'การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์' ของไทย โอกาสทางเศรษฐกิจ กับความโดดเด่น-มาตรฐานที่สากลยอมรับ และการรุกตลาดเวียดนาม ของโรงพยาบาลเวชธานี พร้อมความท้าทายที่ไทยยังต้องเร่งปรับตัว

'ประเทศไทย' กับ 'การท่องเที่ยว' เป็น 2 อย่างที่คงจะแยกออกจากกันยาก เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งนี้สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมหาศาล และยังคงสร้างความประทับใจให้ชาวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง

การท่องเที่ยวอีก 1 ประเภท ที่ไทยสามารถทำได้ดีจนติดอันดับต้นๆ ของโลกก็คือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical tourism เป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ใครสักคนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้ารับการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน หรือดีกว่าในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ 

ซึ่งบริการที่ นักท่องเที่ยว เลือกใช้ อาจเป็นการตรวจสุขภาพ เสริมความงาม ทันตกรรม หรือการรักษาเฉพาะทางก็ได้ อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะไปได้ด้วยดี และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ ต้องมีการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวนผู้อ่านทุกคนไปรู้จัก การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ให้มากขึ้น มาดูกันว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยม และความโดดเด่นเรื่องการแพทย์ของไทย ในสายตาชาวต่างชาติคืออะไร มีสิ่งไหนที่เราต้องเร่งพัฒนา

พร้อมทั้งพาไปรู้จักกับ 'โรงพยาบาลเวชธานี' ที่ชูความครบครันด้านการแพทย์ของไทย เปิดเกมรุก Medical tourism ต้อนรับศักราชใหม่ จับมือกับ 'VIET HEALTH' ผู้ให้บริการด้านการแพทย์จากเวียดนาม หวังดึงดูดคนเวียดนามเดินทางเข้าประเทศ สร้างเศรษฐกิจตอบรับนโยบายรัฐ

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย : 

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย มีทิศทางในทางที่ดี รวมถึงได้รับการสนับสนุนและการผลักดันจากภาครัฐ ที่พยายามให้ไทยเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical hub 

ตัวอย่างจากบทสัมภาษณ์ของ 'นายอนุชา บูรพชัยศรี' รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า

"สัดส่วนมูลค่าตลาด Medical Tourism ของโลก ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คิดเป็นร้อยละ 35 โดยไทยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 9 จากการศึกษาคาดการณ์ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (838,000 ล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2570 เพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2562 ที่ 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐ"

"รัฐบาลได้มุ่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน ทั้งวีซ่าท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละ 90 วัน และวีซ่า Thailand Elite สำหรับการพำนักระยะยาวตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มุ่งสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค"

...

มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย : 

SCB Economic Intelligence Center (EIC) ได้คํานวณมูลค่าตลาดด้านการทองเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย (เฉพาะค่ารักษาพยาบาล) จากค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ที่อยูในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการวิเคราะห์จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ WTCC 

พบว่า Medical tourism ของไทย มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีมูลค่าตลาด 2.3 หมื่นล้านบาท ปี 2561 มีมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท และปี 2562 มีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท มูลค่าจากปี 2560-2562 โตเพิ่มขึ้นถึง 8% ทำให้เมื่อปี 2562 ไทยติดอันที่ 4 จาก 10 อันดับประเทศที่มีรายได้ด้าน Medical tourism สูงสุดในปีนั้น เป็นรองเพียง สหรัฐอเมริกา ตุรกี และฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่กำลังไปได้สวย ก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจทุกด้านทั่วโลก ทำให้ในปี 2563 ตลาดด้านการทองเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย มีมูลค่าเพียง 0.9 หมื่นล้านบาท และลดลงอีกในปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 0.8 หมื่นล้านบาท

...

แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ไทยก็กลับมาผงาดอีกครั้งในปี 2565 เมื่อมูลค่าตลาดกลับมาอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดการณ์กันว่า เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ โอกาสสร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจ จะกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก : 

หลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของ โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ทำให้ประชากรโลกมีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น สิ่งนี้สนับสนุนให้การใช้บริการทางการแพทย์และสุขภาพเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงการก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจสูงวัย หรือ Sliver economy ก็เป็นตัวผลักดันให้ความต้องการด้านการรักษาพยาบาล และเทคโนโลยี-นวัตกรรม เพื่อการชะลอวัยเพิ่มสูงขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัจจัยน่าสนใจ คือ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น การกินอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย หรือจากภาวะความเครียดต่างๆ ส่งผลให้แนวโน้มการเป็นโรค NCDs เพิ่มขึ้นทั่วโลก สิ่งนี้จะช่วยผลักดันให้คนต้องใช้จ่ายทางการแพทย์

...

โดยโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เกิดจาก 'พฤติกรรมการดำเนินชีวิต' ที่ค่อยๆ สะสมอาการจนเกิดโรค และเมื่ออาการนั้นแสดงออกมาแล้ว ก็มักจะนำไปสู่ 'ความเรื้อรัง' เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม ฯลฯ

ความโดดเด่นของในสายตาต่างชาติ : 

อ้างอิงข้อมูลการสัมภาษณ์เชิงลึกจาก 'โครงการศึกษาห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) ของไทย' โดย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมี 4 องค์ประกอบ ที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดดเด่นไม่แพ้กับชาติอื่นๆ

"เชื่อมั่นในการรักษา" คือเรื่องแรกที่ถูกยกขึ้นมาในข้อแรก เพราะก่อนที่จะเลือกว่าจะรักษาที่ไหน และก่อนจะเดินทางมาไทย ชาวต่างชาติจะค้นหาข้อมูลทุกอย่าง เพื่อให้ตัวเองแน่ใจว่าจะได้รับการบริการที่ดีและมีคุณภาพ 

อีกสิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติเชื่อมั่น เป็นเพราะประเทศไทยจะมีการอ้างอิงแพทย์ผู้มีชื่อเสียง หรือมีผู้แนะนำให้ความรู้ในการรักษา และสำหรับ 'ชาวตะวันตก' การที่สถานพยาบาลได้รับการยอมรับจากบริษัทประกันสุขภาพ เช่น Joint Commission International หรือ JCI จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจ

มาตรฐาน JCI นั้นดีอย่างไร ทำไมผู้คนถึงให้ความมั่นใจ?

เพราะว่า JCI เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล ดำเนินงานตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วโลกมานานกว่า 75 ปี ในประเทศไทย มีโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานนี้กว่า 65 แห่ง ทั่วประเทศ

ความโดดเด่นข้อต่อไป คือ "บริการที่หลากหลายและสมเหตุสมผล" เพราะสำหรับประเทศไทย ถือว่ามีการบริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ครอบคลุม แต่มีราคาที่สมเหตุสมผล หรือบางครั้งราคายังต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ที่อยู่ในระดับและคุณภาพเดียวกัน

การมี "บริการที่น่าประทับใจ" ทั้งจากสถานพยาบาลและแหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงการบริการจากบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทย ดังนั้น ในอนาคตจำเป็นที่ต้องพัฒนาเรื่องนี้ต่อไปเช่นกัน

และความโดดเด่นข้อสุดท้าย ได้แก่ การที่ชาวต่างชาติมี "ประสบการณ์น่าท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ" เมื่อพวกเขามาเมืองไทย มีกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการ เช่น แหล่งช็อปปิ้งสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว จากตะวันออกกลางและจีน หรือแหล่งพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ สำหรับชาวยุโรป เป็นต้น

'เวชธานี' โรงพยาบาลมาตรฐาน JCI :

หนึ่งในโรงพยาบาลของประเทศไทย ที่ได้รับมาตรฐาน JCI ก็คือ 'โรงพยาบาลเวชธานี' ซึ่งมีความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย สามารถรักษาโรคที่ซับซ้อนของผู้ใช้บริการให้เป็นไปได้อย่างปลอดภัย 

นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพการรักษาโรคต่างๆ เช่น ศูนย์ 'VFC' เป็นศูนย์เทคโนโลยีสำหรับผู้มีบุตรยาก ให้การบริการแบบครบวงจร ซึ่งมีอัตราความสำเร็จมากกว่า 81%, มีศูนย์สมองและระบบประสาท ที่ให้การรักษาผ่าตัดด้วยเทคโนโลยี Biplane DSA ในห้องผ่าตัดอัจฉริยะ หรือ Hybrid OR สำหรับโรคทางสมอง ที่มีความซับซ้อนในการรักษา เป็นต้น

ฐานผู้ใช้บริการชาวเวียดนาม :

'ดร.นพ.ตุลวรรธ์ พัชราภา' ผู้อำนวยการปฏิบัติการ โรงพยาบาลเวชธานี เผยข้อมูลว่า หลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเวชธานี มีชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก

ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับลักษณะของ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่ภาครัฐกำลังส่งเสริม โดยหนึ่งในประเทศแถบเอเชียที่เดินทางมาไม่ขาดสาย ก็คือ เวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศ 'CLMV' (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ที่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

'ดร.นพ.ตุลวรรธ์ พัชราภา' ผู้อำนวยการปฏิบัติการ โรงพยาบาลเวชธานี
'ดร.นพ.ตุลวรรธ์ พัชราภา' ผู้อำนวยการปฏิบัติการ โรงพยาบาลเวชธานี

"ปัจจุบัน ประเทศเวียดนาม มีกำลังซื้อและความต้องการด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จากสถิติปี 2566 มีชาวเวียดนามมาที่เวชธานีมากถึง 4,000 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

จากสถิติที่อ้างถึงข้างต้น นพ.ตุลวรรธ์ บอกว่า คนเวียดนามมักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องกระดูกและข้อ ซึ่งก็ตรงกับความชำนาญของทีมแพทย์ และศักยภาพของโรงพยาบาล เพราะเวชธานีมีเทคโนโลยีการรักษาเฉพาะทางที่ทันสมัย มีศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทาง จนชาวตะวันออกกลางให้สมญานามว่าเป็น King of Bones

เวชธานีดึงชาวเวียดนาม สู่ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ : 

เมื่อตัวเลขสถิติชี้ให้เห็นแนวทางของโอกาส โรงพยาบาลเวชธานี จึงเริ่มศึกษาตลาด และพบว่า ชาวเวียดนามมีรายได้ต่อหัว และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชาวเวียดนามมีแนวโน้มให้ความสำคัญ และความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น หันมาใช้จ่ายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นด้วย

ดร.นพ.ตุลวรรธ์ กล่าวว่า เมื่อได้เล็งเห็นโอกาสในการขยาย 'ตลาดธุรกิจสุขภาพ' สู่แผ่นดินเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่พยายามผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน 'การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์' จึงได้ร่วมมือกับบริษัท VIET HEALTH ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพอันดับต้นๆ ของเวียดนาม เพื่อเปิดสำนักงานตัวแทน ที่นครโฮจิมินห์ เมืองที่มีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับ 1 ของประเทศเวียดนาม

"เราเปิดศูนย์ตัวแทนขึ้นมา เพื่อจะขยายฐานลูกค้าในประเทศเวียดนาม ซึ่ง VIET HEALTH จะเป็นจุดประสานงาน และส่งต่อคนไข้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชธานี โดยมีเป้าหมายว่า จะสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าชาวเวียดนาม ได้มากถึง 20%"

ทำให้เมื่อ วันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567 คณะผู้บริหาร และตัวแทนทีมแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี เดินทางมุ่งหน้าสู่โฮจิมินห์ซิตี้ เพื่อร่วมลงนามกับ VIET HEALTH อย่างเป็นทางการ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเกมรุกโดยคนไทยที่น่าจับตามอง เพราะอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับ Medical tourism ของไทย 

ความท้าท้ายในอนาคตของ Medical tourism ไทย : 

แม้ว่าชาวต่างชาติจะมองว่าประเทศไทย มีความโดดเด่น เรื่อง การท่องเที่ยวเชิงการการแพทย์ แต่หากไทยคิดจะเป็น Global medical tourism hub ก็ยังคงมีความท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน เพื่อการพัฒนาสู่การเป็น ผู้นำ ของเรื่องนี้ 

เราต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัว เพราะพวกเขาต่างกำลังเร่งพัฒนาดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เช่นเดียวกัน เช่น ตุรกี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือถ้าจะใกล้บ้านเราขึ้นมาก็ยังมี มาเลเซีย และสิงคโปร์ 

ยกตัวอย่าง ตุรกี เขามีนโยบายผลักดันให้ประเทศเป็น ศูนย์กลาง ของเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภาครัฐสนับสนุนภาคธุรกิจผ่านนโยบายด้านภาษี มีการสนับสนุนนักท่องเที่ยวผ่านมาตรการที่ดึงดูดใจ เช่น ส่วนลดจากสายการบิน 50% เป็นต้น 

ส่วน สิงคโปร์ วางนโยบายระหว่างปี 2017-2027 มุ่งมั่นส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งเป็นการแพทย์ที่อาศัยเทคโนโลยี พันธุศาสตร์ หรือ ยีน ในระดับโมเลกุล เพื่อประเมินความเสี่ยง วินิจฉัย และพยากรณ์โรคจาก รหัสพันธุกรรมของมนุษย์ (Human Genome) และส่งเสริมการแพทย์แบบแม่นยำ เพื่อผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้

