ครม.เศรษฐา เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ หลังการประชุม ครม.นัดแรก เมื่อ 13 ก.ย. 2566 และจากการประกาศของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะทุ่มเททำงานไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย ตามมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ มั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ รายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ความมั่นคง สังคม การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การทุจริตประพฤติมิชอบ และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม และความยากลำบาก ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า ครม.เศรษฐา จะมีผลงานอะไรสามารถจับต้องได้บ้าง และต้องปรับปรุงการทำงานอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือ

แน่นอนหลัง ครม.เศรษฐา ทำงานเข้าสู่ช่วง 100 วันแรก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตั้งโต๊ะแถลง “วาระ 100 วัน วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา” ด้วยกรอบ 5 คิด 1. “คิดดีทำได้” ในการช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอล วัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก กว่า 1 ล้านโดส และจัดการบริหารหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ 2. “คิดไปทำไป” ปรับเปลี่ยนไปมาเรื่องที่มาของเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เงินเดือนข้าราชการ และโครงการแลนด์บริดจ์

...

3. “คิดสั้นไม่คิดยาว” เรื่องค่าใช้จ่ายประชาชน ทั้งค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าพลังงาน และรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 4. “คิดใหญ่ทำเล็ก” ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ การบริหารการท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี การลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ ผ่าน สปก. และค่าแรง 5.“คิดอย่างทำอีกอย่าง” ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ หรือการปฏิรูปกองทัพ ไม่มีความชัดเจน

พยายามผลักดันนโยบาย แต่ไม่ไปถึงไหนสักอย่าง

ในฟากนักวิชาการ “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองว่า โดยภาพรวมการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา ได้เห็นความพยายามในการผลักดันบางนโยบายออกมา แต่ตัวนโยบายที่ผลักดันไม่สัมฤทธิผล อย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การแก้หนี้ในระบบและนอกระบบ การลดราคาพลังงาน และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งตรงนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย แต่โดยกระบวนการและแนวทางที่จะผลักดันไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่ได้เกิดจากข้าราชการประจำ แต่เกิดจากนักการเมือง

กรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีความพร้อมในการตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ส่งคำถาม เหมือนรัฐบาลไม่กระตือรือล้นจะผลักดัน ทำให้มองไม่เห็นว่าจะสำเร็จได้อย่างไร โดยเฉพาะข้อกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ก็มีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้

ในเรื่องแก้หนี้นอกระบบ อาจเป็นปาหี่ รัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขคนเป็นหนี้ในเชิงโครงสร้าง แค่ให้ไปขึ้นทะเบียนแล้วจะมีการประนอมหนี้ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งหลังบ้านเจ้าหน้าที่รัฐก็รู้กันอยู่ว่าเป็นอย่างไร ทำให้ไม่เห็นแนวทาง เพราะคนเป็นหนี้นอกระบบ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อไม่มีก็ต้องถูกเรียกดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดอยู่แล้ว หากรัฐบาลจะไปคุยกับคนปล่อยกู้ผิดกฎหมาย ก็ดูย้อนแย้งจนไม่สามารถจะแก้ไขได้

“ทำไมไม่ทำให้การกู้เงิน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือคิดดอกเบี้ยน้อยที่สุด อาจมีสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือพิโกไฟแนนซ์ เหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่เช่นนั้นแล้วพอถึงปีหน้าอาจไม่สัมฤทธิผล และคนก็คาดหวังรัฐบาลข้ามขั้ว จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ก็ค่อนข้างแย่ ดัชนีชี้ให้เห็นความตกต่ำของเศรษฐกิจในภาพรวม และปีหน้าจะหมดช่วงฮันนีมูนของรัฐบาล ก็จะมีปัญหา ประชาชนจะเรียกร้องว่าตัวนโยบายจะทำได้แค่ไหน”

เรื่องราคาพลังงาน ไม่ได้แก้ด้านโครงสร้าง แต่ไปลดราคาแบบลดไปเลย 2 บาท หรือค่าไฟ ลด 40-50 สต. แต่ไม่ไปแตะค่าพร้อมจ่าย เพราะอย่างไรทางการไฟฟ้า ก็มีหนี้ของเขาจะต้องไปจัดการ ถ้าไม่จัดการจะทำอย่างไร ซึ่งไม่แตกต่างกับค่าน้ำมัน ไม่ได้ดูค่าการกลั่น หรือค่าการตลาด ทำให้การแก้ปัญหาเหมือนโปรโมชั่น เมื่อหมดโปรโมชั่น ก็เป็นอย่างเดิม ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อถึงปีหน้าจะทำได้จริงหรือไม่ ถือว่าผลงานยังไม่ทำให้ประชาชนไว้วางใจได้ ส่วนตัวนายกรัฐมนตรี เดินสายไปต่างประเทศ ไม่ได้อะไรเป็นรูปธรรมหรือไม่

...

ความหวังประชาชนเลือนราง ไม่เหมือนกับที่ฉายภาพไว้

แม้แต่เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ใช้เงิน 5 พันล้านบาท มีการตีปี๊บใหญ่โต ทำเหมือนอีเวนต์ธรรมดา ไม่สามารถทำอะไรได้ จับต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าเงิน 5 พันล้านบาทจะละลายหายไปตรงนี้หรือไม่ จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีความพยายามจะแก้ปัญหา ทั้งเรื่องปากท้องและในเชิงโครงสร้าง ไม่มีอะไรทำให้ประชาชนรู้สึกมีความหวัง ทั้งที่คนคาดหวังจะใช้จ่าย แต่เศรษฐกิจไม่เดิน เพราะคาดหวังไม่ได้ว่าเศรษฐกิจจะเดินอย่างไร ไม่เหมือนกับที่รัฐบาลฉายภาพเอาไว้

“เรื่องแก้หนี้นอกระบบเป็นปาหี่จริงๆ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม มันทำไม่ได้ในการให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไปคุยกับเจ้าหนี้ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าภาพเอง และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจเป็นพวกเดียวกันกับเจ้าหนี้หรือไม่ก็ไม่รู้ ดูจากยอดคนมาลงทะเบียน ยังห่างไกลจากมูลหนี้หลักหมื่นล้านที่นายกฯพูดไว้ ตอนนี้มีแค่หลักพันล้านเท่านั้น หรือถ้าข้อมูลหลุดไปอยู่ที่เจ้าหนี้ อาจถูกตัดหนี้แบบโหดๆ ก็ได้”

ในเชิงโครงสร้างจะเห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าไปแตะต้อง มีแต่เตะถ่วง อย่างร่างรัฐธรรมนูญ มีการเตะถ่วงไม่ให้เดินหน้า ใช้เวลาแต่งตั้งกรรมาธิการแต่ละคณะ และการปฏิรูปกองทัพ คิดว่า 4 ปีคงไม่เสร็จ เพราะตัวรัฐมนตรีไม่กล้าริเริ่มทำอะไร ไม่มีอะไรออกมา และเดือนเม.ย.ปีหน้า ก็จะมีการเกณฑ์ทหาร ไม่มีการยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบไม่สมัครใจ ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จะสร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียนที่รออะไรตรงนี้ และปฏิรูปกองทัพ เป็นเรื่องกระตุกหนวดเสืออยู่แล้ว เมื่อจะยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบไม่สมัครใจ ก็ไม่เห็นมีอะไรชัดเจน

...

เมื่อดูภาพรวมการทำงานรัฐบาลในช่วง 100 วันแรก กับการให้คะแนนจะได้เรื่องความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ได้แสดงให้เห็นว่าจะผลักดัน โดยได้ 5 คะแนนจากเต็ม 10 แค่ผ่านครึ่ง เพราะยังไม่เห็นผลงานชัดเจน และคนจะมองว่าเพียง 100 วันจะให้เสร็จได้อย่างไร ก็ต้องดูกันต่อไปในปีหน้า ส่วนรัฐบาลอาจอยู่ครบวาระ 4 ปี อาจไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนนี้ดำรงตำแหน่ง แต่อาจเป็นคนอื่นก็ได้.