“แพทองธาร ชินวัตร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่เดินหน้ามาเกือบ 100 วัน แม้จะยังเป็นการตั้งไข่ แต่เป้าหมายต่อจากนี้ คาดว่า เดือนเมษายน จะผลักดัน พ.ร.บ. THACCA ให้นำมาบังคับใช้ และจะเห็นกระบวนการพัฒนาในรูปแบบการ “รีสกิล” ชัดเจน โดยในเวทีเสวนา Thairath Forum 2024 จัดโดย “ไทยรัฐกรุ๊ป” มี 3 กูรู ผู้ที่ปั้นซอฟต์เพาเวอร์ไทย ในรูปแบบละคร-อาหาร-โฆษณา มากระตุ้นไอเดีย สร้างเสน่ห์ชวนหลงใหล

วันนี้ (24 ม.ค.67) ที่สำนักงานใหญ่ไทยรัฐกรุ๊ป อาคาร 17 ชั้น 11ไทยรัฐกรุ๊ป ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี จัดงาน Thairath Forum 2024 งานเสวนา Soft Power แบบไม่ซอฟต์ ในหัวข้อ Soft Power Thailand’s Next Weapon เพื่อค้นหามุมมองในการสร้าง “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ให้เป็นที่ยอมรับ

เกือบ 100 วัน ในการปลุกปั้นนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน" ที่ผ่านมามีการรับฟังถึงปัญหาและเตรียมแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดการทำงานซอฟต์พาวเวอร์ ของไทยเป็นที่ยอมรับ

...

“คุณอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวบนเวทีเสวนา Thairath Forum 2024 ถึงกระบวนการทำงานที่ผ่านมา และต่อจากนี้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่โปรดักต์ แต่เน้นไปในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ นโยบายต่างประเทศ ที่ช่วยผลักดันให้วัฒนธรรมไทยไปไกลระดับโลก เป็นเหมือนเสน่ห์ที่ชาวต่างชาติหลงรัก จึงไม่ใช่โปรดักต์ แต่เป็นพลังอำนาจที่ทำให้คนคล้อยตาม ซึ่งไทยมีอยู่จำนวนมาก เช่น ภาพยนตร์ และวัฒนธรรม

จากจุดตั้งต้นที่ทำให้สนใจในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เพราะมองเห็นว่านโยบายนี้ จะเป็นสิ่งที่เพิ่มทักษะ หรือสกิล ในการทำงานให้กับคนไทย โดยผลักดันให้มีอุตสาหกรรม ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ เช่น วัฒนธรรมโอมากาเสะ ของญี่ปุ่น

เท่าที่ดูปัญหาตอนนี้ของภาคเอกชนส่วนใหญ่ ติดกับความยุ่งยากในการขออนุญาต และทำเอกสารให้กับภาครัฐ เพราะระบบราชการไทยมีปัญหาในการส่งเสริมภาคเอกชน ตอนนี้ได้เร่งดำเนินการ เปลี่ยนเป็นวันสต๊อปเซอร์วิส เช่น การขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อถ่ายหนัง ที่ผ่านมาต้องขออนุญาตถึง 40 หน่วยงานรัฐ ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ในการขอใช้สถานที่ และเอกสารติดต่อราชการ โดยเริ่มต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนเพื่อนำร่อง

วางโปรแกรมดึงต่างชาติอยู่เที่ยวสงกรานต์ยาว


“คุณอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ใช้คำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ จริงๆ มีมานานกว่า 20 ปี ถือเป็นคำที่ “ไม่ใหม่และไม่เก่า” เพราะเดิมกรุงเทพฯ ก็มีเรื่องเมืองแฟชั่น ซึ่งไทยพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งการเมืองมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาได้ต่อเนื่อง จึงต้องมีการออก พ.ร.บ.ตั้งสำนักงานThailand Creative Content Agency หรือ THACCA เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องมากขึ้น คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2567 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับการทำงานตอนนี้ รัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเต็มตัว โดยเอกชนมีส่วนอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่เอกชนมีความรู้มากกว่า เพราะซอฟต์พาวเวอร์ ไทยมีมาก เพียงแต่รัฐบาลเข้ามาพัฒนาคนและอุตสาหกรรมให้มั่นคงมากขึ้น

สงกรานต์นี้ จะมีการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เที่ยวในไทยนานมากขึ้น โดยมีแคมเปญใหม่ตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายนนี้ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องสาดน้ำทุกวัน แต่มีประเพณีอื่น เข้ามาเป็นโปรแกรมในการส่งเสริม โดยมีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยู่ในไทย

...

สำหรับงบประมาณในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ใช้ในการพัฒนาใน 11 อุตสาหกรรม ซึ่งอาหาร ต้องใช้งบประมาณมาก โดยจะมีการเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร มีทั้งแบบเรียนในห้องเรียนและออนไลน์ เมื่อเรียนจบมีใบประกาศ สามารถนำไปสมัครงานต่อได้ งบประมาณในภาพรวม จะไม่ได้ขอมากกว่าทุกปี แต่เป็นงบที่มีการกระจายอยู่เดิม นำมาทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ตั้งแต่ทำซอฟต์พาวเวอร์ ได้เรียนรู้ในทุกอุตสาหกรรม มีบางอุตสาหกรรมไม่เคยมีความรู้มาก่อน ก็ได้เรียนรู้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเกม ไม่ได้มีแค่การเล่นเกม หรือออกแบบเกม แต่ยังมีการประสานงานกว่าจะเป็นเกมได้


“ไทยรัฐโพล” เชื่อรัฐบาลทำได้จริง แต่ไม่มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์

จากผลสำรวจของ “ไทยรัฐโพล” โดยมีการตอบคำถาม 3 ข้อ โดยข้อแรกมีคำถามว่า คุณคิดว่านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ช่วยผลักดันได้จริงหรือไม่ พบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยว่าสามารถทำได้จริง โดย “คุณอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร” แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อเห็นโพลรู้สึกดีใจ ที่มีความเห็นว่าทำได้ แม้คนไม่แน่ใจก็ไม่เป็นไร เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงที่ดำเนินการ โดยเฉพาะงบประมาณ การแก้กฎหมาย สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็ต้องทำไปก่อน เพื่อรอให้งบประมาณผ่าน

...

คำถามจากโพล ข้อที่ 2 เรื่องนโยบายนี้ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ มีผู้ตอบพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มองว่าไม่น่าจะได้ "คุณอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร อธิบายว่า เรามองว่า เพราะประชาชนอาจยังไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง หลังจากนี้ต้องรีสกิลคนก่อน เช่นรีสกิลเชฟอาหารไทย ให้ได้ 1หมื่นคน จากนี้จะเห็นชัดเจนมากขึ้น หลังมี พ.ร.บ.ตั้งสำนักงาน Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA

ส่วนข้อที่ 3 ถามว่าอะไรคือ ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ผลโพลให้ความเห็นว่า อาหาร ท่องเที่ยว มวยไทย ซึ่งคุณอิ๊งค์ “แพทองธาร ชินวัตร” มองว่า สิ่งนี้ จะมีการกระจายให้ถึงประชาชนมากขึ้น ต้องมีการรีสกิลคนก่อน หรือมวยไทย ที่ตอนนี้มียิมมวยไทยทั่วโลก 4 หมื่นแห่ง จึงควรมีหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน โดยไปเป็นแพคเกจที่พัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งการแต่งกาย การสอนมวยไทย โดยต้องอาศัยกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย

สิ่งที่มุ่งหวังต่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เราพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ต้องกลัว เพราะเราสามารถพัฒนาสกิลเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งตรงนี้อาจต้องรอกระบวนการพิจารณา ในเรื่องงบประมาณ และ พ.ร.บ.ตั้งสำนักงานThailand Creative Content Agency หรือ THACCA ที่จะทำให้มีการพัฒนาที่มั่นคงมากขึ้น

...

ซอฟต์พาวเวอร์ ละคร-อาหาร-โฆษณา การต่อยอดสู่สินค้าระดับโลก

บนเวทีเสวนา Thairath Forum 2024 มีช่วงเสวนา Soft Power แบบไม่ซอฟต์ ในหัวข้อ Soft Power Thailand’s Next Weapon
โดย “คุณหน่อง” อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครมือทอง และกรรมการผู้จัดการบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งปั้น “ออเจ้า” บุพเพสันนิวาส–Love Destiny หรือพรหมลิขิต ละครโทรทัศน์ที่สร้างเรตติ้งสูงสุดให้แก่ช่อง 3 เล่าว่า อุปสรรคในการทำซอฟต์พาวเวอร์ละครไทย คือ การเปลี่ยนแปลงไปของผู้ชม เช่น ผู้ชมในระหว่างที่ถ่ายทำละคร อาจกำลังอินกับเรื่องราวที่กำลังทำอยู่ แต่เมื่อละครเข้าฉายอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ชมกลับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ละครเรื่องดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ

ยิ่งยุคนี้มีออนไลน์ที่ผู้ชมสามารถเลือกดูได้ คุณภาพของคอนเทนต์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันต้องให้อะไรบางอย่างกับคนดู เช่น บุพเพสันนิวาส ช่วยให้ร้านเช่าชุดไทย มีคนมาเช่ามากขึ้น

คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์สูง แต่ถ้ามองในเรื่องการรักษาต่อไป เช่น มรดกของผ้าที่อยู่ในละคร มีการนำจิตรกรรมฝาผนัง มาเสริมเช่น ผ้าของพระเจ้าท้ายสระ เป็นลายที่เกี่ยวกับปลาตะเพียน นำมาดัดแปลงให้ทันสมัยมากขึ้น

ซอฟต์พาวเวอร์ จะเติบโตได้ต้องสร้างคุณภาพคน และคุณภาพงานให้เป็นสากล และต่างชาติยอมรับได้ โดยรัฐบาลต้องผลักดันให้ออกสื่อครบทุกช่องทาง และให้ทุกคนทั่วโลกมองเห็น ซึ่งทุกสื่อที่ทำ ต้องมีความสอดคล้องกัน

ด้าน คุณปลา อัจฉรา บุรารักษ์ “คุณหญิงไอศกรีม” ผู้บุกเบิกไอศกรีมผลไม้แบรนด์ดังที่ชื่อ iberry และเจ้าของอาณาจักรอาหารมากกว่า 40 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และที่เชียงใหม่ กล่าวว่า การทำธุรกิจอาหารคิดอย่างเดียวไม่เกิด แต่ต้องทำกันทั้งองค์กร และวางมาตรฐานที่สูง แต่สามารถทำได้จริง และต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างหนัก

อุปสรรคในการทำงาน อาหารเป็นศาสตร์ที่ยาก โดยเฉพาะการถ่ายทอดสูตรอาหารที่เรากำหนด ถ่ายทอดไปในหลายแบรนด์ ซึ่งจะทำอย่างไรให้พนักงานทุกที่ สามารถทำมาตรฐานในรูปแบบเดียวกันได้ ประกอบกับทีมงานมีส่วนสำคัญ ในการรักษาพนักงานที่มีความเก่ง เพื่อรักษามาตรฐานได้


อุปสรรคของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยคือ ไทยเป็นสังคมที่ทำตามกันมา การไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ทั้งที่ความขาดแคลนทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ดี แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ ฝึกคิดนอกกรอบจะทำให้เกิดความสำเร็จได้

อาหารเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่เข้มแข็งที่สุด แต่การทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ต้องมีองค์ประกอบ เช่น นำอาหารไปประกอบในละครและซีรีส์ และต้องมีคนที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ เช่น น้องลิซ่า แบล็กพิงก์ ที่ช่วยทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของเราไปได้ไกลกว่าเดิม ขณะเดียวกันต้องผลักดันอาหารไทยที่มองว่า เป็นรสชาติที่ต่างชาติรับได้ สัก 10 เมนู

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีการให้ความรู้กับคนไทยด้วยกัน และให้ความรู้กับคนต่างชาติที่มาเรียน เช่นเดียวกับภาคเอกชน พยายามนำความคิดสร้างสรรค์มาใส่ในอาหาร ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีความร่วมสมัยด้วย

ในมุมมองของ “คุณเบนซ์” ธนชาติ ศิริภัทราชัย แห่ง Salmon House ครีเอทีฟโฆษณาชื่อดังที่เก็บเกี่ยวชีวิตคนมาสร้างสรรค์โฆษณาแนวตลกแต่มีสาระ ที่เรียกว่า “ร้ายสาระ” มองว่า ความสำเร็จของงานที่ทำ มาจากรายละเอียดในชีวิตประจำวัน แล้วใส่รายละเอียดเล็กน้อยเข้าไปในงาน เพราะโฆษณาการชูผลิตภัณฑ์ผ่านหน้าจอเหมือนแต่ก่อน ไม่ตอบโจทย์ในโลกออนไลน์

สังคมที่เอื้อต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ไทยเป็นประเทศที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเกิดปัญหาต่างๆ ช่วยกระตุ้นได้ แต่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ไม่ควรกลัวเกินไป ทั้งที่เรามีโอกาส ไม่ใช่ไปควบคุมตั้งแต่เริ่ม.