โควิดระบาดเข้าสู่ปีที่ 5 ทั่วโลกยังคงพบการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโอมิครอน BA.2.86 หรือพิโรลา (Pirola) ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ ตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 จากตัวอย่างประเทศเดนมาร์ก จนผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกรวมทั้งองค์การอนามัยโลกในขณะนั้นมีความกังวล เพราะจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนไปมากกว่า 30 ตำแหน่งบนส่วนหนาม

เมื่อเทียบโอมิครอน BA.2.86 กับบรรพบุรุษโอมิครอน BA.1 และ BA.2 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองมาจากสายพันธุ์เดลตา และแม้โอมิครอน BA.2.86 จะมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่กลับแพร่ระบาดได้ไม่ดีนัก เพราะจนถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพียง 653 ราย ดูเหมือนมนุษย์โลกจะโชคดี

เพราะเพียงแค่เดือนเดียว โอมิครอน BA.2.86 ไม่ยอมแพ้ต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่สร้างสะสมมานานเกือบ 5 ปี จากการฉีดวัคซีนและติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยได้เกิดการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามขึ้น 1 ตำแหน่ง เกิดเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยรุ่นลูก JN.1 พบครั้งแรกในเดือน ส.ค. 2566 กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในสหรัฐฯ ขณะนี้ และยังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันมีการสุ่มตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ทั่วโลก มากถึง 50,366 ราย จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและแชร์ข้อมูลไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) แต่โอมิครอน JN.1 มิได้หยุดยั้งการกลายพันธุ์ ได้มีการกลายพันธุ์ไปอีกหนึ่งตำแหน่ง เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย JN.1.4 พบตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 เป็นต้นมา จำนวน 18,243 ราย

...

โอมิครอน JN.1.4 สายพันธุ์ล่าสุดตระกูล BA.2.86

แล้วโอมิครอน JN.1.4 มีความแตกต่างกับโอมิครอน JN.1 อย่างไร? “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในทีมเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดด้วยการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมเป็นระยะๆ ระบุว่า เมื่อก่อนไม่มีเครื่องมือตรวจสอบ แต่ตอนนี้เมื่อมีเครื่องมือจะเห็นโควิดค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ส่วนความร้ายกาจของโอมิครอน JN.1.4 แม้ยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่เห็นคนติดเชื้อมากขึ้นพอสมควรประมาณ 1 หมื่นคนทั่วโลก ขณะที่ไทยติดเชื้ออย่างน้อย 12 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ 6 คน กระบี่ 3 คน จันทบุรี นนทบุรี และสมุทรสงคราม จังหวัดละ 1 คน จากข้อมูลช่วงวันที่ 14 ส.ค. 2563 ถึงวันที่ 10 ก.พ. 2564

“ทั่วโลกติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ประมาณ 5 หมื่นกว่าๆ เกือบแสนคน ดูจากรหัสพันธุกรรม จนมาเห็น JN.1.4 เป็นลูกของ JN.1 ที่ระบาดไปทั่วโลกและ JN.1.4 กำลังระบาดคู่ขนานไปด้วยกัน จากระบบประมวลผลของฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส และพอคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็พบว่า JN.1.4 มีจีโนมต่างกับ JN.1 ไม่กี่ตำแหน่ง แต่ไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะ JN.1 กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน BA.2.86 เป็นสารตั้งต้น แต่พอมีการกลายพันธุ์เพียงตำแหน่งเดียวมาเป็น JN.1.4 ก็จะสามารถระบาดไปทั่ว จนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการปรับตัวให้เข้าถึงสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และอาจก่อโรครุนแรงได้”

