ท้าทายอำนาจรัฐ คดีไล่ยิ่งหลานกำนันดังเสียชีวิตคาถนนใน จ.เพชรบุรี เมื่อ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจตามล่ากดดัน จนวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา "อาร์ม ปืนโหด" ยอมมอบตัวหลังหลบหนีไป จ.ชลบุรี เมื่อตำรวจนำตัวผู้ต้องหาไปทำแผน พี่สาวของผู้ต้องหาได้ตะโกนบอกให้ปฏิเสธทำแผน ขอไปให้การในชั้นศาล ขณะญาติผู้เสียชีวิตค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา หลัง นายภีมวัจน์ ลงมือก่อเหตุขี่รถจักรยานยนต์ไล่ชน และใช้อาวุธปืนไล่ยิง นายสุทัศน์ ลบโฉม อายุ 30 ปี พ่อค้าขับรถเร่ขายของตามหมู่บ้าน ด้วยปืนขนาด 9 มม.จนเสียชีวิต ริมถนน เพชรเกษมขาขึ้น (กทม.) หมู่ 10 ต.หัวสะพาน จ.เพชรบุรี
ญาติผู้ตายได้ให้การว่า ผู้ก่อเหตุและผู้ตายเคยมีเรื่องบาดหมางเกี่ยวกับการจีบผู้หญิงคนเดียวกันมากว่า 10 ปี โดยที่ผ่านมาทั้งคู่เจอกันจะเกิดเหตุทะเลาะอยู่เสมอ จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด พบว่าก่อนเกิดเหตุคู่กรณีขี่รถมอเตอร์ไซค์ปาดหน้ากันก่อน โดยคนยิงขี่รถชนผู้ตาย จากนั้นขี่รถมอเตอร์ไซค์ตาม ก่อนแยกย้ายกันไป ผู้ก่อเหตุได้ไปเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมนำอาวุธปืนมาด้วย เมื่อเจอผู้ตายได้ตามไล่ยิงจนเสียชีวิต 4 นัด
...
แม้จับผู้ก่อเหตุได้ แต่การปฏิเสธทำแผน อาจส่งผลต่อรูปคดี ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้น การที่พี่สาวซึ่งเป็นตำรวจมีการโต้แย้งคัดค้าน ไม่ให้ผู้ต้องหาทำแผนรับสารภาพ ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา ถึงญาติโวยวายอย่างไร แต่ถ้าผู้ต้องหายินยอมทำแผนต่อ ก็สามารถทำแผนต่อได้
หากมองอีกด้าน ถ้ากรณีนี้ผู้ต้องหาไม่ทำแผน จะทำให้สำนวนคดีอ่อนลงหรือไม่ แต่ความจริงการทำแผนรับสารภาพเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในกระบวนการควบคุมพยานหลักฐาน เพราะหลักฐานอื่นค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นหลักฐานสำคัญ ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการพิจารณาคดีอาญา
"ภาพจากกล้องวงจรปิด ถ้าเป็นการหักล้างในคดี ก็จะเป็นเรื่องตัดต่อ เพราะพยานจากกล้องวงจรปิด เหมือนกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์"
แต่คดีนี้ก็มีช่องว่างที่สามารถนำมาอ้างเพื่อลดโทษของผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะประเด็นการวางแผนฆ่าโดยไตร่ตรอง ซึ่งภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยพยานอย่างอื่นเข้ามาประกอบด้วย เพราะฝั่งผู้ต้องหาสามารถอ้างได้ว่า เป็นการต่อสู้เพื่อป้องกันตัว หรือบันดาลโทสะ ทำให้ต้องไปหยิบอาวุธมาเพื่อป้องกันตัว ศาลจะพิจารณา ถ้าเห็นว่าเป็นการบันดาลโทสะอาจพิจารณาลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กำหนดเท่าไรก็ได้ อีกกรณีถ้าศาลมองว่าเป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ กฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องรับโทษ
ขณะที่ อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ให้ข้อมูลว่า คดีนี้ไม่น่าจะมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดมีความชัดเจน ส่วนการไม่ทำแผนรับสารภาพ จะทำให้ศาลตัดสินลงโทษผู้ต้องหาหนักกว่าเดิมได้ เพราะผู้ต้องหาไม่ได้ให้ความร่วมมือในการรับสารภาพ ส่วนกรณีพี่สาว ทางต้นสังกัด อาจมีการพิจารณาลงโทษทางวินัยได้.