แกะรอยคดี เจ้าแม่พริตตี้ น้องโยโกะ ไทม์ไลน์ และ 7 ข้อสงสัยของแม่ กับข้อสังเกต ตายผิดธรรมชาติ ไฉน พิสูจน์หลักฐานไม่เข้าตรวจตอนพบศพ...

กลายเป็นเรื่องที่สังคมจับตาอีกคดี เมื่อการตายของ เจ้าแม่พริตตี้ หรือ น.ส.พราวรวี สหัสธัชพงศ์ หรือน้องโยโกะ ถูกตั้งข้อสังเกตของครอบครัว ว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเสียชีวิตธรรมดา จากการตัดสินใจในการ ลาจากด้วยตัวเอง โดย ผู้เป็นมารดา คือ นางธัญพัฒน์ สหัสธัชพงศ์ ได้ตั้งข้อสงสัยการเสียชีวิตของลูกสาวไว้หลายเรื่อง ขณะที่ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้ทำการชี้แจงไว้หลายประเด็น เช่นกัน 

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอไล่เรียงไทม์ไลน์ คดีน้องโยโกะ ว่ามีที่มาอย่างไร และเธอตายด้วยไซยาไนด์ ได้อย่างไร...

ไทม์ไลน์ก่อน-หลังเสียชีวิต 

วันที่ 1 พ.ย. 66 รับแจ้งความ พบฟองสีขาวบริเวณปาก สันนิษฐาน กินยาฆ่าตัวตาย

ไม่พบการรื้อค้นภายในบ้าน 

ก่อนเสียชีวิต

30 ต.ค. 66 เวลา 23.45 น. ผู้ตายออกจากห้อง ขับรถเดินทางไปงานเลี้ยง ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านเอกมัย โดยมีเพื่อนชาย วัย 38 ปี ร่วมงานเลี้ยง 

31 ต.ค. 66 เวลาประมาณ 02.00 น. ผู้ตายรู้สึกน้อยใจ เพราะได้รับโทรศัพท์จากครอบครัวฝ่ายชายว่า เพื่อนชาย มีครอบครัวอยู่แล้ว จึงเกิดการทะเลาะกัน 

06.42 น. ผู้ตายกลับมาที่คอนโดฯ มีภาพจากกล้องวงจรปิดเพียงคนเดียว 

06.43 น. ผู้ตายกดลิฟต์ และอีก 2 นาที ได้เข้าห้องพัก โดยไม่มีใครติดตาม และหลังจากนั้นผู้ตายก็ไม่ได้ออกจากห้องพักอีกเลย...

...

1 พ.ย. 66

เวลา 02.00 น. เพื่อนชายติดต่อผู้ตายไม่ได้ ตัดสินใจมาที่คอนโดฯ ฝ่ายหญิง แต่ขึ้นห้องพักไม่ได้ เนื่องจากไม่มีคีย์การ์ด จึงตัดสินใจเดินทางกลับ เวลาประมาณ 04.00 น. เพื่อนชายกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ขึ้นคอนโดฯ ไม่ได้ 

เวลาประมาณ 20.00 น. เพื่อนชายติดต่อญาติ และขอให้ทางนิติคอนโดฯ เข้าไปช่วยเปิดห้อง กระทั่งพบศพผู้เสียชีวิตที่เตียงนอน 

เมื่อตำรวจไปถึงจึงได้แจ้งกับทางนิติเวช เข้าตรวจสอบ แต่ไม่ได้ประสานเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจสอบที่เกิดเหตุ เนื่องจากญาติให้ข้อมูลว่า ผู้ตายมีประวัติการรักษาโรคซึมเศร้า ตั้งแต่ปี 2565 และพบในห้องพบยากล่อมประสาท และยานอนหลับ หลายเม็ด

ในโทรศัพท์ผู้ตายพบโน้ต ผู้ตาย : ตัดพ้อถึงแฟนหนุ่ม ใจความคร่าวๆ “ขอให้ Daddy ใช้ชีวิตตามสบาย” 

ตำรวจจึงคาดว่าอาจจะเป็นมูลเหตุการจบชีวิตตัวเอง

หลังจากการตายของลูกสาว แม่ผู้เสียชีวิต ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบห้องอีกครั้ง จนกระทั่งพบ ยาไซยาไนด์ บรรจุในขวดขนาดเล็กเก็บไว้ภายในตู้เซฟ เจ้าหน้าที่จึงเก็บไปตรวจสอบ 

ผลชันสูตรศพและพิสูจน์หลักฐาน 

-  ภายในร่างกายผู้ตาย เจอสารไซยาไนด์ ประมาณ 1.26 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งจะส่งผลให้เสียชีวิตได้ภายใน 30 นาที 

- ยากล่อมประสาท จำนวน 10 เม็ด อยู่ในร่างกาย ไม่ได้เป็นปัจจัยการเสียชีวิต 

- ผลการตรวจสอบลายนิ้วมือแฝง บริเวณรอบห้องพัก โดยเฉพาะที่บริเวณประตูหลังห้องพัก ซึ่งติดกับสระน้ำ (ไม่มีกล้องวงจรปิด) ไม่พบลายนิ้วมือแฝงบุคคลอื่น 

