เมื่อ Luxury Brand ใช้ AI มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์ และ ปัญญาประดิษฐ์...

ตามรายงาน “Global Powers of Luxury Goods 2023” ของ “Deloitte” บริษัทผู้ตรวจบัญชีระดับโลก ระบุว่า 100 บริษัทระดับท็อปของ Luxury Brand ซึ่งสร้างยอดขายรวมกันมากกว่า 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) หรือ แนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การบริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ และมีการหมุนเวียนทรัพยากรหรือวัสดุให้สามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ ลดการเกิดของเสีย หรือในท้ายที่สุด...ไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย

ภายหลังจากทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป ต่างมีการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น New York Fashion Act, Green Claims Code และ Green Claims Directive เพื่อบังคับให้ธุรกิจแฟชั่นหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

...

อย่างไรก็ดี การมุ่งหน้าธุรกิจไปสู่ “ความยั่งยืน” (Sustainability) ของเหล่า Luxury Brand ที่ว่านี้ มีประเด็นที่ “น่าสนใจ” คือ มีการนำเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง” (Generative AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สถิติในรูปแบบอัลกอริทึม ในการเรียนรู้ชุดข้อมูลเพื่อสร้างผลลัพธ์รูปแบบใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ หรือ สื่อในรูปแบบอื่นๆ มาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น 

แล้ว Luxury Brand, GenAI และ Sustainability เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร วันนี้ “เรา” ไปร่วมวิเคราะห์ข้อมูลที่ว่านี้จาก “Deloitte” ร่วมกัน...  

Luxury Brand และ AI : 

“Richemont” เจ้าของแบรนด์หรูในมือ เช่น Cartier, Montblanc, Vacheron Constantin ร่วมมือกับ Google ในการใช้ AI สำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดและการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการดึงดูดลูกค้า

“Burberry” จับมือกับ บริษัท Entrupy นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์รายละเอียดเนื้อผ้าและการตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากภาพถ่าย เพื่อช่วยให้สามารถจัดการกับร้านค้าที่ขายสินค้าปลอมได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังมีการนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ AI มาช่วยในการเพิ่มประสบการณ์การช็อปปิ้งและสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น

ด้านแบรนด์ “Tiffany” และ “Cartier” ประกาศความร่วมมือกับ SnapChat อีกหนึ่งแพลตฟอร์มขวัญใจ Gen Z สหรัฐฯ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ผ่านเทคโนโลยี AR แบบเสมือนจริง

“LVMH” มหาอาณาจักร Luxury อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีแบรนด์หรูในมือเช่น Louis Vuitton, Fendi, Bulgari, Loewe, Marc Jacobs, TAG Heuer จับมือกับ Google เพื่อร่วมกันพัฒนาการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บไว้บนระบบ Cloud เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้า และยังมีเป้าหมายสำคัญคือ การนำ “AI Solutions” มาทำให้เกิด “Value Chain” หรือ ภาพรวมของกระบวนการในองค์กร LVMH ที่เริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภค เพื่อให้แต่ละขั้นตอนสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและสินค้าได้อย่างไร้ปัญหา 

...

“Ralph Lauren” แบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยี AI สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าคงคลัง, การคาดการณ์ตลาด และการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค (Consumer Engagement) แล้ว    

ด้านอาณาจักรแห่งความงาม “Estée Lauder Companies Inc.” นำเทคโนโลยี GenAI มาใช้ทั้งในเรื่องการปรับปรุงการให้บริการลูกค้าออนไลน์, วิเคราะห์เรื่องการลดต้นทุนในการผลิต และลดความซับซ้อนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เทคโนโลยี AI สร้างความยั่งยืนให้กับ Luxury Brand ได้อย่างไร :  

จากรายงานของ “Deloitte” ระบุว่า การเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีและความยั่งยืนในอุตสาหกรรม  Luxury นั้น ศักยภาพของ AI  ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการนำแนวทาง “สร้างความยั่งยืน” (Sustainbility) มาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก...

1. การเพิ่มประสิทธิภาพของ Supply Chain :  

อัลกอริทึมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูล “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังสามารถปรับเส้นทางการขนส่งที่เหมาะสมเพื่อลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” รวมถึงตรวจสอบเรื่องการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต และหาทางเลือกในการจัดหาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นด้วย 

2. ลดการผลิตสินค้าส่วนเกิน : 

พลังการวิเคราะห์ของ AI สามารถช่วยให้แบรนด์หรูต่างๆ สามารถคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จนเป็นผลให้สามารถลดปัญหา “การผลิตสินค้าออกสู่ตลาดมากเกินไปและสินค้าคงคลังส่วนเกินได้” และนั่นจะเท่ากับเป็นการลดการผลิตสินค้าส่วนเกินและทำให้เกิดรูปแบบการใช้วัสดุในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 

...

3. การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุอย่างยั่งยืน : 

เทคโนโลยี AI สามารถนำข้อมูลแนวโน้มของตลาด ความต้องการของผู้บริโภค และแนวคิดสร้างองค์กรให้เกิดความยั่งยืน มาวิเคราะห์ให้เกิดหลักการออกแบบและเลือกใช้วัสดุอย่างยั่งยืน (Sustainable Design and Meterial Selection) ซึ่งเป็นกระบวนการมุ่งให้เกิดความสำคัญกับการลดใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

4. การบริหารจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ : 

เทคโนโลยี AI สามารถช่วย Luxury Brand ในเรื่องติดตาม “วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอายุการใช้งานและการบำรุงรักษา ตลอดจนศักยภาพในการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้งานใหม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ช่วยให้การตัดสินใจเรื่องการนำผลิตภัณฑ์มาทำการรีไซเคิล, การซ่อมแซมและปรับปรุงผลิตภัณฑ์, รวมถึงการนำมาจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   

...

5. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

เซนเซอร์และอัลกอริทึม จาก เทคโนโลยี AI สามารถตรวจสอบการและทำการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานได้แบบ Real-Time เพื่อลดความสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตสินค้าในโรงงาน และตามร้านค้าต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

6. ความโปร่งใสและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ : 

การรวมเทคโนโลยี “Blockchain” เข้ากับ AI จะทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานเกิดความโปร่งและสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้ ทำให้บรรดา Luxury Brand สามารถใช้ เทคโนโลยี Blockchain เพื่อให้ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วแก่ลูกค้าทั้งในเรื่องการผลิตและแหล่งที่มาของวัสดุ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นใจกับบรรดาผู้บริโภคในเรื่องที่องค์กรกำลังพยายามขับเคลื่อนเรื่อง “การสร้างความยั่งยืน” รวมถึง การป้องกันสินค้าก๊อบปี้ต่างๆ ได้อีกด้วย   

อย่างไรก็ดี แม้ เทคโนโลยี AI จะช่วยผลักดันให้บรรดา Luxury Brand ก้าวเท้าสู่การสร้างความยั่งยืนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง บทวิเคราะห์ของ “Deloitte” ก็มองว่า “เส้นทางที่ว่านี้” ยังคงมี “ความท้าทาย” ด้วยเช่นกัน....แล้วความท้าทายที่ว่านี้ มีอะไรบ้าง? 

1. ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล : 

การรวบรวมข้อมูลจากลูกค้าจำนวนมหาศาล ย่อมถือว่าทำให้เกิด “ความเสี่ยง” ในแง่ของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนของลูกค้า จนอาจนำไปสู่การทำผิดกฎหมายและชื่อเสียงของแบรนด์ได้เช่นกัน 

2. ความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างมนุษย์และ GenAI : 

งานฝีมือและความเชี่ยวชาญของมนุษย์ถือเป็นหัวใจสำคัญ (จุดขาย) ในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่ “ความรวดเร็วและอัตโนมัติ” มากขึ้น อาจนำมาซึ่งความสูญเสีย “การสัมผัสจากมนุษย์” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของอุตสาหกรรมนี้ไปได้เช่นกัน 

3. ความสมดุลและความสุ่มเสี่ยงในแง่จริยธรรม : 

เป็นที่ทราบกันดีว่า อัลกอริทึม จาก เทคโนโลยี AI นอกจากจะประมวลผลข้อมูลเท่าที่มีอยู่แล้ว ยังมักเลือกเน้นการนำเสนอข้อมูลเฉพาะเท่าที่ลูกค้าชื่นชอบเป็นหลัก หากแต่ในข้อเท็จจริงคือ อุตสาหกรรม Luxury ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและไม่แบ่งแยก รวมไปจนกระทั่งถึงความอ่อนไหวทางด้านวัฒนธรรม 

ดังนั้นก่อนที่บรรดา Luxury Brand จะนำศักยภาพของเทคโนโลยี AI มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเต็มตัว จะต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความหลากหลายที่ว่านี้ รวมถึงฝึกอบรมพนักงานให้มีความพร้อมเสียก่อน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยี AI สอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์และการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :