คุยกับ ประธานเครือข่ายแม่เลี้ยงเดี่ยว เผยเคล็ดลับ 4 ข้อ เตรียมพร้อมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บอกลูกอย่างไรว่าพ่อไปไหน กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสต้องทำอย่างไร...

กำลังเป็นที่สนใจ กับข่าวในวงการบันเทิง เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่ง ประกาศตัวว่าพร้อมที่จะเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” 

หากพื้นฐานครอบครัวนั้นๆ มีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ความพร้อมนี้ก็อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง... แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เนื่องจากการที่จะมีเด็กคนหนึ่งเติบโตอยู่ในครรภ์ และเมื่อลืมตาดูโลก การจะกลายเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูกนั้นก็ไม่ง่าย...

ประเด็นของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ วันนี้คือ การเป็นพ่อ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่พึงปฏิบัติต้องทำอย่างไร อุปสรรคที่จะเจอมีอะไรบ้าง ต้องคิด และเตรียมสภาพจิตใจอย่างไร ในการเป็น “เสาหลัก” ในการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ 

อุปสรรค พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว และการเตรียมพร้อมด้านจิตใจ 

นางธัญญาณินทร์ ธนาธรณ์นนทนัช ประธานเครือข่ายแม่เลี้ยงเดี่ยว ศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว กล่าวว่า ปัญหาใหญ่สำหรับการตัดสินใจเลือกที่จะเป็น พ่อเลี้ยวเดี่ยว หรือ แม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น คือ เรื่องเศรษฐกิจในครอบครัว เพราะว่าการจะเป็นได้นั้นต้องรับภาระค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงวัยตั้งแต่ตั้งท้อง จนถึงอายุ 6-7 ปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายจะสูงมาก โดยเฉพาะค่านม ซึ่งสาเหตุที่ต้องให้นมผง เพราะแม่ต้องทำงานหาเงิน 

...

ฉะนั้นก่อนตัดสินใจเลือกที่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ วางแผนการทำงานในชีวิต คือ คุณต้องมีงานทำ เพราะในช่วงแรกนี้ความจำเป็นเรื่องเงินจะเยอะมาก บางคนจะมีข้ออ้างว่า ฉันไม่สวย ไม่เก่ง ทางแก้คือหาความรู้เพิ่มขึ้น ปรับบุคลิกภาพตัวเอง หากแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ ตัวคุณจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการดูแลตัวเอง 

2.ควบคุมวุฒิภาวะ ให้ได้ คือ การคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ คือทำให้ตัวเองอยู่อย่างมีคุณค่า เราอยู่ให้ผู้ชายเสียดายก็ได้ 

“หากพ่อ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ จะเลี้ยงลูกออกมาได้ไม่ดี สุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือลูก”  

3.ทัศนคติ ลูกคือของขวัญ เราต้องปรับความคิดว่าเรายังมีเพื่อน มีคนตัวเล็กๆ คอยเป็นกำลังใจ ทำให้ลูกคือ “เป้าหมายในชีวิต” การกำหนดเป้าหมายได้ แม้จะมีอุปสรรค เราก็จะพยายามผ่านให้ได้ 

4.การสื่อสาร ในช่วงแรกเกิด ถึง 3 ขวบ เรียกว่า ช่วงวัยทองของลูก ช่วงวัยนี้เป็นช่วงพัฒนาการ เราสามารถพัฒนาให้เขาเป็นเด็กอัจฉริยะ ได้ในช่วงวัยนี้ ฉะนั้นต้องสื่อสารด้วยความรักอย่างเต็มที่ ต้องศึกษาหาความรู้ทุกอย่างเพื่อนำมาพัฒนาเขา เลี้ยงเขาด้วยตนเอง ต่อให้เขาไม่มีพ่อ เขาต้องเติบโตมาเป็นเด็กที่มีคุณภาพ และมีความสุข เล่น อย่างมีความรู้ 

“เราเติบโตมาไม่ได้พ่วงตัวอดีตสามีมา...ฉะนั้นไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลยที่ต้องมี “สามี” ที่กลายเป็น “ภาระ” ทางอารมณ์” 

คนที่เตรียมตัวที่จะเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว อย่าบอกว่าต้อง “ทนอยู่เพื่อลูก” คำตอบนี้ไม่ใช่... ที่คุณทนอยู่เพื่อตัวคุณเอง แต่เมื่อไหร่ที่คุณออกมา คุณออกมาเพื่อลูก เพราะหากคุณอยู่ด้วยกันในสภาวะทะเลาะเบาะแว้ง ลูกคุณที่คลอดออกมาก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ 

พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว คุยกับลูกอย่างไร...

กับคำถามข้างต้น นางธัญญาณินทร์ ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 2 คน เล่าจากประสบการณ์ตนเองว่า ไม่เคยมีความยากในการพูดคุยกับลูก เพราะเราคุยกันตั้งแต่เด็ก โดยไม่โกหก บางคู่บอก “พ่อไปสวรรค์” เราไม่บอกอย่างนั้น แต่เราก็บอกความจริง แต่ด้วยความโชคดีของเรายังมีแม่คอยดูแลด้วย เด็กที่เกิดมาจึงไม่ขาดความรัก 

เมื่อถามว่า หากเจอคำถามว่า “พ่อไปไหน...” จะตอบว่าอะไร นางธัญญาณินทร์ ตอบว่า ส่วนตัวไม่เคยเจอคำถามนี้ เพราะเราบอกลูกตลอดว่า “ลูกไม่มีพ่อ...ลูกมีคนที่รักลูกเยอะแยะ และรักด้วยความจริงใจ” 

แสดงว่าหากเราเลี้ยงลูก ให้ความรัก ความอบอุ่นอย่างเต็มที่ คำถามนี้จะไม่เกิดขึ้น? ประธานเครือข่ายแม่เลี้ยงเดี่ยว ตอบว่า “ใช่” พร้อมอธิบายว่า ถ้าเราบอกรัก กอด คนรอบข้างซัพพอร์ตเขา ไม่มีคนรอบข้างมาบูลลี่ว่า “ไอ้เด็กไม่มีพ่อ” 

การห้ามบูลลี่ มันเรื่องยาก..? นางธัญญาณินทร์ บอกว่า สิ่งสำคัญคือ “ครู” ต้องไม่ถามเขาเรื่องพ่อ เช่น ตรงนี้ต้องมีลายเซ็นพ่อ นี่คือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับครู หากมีอะไรไปเกี่ยวข้องกับพ่อเมื่อไหร่ เด็กจะถามทันทีว่า ทำไมฉันไม่มีพ่อ 

...

คำพูดร้ายกว่าอาวุธ แม่เลี้ยงเดี่ยว หนักกว่า พ่อเลี้ยงเดี่ยว 

นางธัญญาณินทร์ กล่าวว่า คนที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวนั้นดีกว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะในสังคมไทย ผู้หญิงมักจะถูกนินทาว่า “เธอต้องมีข้อบกพร่อง มีความผิดอะไรสักอย่างแน่ จึงถูกผู้ชายทิ้ง...” 

เมื่อถามว่า เท่าที่สัมผัส ข้อครหาที่ว่าคือ... ประธานเครือข่ายแม่เลี้ยงเดี่ยว ระบุว่า ตัวอย่างคือ ดูแลสามีไม่ได้ หาเงินไม่ได้ เข้ากับครอบครัวสามีไม่ได้ ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน นี่คือคำกล่าวหาที่โทษมาฝ่ายหญิงมากกว่าผู้ชาย

แปลว่า มุมมองด้านลบของผู้หญิงไม่เคยเปลี่ยนไปเลย...ถึงแม้บ้านเมืองจะพัฒนาไปมากก็ตาม..? นางธัญญาณินทร์ ยอมรับว่า เป็นส่วนน้อยมากๆ บางคู่ ผู้หญิงเก่งกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ กลายเป็น “ข้ออ้าง” ที่ผู้ชายไม่ยอมรับ 

สิ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยวคิด แม้จะต้องการเริ่มต้นใหม่กับใครก็ตาม เธอผู้นั้น จะมีเรื่องคิดว่า เข้ากับลูกได้หรือไม่ เหมือนเป็น “แผลเป็น” เขียนอยู่บนหน้าผากว่า “แม่ม่าย” ผู้หญิงคนนี้ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ก็คืออีก 1 เรื่องที่ถูกติฉินนินทา “ไปเอาทำไมแม่ม่าย...” ถูกสังคม “ตีตรา” แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม 

...

