“Golden Boy” ประติมากรรมสำริด มีอายุราว 900-1,000 ปี พิพิธภัณฑ์ฯ ในสหรัฐอเมริกา เตรียมส่งคืนไทยต้นปีหน้า ถือเป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์สำคัญของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” เชื่อมโยงกับพื้นที่ราบสูงโคราช แต่การทวงคืนครั้งนี้เกือบจะหลุดมือ โชคดีที่นักโบราณคดีไทยไปเจอชุมชนที่ขุดค้นพบ ชี้รอยตำหนิสำคัญ ทำให้อเมริกายอมส่งคืนไทย ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญ ในการทวงคืนชิ้นอื่นๆ ที่ถูกขโมยไปอีกด้วย

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ เปิดเผยกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้น ที่ (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืนให้ไทย เกือบจะไม่ได้คืน เนื่องจากหาหลักฐานไปยืนยันไม่ได้ในช่วงแรก ขณะที่กัมพูชามีคณะทำงานทวงคืนที่ติดตามอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้นำเสนอกับ กรมศิลปากร และได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูลนำไปยืนยันกับสหรัฐอเมริกา

...

ประติมากรรมสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี มีความสูง 129 ซม. เป็นวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่กัมพูชาพยายามนำหลักฐานมายืนยันกับสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีความงดงาม แต่ไทยก็หาหลักฐานไปยืนยันจนพบว่าเคยมีการขุดค้นพบ Golden Boy อยู่ในปราสาทโบราณ กลางชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เมื่อเห็นรูปภาพ ก็ระบุชัดเจนว่ามีครอบครัวหนึ่งในชุมชนเป็นผู้ขุดค้นพบเมื่อปี 2518 จากนั้นได้ขาย ประติมากรรมสำริด Golden Boy ให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติ ราคา 1 ล้านบาท หลังขายได้ช่วงปี 2518 ทั้งหมู่บ้านจัดงานฉลองใหญ่ 3 วัน 3 คืน สิ่งนี้ทำให้มีพยานบุคคลในหมู่บ้านที่เกิดทันยุคนั้น ระบุได้ถึงการขายโบราณวัตถุดังกล่าว ดังนั้นเรื่องเล่านี้ทำให้คนในหมู่บ้านจำได้แม่น

อีกหลักฐานสำคัญยืนยันว่า Golden Boy ขุดค้นพบที่ บ้านยางโป่งสะเดา คือ ลูกสาวคนขุดพบ เป็นผู้ล้างรูปสำริดหลังขุดเจอ ยืนยันถึงรอยชำรุดสำคัญบริเวณเข็มขัดตรงผ้านุ่งด้านหน้า ที่ห้อยลงมามีรอยหัก พ่อเลยเอาลวดผูกติดไว้ ดังนั้นรอยตำหนิจึงตรงกับข้อมูลการซ่อมของพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา

จิ๊กซอว์สำคัญถัดมาคือ ชาวบ้านยางโป่งสะเดา เคยเห็น และระบุได้ถึงความสูง ประติมากรรมสำริด Golden Boy ใกล้เคียงขนาดจริงในพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ครอบครัวที่ขายให้กับนักค้าของโบราณ ระบุว่า ก่อนขาย ทางคนที่ซื้อต่อได้ถ่ายรูปประติมากรรมไว้ให้หนึ่งใบ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ครอบครัวเผารูปนั้นทิ้ง แต่เมื่อเอาภาพที่จัดแสดงไว้ที่อเมริกาให้ดูก็ยืนยันได้ชัดเจน

นอกจากนี้ ลูกชายผู้ที่เคยให้ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุเช่าบ้านเป็นสำนักงานในพื้นที่ บ้านยายแย้ม กรุประโคนชัย เขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2508 ยุคนั้น นายดักลาส ให้พ่อของเขาเป็นตัวแทนรับซื้อโบราณวัตถุ ก่อนส่งต่อไปขายยังหลายประเทศในยุโรป โดยการลงพื้นที่หาข้อมูล ได้พาไปยังหมู่บ้านเกิดเหตุ พร้อมยืนยันว่ายุคนั้นมีการจ้างให้ชาวบ้านขุดหาโบราณวัตถุตารางเมตรละ 100 บาท ทำให้ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา หักพังไม่เหลือสภาพเดิม ทำให้ กรมศิลปากร ไม่มีข้อมูล และไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

“ปี 2508 ที่นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด เข้ามาตั้งสำนักงาน เป็นช่วงเวลาที่โบราณวัตถุในพื้นที่เขาปลายบัด 2 หายไปจำนวนมาก จากนั้นเขาก็มีการเดินทางเข้าออกทุกปี”

...


ต้นเหตุประติมากรรมสำริด Golden Boy มีชื่อเรียกถึง 3 ชื่อ

หลัง กรมศิลปากร มีการแถลงถึงการส่งคืนรูปประติมากรรมสำริด Golden Boy เริ่มมีคำถามจากสังคมถึงชื่อเรียกที่แท้จริง ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี เปิดเผยว่า ชื่อแรกมาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันได้ขึ้นป้ายจัดแสดงว่า พระศิวะในอิริยาบถยืน ชื่อสอง มาจากหนังสือที่พิพิธภัณฑ์ตีพิมพ์รูป นักวิชาการจัดทำระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะถ้าเป็นพระศิวะ ต้องมีดวงตาที่สามบริเวณหน้าผาก ประกอบกับรูปแบบศิลปะไม่ใช่แบบบาปวน หรือนครวัด แต่เหมือนกับแบบของปราสาทหินพิมายที่สร้างถวายให้กับ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

...

ส่วนชื่อที่สามคือ Golden Boy ใช้ในตลาดขายวัตถุโบราณ โดยนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุใช้ชื่อนี้เพราะทำด้วยกะไหล่ทองทั้งองค์ ชื่อนี้สื่อความหมายถึงศิลปะชิ้นเยี่ยมที่สุด ดังนั้นทางกัมพูชาจึงอยากได้มาก ถึงขนาดที่ตอนนำหลักฐานไปยืนยันกับอเมริกา มีการนำนักวิชาการชาวกัมพูชามายืนยันว่าเป็นศิลปะสมัยใดของเขมร แต่อธิบายได้ไม่ชัดเจน

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ

“บนเวทีการคุยกัน ผมกับตัวแทนกัมพูชา มีการโต้เถียงกันอย่างหนัก ถึงแหล่งที่มาแท้จริงของ Golden Boy ขณะเดียวกันก็มีการสอบถามว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นของไทยจริงหรือไม่ เพราะรัฐมนตรีกัมพูชามีความประสงค์อยากได้โบราณวัตถุชิ้นนี้คืนไปยังประเทศเขาค่อนข้างมาก แต่เราก็เอาข้อมูลทั้งคำบอกเล่า และรอยชำรุดไปยืนยัน ประกอบกับหนังสือการค้าของ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด ระบุไว้กว้างๆ ว่านำมาจากบ้านยาง เมื่อนำหลักฐานมาประกอบกัน ทางอเมริกาจึงส่งมอบคืนให้ไทย”

...

Golden Boy ประวัติศาสตร์สำคัญ พระนครหลวง “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ในไทย

แม้ Golden Boy เคยมีชื่อเรียกต่างกันถึง 3 ชื่อ แต่ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ยืนยันว่า เป็นประติมากรรมสำริดรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นหลักฐานสำคัญของอาณาจักรที่เคยเป็นเขมรมาก่อน เพราะอดีตไม่มีพรมแดน วัฒนธรรมเขมรพบได้ทั้งในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พบจารึกหลายชิ้นบนเขาพนมรุ้ง กล่าวถึงราชวงศ์มหิธรปุระ จึงมีการสันนิษฐานว่ามีการตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณเขาพนมรุ้ง

ขณะเดียวกันยังพบจารึกพระขรรค์ในกัมพูชา ระบุว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อ มหิธรปุระ โดยพระองค์ย้ายศูนย์กลางการปกครองจากพระนครขึ้นมายังถิ่นฐานเดิมของพระองค์ทางทิศเหนือ จึงมีการสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล และจากการศึกษาในปราสาทหินพิมาย พบว่ามีรูปแบบศิลปะเฉพาะที่ไม่เหมือนนครวัด

“Golden Boy ยังเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ตอกย้ำข้อสันนิษฐานถึงอาณาจักรสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย เพราะพระองค์มีหลานคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สร้างปราสาทนครวัด มีเหลนคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทบายนในกัมพูชา ดังนั้นหลักฐานล้วนสัมพันธ์กันในพื้นที่ จึงอธิบายได้ว่าเมื่อเราเชื่อว่าปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้เลือกพื้นที่เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางปกครอง และมีพิธีรกรรมโบราณในการแห่พระพุทธรูปนาคปรก เพื่อให้คนทั้งสองพระนครได้กราบไหว้บูชา เป็นเหมือนพี่น้องกัน สืบต่อมาถึงยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพุทธศาสนาที่มีมาอดีต จนมีการสร้างพระพุทธรูปสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประดิษฐานไว้ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา คาดว่าเป็นชุมชนโบราณที่นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานอันสำคัญที่ก่อให้เกิดความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พุทธศาสนาที่แข็งแกร่งในการสร้างอาณาจักรขอม มาจากต้นราชวงศ์มหิธรปุระ ก่อนกระจายอำนาจไปยังลุ่มแม่น้ำโขง เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์พบว่า เทคโนโลยีด้านการหล่อสำริดพบมากในพื้นที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะการออกแบบ Golden Boy ซึ่งออกแบบให้บริเวณดวงตาให้มีร่อง เพื่อฝังอัญมณีไว้ ถือเป็นเทคนิคที่ใช้ในพื้นที่ราบสูงโคราชมาก่อน

การยืนยันได้ว่า Golden Boy เป็นของไทย ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่ถูกขโมยไปในอดีต เพราะด้วยลักษณะผ้านุ่งที่บ่งบอกศิลปะ ขณะนี้มีพิพิธภัณฑ์ที่ออสเตรเลียจัดแสดงโบราณวัตถุในลักษณะเดียวกันไว้ โดยทางกัมพูชาก็อยากให้ไทยร่วมเรียกร้องทวงคืน แต่ไทยยังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจน

เบื้องต้นคาดว่า โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ทางสหรัฐอเมริกา จะมอบคืนให้ในต้นปี 2567 และหลังจากนั้นจะมีการลำเลียงกลับคืนมายังประเทศไทย และจัดแสดงไว้ในพื้นที่ พิพิธภัณฑ์พระนคร ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปแสดงในพื้นที่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอติดตาม.