โควิด JN.1 สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ของโอมิครอน กำลังจะกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักในประเทศไทยแล้ว หลังระบาดในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และขณะนี้โควิด JN.1 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามจาก 1 ตำแหน่ง มาเป็น 2 ตำแหน่งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไวรัสสามารถจับผิวเซลล์ในร่างกายคนได้ดีขึ้น ในการหลบเลี่ยงแอนติบอดี ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติที่จะเข้าจับและทำลายไวรัสได้
เป็นการเตือนให้ชาวโลก รวมถึงคนไทยเตรียมพร้อมเผชิญรับมือตั้งแต่บัดนี้ และขณะนี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา กำลังเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ JN.1 จากบรรดาผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ภายหลังทั่วโลกเริ่มเห็นการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนามของโควิด JN.1 เพิ่มมากขึ้น และจะระบาดในระลอกใหม่แทนที่โอมิครอน XBB และ EG.5.1 ซึ่งลดจำนวนลงในไม่ช้า
โควิด JN.1 กลายพันธุ์ไม่หยุด เหมือน “ซุปโอมิครอน”
การเข้ามาของโควิด JN.1 ในไทย แม้ยังไม่พบการกลายพันธุ์ แต่ไม่ควรประมาท ขอให้ทุกคนตั้งการ์ดป้องกัน และหมั่นล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง อย่างสม่ำเสมอ จากการเตือนของ “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าโควิด JN.1 ไม่ได้ลดการกลายพันธุ์ เป็นเหมือน “ซุปโอมิครอน” มีสายพันธุ์ย่อยเต็มไปหมด ทั้ง JN.1.4, JN.1.2, JN.1.6.1, JN.1.11, JN.6, JN.7, JN.8 และอื่นๆ ติดตามมา โดยเฉพาะโควิด JN.1 เป็น 1 ในหลายตัว
...
ปี 2567 คาดว่าโควิดจะเข้าสู่ยุค JN เป็นลูกหลานของโอมิครอน มี 1, 2, 3, 4 และอีกหลายตัว เป็นรุ่นๆ ออกมาเพื่อความอยู่รอดของเชื้อไวรัสโควิด จะทำให้คนติดเชื้อไวและเร็วขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ปรากฏเหมือนกับโอมิครอนดั้งเดิม ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก เตรียมตั้งชื่อ “Pi” รอไว้เป็นอักษรกรีก ถัดจากโอมิครอน หากสายพันธุ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และให้นักวิทยาศาสตร์ ตั้งชื่อ “นิกเนม” อื่นไปก่อนว่าจะเรียกชื่ออะไร หากมีคนเสียชีวิตมากขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนชื่อทันทีคาดว่าชื่อ “Pi”
ในการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด JN.1 ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มีการส่งตัวอย่างเข้ามาจากการทำ PCR ว่าบวกหรือลบ และเอาสารพันธุกรรมส่งมาให้ถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งขณะนี้มีเป็นจำนวนมาก อาจเป็นช่วง 15 วัน หรือ 1 เดือน เพื่อดูการกลายพันธุ์ของโควิด และรหัสพันธุกรรมจะบอกว่ามีการกลายพันธุ์ไปถึงไหน และมีความรุนแรงหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในน้ำเน่าเสียที่ยังไม่ผ่านการบำบัด เช่นเดียวกับทั่วโลกที่ทำกัน
JN.1 กลายพันธุ์ส่วนหนาม จาก 1 มา 2 ตำแหน่ง
หากพบไวรัสในน้ำเน่ามากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการเตือนว่าอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์จะมีการระบาดไปยังคนมากขึ้น คนจะเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น หากไม่ตรวจน้ำเน่า ก็จะตรวจจาก ATK เครือข่ายโรงพยาบาลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. มีการส่งข้อมูลรวบรวมมาให้ ซึ่งยอมรับว่าลำบากมากในการจะได้สารพันธุกรรม เหมือนอยู่ในความมืด เหมือนๆ กับทั่วโลก เพราะคนส่วนใหญ่ตรวจ ATK กันที่บ้าน
“ต้องลงพื้นที่ตรวจไวรัสในน้ำเน่าเพราะง่ายกว่า ทางศูนย์จีโนมเคยทำช่วงหนึ่งและหยุดไป จนตอนนี้ยังไม่มีแผนทำต่อเพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ต้องรอเก็บตัวอย่างจาก ATK เท่านั้น แต่น้ำยา ATK ก็ไปทำลายสารพันธุกรรม ก็ต้องเอา PCR จากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน มาถอดรหัสประจำเดือน ทำเท่าที่ทำได้ ดูแนวโน้มการระบาดของโควิด แต่ไทยค่อนข้างโชคดียังเป็นสายพันธุ์เดิมอยู่ มีสายพันธุ์ JN.1 น้อยมาก ต่างกับทั่วโลก มีการระบาดกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว”
จากการประเมินเข้าใจว่าโควิดสายพันธุ์ JN.1 อยู่ได้ 1 เดือน และในส่วนของไทย โควิดสายพันธุ์ JN.1 อาจข้ามไปเลย แล้วไปเจอตัวอื่นที่กลายพันธุ์แทน อาจเป็น JN ตัวอื่น ไม่ใช่โควิด JN.1 ขอให้คนไทยคงมาตรการป้องกันเอาไว้ ต้องตั้งการ์ดตลอดเวลา อีกทั้งคนไทยฉีดวัคซีนโควิดหลายๆ ชนิดรวมกัน ทั้งวัคซีนเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์และ mRNA เป็นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ก็ต้องระวัง เพราะขณะนี้โควิด JN.1 ระบาดไปทั่วโลกมีผู้ติดเชื้ออันดับ 2 รองจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม แม้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา ก็ต้องระวัง
...
เพราะโควิด JN.1 มีการกลายพันธุ์แล้วบริเวณส่วนหนามจาก 1 ตำแหน่ง มาเป็น 2 ตำแหน่ง เพื่อใช้หนามเกาะผิวเซลล์พยายามหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เป็นแอนติบอดีเพื่อเข้าสู่ร่างกายให้ได้ เป็นความสามารถของไวรัสมีการพัฒนาเพื่อความอยู่รอดในการเพิ่มจำนวนส่วนหนาม มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จาก JN.1 เป็น JN.2 มาเป็น JN.3 และอีกหลายตัว เหมือนมนุษย์กระหน่ำพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ๆ และตัวไวรัสก็พัฒนาตามไม่หยุด
เตือน 3-5 ปี รับมือโรคระบาดใหม่ จากภาวะโลกร้อน
ในอนาคตมนุษย์โลกจะต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่ๆ และจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาด Disease X จะมีการระบาดอย่างแน่นอน ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ จะต้องเตรียมตัวรับมือ มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า เป็นโรคติดต่อไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ทางศูนย์จีโนมฯ ต้องเตรียมเครื่องมือในการตรวจสอบถอดรหัสพันธุกรรมว่าเป็นโรคชนิดใด
“อาจเป็นโควิดตัวใหม่ที่มีสายพันธุ์ดั้งเดิมปนอยู่ อาจหนักกว่าโควิด จนทางองค์การอนามัยโลก ต้องเตรียมวัคซีนเอาไว้รองรับ พยายามให้ประเทศโลกที่ 3 มีสมรรถภาพในการสร้างวัคซีน mRNA ขณะที่ไทย มาถูกทางแล้วในการทำวัคซีนที่มีความหลากหลาย เพราะโรคระบาดมาจากภาวะโลกร้อน พาหะโรคต่างๆ แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และสังคมปัจจุบันกระจุกตัว กลายเป็นสังคมเมือง คนอยู่รวมกันในคอนโดฯ จะติดโรคได้ง่ายมากขึ้น ต้องระวังโรคระบาดอะไรไม่รู้ในอนาคต”
...