นักเศรษฐศาสตร์เสนอสูตรคิดค่าแรงใหม่ หลังนายกฯ ให้คณะกรรมการไตรภาคีแรงงานทบทวนอีกรอบ แม้มีการเสนอขึ้นค่าแรง แต่นักวิชาการมองว่า สูตรที่บอร์ดพิจารณาค่าจ้างนำเสนอ ไม่เป็นธรรมกับแรงงาน ย้ำสามารถทำได้ไม่ต้องปรึกษากฤษฎีกา ห่วงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาไม่ทันเริ่มใช้ 1 ม.ค. 67

ยังหาข้อยุติไม่ได้ หลังนายกฯ ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจ การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ที่มีการเสนอให้เพิ่มมากสุด 16 บาท เป็น 370 บาท/วัน เพิ่มต่ำสุด 330 บาท/วัน ส่วน กรุงเทพฯ ปรับขึ้น 363 บาท โดยฝั่งนายจ้างออกมาเบรกว่าถ้าเพิ่มมากกว่านี้จะส่งผลต่อธุรกิจ ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต ส่วนฝั่งกระทรวงแรงงาน เสนอว่าต้องรอสรุปใหม่อีกครั้ง หรือต้องปรึกษาสำนักงานกฤษฎีกาก่อน

ด้วยภาวะเงินเฟ้อทำให้แรงงานแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้น รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่าไม่เห็นด้วยกับสูตรการปรับขึ้นค่าแรงของบอร์ดค่าจ้างที่ออกมาล่าสุด แม้มีการอ้างว่า บอร์ดไม่สามารถปรับแก้เองได้ แต่ต้องเสนอสำนักงานกฤษฎีกาก่อน ซึ่งความจริงบอร์ดสามารถพิจารณาใหม่ได้

...

สำหรับสูตรการคิดค่าจ้าง อยากให้บอร์ดพิจารณาค่าแรง และผู้เกี่ยวข้อง โดยคิดสูตรใหม่ที่เป็นธรรม ดังเช่น ตัวอย่างการคิดค่าจ้างขั้นต่ำพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปรับสูตรใหม่ ดังนี้

* ใช้อัตราเงินเฟ้อ ก.ค.-ธ.ค. ปี 2565 และ ม.ค.-ก.ย. 2566 = 1+2.2.=3.2%

* ใช้ % การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานตามเดิม = 1.06%

* ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้น=4.26%

* ค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็น 353*1.0426=368

* เพิ่มขึ้นจากปีก่อน = 15

* เพิ่มขึ้นจาก 363 บาท ที่ไตรภาคีเสนอ = 5

* ปรับขึ้นได้อีกตามกรอบไม่เกิน 3% ค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 379 บาท

ความต่างของสูตรที่นำเสนอใหม่

รศ.ดร.กิริยา อธิบายว่า สูตรการคิดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ที่นำเสนอ มีความต่างจากที่บอร์ดด้านค่าแรงนำเสนอ 2 จุด คือ การนำผลิตภาพแรงงานมาคิดรวมด้วย โดยไม่หักลบเงินสมทบแรงงานตามสูตรเก่า เพราะเอาเข้าจริงไม่ควรไปหักลบเงินแรงงานซ้ำซ้อน ซึ่งไม่เหมาะสมตามสูตรความคิดของทางวิชาการ

อีกจุดต่างคือ การคิดเงินเฟ้อ สูตรเดิมมีการคิดเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานก็มีการออกมาพูดว่าไม่เหมาะสม แต่ควรคิดตั้งแต่เริ่มมีเงินเฟ้อปี 2565-ปัจจุบัน โดยปีที่แล้วเริ่มปรับค่าจ้างขั้นต่ำเดือน ต.ค. 2565 ดังนั้นควรคิดเงินเฟ้อย้อนหลังตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 จนถึง ก.ย.2566 โดยอยู่ที่ 3.2% จึงไม่ใช่ค่าเฉลี่ยที่บอร์ดคิด เพราะค่าเงินเฟ้อที่บอร์ดใช้จะกดค่าแรงงานไว้ จากสูตรที่เสนอใหม่ ทำให้ค่าแรงงานขั้นต่ำของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นวันละ 5 บาท จากที่บอร์ดคิดไว้ครั้งแรก ถ้าใช้สูตรนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกจังหวัด และเป็นธรรมกับแรงงาน แม้ไม่ถึง 400 บาท/วัน อย่างที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้

“การคิดสูตรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่บอร์ดคิดมาเบื้องต้นถือว่าผิดจากหลักการ แม้นายจ้างจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้น แต่เราควรทำให้ถูกต้อง ไม่ควรกดค่าแรงอย่างที่เป็นอยู่ จากตัวอย่างที่คิดในพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้ค่าแรง 368 บาท/วัน เมื่อผ่านเข้าไปยังบอร์ดค่าแรง สามารถพิจารณาเพิ่มขึ้นได้อีก 3% ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 379 บาท/วัน”

การออกมาอ้างว่า ต้องมีการเสนอสำนักงานกฤษฎีกาก่อน ซึ่งจริงแล้วไม่ได้มีข้อบังคับ บอร์ดสามารถพิจารณา และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีได้ แต่สิ่งที่อยากเรียกร้องแทนแรงงาน คือ บอร์ดต้องใช้สูตรการคิดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ให้ถูกต้องก่อน ขณะเดียวกัน ก็ไม่เกี่ยวกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างที่กล่าวอ้าง ว่าต้องเป็นไปตามข้อกำหนด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีมาตรการที่กำหนด เนื่องจากทุกอย่างต้องเป็นไป เพื่อความเป็นธรรมของแรงงานในประเทศไทย.

...