ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในการนำนมโรงเรียนออกมาขายในหลายช่องทาง และแจกจ่ายฟรีๆ จนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด หรือว่านมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งระบบกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศ ได้ดื่มฟรี รสชาติไม่อร่อย จืดชืดไม่เหมือนนมในท้องตลาด หรือด้วยเหตุผลใดกันแน่? ทำให้นมเหลือเป็นจำนวนมาก เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยกิน นำไปสู่ภาพที่เห็นมีการโพสต์ขายในโซเชียลกลายเป็นข่าวฮือฮาขึ้นมา และผู้ใจดีบางคนโพสต์แจกฟรีแบบยกลังในโซเชียลก็มี

ในแต่ละปีรัฐใช้งบ 1 หมื่นกว่าล้านบาทในการอุดหนุนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในการจัดซื้อนมโรงเรียนจากผู้ผลิตที่ได้รับมอบอำนาจจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยนมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ หรือนมถุงขนาด 200 มล. ราคาถุงละประมาณ 6.89 บาท ส่วนนมกล่องยูเอชทีขนาด 200 มล. ราคากล่องละ 8.13 บาท กำหนดให้ผู้ผลิตนมต้องจัดส่งนมโรงเรียนให้ครบ 260 วันต่อปีการศึกษา เพื่อให้เด็กนักเรียนได้กินนมโรงเรียน

...

นมโรงเรียนมีจุดเริ่มเมื่อปี 2535 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตโคนม และให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพสมบรูณ์แข็งแรง มีการกำหนดมาตรฐานสารอาหาร และต้องปราศจากการปนเปื้อน แต่ด้วยการขนส่ง และการจัดเก็บในอุณหภูมิไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อคุณภาพของนมจนบูดเน่าเสีย พร้อมกับการตั้งข้อสังเกตนมโรงเรียนของผู้ผลิตบางรายอาจเจือจางไม่ได้มาตรฐาน อาจเล็ดลอดจากการถูกสุ่มตรวจก็เป็นไปได้ อีกทั้งนมโรงเรียนไม่มีการระบุส่วนประกอบ และคุณค่าทางสารอาหาร เพียงแต่ระบุว่าส่วนประกอบมาจากนมโค 100% เท่านั้น

หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับนมโรงเรียน ทางทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับการตั้งโจทย์ “นมโรงเรียนไม่อร่อยจริงหรือ? เด็กนักเรียนไม่ดื่มจนเหลือบานเบอะ ต้องนำมาออกขาย จ่ายแจกฟรี คุ้มหรือไม่กับงบประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท”

เริ่มจากการพูดคุยกับ “จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี” ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ออกมาบอกว่า คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน ในการกำหนดเขตพื้นที่ส่งนมโรงเรียน และตั้งเกณฑ์ว่าโรงเรียนในจังหวัดนี้ได้รับนมโรงเรียนไปจำนวนเท่าใด โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นรับผิดชอบในการจ่ายเงิน ส่วนรสชาตินมโรงเรียนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่อร่อย ก็เคยได้ยินครูในโรงเรียนบ่นกันว่านมโรงเรียนค่อนข้างใส

ขณะที่ ระบบการขนส่งนมโรงเรียน ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พบว่า รถส่งนมโรงเรียนมีอุณหภูมิเพียง 24-25 องศาฯ ต้องขนส่งนมโรงเรียนแบบถุงมาจาก จ.นครสวรรค์ เป็นจำนวนมาก โดย 1 ถุงใหญ่ บรรจุนมถุงย่อย 25 ถุง รวมแล้ว 1,800 ถุง ให้กับเด็กนักเรียน 600 คน เนื่องจาก 2-3 วันจะมีการขนส่งครั้งหนึ่ง และเมื่อมาถึงโรงเรียนก็วางนมในถังโฟม แล้วเอาน้ำแข็งโปะเล็กน้อย ทั้งๆ ที่คู่มือการเก็บนมโรงเรียนต้องใส่น้ำแข็งลงไปก่อนในถังโฟม จากนั้นให้นำนมวางใส่ และโปะน้ำแข็งอีกครั้ง เพื่อเก็บรักษานมในอุณหภูมิที่เหมาะสม จะต้องมีปรอทวัดอุณหภูมิต้องไม่ต่ำกว่า 4 องศาฯ และตรวจสอบว่าถุงนมฟีบหรือไม่

“เหมือนแซนด์วิชต้องมีน้ำแข็งอยู่ข้างล่างและข้างบนถังโฟมมากพอ มีนมโรงเรียนอยู่ตรงกลาง แต่กลับไม่ทำตามคู่มือเก็บนม แค่เอาน้ำแข็งมาโปะๆ ข้างบนนิดหน่อยเท่านั้น ต้องมีการประเมินบริษัทที่ส่งนม และต้องตรวจเช็กอย่างต่อเนื่อง ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่สั่งซื้อนมจากผู้ผลิตในเชียงใหม่ หรือจังหวัดใกล้ๆ กลายเป็นว่า 2-3 วันจะมาส่งนมโรงเรียนทีเดียว 1,800 ถุง และรถที่ส่งนมต้องเป็นรถห้องเย็น เพื่อรักษาคุณภาพของนม โดยเฉพาะนมถุงพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งเคสนี้เคยส่งรายงานไปยังมิลค์บอร์ดจนได้รับการแก้ไข หากโรงเรียนใดเจอปัญหาก็ให้รวบรวมมาที่มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคฯ ในการประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง”

...

ในส่วนของนมโรงเรียนแบบกล่องยูเอชที มีการจัดซื้อในบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ห่างไกล เพราะนมสเตอริไลซ์ง่ายต่อการจัดเก็บ แต่ต้องยกพื้นขึ้นสูงในพื้นที่สะอาด ไม่ให้กล่องบรรจุนมสัมผัสความเย็นของพื้น และการวางซ้อนกันต้องไม่ให้สูงเกิน 12 กล่อง ไม่วางตากแดด เพื่อไม่ให้กล่องบรรจุนมยุบได้รับความเสียหาย ป้องกันนมรั่วมีเชื้อโรคปลอมปนเข้ามา และก่อนจะให้เด็กนักเรียนดื่ม ต้องตรวจสอบความผิดแปลกของกล่องนม ไม่ควรให้เด็กนักเรียนกัดกล่องนม หรือถุงนมก่อนจะดื่ม เพราะเชื้อโรคจะปะปนมากับกล่องนมและถุงนม ซึ่งโรงเรียนไม่ค่อยใส่ใจดูแลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด

แนวทางอยากเสนอให้นมโรงเรียน และอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากขณะนี้เด็กเกิดน้อยลง ทำอย่างไรให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการปรับราคาอาหารกลางวันขึ้นมา และควรตั้งคณะกรรมจัดการโภชนาการอาหารระดับจังหวัด ไม่ใช่ให้เด็กกินอะไรก็ได้ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ และโรค NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง 

แม้ว่าเด็กอยู่ในครอบครัวยากจน ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ให้เป็นภาระรัฐบาลในการใช้งบรักษา อีกทั้งในอนาคตจะเหลือประชากรไทยเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น ก็จะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาแทนที่ จึงต้องเร่งพัฒนาคนในเรื่องอาหารการกิน เพราะเมื่อมาถึงยุคนั้นคุณภาพของเด็กไทยจะเป็นอย่างไร

...

ที่ผ่านมาเคยเห็นเด็กเปราะบางในพื้นที่ห่างไกลกินข้าวกับน้ำเกลือ ทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีผัก และเลี้ยงไก่ แต่พ่อแม่ออกไปทำงาน ปล่อยให้เด็กอยู่กับยาย ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก จึงควรให้ อสม. และครูโภชนาการเข้ามาดูแล มีการจัดการกระบวนการเรียนรู้ อย่างเช่น การกระจายอำนาจควรแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต.