ย้อนรอย 10 ข่าวเด่น ประเด็นดัง ที่สุดแห่งปี 2023 หลากอารมณ์ หลายความรู้สึก สุข เศร้า เคล้าน้ำตา ดราม่า ปวดหัว เปลี่ยนชีวิต นะจ๊ะ...

ตลอดปี 2023 ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์มากมาย บางเรื่องทำให้ต้องนั่งกุมหัวปวดขมับ บางเรื่องทำให้รู้สึกหดหู่ใจอย่างบอกไม่ถูก หรือบางเรื่องก็ทำให้เราลุ้นดีใจตื่นเต้นไปด้วย เรียกได้ว่าในระยะเวลาเพียง 12 เดือน มีข่าวเกิดขึ้นหลากอารมณ์เลยทีเดียว

หลายเหตุการณ์ปิดฉากอย่างสมบูรณ์ หลายเหตุการณ์ดำเนินต่อไปโดยที่ยังไม่รู้ตอนจบ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ทำการรวบรวม และประมวลภาพ 10 เหตุการณ์สำคัญ สรุปภาพรวมประเทศในรอบปีมาให้ทุกคนได้อ่านกัน 

แต่อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงการสรุป โดยไม่ได้เรียงลำดับความโดดเด่น ยังมีข่าวอีกจำนวนมากที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้นำเสนอมา ณ ที่นี้

22 สิงหาคม 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
22 สิงหาคม 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

...

01 : 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกฯ ผลัดถิ่น กลับแผ่นดินไทยในรอบ 15 ปี

ตั้งแต่ที่ชีวิตของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ต้องหนีคดีออกจากไทยไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2551 ตนก็ประกาศว่า "จะเดินทางกลับไทย" มาแล้วกว่า 20 ครั้ง แต่ไม่เคยกลับมาจริงเสียที จนเกิดวลีเสียดสี "ทักษิณกลับไทยตอนไหน"

แต่แล้วเมื่อ 19 สิงหาคม 2566 'อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร' ลูกสาวคนเล็กหัวแก้วหัวแหวนแห่งตระกูล 'ชินวัตร' ประกาศผ่านอินสตาแกรมเนื้อความว่า "อังคารที่ 22 สิงหาคม 9.00 น. ณ ดอนเมือง จะไปรับคุณพ่อค่ะ"

เมื่อวันดังกล่าวมาถึง มีกำหนดการออกมาว่า นายทักษิณจะเดินทางจากประเทศสิงคโปร์ ด้วยเครื่องบินส่วนตัวถึงสนามบินดอนเมือง เวลา 09.00 น. พร้อมกับ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นายพานทองแท้, นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และทีมอารักขา รวมอย่างน้อย 6 

07.20 น. วันเดียวกันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องสาวนายทักษิณ ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพสวมกอดนายทักษิณและส่งขึ้นเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมระบุข้อความ "และแล้ววันที่พี่รอคอยก็มาถึง" 

09.00 น. เครื่องบินส่วนตัวของอดีตนายกทักษิณ Gulf stream รุ่น G650-ER ได้ลงจอดที่สนามบินดอนเมืองเป็นที่เรียบร้อย ผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองตามระเบียบการ และนี่ถือเป็นการกลับเมืองไทยในรอบ 15 ปี ของชายชื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร'

ภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดอีกครั้ง เมื่อ 09.30 น. อดีตนายกฯ คนที่ 23 ปรากฏตัวบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล ในชุดสูทสีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาว และเนกไทสีแดง ขนาบข้างไปด้วยครอบครัว 'ชินวัตร' พร้อมหน้า ก่อนจะเดินเข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 หลังจากนั้นได้โบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ไร้กังวล 

29 สิงหาคม 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์
29 สิงหาคม 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์

02 : ส่งไอเลิฟยู อำลา 9 ปี รัฐบาลประยุทธ์ ถ่ายภาพ ทักทายสื่อ ใน ครม.นัดสุดท้าย 

29 สิงหาคม 2566 ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้าย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมเสื้อผ้าไทยสีเหลืองสดใส เดินออกจากห้องประชุมตึกสันติไมตรี ก่อนมาหยุดที่บริเวณสื่อมวลชน พร้อมทักทายอย่างอารมณ์ดีว่า "วันนี้นักข่าวมาเยอะจัง" ก่อนจะไปยืนหน้าโพเดียม และกล่าวต่อว่า "วันนี้ถ่ายรูปกันอย่างเดียวดีกว่า เพราะพูดมาเยอะแยะแล้ว"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ระบุว่า เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ ครม. "นะจ๊ะ" จะมีการประเมินสถานการณ์จากกำหนดการ หรือขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติ "นะจ๊ะ" และย้ำว่าวันนี้ยังต้องดูแลตามหน้าที่รัฐบาลรักษาการ ในส่วนที่ทำได้ตามกฎหมาย อีกทั้งเอ่ยปากขอบคุณสื่อมวลชนว่า  

...

"ขอบคุณสื่อมวลชนทุกคน ที่รักทุกคน เราไม่ได้มีอะไรกันอยู่แล้ว เราก็รักกันหลายปีที่ผ่านมา อยู่ด้วยกันมา เข้าใจนะ ในการทำงานของท่าน ของสื่อ ผมก็พยายามไม่ไปก้าวล่วงอยู่แล้วนะจ๊ะ ก็ขออภัยหากดุไปสักนิดนึงอะเนอะ นิดเดียวเนาะ"

สื่อมวลชนถามว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้นำประเทศ 'ประทับใจอะไรมากที่สุด ?' "ขอพูดในภาพรวม เพราะอยู่รัฐบาลนี้มา 4 ปีเต็ม มีการพูดจาทักท้วง ให้เหตุผลซึ่งกันและกัน มีความผูกพันในสิ่งที่ทำร่วมกันมา ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปพอสมควร นี่คือความตั้งใจของ ครม."

สื่อมวลชนถามย้ำว่า 9 ปี ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พลเอกประยุทธ์ ตอบกลับทันทีว่า "ไม่ย้อน เพราะมันย้อนกลับไปไม่ได้นะจ๊ะ" 

หลังแถลงข่าว สื่อมวลชนขอถ่ายรูปร่วมกับนายกฯ บรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างชื่นมื่น นายกรัฐมนตรี (รักษาการ) เดินถ่ายภาพในหลายมุม พร้อมโพสท่า 'มินิฮาร์ท' และโบกมือลาด้วยท่า 'ไอเลิฟยู' ก่อนจะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

02 กรกฎาคม 2566 | ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
02 กรกฎาคม 2566 | ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย

...

03 : พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างทูตสันถวไมตรี ไทย-ศรีลังกา กลับบ้านเกิด

14.03 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 เครื่องบินแบบ Ilyushin IL-76 เที่ยวบินที่ AZS5701 นำช้างไทย "พลายศักดิ์สุรินทร์" เดินทางจากสนามบินบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ด้วยเพดานบินและความเร็วต่ำ สู่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ ใช้เวลาทำการบินรวม 5 ชั่วโมง

ระหว่างการเดินทาง พลายศักดิ์สุรินทร์อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด จากเจ้าหน้าที่จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ รวมจำนวน 3 คน ได้แก่ นายทรชัยสิทธิ์ ศิริ, นายศุภชัย บุญเกิด และ นายไกรสร เครือจันทร์ นอกจากนั้นยังมี Mr. Don Upul Jayarathna Denelpitiyage หัวหน้าชุดควาญศรีลังกา จากสวนสัตว์ Dehiwala จำนวน 1 คน ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการเดินทางครั้งนี้

หลังจากเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทีมสัตวแพทย์จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ คอยรับและเตรียมดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันมีประชาชนนับร้อยส่งเสียงต้อนรับด้วยความดีใจ

ด้านนายวราวุธ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากเดินทางไปถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ จะมีการกักพลายศักดิ์สุรินทร์อยู่ในพื้นที่กักบริเวณประมาณหนึ่งเดือนเพื่อตรวจสุขภาพและดูอาการว่ามีโรคอะไรต่างๆ ทั้งภายนอกภายในหรือไม่

เรื่องราวโดยย่อของช้างเชือกนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2544 ศรีลังกาได้ขอลูกช้างจากไทย เพื่อฝึกใช้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว รัฐบาลไทยจึงส่งช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ 

...

กระทั่งปี 2565 องค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ศรีลังกา 'Rally for Animal Rights & Environment' (RARE) ร้องเรียนว่าช้างเชือกนี้ไม่ได้รับการดูแล สภาพผอมโซ ถูกล่ามโซ่ ควรได้รับการพยาบาลอย่างเร่งด่วน 

สิงหาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เดินทางตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ และ กันยายน 2565 ได้ส่งทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจสอบสุขภาพ กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับเมืองไทย เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย

26 พฤศจิกายน 2566  | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
26 พฤศจิกายน 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

04 : 'แอนโทเนีย โพซิ้ว' รองฯ นางงามจักรวาล กลับไทย แฟนคลับรอต้อนรับล้นหลาม

'แอนโทเนีย โพซิ้ว' ตัวแทนจากประเทศไทย คว้ามงกุฎตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด Miss Universe ครั้งที่ 72 ณ The Adolifo Pineda Gymnasium ประเทศเอลซัลวาดอร์ ถือว่าเธอเป็นนางงามไทยที่เข้ารอบลึกที่สุดในรอบ 35 ปี

หลังจากเสร็จสิ้นการประกวด แอนโทเนีย เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ด้วยสายการบินตุรกิชแอร์ไลน์ สู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 น. ท่ามกลางบรรยากาศการรอต้อนรับจากแฟนคลับ ที่แน่นขนัดสนามบิน 

เธอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะชน ใน "ชุดไทยจักรี" พร้อมสวมมงกุฎประจำตำแหน่ง เหล่ากองเชียร์ได้ส่งเสียงเรียกชื่อแอนอย่างกึกก้อง สร้างความตื้นตันใจให้กับเธอ จนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ พร้อมกับยกมือไหว้ และโบกมือทักทายผู้มารอต้อนรับ 

เธอกล่าวขอบคุณแฟนคลับ ด้วยความรู้สึกที่ตื้นตันและน้ำตาซึมว่า "แอนอาจจะไม่ได้คว้าตำแหน่งมา แต่แอนเชื่อว่าแอนคว้าหัวใจของคนไทยทุกคน" พร้อมย้ำว่า ตนนั้นทำเต็มที่กับทุกอย่าง เมื่อไม่เป็นไปตามที่หวัง จึงรู้สึกเสียใจเล็กน้อย แต่นางงามจักรวาลไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต 

หลังจากนั้น สาวงามรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวที Miss Universe ครั้งที่ 72 ได้ขึ้นรถโรลส์รอยซ์ เปิดประทุนสีน้ำเงิน รุ่นลักษณ์ประทับ หรือ Rolls-Royce 1951 Silver Dawn convertible ถือธงชาติโบกมือให้สื่อมวลชนและแฟนนางงาม เมื่อออกจากสนามบินระยะหนึ่ง จึงเปลี่ยนนั่งรถยนต์ธรรมดา มุ่งหน้าสู่ท้องฟ้าจำลอง

26 ตุลาคม 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์
26 ตุลาคม 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์

05 : รับร่าง 7 คนไทยที่เสียชีวิต จากเหตุสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส

26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.35 น. สายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ LY083 นำศพแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุสงครามระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส จำนวน 7 ศพ กลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวรอาคารคลังสินค้าระหว่างประเทศ

การเคลื่อนย้ายร่าง เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้าอาลัย ต่อการจากไปของผู้วายชนม์ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่ได้มารอรับศพ แต่รออยู่ที่ภูมิลำเนา เพื่อจัดเตรียมสถานที่และพิธีทางศาสนา จึงมีตัวแทนเป็นผู้ร่วมรับศพ และประกอบพิธีเคารพศพ ก่อนที่จะส่งร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลับไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา

ตัวแทนผู้ร่วมรับศพ ได้แก่ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย และนายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

22 สิงหาคม 2566 | ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์
22 สิงหาคม 2566 | ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

06 : สภาลงมติ 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย 

22 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ ที่ทำพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ หลังจาก ได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ด้วยผลการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

23 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดกรวยกระทงดอกไม้ รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย หลังจากนั้นได้กล่าวรับสนองพระบรมราชโองการ ความบางตอนว่า

"กระผมมีความปลื้มปิติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ทั้งจักมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต…

พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพ ผมขอยืนยันว่าผมจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ผมมั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง"

05 กันยายน 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์
05 กันยายน 2566 | ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์

5 กันยายน 2566 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำคณะรัฐมนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ นายกรัฐมนตรีพร้อม ครม.ชุดใหม่ ได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ

04 ตุลาคม 2566 | ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์
04 ตุลาคม 2566 | ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์

07 : หนุ่มจีนวางช่อลิลลี่สีขาวหน้าสยามพารากอน ไว้อาลัยเพื่อนร่วมชาติจากเหตุกราดยิง

ช่วงสายของวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นักท่องเที่ยวชายชาวจีน ได้นำช่อดอกลิลลี่สีขาวห่อด้วย กระดาษสีดำและผูกริบบิ้นสีขาว มาวางไว้ที่หน้าห้างสนามพารากอน เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อเพื่อนร่วมชาติ และผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์เยาวชนชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิง เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 

อย่างไรก็ตาม ผู้วางช่อดอกไม้ ไม่ได้รู้จักสาวจีนผู้ตายเป็นการส่วนตัว แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังแสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหวั่นจะเดินทางมา ตนเชื่อว่าหลังจากนี้หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น และห้างมีมาตรการที่รัดกุม นักท่องเที่ยวจะกลับมาเอง

10 กรกฎาคม 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
10 กรกฎาคม 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

08 : โครงสร้างสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถล่มกีดขวางทางจราจร 

10 กรกฎาคม 2566 เวลาประมาณ 18.00 น. เกิดเหตุระทึกสร้างความสะเทือนขวัญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ช่วงหน้าห้างโลตัส ลาดกระบัง ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตัวคานและเสาที่เป็นเหล็กและคอนกรีต พังลงมาจากความสูงประมาณ 20 เมตร รวมระยะทางยาวประมาณ 200 เมตร โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมา ให้ก่อสร้างด้วยวงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท 

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีเศษเหล็กตัวคานและเสาคอนกรีต หล่นทับรถยนต์ที่จอดใต้โครงการและรถที่สัญจรผ่านไปมา จนได้รับความเสียหายหลายสิบคัน มีประชาชนและคนงานก่อสร้าง ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้จำนวนมาก เบื้องต้นพบผู้บาดเจ็บ 13 คน เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ 2 ศพ รถยนต์ถูกทับติดอยู่ในซากปูนร่วมสิบคัน บางคันอยู่ในสภาพบี้แบน และการจราจรติดขัด 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และยอมรับว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดจากความผิดพลาดระหว่างการก่อสร้าง พร้อมยืนยันว่าเหตุการณ์นี้ต้องมีคนรับผิดชอบ

สาเหตุจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าตัว launcher สำหรับร้อยติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตเซกเมนต์ (Concrete Segment) ที่เป็นพื้นทางของทางยกระดับ เกิดพลิกตัวระหว่างดึงตอม่อเสาต้นที่ 83 และ 84 ทำให้พื้นทางที่อยู่ระหว่างการติดตั้งช่วงดังกล่าวไม่สมดุล หลุดจากหัวเสาตอม่อ 

19 กรกฎาคม 2566  | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี
19 กรกฎาคม 2566 | ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี

09 : 'พิธา' เดินออกจากสภา หลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

"ขอใช้โอกาสนี้ในการอำลาท่านประธาน จนกว่าเราจะพบกันใหม่ แล้วก็ขอฝากเพื่อนๆ สมาชิกในการใช้รัฐสภาในการดูแลพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และถ้าเกิดประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไปครับ"

คำกล่าวเบื้องต้น เกิดขึ้นหลังจากที่ 'นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หลังเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงขออนุญาตแจ้งรับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น 

หลังนายพิธากล่าวจบ ได้ถอดบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวางบนโต๊ะ แล้วเดินออกจากห้องประชุม จากนั้น สส.พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล (ในขณะนั้น) ลุกขึ้นปรบมือ ด้านประธานสภา กล่าวขอบคุณนายพิธา ที่เคารพกติกาของสภา ก่อนออกจากห้อง หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชูกำปั้นด้วยมือขวา จนได้รับเสียงปรบมืออีกครั้งหนึ่ง

22 มิถุนายน 2566  | ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย
22 มิถุนายน 2566 | ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย

10 : 'ผู้ว่าฯ หมูป่า' เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 58 ปี ด้วยโรคมะเร็ง

เวลา 17.52 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2566 'ผู้ว่าฯ หมูป่า' หรือ 'นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร' ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในวัย 58 ปี หลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชหลายสัปดาห์ หลังจากข่าวเสียชีวิตถูกเผยแพร่ออกไป ผู้ที่เคยได้ร่วมงานกับผู้ว่าฯ ต่างออกมาแสดงความเสียใจ ต่อการสูญเสียครั้งนี้

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ลูกสาว 2 คนแห่งครอบครัว 'โอสถธนากร' เป็นผู้ไปรับศพบิดา ที่โรงพยาบาลศิริราช มีการทำพิธีเคลื่อนย้ายร่าง เพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา และเพื่อรอรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ที่ศาลาพ่วงจินดา วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเขตบางเขน มี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ขบวนได้เดินทางถึงวัดพระศรีมหาธาตุฯ เวลาประมาณ 14.00 น. ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัย ของครอบครัว คนสนิท ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการเจ้าหน้าที่ใน จ.ปทุมธานี 

สำหรับ 'นายณรงค์ศักดิ์' เป็นที่รู้จักของคนไทย สมัยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ เชียงราย และเป็นผู้นำบัญชาการเหตุช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 จนกระทั่งช่วยทุกชีวิตออกมาได้ 

จบลงไปแล้วสำหรับการประมวลภาพ 10 เหตุการณ์ข่าวเด่นแห่งปี แล้วคุณล่ะ… คิดว่ามีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกสนใจ ตราตรึง จนยากจะลืมลง?

ภาพ : #ThairathPhoto


อ่านบทความที่น่าสนใจ :