**ข้อมูลไทม์ไลน์ และผลชันสูตร จากการแถลงข่าวของ พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5**  

ด้าน นางธัญพัฒน์ สหัสธัชพงศ์ มารดาน้องโยโกะ ตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น ประกอบด้วย 

1. น้องโยโกะ ไม่ได้มีอาการป่วยซึมเศร้าแต่อย่างใด  

2. ปกติคุยโทรศัพท์กันนาน และยังมีการวางแผนในอนาคต เช่น การต่อสัญญาเช่าคอนโดฯ ที่ต้องใช้เงินราว 5 แสนบาท 

3. ทำไมกองพิสูจน์หลักฐาน สน.คลองตัน ไม่มาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุตั้งแต่แรก ต้องรอให้ติดใจถึงมาตรวจสอบ ซึ่งก็ผ่านไปกว่า 10 วัน 

4. หลักฐานจากกล้องวงจรปิด พบว่า มีบางช่วงขาดหายไป 

5. อยากให้สอบสวนผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเพื่อนชาย เพราะทราบว่าระหองระแหงกัน 

6. สงสัยว่าลูกสาวถูกวางยาไซยาไนด์ หรือไม่ 

7. อยากให้ตำรวจสอบสวนให้กระจ่าง หากพบผู้เกี่ยวข้องหรือผู้กระทำผิด อยากให้จับตัวมาดำเนินคดีถึงที่สุด...

ทำไมตำรวจ สรุปคดีนี้ว่าเป็นการจบชีวิตตนเอง? 

พล.ต.ท.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยาโรงเรียนนายร้อยสามพราน วิเคราะห์คดีนี้ว่า สาเหตุที่ตำรวจสรุปคดีเช่นนี้ เพราะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ในที่เกิดเหตุมีการต่อสู้ ไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกาย ที่สำคัญคือ หลักฐานอื่นๆ เช่น กล้องวงจรปิด ก็ชี้ชัดว่าไม่มีคนอื่นเข้าไปในห้องผู้เสียชีวิต และยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าเป็นฆาตกรรม หรือ มีคนอื่นทำให้ตาย..

...

กลับกันอีกด้านหนึ่ง ตำรวจพบประวัติทางการแพทย์ การเข้ารักษาการใช้ยาเกินขนาด จำนวน 3-4 ครั้ง มีการเข้ารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาคนคิดสั้น เพราะผู้ป่วยโรคนี้ มีแรงจูงใจสูงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการทิ้งจดหมายลา ซึ่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียชีวิตด้วย และในโทรศัพท์มือถือของผู้ตาย ยังมีประวัติการสืบค้นหายาไซยาไนด์ ซึ่งการค้นนี้จะเป็นผู้ตายค้นหาด้วยตัวเอง หรือคนอื่น ใช้ในการค้นหาก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น 

ส่วนประเด็นเรื่องเพื่อนชาย ก็เป็นส่วนหนึ่ง....ที่มีการทะเลาะกัน เนื่องจากมาทราบว่าฝ่ายชายมีครอบครัวอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นหลายเหตุ หลายปัจจัย ที่ทำให้ตำรวจสรุปคดีแบบนั้น...

ทำไมพิสูจน์หลักฐาน ไม่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เมื่อพบการตาย ผิดธรรมชาติ?

อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญวิชาอาชญาวิทยา อธิบายสาเหตุ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ ในตอนรับแจ้งพบศพว่า เชื่อว่า เมื่อญาติได้พบศพผู้เสียชีวิตแล้ว ในทีแรก อาจจะไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต 

ทีมข่าวฯ จึงถามว่า หลักเกณฑ์ในการลงเก็บหลักฐานของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมีองค์ประกอบอย่างไร...

พล.ต.ท.พิศาล บอกว่า ตามกฎหมาย ป.วิฯ อาญา มาตรา 148 ที่ระบุถึง การตายผิดธรรมชาติ ไว้ 5 อย่าง ประกอบด้วย 

1. เหตุฆ่าตัวตาย 

2. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

3. ถูกสัตว์ทำร้าย

4. ตายโดยอุบัติเหตุ 

5. ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต

สิ่งเหล่านี้กฎหมายบอกว่า นี่คือ การตายผิดธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการชันสูตรพลิกศพ โดยทีมแพทย์ อัยการ และเจ้าหน้าที่ปกครองร่วม เพื่อหาเวลาเสียชีวิต สาเหตุการตาย สภาพการตายเป็นอย่างไร มีร่องรอยหรือไม่

...

5 ข้อ ดังกล่าว ที่ระบุว่า แต่เพียงว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ต้องการชันสูตรพลิกศพ แต่...กฎหมายไม่ได้ระบุว่า การตายผิดธรรมชาติ จะต้องมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้ามาร่วมเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุด้วย 

แบบนี้คือช่องโหว่หรือไม่ ทีมข่าวฯ ถาม พล.ต.ท.พิศาล อธิบายทันทีว่า มันอยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนเห็นว่า น่าจะเป็นคดีฆาตกรรม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้ามาร่วมตรวจสอบ

“การตายทุกอย่างจะมีการเก็บหลักฐานทั้งสิ้น เพียงแต่ ในคดีนี้ญาติไม่ติดใจการตายในครั้งแรก ทำให้พนักงานสอบสวนคิดว่า คดีนี้ไม่น่าจะมีอะไร” 

เมื่อถามว่า มันคือหน้าที่ของตำรวจหรือไม่ ที่ต้องเก็บหลักฐานให้ละเอียดตั้งแต่ครั้งแรก  พล.ต.ท.พิศาล กล่าวว่า สิ่งนี้คงต้องไปดูที่เกิดเหตุว่าเข้าข่ายการตายแบบใด แต่ในเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคงคาดว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และใช้ดุลยพินิจของตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องมีพิสูจน์หลักฐาน และนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามาเกี่ยวข้อง มันอาจจะทำให้ความรอบคอบ หลักฐานบางอย่างไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร 

“ส่วนตัวเห็นว่าพนักงานสอบสวนน่าจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ศพที่พบ อาจจะเป็นการคิดสั้น และญาติไม่ติดใจการตายทีแรก จึงทำให้ไม่มีการประสาน พฐ.เข้าไปตรวจ”

รูปแบบการคิดสั้น 

สำหรับรูปแบบการคิดทำร้ายตัวเองนั้น ทางอาชญาวิทยา จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. วางแผนล่วงหน้า

2. การก่อเหตุแบบฉับพลัน 

“เห็นคนกระโดดตึกหรือไม่ อันนี้คือ ฉับพลันเลย ขณะที่บางคนมีการตระเตรียม สิ่งที่ทำให้รู้ได้ ก็มาจากการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือ”

ประเด็นนี้ทีมข่าวฯ ถามว่า คนใกล้ชิดอย่างผู้เป็นมารดา บอกว่าไม่มีสัญญาณบอกเหตุใด เพราะเท่าที่คุย ยังวางแผนอนาคตกันอยู่.... 

...

พล.ต.ท.พิศาล บอกว่า การคิดสั้นทุกครั้งจะมีสิ่งบอกเหตุ เช่น อารมณ์แปรปรวน เก็บตัว หดหู่ นิสัยหรืออารมณ์เปลี่ยนไปโดยฉับพลัน จากประสบการณ์ในฐานะ “นักเจรจาต่อรอง” พบว่า คนที่จะก่อเหตุคิดสั้น นั้น มักจะมีการพูดถึงความตาย สิ้นหวัง ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ หากพูดสิ่งเหล่านี้ คือ สัญญาณบ่งบอก 

สิ่งที่ต้องพิจารณาตามมา คือ ประวัติการทำร้ายตัวเอง  ในทางการแพทย์ หากเขามีพฤติกรรม มักจะทำซ้ำ ประกอบกับ สิ่งที่ต้องมาพิจารณา ว่าอะไร คือ ฟางเส้นสุดท้าย...

ไซยาไนด์ สารพิษปลิดวิญญาณ ที่แสนหาง่าย...

“สิ่งที่เป็นปัญหาในเวลานี้ คือ ไซยาไนด์ นั้น หาง่ายมาก ผมแค่ลองเสิร์ชหา ปรากฏว่ามีขายอยู่ทั่วไป นี่จะไม่เรียกว่าเป็นสารควบคุมเลย เนื่องจากมีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งพิษของไซยาไนด์นั้น รุนแรงมาก ทั้งทำร้ายตนเองและคนอื่นได้” 

**มีรายงานล่าสุด พบว่า ผู้ตายเป็นคนสั่งซื้อไว้ และมีหลักฐานการจ่ายเงิน ในเดือนกันยายน 2566 ในราคา 30,000 บาท** 

ทุกความสงสัย ต้องไขคำตอบ 

หลังจากนี้ สิ่งที่ตำรวจต้องทำ คือ การตอบคำถาม ทุกคำถามให้สิ้นสงสัย เช่น คำถามว่า ภาพวงจรปิดที่หายไปบางช่วงนั้น หายไปได้อย่างไร เป็นที่ระบบของกล้องหรือไม่ เช่น กล้องบางรุ่น หากไม่มีความเคลื่อนไหว ในจอภาพ มันก็ไม่จับภาพก็จะพักการทำงาน เพื่อเป็นการเซฟเมมโมรี่ หรือใครทำให้กล้องชำรุดเสียหาย ตำรวจต้องตรวจสอบให้ได้

หลักฐานการใช้โทรศัพท์มือถือ บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าใคร...ทำอะไร ที่ไหนอย่างไร 

แรงจูงใจ หากเป็นเหตุฆาตกรรม จะมีแรงจูงใจใด ทำแล้ว ได้ผลประโยชน์อะไร ต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย 

หรือ อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ตายเลือกจบชีวิตตนเอง? 

นี่คือ ความเห็นของนักอาชญาวิทยา ที่เจอคดีอาชญากรรม หรือเหตุสลดมามากมาย...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