เดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีเด็กเล็กพลัดตกตึกสูงแล้ว 2 ราย สะท้อนภาพปัญหาการดูแลของครอบครัว ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนตึกสูง เช่น คอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ที่ผ่านมาไทยขาดความเข้มงวดในการออกแบบ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น

เหตุการณ์เด็กตกจากคอนโดฯ สูง เฉพาะเดือนมกราคม ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวแล้ว 2 กรณี คือเมื่อวันที่ 10 มกราคม เด็กวัย 2 ขวบ ตกตึกเสียชีวิต และอีก 2 วันถัดมา มีเด็ก 4 ขวบ พลัดตกคอนโดฯ จากริมระเบียง เนื่องจากผู้ปกครองกำลังลงมาด้านล่างเพื่อรับของที่สั่งไว้

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กตกจากที่สูง เช่น บ้าน อาคาร คอนโดฯ และที่สาธารณะก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงในเด็ก ทั้งแขนขา ลําตัว อวัยวะภายใน โดยเฉพาะการบาดเจ็บขั้นรุนแรงของสมอง เนื่องจากเด็กมีน้ําหนักศีรษะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่

จากการวิเคราะห์เหตุการตายของเด็กเล็กที่ตกจากที่สูง พบว่าองค์ประกอบของเหตุมีจุดบกพร่อง 3 ด้าน คือ พฤติกรรมของเด็ก การดูแลของผู้ปกครอง และการออกแบบสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นผู้ใช้สถานที่

...

ประกอบกับพฤติกรรมของเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่ชอบสํารวจ ขณะเดียวกันยังไม่รับรู้ความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะอายุหกปีขึ้นไป เป็นเรื่องที่ป้องกันยาก ด้านการดูแลของผู้ปกครองที่ประมาท ทอดทิ้งเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ให้อยู่ในสถานที่เสี่ยงตามลําพัง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลเด็ก มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก

สําหรับสถานที่พบความเสี่ยง มีการออกแบบไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นเด็ก โดยในประเทศเราไม่มีกฎหมายกําหนด แต่ในต่างประเทศมีการศึกษา และกําหนดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสําหรับเด็กอย่างชัดเจน เช่นประเทศออสเตรเลีย มีงานวิจัยของ Dr. John F Culvenor ที่พบว่าในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน จํานวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด

โดยเหตุการณ์การตกจากที่สูง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้น หรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก ที่มีความกว้างมาก จนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมากที่สุด เนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ

การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการออกแบบอาคาร ให้คํานึงถึงความปลอดภัย ที่สามารถป้องกันได้ มีวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคํานึงถึง ดังนี้

- ราวหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ตำ่กว่า 100 ซม. โดยอาคารตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป จะทำให้เด็กมีภาวะบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต จึงต้องมีความสูงของราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 ซม. จากพื้น

- ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ โดยไม่มีโครงสร้างลักษณะเป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้า ที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตําแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทําให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ หรือคอมเพรสเซอร์ ที่วางไว้บริเวณระเบียง

...

- ราวกั้นกันตกควรเป็นลักษณะแนวตั้ง โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างพอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะแคบสุดที่เด็กเล็กสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลําตัวสอดเข้าไปได้ แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือออกแบบให้เป็นแผ่นทึบแทน เช่น คอนกรีต โดยไม่เจาะช่องลมให้เป็นที่สอดเท้าเหยียบแล้วปีนป่ายได้

- ซี่ราวแนวนอน ซึ่งเป็นคานล่างของซี่ราวแนวตั้งนั้นมีได้ แต่ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 9 เซนติเมตร เช่นเดียวกัน ซี่ราวที่สูงเกินกว่า 100 เซนติเมตร มีซี่ราวแนวนอนเป็นคานยึดซี่ราวแนวตั้งได้ที่ระดับ 100 เซนติเมตร

ในไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับแน่ชัด แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารของกระทรวงมหาดไทย ระบุไว้แต่เพียงว่า ความสูงจากพื้นถึงขอบหน้าต่างไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร ไม่มีการกําหนดลักษณะระเบียง ราวกันตก ช่องห่าง การวางเฟอร์นิเจอร์ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการปีนป่ายในบ้าน อาคาร และที่สาธารณะ

เรื่องดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่ภาครัฐกําหนดกฎหมายที่แน่ชัด โดยผู้ประกอบการให้ความสําคัญและคํานึงถึงความปลอดภัยควบคู่ไปกับผลประกอบการที่จะได้รับ และพ่อแม่ผู้ปกครองใส่ใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด จะสามารถลดอัตราการบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงได้ดีที่สุด.

...