แม้จะมีโอมิครอน JN.1 หรือ HV.1, JN.1.8.1, JN.1.7, JN.1.2 และ JN.1.9 แต่โอมิครอน JN.1.4 กลายพันธุ์อย่างรวดเร็วแค่เพียง 1 เดือนก็เปลี่ยนไปแล้ว เพื่อต่อสู้และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้เข้าไปได้ง่ายมากขึ้น จากปกติเชื้อโควิดส่วนใหญ่เกาะเซลล์ของปอด แต่อาจไปเกาะเซลล์ระบบทางเดินอาหาร และอาจไปถึงสมองได้ ซึ่งศูนย์จีโนมฯ ต้องติดตามกันต่อไปในการถอดรหัสพันธุกรรมประมาณเดือนละ 100 คน

ล่าสุดพบคนไทยติดเชื้อโอมิครอน JN.1.4 จำนวน 12 คนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อาจหลบแทรกอยู่กับโอมิครอน JN.1 กลายเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นช่วงปลายฝนต้นหนาว และวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง และคาดว่า JN.1.4 จะมาแทนที่ JN.1 เพราะมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงกว่าประมาณ 1% ส่วนวันหยุดช่วงสงกรานต์ อากาศร้อนมากจะมีแสงยูวีมาช่วยไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หรือคนติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไวรัสทางลมหายใจทั่วไป

เคยติดเชื้อ ฉีดวัคซีน แล้วติดซ้ำ ภูมิคุ้มกัน JN.1 

เพราะฉะนั้นแล้วการฉีดวัคซีนโควิด ควรต้องฉีดช่วงฤดูร้อนก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว และใช้วัคซีนในปีนั้นๆ เท่านั้น เพราะโควิดกลายพันธุ์เร็วมาก ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิดในขณะนี้เมื่อติดแล้วจะหายไว ทำให้กรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ อาจให้คนติดเชื้อหยุดได้แค่ 3 วัน

นอกจากนี้ มีข้อมูลล่าสุด พบว่าคนเคยติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 เมื่อปีที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีน และต่อมาติดเชื้อซ้ำอีก ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันโอมิครอน JN.1 ได้

...

“คนติดเชื้อซ้ำทำให้ร่างกายเรียนรู้ ในการปรับภูมิคุ้มกันให้มีความเฉพาะสูงในการป้องกัน ต้องเป็นตัวนี้เท่านั้น หรือตัวคล้ายๆ กันก็ได้ ทำให้ไม่น่าห่วงจากการติดเชื้อ JN.1 แต่ก็มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบลองโควิด อาจมีอาการทางสมอง หลงๆ ลืมๆ มีอาการสมาธิสั้น แต่ทางดีไม่ให้ติดเชื้อจะดีกว่า ในการตั้งการ์ดสูงๆ กินร้อนช้อนกลาง”

คาราโอเกะ สูบบุหรี่ รวมกลุ่ม ความเสี่ยงติดโควิด

จากข้อมูลกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น จำนวน 10,144 คน ในปี 2566 เห็นได้ชัดว่า การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น จากการฉีดสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย หรือฉีดวัคซีนโควิด จะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะติดเชื้อโอมิครอนแบบแสดงอาการ และพบปัจจัยเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จากการร้องคาราโอเกะ สูบบุหรี่ การรวมกลุ่มเข้าชมรมและเข้าค่าย

“ย้ำว่า JN.1.4 อาจกำลังจะแซง JN.1ที่ระบาดในไทย อย่างในสหรัฐฯ มีคนติดเชื้อ JN.1.4 ไปแล้ว 25% คล้ายๆ ในยุโรปติดกันมากขึ้น หรืออาจไม่แซงก็ได้ อาจมีตัวอื่นเข้ามาแทนที่ เพราะโควิดกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และเร็วมาก เพื่อแข่งกับภูมิคุ้มกันของมนุษย์ อาจมีสายพันธุ์ตัวใหม่เข้ามาแทนก็ได้ และอาการของคนติดเชื้อ JN.1.4 นอกจากส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว จะทำให้การรับรู้กลิ่นและรับรู้รสมีปัญหา ต้องอย่าการ์ดตก หรือถ้าติดเชื้อก็ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อต้านไวรัส ไม่ใช่อยู่บ้านรักษาตัวเองกินยาอะไรก็ได้”

...