายภาคส่วน

กทม.สุ่มตัวอย่างอาหารสุนัขเร่ร่อนในศูนย์พักพิงสุนัขฯ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานประชาสัมพันธุ์ กรุงเทพมหานคร ชี้แจงข่าวร้องเรียน วันพุธที่ 13 มี.ค. 67 ระบุว่า นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงกรณีมีข้อร้องเรียน เรื่องการดูแลสุนัขที่สถานที่กักกันสัตว์ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ระบุอาหารสุนัขที่จัดซื้อ มีคุณภาพต่ำ ทำให้สุนัขส่วนใหญ่ไม่กิน ส่งผลให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ว่าได้จัดซื้ออาหารสุนัขโดยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งตามสัญญาการจัดส่งแบ่งเป็น 3 ครั้ง โดยได้สุ่มตัวอย่างอาหารสุนัขส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

...

จากการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มสุนัขตามข้อสังเกต พบว่าเป็นกลุ่มสุนัขจรจัดที่นำเข้ามาเลี้ยงที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดกรุงเทพมหานคร (อุทัยธานี) ตั้งแต่ปี 2561 เมื่อเวลาผ่านไปอาจพบความแก่ชรา และมีสุขภาพเสื่อมตามอายุที่อาจกินอาหารลดลงตามธรรมชาติ โดยอายุขัยเฉลี่ยของสุนัขจรจัดจะน้อยกว่าสุนัขที่มีเจ้าของ.