ผลผลิตปลาดุกในประเทศลดลงต่อเนื่อง หน่วยงานกรมประมงชี้ สาเหตุหลักเกิดจาก 'ภัยแล้ง-อาหารแพง' มองสถานการณ์ยังไม่เลวร้าย ทรงตัวได้ เร่งผลักดันมาตรฐาน GAP หวังเพิ่มการส่งออก

'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคาม

'การประมง' ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากผลผลิตที่ได้รับจะใช้บริโภคในประเทศและส่งออก ก่อให้เกิดเป็นตลาดธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล โดยข้อมูลตอนหนึ่งจากเอกสาร 'ประมาณการผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทย พ.ศ. 2565-2568' ของกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและพัฒนาการประมง กรมประมง ระบุว่า

...

"สถานการณ์ผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2564) ผลผลิต มีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 2.21 ส่วนมูลค่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.43 ต่อปี ตามลําดับ โดยมีผลผลิต เฉลี่ย 2,556,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 160,743 ล้านบาทต่อปี"

"ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการทําการประมงเฉลี่ย 1,580,596 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 67,831 ล้านบาทต่อปี และผลผลิตจาการเพาะเลี้ยง เฉลี่ย 976,205 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 92,911 ล้านบาทต่อปี"

หนึ่งในสัตว์น้ำของตลาดเศรษฐกิจนี้ก็คือ 'ปลาดุก' ซึ่งเป็นปลาที่คนไทยทุกภูมิภาครู้จักกันเป็นอย่างดี มันขึ้นชื่อว่าเลี้ยงง่าย โตเร็ว และอดทนต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ช่วงหนึ่งเกษตรกรเลือกเลี้ยงปลาดุกกันอย่างกว้างขวาง เพราะสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับผู้เลี้ยง และยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญ

สถานการณ์การเลี้ยงปลาดุก : 

อย่างไรก็ตาม ปลาดุกที่เคยสร้างเม็ดเงินได้ ก็มีกระแสออกมาว่า เกษตรกรเริ่มเลี้ยงน้อยลง ประกอบกับข้อมูลจากเอกสาร ประมาณการผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทย พ.ศ. 2565-2568 ของกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและพัฒนาการประมง กรมประมง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปลาดุกไว้ว่า

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555-2564) ฟาร์มเลี้ยงปลาดุกมีจํานวนเฉลี่ย 90,578 ฟาร์มต่อปี เนื้อที่ 92,188 ไร่ต่อปี มีผลผลิตเฉลี่ย 107,584 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 4,989 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตและมูลค่ามีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 0.12 และ 0.14 ต่อปี ตามลําดับ 

นอกจากนั้น ข้อมูลในเอกสารยังมีการคาดการณ์ ถึงผลผลิตและมูลค่าปลาดุกจากการเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2565-2568 ว่า จะมีจํานวนฟาร์มเลี้ยงเฉลี่ย 85,099 ฟาร์มต่อปี เนื้อที่ 82,021 ไร่ต่อปี มีผลผลิตเฉลี่ย 94,870 ตันต่อปีคิดเป็นมูลค่า 4,390 ล้านบาทต่อปี 

...

โดยผลผลิตและมูลค่ามีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 0.36 และ 0.25 ต่อปี ตามลําดับ เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก ราคาอาหารเม็ดสําเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น จึงต้องใช้อาหารอื่นทดแทนจึงทําให้ขนาดปลา ไม่ได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ

สถิติปลาดุกไทยจากการเพาะเลี้ยง : 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พบข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและพัฒนาการประมง กรมประมง ซึ่งได้เผยจำนวนฟาร์มเนื้อที่เลี้ยง ผลผลิต และมูลค่าปลาดุกจากการเพาะเลี้ยง ปี 2556-2565* ในภาพรวมทั้งประเทศว่า 

ปี พ.ศ. 2556 จำนวน 96,995 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 98,687 ไร่ ผลผลิต 120,328 ตัน รวมมูลค่า 5,865.5 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2557 จำนวน 99,386 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 97,803 ไร่ ผลผลิต 113,832 ตัน รวมมูลค่า 5,621.6 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 92,929 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 94,271 ไร่ ผลผลิต 108,534 ตัน รวมมูลค่า 5,388.4 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2559 จำนวน 90,879 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 92,351 ไร่ ผลผลิต 102,444 ตัน รวมมูลค่า 4,843.6 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2560 จำนวน 93,652 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 93,407 ไร่ ผลผลิต 105,088 ตัน รวมมูลค่า 4,351.4 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 82,154 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 94,255 ไร่ ผลผลิต 106,201 ตัน รวมมูลค่า 4,667.2 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2562 จำนวน 83,245 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 85,670 ไร่ ผลผลิต 97,151 ตัน รวมมูลค่า 4,477.1 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2563* จำนวน 80,841 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 84,327 ไร่ ผลผลิต 93,998 ตัน รวมมูลค่า 4,310.7 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2564* จำนวน 78,362 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 85,035 ไร่ ผลผลิต 94,277 ตัน รวมมูลค่า 4,393.3 ล้านบาท

