หลังจาก กระทรวงแรงงาน แถลงการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มมากสุด 16 บาท เป็น 370 บาท แต่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” แสดงท่าทีไม่พอใจ และอยากให้มีการทบทวนใหม่ นักวิชาการด้านแรงงานมองแนวโน้มการปรับค่าแรงรอบนี้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่แรงงานต้องจ่ายมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน และอยากให้มีการทบทวนในการคัดเลือกคณะกรรมการไตรภาคีด้านแรงงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

เมื่อ 9 ธ.ค. 66 อรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง และประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวถึงกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยเกินไป สวนทางกับนโยบายรัฐบาล และให้กลับไปทบทวนใหม่ ว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างต้องพิจารณาความจำเป็นของลูกจ้างมีมากแค่ไหน จากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ดัชนีค่าครองชีพ ตัวเลขเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ต้องดูความพร้อมของนายจ้างแต่ละรายธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจและสังคม

จากข้อมูลระบุว่า กระทรวงแรงงาน มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ "ภูเก็ต" เพิ่มมากสุด 16 บาท เป็น 370 บาท เพิ่มต่ำสุด 330 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วน กทม. ปรับขึ้น 363 บาท เฉลี่ย 77 จังหวัด ปรับขึ้น 345 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 67

...

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ถึงแนวโน้มอัตราการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า จากอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเฉลี่ย 2.37% โดยอ้างอิงตัวเลขจากข่าว มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 67 ถือว่าต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ 3.26% ในช่วง ก.ค. 65 - พ.ย. 66 นับจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายที่มีผลบังคับใช้เดือน ต.ค. 65 จึงมีการเสนอให้มีการทบทวนสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ และกระบวนการไตรภาคีใหม่

แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงงานครั้งนี้ การเมืองไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการไตรภาคีได้ นโยบายหาเสียง 400 บาทจึงไม่เกิดขึ้น ไม่เหมือนยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ฝ่ายการเมืองใหญ่กว่า ทำให้ค่าแรง 300 บาทเกิดขึ้นได้ เป็นบทเรียนให้ประชาชนได้รู้ว่าเรามีไตรภาคีทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

ท่าทีของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่พอใจกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำน้อย ซึ่งค่อนข้างน้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ปรับขึ้นเฉลี่ย 2.37% แต่หากคิดเงินเฟ้อจากครั้งก่อนที่ปรับขึ้นเมื่อ ต.ค. 65 เงินเฟ้อ 3.26% (ก.ค. 65 - พ.ย. 66) จะเห็นว่าจริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานจะได้รับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีหน้า มีอำนาจซื้อลดลง หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงลดลงจากเมื่อปีก่อน ทำให้แรงงานสามารถซื้อของได้น้อยลง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

คงต้องตั้งคำถามกับไตรภาคีว่า ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำจึงขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือมีปัญหาในเรื่องอำนาจการต่อรองในไตรภาคีหรือไม่ ส่วนตัวแทนลูกจ้างในไตรภาคียอมได้อย่างไร รวมถึงลูกจ้างที่เข้าไปเป็นตัวแทนที่ดีไหม ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจมากเพียงไร

ในสูตรมีการใช้อัตราการสมทบของแรงงานที่อ้างอิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ และใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งไม่ถูกต้อง อันนี้ต้องแก้ไข เพราะผิดหลักวิชาการ และควรชดเชยย้อนหลังกันยังไง

...

หากมีการผูกขาดอำนาจในไตรภาคี ควรมีการกำหนดว่ากรรมการค่าจ้างอยู่ในวาระได้ไม่เกินกี่วาระต่อเนื่อง มีการกำหนดไว้หรือไม่ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นตัวแทนของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงฯ เพื่อสร้างสมดุลอำนาจ และการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากจะขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อแล้ว แรงงานยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปีนี้คาดว่าจะโต 2.7% จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับแรงงานไทย

สำหรับนายจ้าง ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงส่วนใหญ่จะมีผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากมีทุนน้อย และศักยภาพการผลิตอาจยังไม่เทียบเท่ารายใหญ่ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือ ในกรณีที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ผู้ประกอบการส่วนนี้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ถึง 400 บาท อย่างที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ อาจยังทำไม่ได้ เพราะการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ปีหน้าก็ยังไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ขนาดนั้น ซึ่งระยะยาวรัฐบาลควรมีการพัฒนาด้านการศึกษา และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพแรงงานไทยให้มีความยั่งยืน มากกว่าเร่งขึ้นค่าแรงให้สูงเกินความเป็นจริง.

...