15 มีนาคม 2567 วันที่สองในการปิ๊ก (กลับ) บ้านที่เชียงใหม่ในรอบ 17 ปีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ในวัย 75 ปี ด้วยความชื่นมื่นมีความสุขระหว่างพักโทษและคุมประพฤติในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งการตระเวนทำบุญไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพบปะเพื่อนฝูงผู้คนที่ไม่เจอะเจอกันมานาน มีกำหนดการ 3 วัน 2 คืน ก่อนนั่งเครื่องบินส่วนตัวกลับกทม. เข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในช่วงบ่ายวันที่ 16 มีนาคม 2567

การกลับบ้านเชียงใหม่ของทักษิณ ยังคงใส่เฝือกอ่อนที่คอ อ้างว่ายังมีอาการเจ็บป่วยกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาท หากดูจากภายนอกการเคลื่อนไหวของร่างกายดูกระฉับกระเฉงแข็งแรงขณะเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และในวันที่สอง ก็มีอาการเจ็บหลัง ขณะขึ้นไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ ต้องใช้เฝือกอ่อนพยุงหลังเอาไว้ และยังยิ้มได้ไม่เป็นอุปสรรคในห้วงเวลาแห่งความสุขของทักษิณ ในการกลับบ้านเกิด ท่ามกลางเหล่าแฟนคลับ คนเสื้อแดงแห่มาต้อนรับ ตอกย้ำว่ารักทักษิณเหมือนเดิม

ทักษิณปิ๊กเชียงใหม่ ตั้งหลักรุกคืบทางการเมือง

ทักษิณกลับบ้านเกิดเชียงใหม่ ก็เหมือนกับการเช็กเรตติ้ง ถามว่าเมื่อเวลาและสถานการณ์เปลี่ยนไป คนจะยังรักทักษิณเหมือนเดิมหรือไม่? แล้วจากนี้ไปบทบาทในทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร จะเป็นอย่างไร หลังกลับจากเชียงใหม่ มาอยู่ฐานบัญชาการบ้านจันทร์ส่องหล้า มาฟังคำตอบจาก “รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์” คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มองว่าแม้วันเวลาเปลี่ยนไปยังคงมีกลุ่มที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทักษิณ แต่มีจำนวนลดน้อยลง เพราะพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับอีกฝ่ายตั้งรัฐบาล ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ไปทางพรรคก้าวไกล เป็นตัวแปรทำให้ความนิยมในตัวทักษิณ ลดน้อยลงไปในกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการแยกออกมาของจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ยิ่งแย่ลง

...

แต่ยอมรับการลงพื้นที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ของทักษิณ มีนัยทางการเมืองอย่างแน่นอน เป็นการมองข้ามเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม จากบทบาทของทักษิณระหว่างการพักโทษ ดูย้อนแย้งกับเงื่อนไขการได้พักโทษ ทั้งท่าทางและการเดินเหิน หากถามว่ามีนัยทางการเมืองอย่างไร ก็มองได้ 2 ประเด็น และแน่นอนเมื่อมองในความเป็นมนุษย์ทั่วไป สำหรับคนจากบ้านเกิดมานาน 17 ปี ก็ต้องมีความห่วงใยนึกถึงบรรพบุรุษ แต่ในทางการเมืองของทักษิณ ก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง เกิดมาจากภาคเหนือในจ.เชียงใหม่ ทำให้การกลับเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการตั้งหลักทำการรุกคืบในทางการเมือง

“ตอนนี้อาจไม่ถนัดไม้ถนัดมือเท่าไรนัก ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทย ไปเล่นบทบาทอนุรักษนิยม เป็นบทบาทไม่ถนัดหรอก และนายกฯเศรษฐา ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดูเหมือนมีการเคลื่อนไหวทำงานไปโน่นไปนี่ แต่ไม่เห็นผลงาน ถามถึงเรตติ้งก็ไม่ได้ เพราะคนไปสนใจทักษิณ มากกว่าเศรษฐา เป็นการรุกคืบของทักษิณ และจะรุกคืบอีกต่อไป ในการปรับ ครม. เศรษฐา 1 หลังการอภิปรายฯ คิดว่าไม่เกินเดือน พ.ค.”

อีกทั้งแทบไม่เห็นผลงานของรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย เหมือนทำงานให้ผ่านไปวันๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น ทุกอย่างในวันนี้ไม่ค่อยลงตัว ขณะที่แคนดิเดตรัฐมนตรีแถวสอง ก็รอคิวปรับครม. และเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนให้คอยรอดู เชื่อว่าทักษิณ จะสามารถประคับประคองรัฐบาลจนอยู่ครบเทอมได้ หลังรุกคืบช่วงหนึ่งในการปรับครม. และจะรุกคืบอย่างต่อเนื่อง เริ่มไปในทิศทางเชิงรุกไปในแนวทางทำให้พรรคเพื่อไทย มีเอกภาพมากขึ้นในการผสมรวมกับพรรคร่วมรัฐบาล

ถอดเฝือกคอ สัญลักษณ์ความเปลี่ยนแปลงวัดพลังพิธา

นัยทางการเมืองหลังจากนี้สังเกตจากการไปเชียงใหม่ของทักษิณ มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปพบด้วยเหมือนเป็นสะพานเชื่อมต่อ 2 พรรค ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ จนวันนี้นายกรัฐมนตรีของไทยมีทั้งนิตินัย กับในทางพฤตินัย โดยนิตินัย คือเศรษฐา ส่วนพฤตินัย มีนายกรัฐมนตรีมากกว่า 2 คน โดยทักษิณ เป็นหนึ่งในนั้นจากบทบาทในการแสดงออกเป็นนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประเทศ ในเชิงการเป็นผู้นำของพรรคการเมืองและรัฐบาล จนต้องถามว่าระหว่างทักษิณกับเศรษฐาพูด คนในรัฐบาลจะฟังใคร

...

หากวันหนึ่งทักษิณ ถอดเฝือกคอหรือปลอกคอ เมื่อนั้นอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเป็นผู้นำทางการเมืองของทักษิณ ไม่ใช่ผู้นำรัฐบาล ต้องแยกกันให้ออก และจะเห็นทักษิณใช้ยุทธวิธีชิงพื้นที่จากพรรคก้าวไกล ซึ่งเชื่อว่าทำได้ และต้องยอมรับว่าทักษิณ แม้ความนิยมจะแผ่วลง แต่การเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุน เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้คนตัดสินใจมาอยู่กับทักษิณมากขึ้น เพราะวันนี้ภาวะผู้นำทางการเมืองระหว่างทักษิณ กับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล หากมองในส่วนพิธา ยังน้อยกว่า ซึ่งต่อไปจะเป็นการวัดความเป็นผู้นำระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

...

“ในการทำงานเชิงนโยบาย จะเห็นทักษิณทำได้ เป็นเรื่องของประชาธิปไตยกินได้ เพราะทักษิณเป็นผู้นำในเชิงบทบาท แต่เศรษฐา เป็นผู้นำเชิงพิธีการ จะเริ่มเห็นทักษิณแสดงออกภาวะการเป็นผู้นำมากขึ้น ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา จากบทบาทของทักษิณตั้งแต่ปี 2544 ได้เห็นการเมืองพลิกเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และช่วงนี้ทักษิณอยู่ระหว่างการปรับตัว พักฟื้น แต่หลังจากนี้จะมีการปรับ ครม. จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง จนต้องติดตามดูบทบาทของทักษิณในอนาคตว่าเป็นอย่างไรต่อไป”.