กางเกงช้าง ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่ขายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ผลิตจากโรงงานจีน ด้วยต้นทุนถูกกว่า ทำให้นายกฯ จดลิขสิทธิ์ป้องกัน แต่ในมุม "พ่อค้าจีน" ที่คลุกคลีในตลาดส่งออกเสื้อผ้ามาไทย มองว่า กรณีกางเกงช้าง การก๊อบปี้มาจากคนไทยที่สั่งโรงงานจีนผลิตจำนวนมาก ทำให้ราคาต้นทุนอยู่ที่ตัวละ 25 บาท หรือต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนผลิต ด้านผู้ออกแบบกางเกง "แมวโคราช" ห่วงการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ล้มเหลว เพราะของก๊อบปี้เกลื่อน
หลังจากที่โซเชียลขุดราคาขายกางเกงลายช้างจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่มีการผลิตในจีนอยู่ที่ตัวละ 30 บาท และเมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตลาดขายเสื้อผ้าในกรุงเทพฯ แม่ค้าส่วนใหญ่ยอมรับว่า กางเกงช้างที่ขาย 70 เปอร์เซ็นต์ผลิตในจีน ประกอบกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุข้อมูลถึงกางเกงช้าง มีการลักลอบนำเข้าแบบเหมาตู้คอนเทนเนอร์ โดยเสียภาษีเหมารวม ด้วยปัจจุบันภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอยู่ที่ 0% ด้วยต้นทุนจีนต่ำ
เมื่อประเด็นเรื่อง กางเกงช้าง ที่ถูกผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ถูกท้าทายจากการผลิตในจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมจดลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ
...
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยังพ่อค้าชาวจีนรายหนึ่งที่ทำธุรกิจส่งเสื้อผ้าจากจีนมาไทย เปิดเผยว่า กางเกงช้าง ในตลาดค้าส่งเสื้อผ้าขนาดใหญ่ของเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ไม่มีให้เห็น คาดว่ากางเกงลายช้างที่ส่งเข้าไปขายในไทย มาจากพ่อค้าแม่ค้าไทยที่ส่งแบบมาที่โรงงานผลิตในจีน ด้วยโรงงานผลิตเสื้อผ้าจีนมีการแข่งขันสูง ตอนนี้โรงงานมีการปรับตัวให้ลูกค้าที่สั่งผลิตเสนอราคาให้กับโรงงานได้ก่อน ต่างจากเดิมที่โรงงานผลิตเป็นผู้เสนอราคาลูกค้า ทำให้โรงงานหลายแห่งตัดราคาการผลิตจนมีต้นทุนสินค้าที่ต่ำ โดยต้นทุนกางเกงช้าง ตกอยู่ที่ตัวละ 25-30 บาท
“กางเกงช้าง ต้องสั่งกับโรงงานผลิตโดยตรง ต้องมีพ่อค้าแม่ค้าคนไทยส่งแบบให้ เมื่อผลิตเสร็จถึงส่งกลับไปไทย โดยปกติการสั่งตัดกางเกงแบบนี้ต้องมียอดสั่งประมาณ 1,000 ตัว แต่ถ้ามียอดสั่งผลิตมากกว่านั้น ต้นทุนจะต่ำกว่าตัวละ 25 บาท แต่ถ้ามีการสั่งในโรงงานขนาดเล็ก ที่ไม่มีเครื่องจักรมาก จะได้ราคาต่ำลง อยู่ที่การต่อรองของพ่อค้าไทยที่มาจ้างผลิต”
ปกติโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในจีน ถ้ามีออเดอร์สินค้าที่เป็นกระแส เมื่อสั่งผลิตภายใน 1-2 วัน สามารถผลิตได้เสร็จ ส่วนเวลาในการส่งไปไทยใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน ยิ่งในคนไทยที่จ้างโรงงานจีนผลิตเสื้อผ้าอยู่เดิมแล้ว การผลิตของก๊อบปี้ยิ่งรวดเร็วมากขึ้น เพียงส่งแบบมาทางวีแชต ถ้าโรงงานฝั่งจีนตอบรับว่าทำได้ สามารถผลิตได้ทันที
เมื่อถามถึงการที่ไทยจะจดลิขสิทธิ์กางเกงช้าง เพื่อป้องกันจีนก๊อบปี้ พ่อค้ารายนี้มองว่า คงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะโรงงานผลิตส่วนใหญ่ ถ้าแคร์เรื่องลิขสิทธิ์ก็อยู่ไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าโรงงานบางส่วนก็ผลิตของก๊อบปี้ออกมาจำนวนมาก สมัยนี้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในจีนปรับตัวค่อนข้างสูง เจ้าของมารับลูกค้าชาวไทยด้วยตัวเอง ยิ่งในสินค้าแฟชั่นที่ต้องผลิตเร็วเพื่อชิงความได้เปรียบ
กางเกงแมวโคราช ถูกก๊อบปี้แย่งตลาด ซอฟต์พาวเวอร์อาจไม่ยั่งยืน
โจ จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘กางเกงแมวโคราช’ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐ ออนไลน์ ว่า กรณีกางเกงช้างที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่ในจีน ทั้งที่มีการโปรโมตเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย ถือเป็นประเด็นที่ป้องกันยาก ต้องยอมรับว่าจีนมีเทคโนโลยีการผลิตที่เร็ว ต้นทุนถูกกว่ามาก ซึ่งกางเกงแมวโคราช หลังจากออกลายมาไม่ถึงอาทิตย์ ของก๊อบปี้ก็ออกมาขายแข่งในตลาด
...
สำหรับคนที่ทำไม่ว่ารายใหญ่ หรือรายเล็ก ได้แต่พยายามสื่อสารกับลูกค้าให้รับรู้ถึงแบรนด์คนไทย เพราะอย่างกางเกงลายแมวโคราช เราคิดแบบขึ้นมาเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมชุมชนท้องถิ่นนำไปใช้เพื่อหารายได้ แต่พอมีของก๊อปออกมาเลยทำให้ยอดขายของชาวบ้านลดลง ส่งผลกระทบต่อโมเดลซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลที่อาจไม่ยั่งยืน
“ต้องยอมรับว่าเราเองก็ยังหาทางแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เพราะคนที่นำสินค้าเลียนแบบจากจีนเข้ามา จะเน้นขายออกเร็ว ราคาต่ำ แต่คุณภาพสู้สินค้าไทยไม่ได้ สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เป็นกระแส ถ้ามองในมุมธุรกิจคือ การฉวยโอกาสให้เร็วที่สุด ดังนั้นจะเห็นโรงงานผลิตในจีนใช้โอกาสนี้ผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าของไทยเกือบเท่าตัวมาขาย”
การจดลิขสิทธิ์เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหา แต่การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลหลายโครงการดี แต่ต้องมีการสร้างแบรนด์ให้ผู้ซื้อสินค้ารับรู้ เพื่อป้องกันสินค้าเลียนแบบ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้เม็ดเงินที่ควรจะได้ไปตกอยู่กับชาติอื่น.