ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง มีคำสั่งห้ามกระทำลักษณะเดียวกัน โดยนักวิชาการมองว่า วิบากกรรมยังไม่จบ มีโอกาสถูกตัดสิทธิทางการเมืองสูง หากมีการยื่นเรื่องพิจารณา “ดาบที่ 2” ถือเป็นจุดหักเหสำคัญของการเมืองไทยต่อจากนี้

วันนี้ (31 ม.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ขัดรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยมีการยื่นเรื่องตั้งแต่ 30 พ.ค. 66

โดยผลการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนโยบายหาเสียงแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งห้าม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ห้ามพูด พิมพ์ และเขียนถึงเรื่องนี้ ไม่ให้เสนอแก้ไขอีกในอนาคต”

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่า จากการอ่านคำพิพากษา ศาลได้ชี้ว่าผู้ถูกร้องคือ คุณพิธา เข้าข่ายในการใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และห้ามไม่ให้กระทำอีก ดังนั้น ต่อจากนี้จะเป็นวิบากกรรมที่คุณพิธาต้องเจออีก ในการที่จะมีคนไปยื่นเสนอยุบพรรค โดยคนยื่นอาจเป็นคนที่ยื่นคำร้องมาก่อนหน้านี้ หรือ กกต. อาจเป็นผู้ยื่นเรื่องเองได้

...

ในการอ่านคำพิพากษาของศาล แม้บอกว่าให้หยุดการกระทำต่อจากนี้ แต่ต้องจับตาว่า จะมี “ดาบ 2” ในการยื่นเรื่องตัดสิทธิทางการเมืองคุณพิธา และยุบพรรคก้าวไกลในขั้นตอนต่อไป ซึ่งถ้าวิเคราะห์ทางรอดทางการเมืองคุณพิธา การพิจารณาหากมีคนยื่นเรื่องต่อไป จะค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาว เพราะมีกระบวนการพิจารณายุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกล และเป็นสถานะที่สุ่มเสี่ยงของพรรคก้าวไกล โดยจะมีลักษณะเหมือนโดนคุมพฤติกรรม สมาชิกในพรรคทำอะไรไม่ถนัดเหมือนแต่ก่อน

อีกประเด็นที่ไม่เกี่ยวกันโดยตรง แต่ศาลก็ดักไว้คือ การแก้ไข ม.112 ห้ามยกเลิกแน่นอน แต่กระบวนการแก้ไขที่นอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติก็ห้ามทำ แน่นอนว่า พรรคก้าวไกลต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติ เพียงแต่ว่าศาลจะดูพฤติการณ์ในมุมกว้าง บางอย่างที่พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่เกี่ยว เช่น เรื่องผู้ชุมนุมก็มีการพิจารณาว่าเกี่ยวโยงหมด ว่ามีพฤติกรรมสนับสนุนไปให้ประกันตัว นั่นจึงหมายความว่า ท่าทีของพรรคก้าวไกลในเรื่องนี้ต่อไป ต้องเบาลงทั้งทางตรงและทางอ้อม

หากมีการพิจารณาในดาบที่ 2 ให้คุณพิธายุติบทบาททางการเมือง และพรรคก้าวไกล ถูบยุบพรรค ต้องจับตาดูท่าทีของสมาชิกพรรค ที่ทุกวันนี้เขาก็เตรียมตัวในการตั้งพรรคสำรองไว้แล้ว และวางตัวบุคลากรทางการเมือง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเกมการเมือง สมาชิกของพรรคก้าวไกล ควรก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป เพราะตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ก็ต้องสู้กันไปตามเกม เพื่อให้คนที่เลือกพรรคได้รู้สึกว่า ยังสนับสนุนพรรคต่อไป

“วันนี้ต้องยอมรับว่า มีโอกาสที่คุณพิธา และคุณชัยธวัช จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตในดาบที่ 2 มีสูงมาก โดยเฉพาะในตัวบุคคลที่มีสิทธิจะเหมือนกรณีของคุณช่อ พรรณิการ์ แล้วมีเรื่องการโยงพรรคมาด้วยบางส่วน ดังนั้น พรรคอาจมีสิทธิถูกยุบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวบุคคลมีแนวโน้มที่ชัดเจนมาก”

ภาพรวมการเมืองเปลี่ยน โดดเดี่ยวก้าวไกล

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่าการพิจารณาของศาลในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของการเมืองไทย เพราะเมื่อก้าวไกลถูกกระบวนการพิจารณาดังกล่าว พรรคการเมืองอื่นก็จะมองว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่ไปว่าก้าวไกล ตอนที่ไม่โหวตให้คุณพิธา เรื่อง ม.112 ขณะที่ก้าวไกลก็จะมีเรื่องจุกจิกกวนใจ เรื่องคดียุบพรรค และพฤติกรรมในการแสดงออกต่างๆ ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

...

พรรคการเมืองอื่นจะมองว่าเป็นการสร้างกรอบให้พรรคก้าวไกล ในบทบาทสถานะที่พรรคการเมืองอื่นสามารถสู้ได้มากขึ้น และถือเป็นการปิดฉากความคิดที่จะนำพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน สมมติถ้าพรรคเพื่อไทยไปทะเลาะกับพรรคร่วม แล้วไม่ง้อก้าวไกลให้มาร่วมรัฐบาล จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และเป็นการสร้างการต่อรองให้กับพรรคร่วมมากขึ้นกว่าเดิมด้วย.