ดิจิทัลวอลเล็ต จำเป็นต้องเลื่อนจากกรอบเวลาในเดือน พ.ค. 2567 อีกแล้ว จากเดิมจะเริ่ม 1 ก.พ. เลื่อนมาช่วงสงกรานต์ ต่อมาบอกเดือนพ.ค.ได้ใช้แน่ๆ แต่มาตอนนี้บอกไม่ทัน เพราะรอฟังความเห็นจาก ป.ป.ช. มาประกอบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามข้ออ้างของรัฐบาลจะต้องฟังความเห็นรอบด้าน หลังมีเอกสารหลุดอ้างว่ามาจาก ป.ป.ช. 

เอกสารหลุดจาก ป.ป.ช. องค์กรอิสระมีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทุจริต หรือใครจงใจทำให้หลุดออกมา ชี้ว่ามีความเสี่ยงหลายเรื่อง เพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย ไม่ตรงปกตามที่เคยหาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้ง และความเห็นจากหลายหน่วยงาน ยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจไทย แต่อาจเจริญเติบโตที่ชะลอตัวหรือต่ำกว่าศักยภาพ หากจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มีความเสี่ยงผิดเงื่อนไขกฎหมายการเงินการคลัง

ดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตันแล้ว เปิด 2 แนวทางลุยต่อ

ถึงคราวดิจิทัลวอลเล็ต ต้องพับแผนจริงๆ เป็นไปตามกระแสว่าพรรคเพื่อไทย กำลังหาทางลงโดยอาศัย ป.ป.ช. หรือไม่? หากไม่มีทางออกอื่น “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก บอกว่า ตอนนี้เท่าที่ดู มันเหมือนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะถึงทางตันแล้ว เพราะรัฐบาลเลือกจะกู้เงิน เพื่อใช้ในโครงการนี้ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่การออกพ.ร.ก. 

...

นั่นทำให้หลายองค์กรอิสระออกมาแสดงความเห็น เช่น ป.ป.ช. ได้ชี้ให้เห็นความเสี่ยง 3 ทาง 1.โครงการนี้ตามที่พรรคเพื่อไทยบอกเป็นวิกฤติของเศรษฐกิจ จะต้องแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท แต่ทาง ป.ป.ช. ก็บอกว่าไม่ใช่วิกฤติ และถ้าไม่วิกฤติ การจะดำเนินการแบบนี้ ก็ขัดต่อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง 2. มีความเสี่ยงจะเกิดการทุจริตในโครงการนี้ ซึ่งป.ป.ช.ระวังอยู่ หากดำเนินการไปอาจมีผู้ต้องหาที่เข้าข่ายถูกดำเนินคดี และ 3. ความเสี่ยงเอื้อต่อตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคล เพราะการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ทำให้ใครได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่เอื้อต่อกลุ่มทุนตามที่ ป.ป.ช.มองมา และทั้ง 3 ความเสี่ยงแสดงว่าป.ป.ช.ไม่เห็นด้วย ก็ต้องบอกว่าขณะนี้รัฐบาลเดินมาถึงทางตันแล้ว 

หากรัฐบาลจะทำต่อ มีอยู่ 2 แนวทางที่ 1 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ตีความว่าดิจิทัลวอลเล็ต ทำได้หรือไม่ให้ทำ หากเหมือนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีการวินิจฉัยไม่ให้ทำ ก็ต้องไม่ทำ หากพรรคเพื่อไทย ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากให้ใครก็ตามที่อนุมัติโครงการแล้วถูกดำเนินคดี ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ไม่ต้องคิดว่าใครจะยื่นตีความ ทางรัฐบาลก็ยื่นเองเลย

หรือแนวทางที่ 2 หากตั้งใจทำจริง คิดว่าเป็นนโยบายเรือธง ก็ควรรอใส่เข้าไปในงบประมาณปี 2568 เพราะงบประมาณปี 2568 เริ่มทำแล้ว ซึ่งทางสำนักงานงบประมาณก็เริ่มทำงบปีถัดไป หลังจากอนุมัติงบประมาณปี 2567 ก็ต้องเลือกโดยไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะขณะนี้มาถึงทางตันแล้ว ก็ต้องเลือก 2 ทางเลือกนี้

“เมื่อเลือกใส่โครงการเงินดิจิทัลเข้าไปในงบ 68 ก็จะเลื่อนออกไป หากยืนยันจะทำต่อ และให้ใช้เป็นงบไม่ขาดดุล ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกู้แล้ว เป็นสิ่งที่เพื่อไทยต้องตัดสินใจ จะเลือกทางไหน แต่ถ้าจะลุยทั้งๆที่กฤษฎีกา และป.ป.ช. ชี้แล้ว จะทำให้ผู้อนุมัติมีความเสี่ยงมากๆ เห็นได้จากภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ไม่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต รอให้นายกฯ กลับมา คิดว่าน่าจะรู้วิธีการหลีกเลี่ยง เพราะผู้อนุมัติต้องรับผิดชอบ จะกลายเป็นผู้ต้องหา มันเริ่มเห็นแววแล้ว หลังป.ป.ช.พิจารณาแล้วว่าจะเป็นแบบนี้ มีเอกสาร 100 กว่าหน้า ถ้ารัฐบาลดึงดันลุยไป ก็คงถูกดำเนินการ ถ้ามีคนมาร้องถ้าพบว่าทุจริต” 

เตือนอย่าดึงดัน วิ่งสู้ฟัด จนมีคนติดคุก เหมือนจำนำข้าว

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายเรือธง คิดว่ารัฐบาลจะต้องสู้แบบวิ่งสู้ฟัด เพราะผลงานอื่นๆยังไม่เห็น แล้วเป็นความหวังของคนที่มองว่าเมื่อพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเดินหน้านโยบายเรือธง แต่กลายเป็นว่าขณะนี้ ”กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” หลังได้สัญญาไปแล้วจนคนคาดหวัง เพราะไม่มีนโยบายอื่นใดที่คนพอใจ และเดือน พ.ค.นี้ ทางจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็บอกว่าไม่ทันแล้ว และก็มีความเสี่ยงเหมือนโครงการจำนำข้าว จนมีคนติดคุก หากยังดึงดัน คิดว่าป.ป.ช.คงไม่ปล่อย แม้ไม่มีใครร้อง ก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

กรณีมีกระแสว่าเอกสารการพิจารณาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของป.ป.ช.หลุดออกมา ก่อนถึงมือรัฐบาล คิดว่าคงไม่หลุดออกมาง่ายๆ แต่ทางป.ป.ช.จงใจเผยแพร่มากกว่า หรืออยากให้สาธารณชนได้รับรู้ กรณีดิจิทัลวอลเล็ตไม่เกิด เพราะต้องการบอกว่าสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ และคิดว่าป.ป.ช.คงไม่อยากเป็นจำเลยของสังคม ก็คงอยากเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ ซึ่งไม่เสียหายอะไร และต้องการบอกรัฐบาล หากจะลุยไฟทำต่อ

...

การจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ก็ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ แต่พรรคร่วมรัฐบาล จะมีเอกภาพแค่ไหน อย่างพรรคภูมิใจไทย ก็บอกว่าถ้าไม่ผิดกฎหมายก็จะสนับสนุน ทั้งๆที่สภาพัฒน์ กฤษฎีกา แบงก์ชาติ และ ป.ป.ช. ก็ออกมาบอกว่าเศรษฐกิจยังไม่วิกฤติ หากจะผ่านการพิจารณาของสภาฯ ก็ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และถ้าจะนำร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสภาฯ ก็ต้องเดือน ก.พ. จะต้องผ่าน สส.ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ สว. จะผ่านหรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากมาก

“เอาง่ายๆ ต้องวัดใจพรรคร่วมรัฐบาล ให้ได้เสียง 250 ขึ้นไป ว่าจะยินดีเป็นผู้ต้องหาร่วมกับรัฐบาลหรือไม่ ถ้าโหวตให้ พ.ร.บ.กู้เงินนี้ผ่าน ก็ให้สภาฯรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็น พ.ร.ก. ทางคณะรัฐมนตรี ก็รับผิดชอบไป และถ้า พ.ร.ก.กู้เงินไม่ผ่านสภา มันตกอยู่ที่รัฐบาล ต้องลาออกหรือยุบสภา มันพันกันไปหมด จึงกลายเป็นว่าดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตันแล้ว คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงส่งสัญญาณ ไม่อยากให้โหวตในสภา เป็นเรื่องของเพื่อไทยต้องหาทางออกอื่น อาจใส่เข้าไปในงบ 68 เป็นแนวทางดีที่สุด ทำให้ประชาชนสบายใจ ไม่ต้องไปกู้ และร่วมมีภาระหนี้ไปด้วย”.

...