'กรงลิงลพบุรี' เริ่มดำเนินการซ่อมแซม ด้านโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ประเมินงบปรับปรุงอยู่ที่ประมาณ 649,000 บาท ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี เตรียมลงนาม MOU วันที่ 7 ก.พ.นี้ พร้อมเผยอนาคตอยากทำกรงเพิ่ม...หลังจากที่ 'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบหมายให้ 'นายเผด็จ ลายทอง' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ลงพื้นที่ตรวจ 'กรงลิง' หรือ 'สถานอนุบาลลิง' ข้างโรงพักท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี ทำให้พบ 2 จุดที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งกลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถย้ายลิงเข้าไว้ในนิคมได้ สถานที่ถูกปล่อยทิ้ง จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถาม "ทำไมไม่ใช้งาน?"อ่านเพิ่มเติม : นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านที่ไม่ได้ใช้ กับคำตอบที่บอกให้ 'รอ' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า อธิบายเพิ่มเติมชี้ให้เห็นว่า 'ยังไม่ได้มาตรฐาน' อย่างไร เพื่อให้เราเข้าใจพอสังเขป ดังนี้ 'จุดแรก' พื้นที่ด้านในกรง ต้องปรับให้มีสภาพที่เหมาะกับการแสดงพฤติกรรมของลิง เช่น มีต้นไม้ มีเชือกโหน มีระบบน้ำ ให้ล้อไปสภาพธรรมชาติ และต้องมั่นใจได้ว่าหากลิงไปอยู่แล้ว จะได้รับสวัสดิภาพที่ดี'จุดที่สอง' แนวตะเข็บรั้ว เนื่องจากกรงลิงนี้ ยังไม่มีการเดินแนวตะเข็บของรั้วตาข่ายที่ติดกับตัวเหล็ก ทำให้ความแข็งแรงไม่พอ ซึ่งหากไม่ปรับปรุงในส่วนนี้ แล้วถ้านำลิงไปขังไว้ เชื่อได้เลยว่าลิงจะใช้เวลาไม่นาน ขย่มพังกรงออกมาได้ เมื่อลิงออกมาได้ ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนแถวนั้นอีกอ่านเพิ่มเติม : 'ลิงลพบุรี' ยังวุ่น ตรวจกรงนิคมลิงยังไม่ได้มาตรฐานทีมข่าวฯ ติดต่อไปยัง 'นายจำเริญ สละชีพ' หรือ 'นายกด้ง' นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี เพื่อขออนุญาตเข้าไปยังพื้นที่กรงลิงลพบุรี หลังจากได้รับการตอบรับ เราจึงเดินทางไปยังจุดหมาย เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายจำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรีทีมข่าวฯ บุกพิสูจน์กรงลิงลพบุรี : ในวันที่ทีมข่าวฯ เดินทางไปถึง เราพบว่ากำลังมีช่างมาปรับปรุงกรงลิงอยู่พอดี พวกเขาบอกกับเราว่าเข้ามาทำได้ประมาณ 7 วันแล้ว และคาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน น่าจะทำงานเสร็จตามที่ได้รับมอบหมายด้านในกรงขนาดใหญ่นั้น มีตะแกรงลวดและโครงเหล็กกั้นพื้นที่ออกเป็น 4 จุด แต่ละจุดมีการทำบ่อน้ำขนาดเล็ก คาดว่าจะทำแหล่งน้ำให้กับเจ้าจ๋อที่เข้ามาอยู่ นอกจากนั้นทั้ง 4 จุด ยังมีโครงสร้างขนาดใหญ่สีน้ำตาล ทำเลียนแบบคล้ายต้นไม้ที่มีช่องว่างสูง 2-3 ชั้น คาดว่าน่าจะเป็นพื้นที่ให้ลิงได้ปีนป่าย บริเวณด้านในบางจุดมีกิ่งไม้แห้งถูกตัดวางทิ้งไว้บนพื้นดิน บางจุดมีต้นไม้ขนาดเล็กคล้ายวัชพืชที่ไม่ได้ตัดออกไป ส่วนบริเวณตะแกรงมีไม้เลื้อยพันขึ้นหลายจุด บางจุดยังคงเขียวสด แต่บางจุดก็เป็นสีน้ำตาล ระบบไฟที่ถูกติดตั้งไว้แต่เดิม มองดูเผินๆ เหมือนจะใช้งานไม่ได้แล้ว เพราะช่างใช้ไฟที่ต่อจากอาหารขนาดเล็กอีกแห่งที่อยู่ตรงข้ามกรงลิงที่กำลังปรับปรุง ทีมข่าวฯ เดินขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคารดังกล่าว โดยตั้งใจจะขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพจากมุมสูง แต่ด้านบนนั้นทำให้เราเห็นว่ายังมีสถานอนุบาลลิงที่ถูกสร้างไว้อีก 2 จุด ด้านซ้ายของอาคาร 1 จุด และด้านขวาของอาคารอีก 1 จุด โดยทั้ง 2 จุดที่เรากล่าวถึง ยังไม่มีการสร้างกรงปิดล้อมขึ้นมาเรายอมรับว่าหากไม่ได้เดินขึ้นไปด้านบนก็อาจจะมองไม่เห็น หรือถ้าเห็นก็ไม่แน่ใจว่านั่นคืออะไร เพราะทั้ง 2 จุด มีต้นไม้และหญ้าสูงขึ้นบดบังไว้ ทำให้การมองเห็นเป็นไปได้ยากจากสภาพโดยรวมทั้งหมด 'คาดว่า' ตั้งแต่สร้างเสร็จคงไม่ได้ใช้งานหลายปี นี่จึงอาจจะเป็นที่มาที่ชาวบ้านสงสัยว่า "สร้างไว้ทำไมไม่ใช้"หลังจากได้เดินดูสถานที่อนุบาลลิง (กรงลิง) เรียบร้อยแล้ว ทีมข่าวฯ เดินทางต่อไปยังสำนักเทศบาลเมืองลพบุรี เพื่อขอเข้าสัมภาษณ์นายกด้ง ถึงประเด็นเรื่องการปรับปรุงกรงลิง และการเซ็น MOU วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ เริ่มดำเนินการปรับปรุงกรงลิงได้ประมาณ 10 วัน : นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงกรงลิงมาประมาณ 10 วันแล้ว เข้าไปทำกรงให้แข็งแรงขึ้น ส่วนปูนที่แตกเดี๋ยวจะเทให้ดีหมดเลย พื้นที่เป็นดินจะเทปูนให้อย่างดี อีกแป๊บเดียวก็จะเสร็จแล้ว เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อต้องปรับปรุงกรงเช่นนี้ ส่งผลต่องบประมาณของเทศบาลหรือไม่ นายกด้งตอบทันทีว่า "มันกระทบงบตรงอื่นอยู่แล้ว แต่การแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงงบภายใน"นายกด้ง กล่าวต่อว่า การปรับปรุงตอนนี้ เราทำตามแบบที่จังหวัดสั่งมาหมดเลย เพราะกรมอุทยานฯ บอกจังหวัด ส่วนจังหวัดมาบอกเราต่อ ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะการที่เราทำตามคุณบอก คุณจะได้ไม่มาบอกว่าเราทำผิดอีก แต่ถ้ามาบอกว่ายังไม่ดี เดี๋ยวก็จะแก้ให้อีก"คุณจะให้เราเพิ่มตรงไหนก็บอกมา จะให้เราทำตรงไหนก็ว่ามา นี่คือการแก้ปัญหา เพราะถ้ามัวแต่บอกว่าไม่มีนโยบายเอาลิงเข้าไปอยู่ในกรง