ปี พ.ศ. 2565* จำนวน 79,411 ฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง 85,640 ไร่ ผลผลิต 97,207 ตัน รวมมูลค่า 4,478.3 ล้านบาท

หมายเหตุ *เป็นค่าประมาณการ ณ ไตรมาส 1/2565 ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

จากข้อมูลจะสังเกตเห็นได้ว่า ระหว่างปี 2556 ถึง 2562 มีเพียงปี 2561 ที่มูลค่ารวมของปลาดุกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.3% ส่วนปีอื่นๆ ในช่วงดังกล่าว มูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยสร้างเม็ดเงินถึงห้าพันล้านบาท กลับลดลงมาอยู่ที่ระดับสี่พันล้านบาท ส่วนจำนวนฟาร์ม เนื้อที่เลี้ยง และผลผลิตในระยะเวลาดังกล่าวก็ลดลงเช่นกัน 

ในส่วนของข้อมูลสถิติปีล่าสุด (2566) ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อประสานไปยังกลุ่มสถิติการประมงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่า อยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากทุกจังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม สถิติข้างต้นก็พอจะบอกเราได้ระดับหนึ่งว่า ทุกอย่างกำลัง 'ลดลง' อย่างมีนัยสำคัญ

'ภัยแล้ง-อาหารแพง' 2 เหตุผล ทำเกษตรกรเลี้ยงปลาดุกน้อยลง :

'คุณอัมพุชนี นวลแสง' รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง ได้อธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า จำนวนปลาดุกลดลงเนื่องจากเกษตรกรเลี้ยงน้อยลง อันเป็นผลสืบเนื่องจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ 'ภัยแล้ง' และ 'อาหารแพง' 

คุณอัมพุชนี กล่าวว่า ปัญหา 'ภัยแล้ง' เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะส่วนใหญ่จะต้องเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ต้องใช้น้ำเติมใส่บ่อจำนวนมาก ช่วงที่อากาศแล้งต้นทุนน้ำจะสูงขึ้น เกษตรกรแบกรับภาระไม่ไหว ก็เลยยิ่งทำให้ปริมาณการเลี้ยงลดลง

อีกปัจจัยเป็นเรื่องของ 'ราคาอาหาร' ที่ใช้เลี้ยงค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปลาดุกเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถเลี้ยงได้ทั้งอาหารเม็ดสำเร็จรูป หรืออาหารสด 

'อัมพุชนี นวลแสง' (ที่มา : เฟซบุ๊ก กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด)
'อัมพุชนี นวลแสง' (ที่มา : เฟซบุ๊ก กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด)

"ในส่วนของอาหารเม็ด ปลาดุก 1 กิโลกรัม จะต้องใช้อาหารเม็ดประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม และอาหารหนึ่งกระสอบประมาณ 25 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 500-600 บาท เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้เกษตรกรต้องการลดปริมาณการเลี้ยง แล้วเปลี่ยนไปเลี้ยงอย่างอื่น หรือทำกิจการอย่างอื่นแทน"

คุณอัมพุชนี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่ไม่ใช่แค่อาหารเม็ดแพงขึ้น อาหารสดก็แพงขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาหารสดในที่นี้หมายถึงเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เศษไก่ เดิมแล้วจะใช้เลี้ยงปลาเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้มีส่วนอื่นเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น 

"ช่วงนี้เศษเนื้อสัตว์เริ่มมีคนรับซื้อค่อนข้างเยอะ เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้หลากหลาย เช่น อาหารแมว อาหารสุนัข ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ราคาของอาหารสดแพงขึ้นด้วย"

อาหารแพง อาจทำให้ต้องเลี้ยงนานขึ้น : 

คุณอัมพุชนี กล่าวว่า โดยปกติการเลี้ยงปลาดุกใช้เวลาค่อนข้างสั้น ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะได้ขนาดตัวตามที่ตลาดต้องการแล้ว แต่ขณะนี้อาหารแพงขึ้น อาจจะทำให้การเลี้ยงนานขึ้นด้วย

"โดยปกติ ถ้าเกษตรกรเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด และให้อาหารอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาการเลี้ยงจะไม่นาน แต่ถ้าจังหวะที่เกษตรกรไม่มีอาหารให้ อาจจะเว้นช่วงการเลี้ยง หรือการให้อาหาร ก็อาจจะทำให้ปลาดุกเจริญเติบโตช้า ส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก"

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ได้มีการคุมราคาอาหารสัตว์ในตลาดหรือไม่?

คุณอัมพุชนี ตอบว่า ราคาอาหารเป็นไปตามราคาตลาด ไม่ได้มีการกำหนดราคาอาหารไว้ การกำหนดราคาจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่น แต่เราก็เข้าใจอยู่ว่าวัตถุดิบหลายอย่างแพงขึ้น กรมประมงเคยคุยกับผู้ประกอบการอาหารสัตว์น้ำ ก็จะมีบางช่วงที่เขาสามารถลดราคาลงให้เกษตรกรได้

สถานการณ์ปลาดุกไทยยังไม่เลวร้าย : 

เมื่อ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามว่า เมื่อจำนวนปลาดุกในประเทศลดลง แต่ความต้องการบริโภคเท่าเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาปลาดุกสูงขึ้นด้วยหรือไม่?

คำตอบของคำถามนี้คือ… มีโอกาสเป็นไปได้ที่ราคาจะสูงขึ้น แต่ก็ยังมีการนำเข้าด้วย อย่างโซนภาคใต้ก็จะมีการนำเข้าปลาดุกเพื่อบริโภค เช่น จากประเทศมาเลเซีย 

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า การนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น คุณอัมพุชนี มองว่ายังไม่มีผลกระทบอะไร ทางกรมประมงมีมาตรการเข้ม ถ้ามีการนำปลาดุกเข้ามา ก็จะมีคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ คอยควบคุมดูแล 

"เราให้นำเข้าได้ แค่กำกับดูแลมากขึ้น มีการดูแลว่ามันกระจายไปตรงไหนบ้าง เข้ามาเท่าไร อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถไปจำกัดการนำเข้าได้ เพราะเป็น Free Trade (การค้าเสรี) เราเพียงดูแลว่าถ้าจะมีการนำเข้าคุณต้องขออนุญาต เราจะมีการสุ่มตรวจสารตกค้างอยู่เป็นลอตๆ"

คุณอัมพุชนี กล่าวต่อว่า ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่เลวร้าย ราคายังไม่ตกต่ำ ยังทรงตัวได้อยู่ แต่ผู้ประกอบการ หรือผู้เพาะเลี้ยงก็พบปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ปลาดุกบิ๊กอุยที่เคยตัวใหญ่ ก็เริ่มตัวเล็กลง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่ได้มีการคัดสายพันธุ์ตั้งแต่แรก เพราะว่าจำนวนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มีจำกัด ทำให้นานวันเข้าคุณภาพก็เริ่มลดลง

"เรามองว่ายังสามารถที่ยังเลี้ยงและส่งออกได้ แต่อนาคตต้องดูต่อไปว่าการบริโภคจะเพียงพอไหม เพราะคนไทยบริโภคปลาดุกค่อนข้างเยอะ"

กรมประมงพยายามผลักดัน GAP : 

เมื่อมูลค่าตลาดปลาดุกและผลผลิตกำลังลดลงเช่นนี้ กรมประมงจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง?

คุณอัมพุชนี บอกว่า กรมประมงมีการทำยุทธศาสตร์ เป็นรายชนิดสินค้าสัตว์น้ำ รวมไปถึงปลาดุกด้วย กำลังพยายามพัฒนาเรื่อง GAP (Good Agricultural Practices : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) ให้เกษตรกรทำฟาร์ม GAP มากขึ้น เพื่อจะได้ราคาดีขึ้น และสามารถส่งออกได้มากขึ้น เป็นการดึงดูดให้เกษตรกรมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น

"นอกจากนั้นยังจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้สูตรอาหาร เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรต่อไป ในส่วนของกรมประมง เราก็เร่งพัฒนาอยู่ เราสนับสนุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าเป็นการตลาด เรื่ององค์ความรู้และมาตรฐานการเพาะเลี้ยง หรือการเปิดตลาด เราก็พยายามไปเจรจาเปิดตลาดสัตว์น้ำหลายชนิดกับต่างประเทศ"

คุณอัมพุชนี กล่าวส่งท้ายว่า เราพยายามเน้นย้ำเกษตรกรให้ทำตามมาตรฐาน หากเกษตรกรคนไหนสนใจทราบข้อมูลมากขึ้น สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานกรมประมงจังหวัด หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดในพื้นที่ได้ 

กราฟิก : Anon Chantanant


อ่านบทความที่น่าสนใจ :