ผู้หญิงเก่งเกินไป...จะถูกนินทา นี่คือเรื่องปกติของผู้หญิงที่นินทากันเอง ในขณะที่ผู้ชายก็จะถูกนินทาว่า นี่คือผู้หญิงมือสอง ทำไมต้องเลี้ยงลูกคนอื่น 

เมื่อเจอคำครหาเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงบางคนรู้สึกไม่มั่นใจ และทำให้ตัดสินใจผิดพลาดซ้ำสอง ด้วยการคว้า...(ไม่เลือก) ใครก็ได้ เหมือนที่เราเห็นในข่าวว่าโดนพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยงทำร้ายลูก

“ความมั่นคงทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่อเรามองข้ามเรื่องนี้ไปจะส่งผลต่อการมองเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง และด้อยค่าตัวเอง” 

ตัวอย่างที่พลาดพลั้งกับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวแบบผิดๆ 

นางธัญญาณินทร์ เล่าว่า สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกนั้นไม่ควรใส่อารมณ์ต่างๆ ลงไปในตัวเด็ก ทั้งความฝันของตัวเอง หรือความชิงชังที่มีต่อคนอื่น 

เคยมีเคสที่รู้จักคือ ผู้หญิงซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความชิงชังในตัวผู้ชายมาก จึงเลี้ยงลูกชายในแบบลูกสาว ใส่กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตเป็นแบบเด็กผู้หญิง ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ เพราะการเลี้ยงดู ซึ่งไม่เกี่ยวกับฮอร์โมน นี่คือ 1 ตัวอย่างที่เกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็เกิดขึ้นจริง 

บางเคสเกลียดพ่อ ทำร้ายลูก สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคนเป็นแม่ก็ไม่มีความสุข เด็กเองยิ่งไม่มีความสุข ดังนั้นจึงต้องกลับไปมองจุดเริ่มต้นคือ ลูกคือของขวัญ

...

กฎหมาย กับสิ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญ

นางธัญญาณินทร์ กล่าวในประเด็นด้านกฎหมายว่า เชื่อว่าทุกคนต้องเจอในประเด็นกฎหมาย คือ “ค่าเลี้ยงดูบุตร” ความจริงต่อให้มีคำสั่งศาลมาให้จ่ายรายเดือนเท่าไรก็ตาม ถึงความเป็นจริงในระยะยาวมีจำนวนน้อยที่จ่าย ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปก็อาจจะทำใจ ยกเว้นคนมีหน้ามีตาในสังคมถึงจะเป็นข่าว เพราะการขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยๆ มันเหนื่อย...

“เรื่องค่าเลี้ยงดูบุตร คือสิ่งจำเป็นมาก เพราะถือว่าเราต้องเลี้ยงลูกในระยะยาว ไม่คุยไม่ได้ เพราะคนที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต้องการความชัดเจน” 

ประเด็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือ “อำนาจในการปกครองบุตร” ต้องชัดเจนตั้งแต่แรกว่าใครจะเป็นฝ่ายปกครอง โดยขั้นตอนนี้อยู่ในช่วง “การหย่า” ทุกอย่างควรชัดเจนว่าเด็กอยู่กับใคร และใครปกครอง ซึ่งควรจะเป็นคนคนเดียวกัน 

“บางเคสเด็กอยู่กับอีกคน แต่อีกคนปกครอง แบบนี้สร้างปัญหามาก เพราะไม่ว่าจะทำธุรกรรมใด เช่น ทำบัตรประชาชน เข้าโรงเรียน ก็ต้องคอยตามหาตัวผู้ปกครอง” 

พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว กับพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียน 

นางธัญญาณินทร์ กล่าวว่า กรณีนี้สิ่งที่ทำได้คือ ต้องให้อีกฝ่ายมารับรองบุตร เช่น ให้พ่อมาเซ็นรับว่าเป็นบุตร เพราะการคลอดลูกนั้น ฝ่ายชายจะต้องมารับรองให้เป็นลูกตามกฎหมาย ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนก็สามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูได้ 

แต่...ถ้าผู้ชายไม่รับรองบุตร เรื่องยุ่งยากจะตามมา เช่น การขอให้ตรวจ DNA ซึ่งหากอีกฝ่ายไม่ยอมก็ตรวจไม่ได้ เพราะในอดีตเคยเกิดเคสลักษณะนี้มาแล้ว   

นางธัญญาณินทร์ กล่าวฝากถึงพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกคนว่า อย่านำความผิดพลาดของตัวเองมาเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูก สิ่งที่คุณต้องทำคือ คุณต้องเข้มแข็งทางอารมณ์ สิ่งที่คุณเคยใฝ่ฝันว่าอยากได้ อยากเป็น ให้พักไว้ก่อน อย่าเอาสิ่งนั้นมาใส่ในตัวลูกเด็ดขาด ลูกต้องมีชีวิตของเขาเอง มีความฝันของตัวเอง หน้าที่ของพ่อแม่คือ ซัพพอร์ตความฝันของลูกให้เป็นจริง ฝันของเราคือการทำให้ลูกมีความสุขเท่านี้ก็พอ และเมื่อลูกเติบใหญ่แล้วจะกลับมาสานฝันตนเอง ก็ทำได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