เผยสถิติทำหมันลิงลพบุรี 9 ปี 2,639 ตัว ผอ.ส่วนอนุรักษ์ฯ ที่ 1 สาขาสระบุรี เผย งบประมาณไม่พอ แต่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ยอมรับเห็นใจประชาชนในพื้นที่ ตอนนี้เหมือนอยู่ตรงกลาง ระหว่าง 'คน' กับ 'ลิง'... 

เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากสกู๊ป 'วิกฤติลิงลพบุรี! กระทบชาวบ้าน ชีวิตเหมือนอยู่ในกรงขัง' ถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง และลงพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อทำการสืบเสาะ ตรวจสอบ หาคำตอบของคำถาม จากความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ ที่ได้พูดคุยและถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเรามา

...

เดินทางเข้าสู่ ซีรีส์ "วิกฤติลิงลพบุรี 4" เรื่องราวจากการเยือนลพบุรีอีกครั้ง เมื่อวันพุธ ที่  6 ธันวาคม 2566 โดยมุ่งหน้าสู่ 'โรงพยาบาลลิงลพบุรี' ณ สวนสัตว์ลพบุรี เพื่อพูดคุยกับ 'นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม' ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ถึงประเด็นการทำหมันลิงในเขตพื้นที่เมืองลพบุรี และคำถามเกี่ยวกับ 'งบประมาณ' ที่ประชาชนตั้งข้อสงสัย

'การทำหมันลิง' ไม่ใช่การลดจำนวน แต่เป็นการชะลออัตราการเกิด :

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า 'ลิงลพบุรี' ส่วนใหญ่เป็น 'ลิงแสม' และ 'ลิงกัง' ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จึงทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้เลย เพราะมีระเบียบกฎหมายรองรับอยู่ อย่างกรณีถ้าจะจับลิงทำหมัน ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ก็ยังต้องขอการอนุมัติจากอธิบดีอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงจะดำเนินการได้

"ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการได้ทันที แต่ต้องทำโครงการขออนุมัติ ประชาชนทั่วไปหรือหน่วยงานของรัฐ หากจะทำหมันลิงก็ต้องทำโครงการขออนุมัติเช่นกัน และทำเรื่องขอเจ้าหน้าที่สนับสนุนเข้ามาช่วยเหลือ หรือหากมีสัตวแพทย์อยู่ก็สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตามยังต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะมาตรวจ กำกับ หรือติดตามผล"

สุทธิพงษ์ แกมทับทิม
สุทธิพงษ์ แกมทับทิม

ผอ. ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วประชากรลิงจะทยอยลดลง ต้องเข้าใจก่อนว่า 'การทำหมันลิง' ไม่ใช่การลดจำนวนประชากรลิง แต่เป็นการชะลออัตราการเกิดของลิง โดยปกติแล้วจะต้องทำหมันให้ได้ประมาณ 70-80% ของจำนวนที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้ที่ลพบุรีก็ทำได้ประมาณ 70-80% แล้ว แต่ว่าลิงที่ลพบุรีควรทำให้เกือบ 100%  เพราะเป็นลิงที่อยู่ในกลุ่มเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งทับซ้อนกับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 

"การที่อัตราการเกิดลดลง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีลิงตัวใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีใครจับลิงได้ 100% เพราะมันอาจจะเล็ดลอดออกไปบ้าง ดังนั้น การทำหมันลิง 100% เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากมากๆ เมื่อมันเกิดใหม่ ก็อาจจะมีการสืบพันธุ์ต่อไปอีก และการทำหมันลิงครั้งนี้หรือทุกๆ ครั้ง ไม่สามารถบอกได้ว่า จะทำให้ประชากรลิงลดลงกี่ตัว แต่แสดงถึงแนวโน้มประชากรลิงลดลง ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 ยอดการทำหมันลพบุรีค่อนข้างมาก แต่อย่าลืมว่าเราค่อยๆ ทำ เพราะฉะนั้นก็ยังมีลิงที่หลุดรอดไปจากการทำหมัน จึงแพร่กระจายขยายพันธุ์"

...

สถิติการทำหมันลิงพื้นที่เขตเมืองลพบุรี พ.ศ. 2557-2566 :

อ้างอิงข้อมูลจาก ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เรื่องการควบคุมประชากรลิง (ทำหมัน) ในพื้นที่เทศบาลเมืองลพบุรี (โดยยังไม่รวมกับการทำหมันรอบล่าสุด ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อ วันพุธ ที่ 6 ธันวาคม 2566) พบว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2566 ระยะเวลา 9 ปี ดำเนินการทำหมันลิงไปแล้วทั้งหมด 17 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 2,639 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 1,591 ตัว และเพศเมีย 1,048 ตัว

สำหรับการทำหมันลิง ทางทีมงานจะดักจับลิงบริเวณต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรี และนำมาทำหมันที่โรงพยาบาลลิง ณ สวนสัตว์ลพบุรี โดยจะมีสัตวแพทย์ และสัตวบาลดำเนินการทำหมันตามขั้นตอนต่างๆ และสุดท้ายจะทำเครื่องหมายรอยสักที่ใต้ท้องแขนทุกตัวที่ทำหมัน โดยรอยสักนั้นจะเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงจังหวัด สถานที่ ปี และลำดับตัวที่ทำ มีลักษณะคล้ายกับ 'เลขประจำตัวประชาชน'

หลังจากทำหมันเรียบร้อย ทางทีมงานจะให้ลิงพักฟื้นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมง แล้วขึ้นอยู่กับว่าบาดแผลจากการทำหมัน มีอาการอักเสบมากน้อยเพียงใด  และนำปล่อยคืนสู่กลุ่มเดิมที่จับมา

...

ดำเนินงานจัดการลิงลพบุรี ตั้งแต่ปี 2557 :

ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และจัดการเรื่องลิงลพบุรี ตั้งแต่ปี 2557 โดยดำเนินงานร่วมกับทางจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด เทศบาลฯ ซึ่งได้ร่วมงานกันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 

"ประมาณปี 2560 กรมอุทยานฯ ได้เริ่มตั้งงบประมาณของตัวเองเข้าไปทำ เพราะในอดีตเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ไม่ได้มีความชำนาญในการทำหมันลิง แต่ก็มีการฝึกหัดสัตวแพทย์ และในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างคล่องตัว ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทำหมันลิงมีอยู่ประมาณ 18 คน ทีมจับประมาณ 7 คน ส่วนที่เหลือจะอยู่ในขั้นตอนการทำหมันและการดูแล"

...

ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ระบุว่า เมื่อปี 2561 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นับประชากรลิงทั่วประเทศ รวมถึงในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ซึ่งขณะนั้น ที่ลพบุรีมีประชากรลิงประมาณ 3,000 ตัว แต่ในปี 2566 ได้นับอีกครั้ง และพบว่าจำนวนประชากรลิงลพบุรีอยู่ที่ประมาณ 2,200 ตัว 

"นั่นแสดงว่าจำนวนประชากรลิงก็ค่อยๆ ลดลง แต่เราก็เข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน เมื่อเดือดร้อนแล้วมันเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคน จึงอาจจะทำให้รู้สึกว่าประชากรลิงไม่ได้ลดลงไป"

งบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการทำหมันลิง :

เมื่อครั้งที่ทีมข่าวฯ ได้ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ มีบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า "การทำหมันลิงแต่ละครั้ง ทำได้ครั้งละน้อยๆ อาจจะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ได้รับมา" เราจึงนำข้อสงสัยนี้ ถามต่อนายสุทธิพงศ์ ทำให้ได้คำตอบว่า