ทุกอย่างจบเพราะเราจะทำอะไรไม่ได้เลย เราต้องช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่มานั่งสร้างเงื่อนไขกัน ถ้าเราเอาแต่เงื่อนไข และเรื่องที่ยังไม่เกิดมาคิดต่างไว้ อะไรๆ ก็คงจะไปต่อไม่ได้" การประเมินงบประมาณปรับปรุงกรงลิง : นายกด้งแจ้งข้อมูลเรื่องงบประมาณที่ใช้ปรับปรุงกรงลิงครั้งล่าสุดกับเราว่า "จำนวนเงินที่ใช้อยู่ที่หลักแสนบาท" นอกจากนั้นยังระบุว่า "ทางเทศบาลไม่ได้เป็นคนออกแบบ เราทำตามแบบที่ได้รับมาจากจังหวัด ซึ่งจังหวัดก็ได้รับแบบมาจากที่โยธาจังหวัดเป็นคนเขียน"ภายหลังจากกล่าวลานายกด้ง เราจึงต่อสายตรงหา 'นางชนิตตา แสงพลบ' หัวหน้าโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลพบุรี เพื่อพูดคุยถึงเรื่องการออกแบบกรงลิงลพบุรี คุณชนิตตา ชี้แจงว่า เราเป็นคนช่วยเสนอแบบกรงลิงก็จริง แต่แบบที่ออกมาก็ตามที่กรมอุทยานฯ บอกว่าควรปรับส่วนไหนบ้าง แล้วเราก็ช่วยทำราคากลางให้ ส่วนหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นของจังหวัดหรือเทศบาล "เขาจะแค่ขอให้เราไปประเมินราคาให้ แต่เวลาลงพื้นที่เราก็ต้องลงกับกรมอุทยานฯ เพราะเขามีหน้าที่ตรวจ เราถึงจะทำราคาและร่างแบบได้ตามที่เขาตรวจ" คุณชนิตตา บอกว่า งบประมาณที่ประเมินเพื่อใช้ปรับปรุงกรงลิงครั้งนี้มี 2 ส่วน ได้แก่…"งบลานคอนกรีตเสริมเหล็ก และปรับปรุงระบบระบายน้ำภายใน ที่ไม่ส่งผลต่อความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะอันเก่าไม่มี ซึ่งถ้าไม่มีระบบนี้ เมื่อลิงอุจจาระจะทำเกิดกลิ่นเหม็น ส่วนพื้นที่เป็นดินอยู่ก็จะเทปูนลงไป ตอนนั้นประเมินราคาไว้ที่ประมาณ 496,600 บาท""อีกอันเป็นงบ เสริมโครงเหล็ก ร้อยสลิงตะแกรงลวดถัก เนื่องจากของเดิมงบไม่พอ ทำให้ต้องถักตะแกรงไว้ห่างๆ ทำให้ยังไม่ได้มาตรฐาน จึงเสริมโครงเหล็กเข้าไป และร้อยสลิงเพิ่มความแข็งแรง ส่วนนี้ประเมินราคาไว้ประมาณ 153,000 บาท"จากข้อมูล เราจึงพอสรุปได้เบื้องต้นว่า การปรับปรุงกรงลิงครั้งนี้ น่าจะใช้เงินประมาณ 649,600 บาททีมข่าวฯ สอบถามคุณชนิตตาว่า ในส่วนที่ยังไม่มีกรงแต่ก่อสร้างพื้นที่ภายในไว้แล้ว หากจะมีการสร้างเพิ่มเติม ได้ประเมินราคาแล้วหรือยัง? เธอตอบว่า การประเมินราคาที่ผ่านมา เป็นของกรงลิงเก่า กรงลิงใหม่ยังไม่มี เรามองว่าต้องเอากรงเก่าให้ได้ตามมาตรฐานของกรมอุทยานฯ ก่อน ให้กรมอุทยานฯ ตรวจให้ผ่านก่อน ถึงคงจะมีการเริ่มทำกรงใหม่ จะได้ใช้งบจบในครั้งเดียว ไม่ต้องมาเสริมเติมแต่งกันทีหลัง 7 ก.พ. 2567 พร้อมลงนาม MOU : ตามที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แจ้งข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า วันพุธที่ 7 ก.พ. 2567 จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ (MOU) เราจึงได้สอบถามนายกด้งว่าพร้อมเซ็นหรือไม่?นายกเทศมนตรี ตอบว่า ต้องเซ็นอยู่แล้ว วันนั้นทางจังหวัดทำ MOU มาให้ดู เลยให้นิติกรช่วยตรวจสอบ เขาบอกว่าเนื้อหานี้โอเค เราก็โอเค ตอนนี้กลัวแค่ว่าจะมีการแก้ไขเนื้อหาอะไรเพิ่มเติมอีกไหม เพราะฉบับล่าสุดที่ได้ดู มีการแก้ไขเนื้อหาไปประมาณ 2-3 จุดจากฉบับแรก แต่นิติกรตรวจสอบแล้วว่า ไม่กระเทือนต่อหน้าที่ของเรา ทางเราก็โอเค "เราบอกตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าไม่เอาลิงออกจากสัตว์คุ้มครอง ก็ต้องให้เราจับได้ ขนได้ ขังได้ ไม่อย่างนั้นเราไม่เซ็น เราขอแค่จับได้ ขนได้ ขังได้ แล้วเวลาจะทำอะไรก็ให้กรมอุทยานฯ มาร่วมมือด้วย แบบนี้เราโอเค เพราะเขาก็ผ่อนปรนให้เราบ้างแล้วแต่ถ้าในเนื้อหาระบุว่า หากกรมอุทยานฯ ต้องการอะไร ต้องได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล พูดตรงๆ ว่าเราไม่เซ็น เพราะห่วงเรื่องงบประมาณ มันจะกลายเป็นว่าทำ MOU ขึ้นมาเพื่อคอยอุดหนุนกรมอุทยานฯ แต่ตอนนี้เนื้อหาทุกอย่างโอเคหมดแล้ว วันที่ 7 ต้องรอดูกันอีกที ว่าจะมีการแก้ไขอะไรอีกไหม" งบประมาณดูแลที่ต้องใช้ดูแล : หลังจากนำลิงเข้ากรงเพื่ออนุบาลแล้ว เรื่องที่น่าสนใจต่อไปคือ 'งบประมาณ' ต่างๆ ทางเทศบาลจะนำมาจากไหน เพราะการดูแลลิงทั้งหมดน่าจะต้องใช้เงินมากพอสมควร นายกด้ง ชี้แจงกับทีมข่าวฯ ในประเด็นข้างต้นว่า หลักๆ แล้วทางเทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณอาหาร แต่เรื่องนี้เราไม่ค่อยห่วงเท่าไร เพราะถ้าคนลพบุรีรู้ว่าเราทำ เขาก็จะช่วยกันบริจาคอาหารแล้วงบประมาณค่าพยาบาลลิง ค่ายา หรือค่าอื่นๆ จะนำมาจากไหน?"นี่แหละเป็นปัญหาที่ทางจังหวัดต้องมาคิดว่าจะทำยังไงต่อไป เพราะจังหวัดเคยทำเรื่องสอบถามไปที่กรมอุทยานฯ แล้วว่า ถ้านำลิงเข้ากรงได้แล้ว ทางเทศบาลจะสามารถตั้งงบประมาณเบิกจ่าย เช่น ค่ายา ค่าทำหมัน เพื่อสนับสนุนจังหวัดได้หรือไม่""กรมอุทยานฯ บอกว่าไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้แล้วว่า งบเบิกค่ายาพวกนี้เบิกได้แค่เฉพาะหมากับแมว เรามองว่าต้องแก้กฎหมายส่วนนี้ ให้เพิ่มลิงเข้าไปด้วย เราถึงจะได้ตั้งงบประมาณค่ายาต่างๆ ได้" นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ตอบกลับทีมข่าวฯ แผนขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่ออลงกตในอนาคต : นายกด้ง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถึงจะจับลิงเข้ากรงได้ ทำหมันได้ เอาเข้าไปอนุบาลได้ แต่เราไม่จับลิงออกไปหมด เพราะเป็นสัญลักษณ์ของลพบุรี ตรงพระปรางค์สามยอด กับศาลพระกาฬเรายังต้องเอาไว้ ควบคุมประชากรเอา เช่น มี 100 ตัว ทำหมัน 70 ตัว ให้สืบพันธุ์ 30 แล้วก็ทยอยควบคุมประชากรไปเรื่อยๆ "ในความคิดของเราคือถ้าเราขนได้ เราก็จับทำหมันให้เรียบร้อย แล้วก็เอาเข้าพักในกรงลิง พอแผลหาย อนุบาลเรียบร้อย ก็ส่งไปที่วัดพระบาทน้ำพุ แบบนี้ก็แก้ปัญหาได้ เพราะถ้าลิงไปอยู่ตรงนู้น ลิงก็เหมือนไปอยู่ในป่าแต่เป็นป่าจำลอง"นายกด้ง ชี้แจงว่า ที่เลือกเป็นวัดพระบาทน้ำพุ เนื่องจากเคยเข้าไปขอหลวงพ่ออลงกต (พระราชวิสุทธิประชานาถ) ไว้เบื้องต้นว่า ถ้าหลวงพ่อดำเนินการสร้างกรงเรียบร้อย จะขอฝากลิงที่ทำหมันแล้ว รบกวนให้หลวงพ่อช่วยดูแล เพราะท่านมีงบประมาณ"อย่างปัจจุบันหลวงพ่อมีลิงอยู่ประมาณ 200-300 ตัว ตอนเช้าแกก็จะเอารถบรรทุกไปขนผักที่ตลาดไทย คนก็บริจาคกัน แต่อันนี้ก็เป็นแผนในอนาคตที่เราลองคุยไว้คร่าวๆ ทางหลวงพ่อก็ต้องรอการทำเรื่องขออนุญาต และทำ MOU เหมือนที่ลพบุรีอีก" เล็งอยากทำกรงลิงเพิ่ม : นายกด้ง กล่าวว่า ตรงข้ามกรงลิงที่กำลังปรับปรุง มีของเดิมที่สร้างไว้ด้วยแต่ยังไม่มีกรง ในส่วนนี้เดี๋ยวต้องปรับปรุงอีกที แล้วก็ถ้าเดินตรงเข้าไปข้างในแล้วเลี้ยวขวา จะมีบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ ตรงนั้นเราคิดว่าจะทำกรงใหญ่อีก เพราะลิงจะอยู่ได้หลายพันตัว ตอนนี้มีแค่รั้วที่เคยทำไว้แล้วงบประมาณเพียงพอหรือ?นายกด้ง ตอบว่า เดี๋ยวท่านเศรษฐา (นายกรัฐมนตรี) จะเดินทางมางานวังลพบุรี วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เราจะบอกท่านไว้แล้วทำหนังสือตามไป จะของบประมาณปรับปรุงและทำเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท ถ้าเกิดได้งบประมาณมาจริง รอบนี้จะขอให้กรมอุทยานฯ ออกแบบกรงมาเลย เราจะได้ทำตามแบบที่เขาบอก อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นแผนที่นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี คาดการณ์ และ ตั้งเป้า ว่าอยากจะทำ แต่จะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป…ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhotoอ่านสกู๊ปวิกฤติลิงลพบุรีทั้งหมด :(1) วิกฤติลิงลพบุรี! กระทบชาวบ้าน ชีวิตเหมือนอยู่ในกรงขัง (คลิป)(2) อัปเดตประชากรลิงลพบุรี รหัสแรกสู่การแก้ไขปัญหา(3) นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านที่ไม่ได้ใช้ กับคำตอบที่บอกให้ 'รอ'(4) ทำหมัน 'ลิงลพบุรี' การทำงาน 10 ปี กับงบที่ไม่เพียงพอ(5) 90% คนลพบุรี หนุนลดจำนวนลิง ความปรารถนาที่รอกรมอุทยานฯ(6) 'ลิงลพบุรี' ยกเลิกคุ้มครองไม่ใช่ทางออก MOU พร้อม...แต่ยังไม่ได้เซ็น(7) จับลิงลพบุรี จ่ายปีละ 6 ล้าน แค่ค่าเลี้ยงดู(8) 'ลิงลพบุรี' ยังวุ่น ตรวจกรงนิคมลิงยังไม่ได้มาตรฐาน(9) สรุป 'วิกฤติลิงลพบุรี' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย