เจาะปมร้อน กล่าวหา 2 อดีต รมต. บิ๊ก ขรก.แรงงาน หักหัวคิว โยงค้ามนุษย์ ดีเอสไอ ยันสอบปากคำ มีหลักฐาน ด้านฝั่งแรงงาน งง หักหัวคิวส่งถึงใคร..
เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.67) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยข้อมูลในประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับการ ส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์ โดยมีมติร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ร่วมกัน “กล่าวหา” อดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และ ฝ่ายผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน 2 คน รวม 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 โดยจะมีการสรุปสำนวนส่ง สำนักงาน ป.ป.ช.
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ทางดีเอสไอ ได้รับหนังสือจาก กระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยให้ไปทำงานเก็บผลไม้ โดยเข้าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ในการเดินทางกลับประเทศไทย
และจากการวบรวมพยานหลักฐาน พบข้อมูล ว่ามี ขบวนการ การสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า "หัวคิว" (DOE MANAGEMENT) หรือค่าดำเนินการเฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง
โดยมีรายงานตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2566 ซึ่งถือเป็นช่วงดำเนินคดี มีผู้อยู่ในเครือข่ายใช้จ่ายดังกล่าว รวม ประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายพูดคุยกับ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า ข้อมูลที่เรามีนั้น เริ่มต้นจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งข้อเท็จจริงนี้มาก่อน เราจึงประสานขอเอกสารหลักฐานไป เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง
“เราจึงไปสอบสวนว่า มีการเรียกเก็บ “ค่าใช้จ่าย” นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่ เราก็สืบโยงไปถึง ผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเป็นที่มาขอการแจ้งข้อกล่าวหา โดยทางเราจะดำเนินการหลักฐานทั้งหมดส่งให้กับทาง ป.ป.ช.
หลักฐานที่มี คืออะไร ที่พอเปิดเผยได้ โฆษก ดีเอสไอ ย้ำว่า เราไม่สามารถลงรายละเอียดได้ แต่เราได้มีการสอบปากคำพยาน ผู้เสียหาย จำนวนหลายปากแล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง การหลอกลวงไปใช้แรงงานที่ฟินแลนด์ด้วย โดยได้รับข้อมูลตาม พระราชบัญญัติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางอาญา
เมื่อถามว่า ประเด็นไหน เข้าข่ายการค้ามนุษย์ พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า เคสนี้ยังไม่ได้ระบุถึงการค้ามนุษย์ แต่เป็นเพียงระบุถึง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่วนเคสการค้ามนุษย์ จะแยกออกไป
แล้วหลักฐานที่ทางฟินแลนด์ส่งให้ เกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ หรือ คอร์รัปชัน พ.ต.ต.วรณัน ยอมรับว่ามีทั้ง 2 เรื่อง
“ประเด็นเงิน “หัวคิว” นั้น ทางเจ้าได้ตรวจเอกสารแล้ว พบว่า มันเป็น “รายจ่าย” ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขตามกฎหมาย จึงมีการสอบสวนดำเนินการไป และหาคำตอบว่ามันคือค่าอะไร ส่วนที่มาของตัวเลขความเสียหายนั้นมาจากการคำนวณจำนวนแรงงานที่ไปในช่วงนั้น และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาท โดยแรงงานที่เดินทางไปก็ไม่ทราบ เข้าใจว่าเป็นค่าดำเนินการ โดยมีการบวกกับค่าเดินทางอย่างอื่น เช่น ค่าเครื่องบิน ซึ่งพอมาดูและไปปรากฏว่าในเอกสารว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” ส่วนอื่น ระบุชื่อเป็น DOE MANAGEMENT เป็นที่มาของการสอบสวนขยายผล..”
โฆษกกรมสอบสวน ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สิ่งที่เราดำเนินการ คือ ตามหลักฐานที่ปรากฏ และสอบสวนขยายความ ตามบุคคลที่ “น่าจะ” จะมีส่วนเกี่ยวข้อง “กล่าวหา” ตามที่เห็นควร “คนที่ควรถูกกล่าวหา” โดยหลังจากนี้ จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และ ส่งไปยัง ป.ป.ช. ซึ่งทาง ป.ป.ช. อาจจะใช้ระบบ “ไต่สวน” หากดำเนินการไปแล้ว จะชี้ผลว่า “มีมูล” หรือไม่ ต่อไป ส่วนเรื่องเส้นทางการเงินนั้น ท่านก็คงทำตามภารกิจ ซึ่งเรามีหลักฐานเส้นทางการเงินส่วนหนึ่ง...
...
ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เปิดเผยกับทีมข่าวฯ สั้นๆ ว่า ตอนนี้กำลังทำงานราชการอยู่ต่างจังหวัด เบื้องต้น ได้ทราบข่าวดังกล่าวจากสื่อมวลชนแล้ว ตอนนี้ต้องให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำงานให้เต็มที่ก่อน ส่วนจะเกี่ยวข้องกับใคร ก็ต้องปล่อยไปตามกระบวนการ
“เวลานี้ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาอยู่ จะบอกว่าเขากระทำผิดก็ยังไม่ได้ ในส่วนของกรม ประเด็น หัก “หัวคิว” เราก็ต้องตามดูแน่นอน เพียงแต่เวลานี้ผมยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ และต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ”
ขณะเดียวกัน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับแรงงานไทย ที่ไปทำงานทำวุ้นทุเรียน และถูกจับข้อหาค้ามนุษย์ โดยผู้ที่ถูกจับให้การกับตำรวจฟินแลนด์ว่า มีการจ่ายหัวคิวแรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ขอยืนยันว่ากระทรวงฯ ไม่เกี่ยวข้อง
“เรายังไม่รู้เลยว่าเขาไปจ่ายให้ใคร เป็นการอ้างลอยๆ แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาแล้ว ก็ทำให้กระทรวงเสียหายทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียด”
...
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับข้อมูล จากแหล่งข่าว ที่คลุกคลีในวงการแรงงานไทย ระบุว่า การเดินทางไปทำงานที่ประเทศฟินแลนด์ นั้น ถือเป็นการเดินทางถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ประเด็นเรื่อง “ค้ามนุษย์” กับกฎหมายประเทศไทย กับ ฟินแลนด์ มีข้อที่แตกต่างกัน โดยกฎหมายในฟินแลนด์นั้นระบุค่อนข้างละเอียด ระบุไปถึงการจัดที่พักเลย หากมีการจัดที่พักไม่เหมาะสม ไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารไม่เพียงพอกับแรงงาน กฎหมายฟินแลนด์ ก็ถือว่าเข้าข่ายค้ามนุษย์แล้ว ในขณะที่กฎหมายไทย ไม่ได้ระบุถึงขนาดนั้น จะเข้าข่ายค้ามนุษย์ได้ ต้องถึงขั้นกักขัง ทุบตี แสวงหาผลประโยชน์กับแรงงาน
การกลับมาของแรงงานไทย ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปคัดเลือก สอบสวนแล้ว ซึ่งก็พบว่า ไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ส่วนกรณีเรื่อง “หัวคิว” นั้น คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
คดีนี้ ยังถือเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น คาดว่าต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน พยาน หลักฐานที่มี จะโยงไปถึงระดับ “บิ๊ก” อดีตรัฐมนตรี หรือไม่ คงต้องรอให้ ป.ป.ช. ทำงานชี้มูลต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...