ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก "ลุงพล" 20 ปี คดี "น้องชมพู่" โดน 2 ข้อหา ส่วน "ป้าแต๋น" รอด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายวิเคราะห์ หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ตัวแปรสำคัญสู้ในศาลชั้นอุทธรณ์ยังต้องลุ้นหนัก

วันที่ 20 ธ.ค. 66 ศาลจังหวัดมุกดาหาร นัดฟังคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายไชย์พล วิภา หรือ "ลุงพล" และ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือ "ป้าแต๋น" สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กรณีการเสียชีวิตของ "น้องชมพู่"

โดยฟ้อง นายไชย์พล จำเลยที่ 1 ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร, ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลเป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย, ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วน น.ส.สมพร จำเลยที่ 2 ตามความผิดฐาน "ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

...

ล่าสุดศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาปราศจากเหตุอันควร จำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ยกฟ้อง

นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐ ออนไลน์ ว่า ในการประกันตัวลุงพล ตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น จำเลยมีสิทธิขออุทธรณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือรับรองจากผู้พิพากษา ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่จำเลยสามารถทำได้

ประกอบกับจำเลยไม่มีพฤติกรรม ทำให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว จนศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยก็มาฟังศาลโดยชอบ ดังนั้น ศาลน่าจะมีการอนุญาตให้ประกันตัว ประกอบกับจำเลย มีการเตรียมความพร้อมในการประกันตัวไว้แล้ว โดยการซื้อประกันอิสรภาพจากบริษัทประกันภัยไว้ ขณะเดียวกันโทษก็ไม่ได้ร้ายแรง เพียง 10 ปี 2 กรรม เป็นทั้งหมด 20 ปี

ความเป็นไปได้หาข้อมูลมาหักล้างคดีในศาลชั้นอุทธรณ์

นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เนื่องจากตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ การพิจารณาคดีในศาลสูงในชั้นอุทธรณ์ ศาลยึดเฉพาะหลักฐานในสำนวนคดีที่มีการอ้างไว้ในศาลชั้นต้น จะไม่เปิดโอกาสให้ยื่นพยานหลักฐานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพยานเอกสาร วัตถุ หรือพยานบุคคล โดยศาลจะไม่รับฟัง

โดยยึดว่า หลักฐานในศาลชั้นต้นมีเท่าไร ศาลในชั้นอุทธรณ์จะนำไปทบทวนอีกครั้ง ดังนั้น ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยต้องอาศัยหลักฐานในศาลชั้นต้นในการหักล้าง ขณะเดียวกันก็ต้องดูในส่วนของพนักงานอัยการ ว่าพอใจในผลคำพิพากษา 2 เรื่องคือ 1.การตัดสินลุงพลในศาลชั้นต้น ตามความผิดที่ตัดสิน อัยการมีความพอใจหรือยัง 2.ป้าแต๋น อัยการเห็นด้วย หรือยังมีข้อติดใจ ก็สามารถนำมาพิจารณาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ คดีนี้ในทางกฎหมาย พ่อแม่ของน้องชมพู่ ไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการฝ่ายเดียว

ประกอบกับหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ในศาลชั้นต้น ระบุถึงการพบเส้นผมต้องสงสัย และใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการตัดสินคดี ซึ่งในการตัดสินศาลชั้นต้นที่เชื่อในหลักฐานดังกล่าว ศาลเชื่อในพยานวัตถุที่เก็บมาในที่เกิดเหตุ และเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยชอบ ยิ่งศาลเชื่อว่ามีผลตรวจที่ตรงกับข้อเท็จจริง ยิ่งทำให้การต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยค่อนข้างลำบาก

...

“พยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหลักฐานน่าเชื่อถือ หักล้างยาก ในชั้นอุทธรณ์ถ้าศาลพิจารณาว่า หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ได้มาโดยชอบ จำเลยก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ในทางกลับกันถ้ามีการอุทธรณ์ หากอัยการมีความพอใจในการตัดสินคดีในศาลชั้นต้น ความผิดของจำเลยก็ยังยืนมีความผิดเทียบเท่าศาลชั้นต้น แต่ถ้าอัยการยังติดใจว่ามีข้อหาอื่นเพิ่มอีกได้”.