วิกฤติเลือดสีฟ้า พรรคประชาธิปัตย์ กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เคยเป็นเด็กช่วยแจกใบปลิวหาเสียง ดาวรุ่ง สู่วันลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค  

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถือเป็นสัจธรรมในทางพุทธศาสนา 

ความหมายของสัจธรรมดังกล่าว คือ สิ่งที่ “เกิดขึ้น” แล้วในโลกนี้ จะ “ตั้งอยู่” ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และ “ดับไป” ตามกาลเวลาและ “อายุขัย” ของสิ่งนั้นๆ และเวลานี้ “คอการเมือง” กำลัง “เฝ้ามอง” พรรคเก่าแก่ที่สุดของไทย ในชื่อ “พรรคประชาธิปัตย์”

9 ธันวาคม 2566 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ คือ การได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน 

แต่การได้มาของ นายเฉลิมชัย คือ การสูญเสีย “ขุนพล” พรรคประชาธิปัตย์คนสำคัญ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

สิ่งที่ใครหลายคนได้เห็นวันนั้น คือ สีหน้าแววตา ที่เหมือนกับเป็น “คนละคน” ที่เราเคยเห็นกันเป็นประจำ “สีหน้า” ที่แฝงด้วยอารมณ์ความรู้สึก “แววตา” ที่สื่อ “นัย” คำพูดมากมาย ก่อนเปล่งออกมาว่า จะขอคุยกับ นายเฉลิมชัย 

จากนั้น เมื่อ “ปิดห้อง” และ “เปิดใจ” เคลียร์กันแล้ว นายอภิสิทธิ์ ก็ลั่นกลางที่ประชุมว่า ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค  

“ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย...” 

...

อุดมการณ์ ของ เด็กชาย มาร์ค :

จากข้อมูลหนังสือ “มาร์ค เขาชื่อ...อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ระบุว่า ในวัยเด็กของเด็กชายมาร์ค มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักการเมือง เพราะการได้ฟัง นายชวน หลีกภัย อภิปรายในสภา ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ หรือ ปี พ.ศ. 2518 

ความสงสัยใคร่รู้ในทางการเมือง เริ่มมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม สมัยนั้น เขาเรียกร้องอะไรกัน ทำไมเขากล้าทำอย่างนั้น เขาต่อสู้ไปเพื่ออะไร ประชาธิปไตย คือ อะไร...พยายามถามครู ถามพ่อ ซึ่งก็ได้รับคำอธิบาย 

ดร.เจริญ คันธวงศ์ หนึ่งในผู้อาวุโสคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เคยเล่าว่า เขาไม่รู้จักนายอภิสิทธิ์ หรอก รู้แต่เพียงว่าพ่อเขา (นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ช่วงเลือกตั้ง ที่มี พ.อ.ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค เขามาฝากฝังให้ลูก ก็คือ ด.ช.มาร์ค มาช่วยหาเสียง แจกใบปลิวหาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ 

“ผมถามเขาว่า เขาอายุเท่าไร..”

“15 ปี…”

“15 ปี เองนะ อากาศก็ร้อนด้วย...” 

“ให้แจกเถอะ...เขาชอบของเขา” 

เหตุการณ์ตอนนั้น คือ ช่วงปิดเทอม จากการเรียนที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจบโรงเรียนชั้นประถม เขาสอบเขาเรียนต่อมัธยมที่อีตัน (Eton College) 

แน่นอนว่าการเรียนของเขาที่ประเทศอังกฤษ หล่อหลอมให้ เด็กชายมาร์ค กลายเป็น อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ในวันนี้ และกว่าจะถึงวันนี้ เขาย่อมมีจุดเริ่มต้นในทางการเมือง นั่นก็คือ การเลือกตั้งในปี 2535 

หนึ่งเดียวใน กทม. ของประชาธิปัตย์ กับการเลือกตั้งในปี 2535 :

แม้เส้นทางการเมืองของเด็กชายมาร์ค จะเริ่มทำงานมาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้จักเขา คือ การเลือกตั้งในปี 2535 

หลัง ร.ส.ช. เข้ายึดอำนาจ และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คือ นายอานันท์ ปันยารชุน และต่อมามีการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 22 มีนาคม 2535 

นายอภิสิทธิ์ สนใจอยากจะลงเลือกตั้งครั้งนี้มาก ได้ปรึกษากับทางครอบครัว ทุกคนล้วนสนับสนุน เพราะรู้ใจว่า เขาอยากที่จะทำงานการเมืองมานานแล้ว เขาบอกกับพ่อของเขา ผู้ที่เป็นบิดา จึงติดต่อ นายชวน หลีกภัย เนื่องจาก หมออรรถสิทธิ์ คุณพ่อของมาร์ค เคยรักษาบิดานายชวน ครั้งที่เคยมาหาเสียงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2518 ซึ่งคาดว่า นายชวน อาจจะเจอ นายอภิสิทธิ์ เป็นครั้งแรก...

...

จากการประสานงานของ คุณพ่อ ถึง นายชวน หลีกภัย และ นายชวน ก็ประสานงานต่อถึง ดร.เจริญ คันธวงศ์ อดีต สส.เจ้าของพื้นที่ จากนั้นได้มีการประสานไปถึง สาขาพรรคในเขต  6 ยานนาวา สุดท้าย นายมาร์ค ก็ได้โอกาส ลง สส. เป็น 1 ใน 3 ผู้สมัคร ในเขตนั้น... เพราะการฝากฝังจากนายหัวชวน ที่บอกว่า “เขาเป็นคนเก่ง มีอนาคตคนหนึ่ง” 

การประชุมสาขาพรรค ในตอนนั้น ทีแรกจะให้ อดีต สส.อีกท่านหนึ่งลงสมัคร แต่ด้วยที่มีปัญหาสุขภาพ ประจวบเหมาะกับได้รับการสนับสนุน จาก ดร.เจริญได้อธิบายถึงความรู้ ความสามารถของนายอภิสิทธิ์ ที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ จบปริญญาตรี และโท จากอังกฤษ  

“เขามีบุคลิกภาพ คล้าย จอห์น เอฟ เคนเนดี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Charisma (คาริสมา) ที่เห็นแล้วดึงดูดใจ ที่เห็นแล้ว ชอบเลย รักเลย คุณอภิสิทธิ์เขามีตรงนี้” ดร.เจริญ  กล่าวถึงมาร์ค ในเวลานั้น 

การเลือกตั้งครั้งนั้น จบลงด้วยกระแส “จำลองฟีเวอร์” (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหนึ่งเดียว ที่ชนะการเลือกตั้งใน กทม. 

...

ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่มีการวิเคราะห์กันในขณะนั้น คือ การออกโทรทัศน์ “ดีเบต” ในช่วง 5 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ที่เขาให้ “ผู้ติดตาม” หัวหน้าพรรค ไปร่วมดีเบต ได้ 1 คน และ หนึ่งในนั้น ก็คือ นายมาร์ค อภิสิทธิ์ คนนี้แหละ และด้วยลีลาการพูดของนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่โจมตีใคร จึงกลายเป็นหนึ่งเสียง สส. ประวัติศาสตร์ ในการเลือกตั้งครั้งนั้นด้วย... นั่น คือ ก้าวแรก สู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัว 

ชีวิตโลดแล่น บนเส้นทางการเมือง :

หลังจากชนะเลือกตั้งครั้งแรก และเป็น สส. อายุน้อยที่สุด (ณ เวลานั้น) ในวัย 27 ปี มาร์ค ก็ชนะการเลือกตั้งเรื่อยมา มีโอกาสทำงานในฐานะ รัฐบาล รวมถึงงานในพรรคหลายๆ ตำแหน่ง 

นายอภิสิทธิ์ เคยดำรงตำแหน่ง “แม่ทัพ” คุมบังเหียนพรรคประชาธิปัตย์ สู้ศึกเลือกตั้ง ในปี 2550 ได้ สส. 164 ที่นั่ง แต่ก็ปราชัยให้กับ “พลังประชาชน” ที่ได้ 233 สส. 

กระทั่งต่อมี นายสมัคร สุนทรเวช จะพ้นตำแหน่งนายกฯ จากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และต่อมา 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็มี พรรคประชาชนด้วย ส่งผลให้ นายสมชาย ต้องพ้นจากตำแหน่ง นายกฯ และต้องให้สภาฯ เลือกใหม่ 

...

จากเหตุการณ์นั้นเอง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เวลานั้น จึงได้ดีลกับกลุ่มเพื่อน “เนวิน ชิดชอบ” และโหวตให้ นายอภิสิทธิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 27 

การเป็นนายกฯ ของ นายอภิสิทธิ์ ต้องเผชิญกับมรสุมเสื้อแดง การปะทะที่รุนแรง ระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ โดยมีการใช้กฎหมายพิเศษ

ครั้งหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ เล่าว่า ในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่มีประชาชนเสียชีวิต เป็นคืนที่มีความทุกข์ที่สุด ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นวันที่ผมร้องไห้นานมากที่สุดในชีวิตการเมือง และไม่เคยต้องการเห็นการสูญเสียของคนไทย... 

ประชาธิปัตย์ ขาลง ความศรัทธา เสื่อมถอย... :

นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มายาวนาน กว่า 14 ปี เป็นแม่ทัพ สู้ศึกเลือกตั้งหลายครั้ง ครั้งแรก ในปี 2550  ได้ สส. 164 ที่นั่ง ครั้งที่สอง ในปี 2554 ได้ 159 ที่นั่ง การเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในปี 2557 พรรคมีมติ ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ในปี 2562 คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด ประชาธิปัตย์ กลายเป็นพรรค “ต่ำร้อย” คือ ได้ สส. เพียง 53 ที่นั่ง 

ซึ่งก่อนเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศไว้ว่า จะไม่มีวันร่วมงานกับ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

จากผลเลือกตั้งครั้งนี้เอง นายอภิสิทธิ์ จึงประกาศ “ลาออก” จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  และต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ มีมติ ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง สส. ที่ได้รับเลือกตั้งมายาวนาน ถึง 27 ปี 

ในปีนี้ ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ประชาธิปัตย์ ภายใต้แม่ทัพ ที่ชื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์“ เหลือ สส. เพียง 25 คน และสูญพันธุ์ในพื้นที่ กทม. 

จากวิกฤติ ที่หนักที่สุดในรอบหลายปี นายจุรินทร์ จึงตัดสินใจลาออก เปิดทางในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และสุดท้ายก็เป็นอย่างที่เราทราบกันในข่าว คือนายชวน เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าอีกครั้ง แข่งกับ นายเฉลิมชัย แต่ก่อนเลือก นายอภิสิทธิ์ ขอเคลียร์ใจ ปิดห้องคุยใน 10 นาที ก่อนจะออกมาประกาศการลาออกการเป็นสมาชิกพรรค ถอนตัวการลงแข่งการเลือกหัวหน้าพรรค 

ในเวลาต่อมา สมาชิกพรรค สาย “อภิสิทธิ์” ก็ทยอยลาออกตาม ส่งผลให้ “เลือดสีฟ้า” ของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังไหลออก และไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน 

ผู้อาวุโส ของพรรคในเวลานี้ อย่างนายชวน หลีกภัย ก็ยอมรับว่า “เสียดาย” คนอย่างนายอภิสิทธิ์ และสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ที่ลาออก 

“หลายคนไลน์มาบอกว่า จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ผมก็เข้าใจ คนที่ยังรักพรรค....สิ่งที่เป็นห่วง คืออุดมการณ์ของพรรค ที่ดำเนินมา 78 ปี ต้องทำการเมืองให้บริสุทธิ์และซื่อสัตย์สุจริต การเป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่เพราะอยู่นานเสมอไป ถ้าอยู่นานแล้วโคตรโกง โกงทั้งโคตร หัวหน้าติดคุก ก็ไม่มีใครยอมรับเป็นสถาบันการเมือง แต่คนรุ่นก่อนและหัวหน้าพรรคทุกคนได้ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ จึงทำให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ ซึ่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ยืนยันในที่ประชุมแล้วว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็ฝากให้กรรมการบริหารชุดใหม่ช่วยกันดูแล เพราะที่ผ่านมามีข่าวลือว่าพรรคอยากเข้าไปร่วมรัฐบาลอยู่ไม่น้อย” นายชวน กล่าว 

ขณะที่ นายเฉลิมชัย ได้กล่าวตอนหนึ่ง หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคว่า ผมก็ท่านอภิสิทธิ์ ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งกัน ยังคงมองตาและรู้ใจกัน ได้ทำงานร่วมกันมานาน แต่การเปิดใจระหว่างกันวันนี้ เป็นเรื่องที่ผมได้เจออะไรมา และ นายอภิสิทธิ์ คิดอย่างไร มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เชื่อว่า การตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ มีมาก่อนแล้ว แต่วันนี้มีโอกาสได้พูดคุยกัน ต่างคนต่างเข้าใจกัน ต่างคนต่างกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า เชื่อว่า ทุกคนต่างก็รักพรรค

หลังจากนี้ คงต้องรอดูว่า พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้บังเหียนของชายที่ชื่อ “เฉลิมชัย” จะเป็นอย่างไรต่อไป และอนาคตของ นายอภิสิทธิ์ จะมีเส้นทางทางการเมืองอย่างไร...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