"ในส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทางกรมอุทยานฯ ดำเนินการของบประมาณจากสำนักงบประมาณค่อนข้างมากพอสมควร แต่เวลาได้งบมา จะได้งบสำหรับการทำหมัน อยู่ที่ประมาณ 2,500 ตัว ทั่วประเทศ เพราะ 'ปัญหาลิง' ไม่ได้มีที่ลพบุรีอยู่ที่เดียว แต่ยังมีที่เพชรบุรี ชลบุรี นครสวรรค์ ทำให้งบประมาณนั้นต้องกระจายออกไป ทุกที่ล้วนอยากได้งบไปทำหมันลิงกันทั้งนั้น"

"การทำหมันลิงให้ได้ผล ควรทุ่มงบประมาณทำหมันรอบที่ 1-2 ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สมมติแบ่งการทำหมันลิงเป็นทั้งหมด 5 รอบ รอบที่ 1-2 ต้องทำให้ได้มากที่สุด และรอบที่ 3-5 เป็นช่วงเก็บงาน เช่น ลิง 1,000 ตัว รอบที่ 1 อาจจะทำ 500 ตัว รอบที่ 2 ทำ 300 ตัว รอบที่ 3 และ 4 รอบละ 100 ตัว และรอบสุดท้ายเก็บงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว งบประมาณที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการดำเนินงาน จึงทำให้ต้องทยอยทำ"

"การทำหมันครั้งนี้เข้าสู่งบประมาณปี 2567 แล้ว แต่งบยังไม่ออกจึงใช้งบของปี 2566 สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาที่ได้เงินมาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากงบประมาณปี 2567 ออกแล้ว ก็จะหักงบเท่ากับที่เรานำมาใช้ก่อน แต่ถ้าเราหารจำนวนงบประมาณที่ได้มารอบนี้ จะทำหมันลิงได้แค่ประมาณ 70 ตัวด้วยซ้ำ แต่เราพอทำไหวถึง 100 ตัว ก็เลยทำไปเลย 

กรณีนี้อาจจะส่งปัญหาต่อเนื่องไปอีก คือ ลิงอาจจะท้องขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทำหมันได้ เพราะว่าเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณปี 2557 จะมีการทำหมันอีกครั้งเดือนสิงหาคม 2567 ประมาณ 200 ตัว ที่ผ่านมาจังหวัดเคยบอกว่าจะตั้งงบประมาณของจังหวัดให้ เพื่อใช้ทำหมันลิง 1,000 ตัว แต่ตอนนี้ยังนิ่งอยู่เลย ไม่รู้ว่างบมาหรือยัง

ทุกครั้งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ สำรวจทั่วประเทศ เขียนเรื่องของบไปทุกครั้ง แต่เราอย่าลืมไปว่าคนที่ตัดงบยื่นสำนักงบประมาณ คือ สภา ที่จริงแล้วสำนักงบประมาณไม่ได้เป็นคนตัดงบเองนะ มีการตั้งงบประมาณเสนอต่อสภาฯ พอสภาฯ ประชุม อภิปรายกัน ก็อาจจะเกิดการลดงบจากที่ขอไป"

นายสุทธิพงษ์ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในอนาคต อาจจะมีการเพิ่มงบประมาณจัดการเรื่องลิงมากขึ้น เนื่องจากคนให้ความสนใจเยอะขึ้น และชาวบ้านมีกระแสรุนแรงขึ้น สส.ที่เข้ามาทำงาน ก็เริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ว่าฯ รวมถึงทุกหน่วยงานร่วมมือกันหมด ทุกคนไม่เคยนิ่ง แต่ติดอยู่ที่ข้อกฎหมายบางอย่าง ตอนนี้เป็นเรื่องของเอกสาร เลยเหมือนไม่มีการเคลื่อนไหว

ปล่อยลิงสู่ธรรมชาติ อาจสร้างปัญหามากกว่าที่คิด :

หลังจากสกู๊ปข่าวเรื่อง 'วิกฤตลิงลพบุรี! กระทบชาวบ้าน ชีวิตเหมือนอยู่ในกรงขัง' ได้ถูกเผยแพร่ลงบนโลกออนไลน์ ประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็น ให้จับลิงลพบุรี ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ภูเขา หรือป่า โดยนายสุทธิพงษ์ ได้ให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า…

ใน ข้อแรก ปัจจุบันตามพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เขา ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยาน, เขตห้ามล่า หรือเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งมี พ.ร.บ. และกฎหมายควบคุมดูแลอยู่ ทำให้การนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าไป อาจจะเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่พื้นที่ หรือทำให้กระทบกับระบบนิเวศเดิมที่เป็นอยู่

อีกหนึ่งปัญหา คือ 'ลิงลพบุรี' คุ้นเคยกับคนมาโดยตลอด วันหนึ่งถ้าจะจับไปปล่อยให้อยู่ป่าอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะพฤติกรรมจะต้องเปลี่ยนไปทันที ป่าประเทศไทยมีคนเข้าออกอยู่ตลอด ลิงพวกนี้ก็อาจจะเดินตามคนออกมา 

"ดังนั้น หากเรานำลิงไปปล่อยตามป่าธรรมชาติ แล้ววันหนึ่งเกิดแตกฝูงเดินตามคนออกมา ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นอีก อาจจะเหมือนทำให้ปัญหากระจายออกไป ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นอาจจะไม่ยอมก็ได้ ต้องมีการทำประชาคมกันต่อไป ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องมีการทำข้อมูลและการศึกษาวิจัย ก่อนที่จะเอาไปปล่อย ซึ่งนั่นก็อาจจะทำให้ช้าเข้าไปอีก"

ชาวบ้านทำร้ายลิง ไม่ผิดกฎหมาย? และการถอดลิงแสม ออกจากสัตว์คุ้มครอง :

"ถ้าจะถามว่ามีความผิดไหม ก็ต้องเรียนว่า มีความคิดตาม พ.ร.บ. แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น หากเป็นการปกป้องทรัพย์สินตัวเอง หรือป้องกันอันตรายที่ถึงตัวอันสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นการให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการปกป้องตัวเอง เช่น หากสัตว์จะวิ่งเข้ามาทำร้ายก็สามารถตีได้ ถามว่าผิดไหมก็ผิด แต่ได้รับการยกเว้นโทษ เพราะถือว่าเป็นการป้องกันตัวเอง"

นายสุทธิพงศ์ กล่าวถึงกรณีที่เคยมีประเด็นการเสนอถอดลิงแสมออกจากสัตว์คุ้มครองว่า "เรื่องนี้ส่วนตัวต้องยอมรับว่า ยังไม่ทราบเช่นกัน ว่าไปถึงขั้นตอนไหน แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถเสนอเข้าไปได้ เพราะเป็นเรื่องและสิทธิของประชาชน แต่ก็ต้องไปผ่านตามระบบขั้นตอนของกฎหมาย"

ชาวบ้านติง หน่วยงานทำงานไม่จริงจัง? :

ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ได้ขอตอบกลับกรณีนี้ว่า "หากพูดในส่วนของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เราก็ทำงานกันมาอยู่ตลอดตั้งแต่ปี 2557  พยายามทำและแก้ไขปัญหาลิงในเทศบาลเมืองลพบุรี แต่อย่างที่บอก นี่ไม่ใช่การลดจำนวนประชากรลิงอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการชะลออัตราการเกิด เพราะฉะนั้นอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร"

"ตอนนี้ก็ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เรามีการตรวจสอบอัตราการเกิดของลิงทุกเดือน จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปนับจำนวนลูกลิงที่เกิดใหม่ทุกสิ้นเดือน จะทำให้รู้ว่าลิงจะตั้งท้องตอนไหน แล้วออกลูกช่วงไหนเยอะ ก็จะใช้ข้อมูลตรงนี้มาคำนวณเกี่ยวกับเรื่องการทำหมันลิง เพราะถ้าลิงท้องก็จะเสียเวลาในการทำหมัน จับมาได้ก็ต้องปล่อยไป"