เครือข่ายโรงพยาบาล IHH ภายใต้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ Khazanah Nasional ของ มาเลเซีย ได้ขยายการลงทุน ผ่านการเขาซื้อเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ตุรกี อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง

ทาง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ทำการจัดตั้ง Dubai Healthcare City (DHCC) ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งเป้าดึงดูดโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ต่างๆ ให้เข้ามาดําเนินกิจการ

บุคลากรทางการแพทย์ไทย ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ : 

อีกเรื่องที่ ท้าทาย ประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยผลการวิเคราะห์จาก SCB EIC ซึ่งใช้ข้อมูลของ World Health Statistics พบว่า

อัตราส่วนจำนวน 'แพทย์' ต่อประชากรของประเทศไทยอยู่ที่ 9.3 ต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ มีอัตราส่วนอยู่ที่ 22.9 และ 24.6 ต่อประชากร 10,000 คน ตามลำดับ

มาทางอัตราส่วนจำนวน 'พยาบาล' ต่อประชากรของประเทศไทย อยู่ที่ 31.5 ต่อประชากร 10,000 คน ทางด้าน มาเลเซียและสิงคโปร์ มีอัตราส่วนอยู่ที่ 34.8 และ 62.4 ต่อประชากร 10,000 คน ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา ดูจะก้าวกระโดดกว่าชาติอื่นๆ มีอัตราส่วนที่สูงถึง 156.9 ต่อประชากร 10,000 คน

จากข้อมูลทำให้เราพอจะทราบได้ว่า บุคลากรทางการแพทย์และที่เกี่ยวของในระบบสาธารณสุข ยังอยู่ในอัตราส่วนที่ 'ต่ำ' เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งชั้นนำ อีกทั้งจำนวนแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศ ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 

ความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขนี้ ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาภาวะสมองไหล ออกจากระบบสาธารณสุขของภาครัฐ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพแวดล้อมการทํางาน ค่าตอบแทน ฯลฯ จึงทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มออกจากระบบสาธารณสุขของรัฐสู่เอกชน

เรื่องนี้เป็นเหมือนกับดาบ 2 คม เพราะข้อดีคือ ประเทศของเราจะมีบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่อีกด้านเรื่องนี้อาจจะสร้าง 'ภาระ' ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการสาธารสุขภาครัฐ

เร่งภาคธุรกิจปรับตัว ยกระดับความก้าวหน้า : 

แน่นอนว่าทุกประเภทมหาอำนาจด้าน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มีการปรับตัว และเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการบริการ เพิ่มการเข้าถึง และอำนวยความสะดวก โดยมีเป้าประสงค์ดึงดูดชาวต่างชาติให้มามากขึ้น

ตัวอย่างการยกระดับสู่ความก้าวหน้าด้านการรักษา เช่น การใช้ Robotic surgery เป็นการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยําและความยืดหยุ่นในการผ่าตัดที่เหนือกว่าการผ่าตัดในรูปแบบปกติ

ในส่วนนี้ ดร.นพ.ตุลวรรธ์ กล่าวว่า ทาง โรงพยาบาลเวชธานี ก็มีการใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการรักษาด้วยเช่นกัน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแล จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คุณจึงมั่นใจได้ว่า จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 

หรือจะเป็นการยกระดับการให้บริการ เช่น การใช้ Appointment platform ไว้นัดรักษาออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การเข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วโลกสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งมีบางประเทศได้ใช้แล้ว เช่น My health Africa ในแอฟริกา, GoMedii ในอินเดีย เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คงพอจะทำให้ผู้อ่านเห็นโอกาสของประเทศไทย จากการจัดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ อีกทั้งยังได้เห็น 1 ในโรงพยาบาลมาตรฐาน JCI อย่าง โรงพยาบาลเวชธานี ที่มีศักยภาพจนเป็นที่ยอมรับระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Medical tourism

แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่หยุดนิ่ง เพราะยังมี 'ความท้าทาย' ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาและข้อเสียเปรียบ ซึ่งต้องเร่งแก้ไข กำหนดแนวทางพัฒนาสู่การสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง และยังคงยืนหยัดได้ในเวทีโลก

อ่านบทความที่น่าสนใจ :