"กรณีของลพบุรี จำนวนลิงที่ทำหมันแล้วค่อนข้างเยอะ ตัวที่ทำหมันเรียบร้อย ข้างใต้ท้องแขนจะมีการรันรหัสเลขไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปจับลิง แม้จะจับได้ในจำนวนที่เยอะ แต่ก็ต้องมาคัดแยกอีก เช่น จับได้ประมาณ 60-70 ตัว หากคัดแล้วอาจจะเหลือลิงที่นำไปทำหมันได้ประมาณ 10-15 ตัว เพราะส่วนที่เหลืออาจจะทำหมันแล้ว"

สุนิตา วิงวอน
สุนิตา วิงวอน

'นางสาวสุนิตา วิงวอน' นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการทำงานที่ผ่านมาว่า

"เราไปห้ามความคิด หรือห้ามความเชื่อใครไม่ได้ แต่เราทำเต็มที่ในส่วนของเรา เท่าที่ขอบเขต กำลังพล และงบประมาณจะรองรับไหว เราทุ่มให้ทั้งหมด แต่งานของเราไม่ได้มีเฉพาะลพบุรี ใน 7 จังหวัดที่รับผิดชอบ ปัญหาลิงมีอยู่ถึง 4 จังหวัดด้วยกัน คือ ชัยนาท อยุธยา สระบุรี และลพบุรี และงานของเราไม่ได้มีแค่การทำหมันลิง ยังมีสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่ที่ต้องดูแล"

"ไม่ใช่ว่ากรมอุทยานฯ ไม่ทำอะไรเลย แต่งบประมาณที่ได้รับต้องกระจายออกไป หากทุ่มงบแก้ปัญหาลิงลพบุรีทั้งหมด อาจจะเกิดการตั้งคำถามจากจังหวัดอื่นที่มีปัญหา ตอนนี้จึงยังต้องกระจายและช่วยกันไปก่อน 

ส่วนเรื่องการสนับสนุนต่างๆ ผู้ใหญ่ในกรมอุทยานฯ ค่อนข้างสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เราต้องมาดูภาพรวมทั้งประเทศ ระดับรัฐบาลและงบประมาณด้วย เพราะกว่างบจะเจียดมาตรงนี้ มันก็มีอย่างจำกัด แต่เท่าที่อยู่มาตอนนี้มันก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นนะ แค่อาจจะยังไม่ได้เพิ่มมากขนาดนั้น" สัตวแพทย์สุนิตา กล่าวกับเรา

นายสุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ก็ทำอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพราะเราก็ไม่อยากให้ที่ผ่านมาต้องเสียเปล่า ในอนาคตจำนวนลิงจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้เป็นการควบคุมประชากร แต่เราก็อย่าลืมว่าลิงที่อยู่ในเมืองจะอายุไม่ค่อยยืนเท่าไร เพราะอาจจะเกิดอาการป่วย โดนรถชน หรือโดนไฟฟ้าช็อต ซึ่งพวกนี้ก็เป็นการลดจำนวนประชากรลิงไปโดยปริยาย

"ตอนนี้เหมือนเราอยู่ตรงกลางระหว่างประชาชนที่เดือดร้อนกับลิง ยอมรับว่าเมืองโทรมไปเยอะ ความเจริญขยายออกไปด้านนอก แต่หากวันหนึ่งจำนวนประชากรลิงลดลง ความเจริญอาจกลับเข้าสู่เมือง ผมก็หวังว่าปัญหาจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะเราก็ทำงานตรงนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ก็ยังอยากให้เห็นผลอยู่เหมือนกัน"

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :