นิคมลิงลพบุรี 40 ล้านที่ไม่ได้ใช้? ชาวบ้านสงสัยทำไมไม่ถูกใช้งาน นายกเทศมนตรี เผย พร้อมใช้เสมอ รอกรมอุทยานฯ ส่งหนังสือมอบอำนาจ ยืนยัน-มั่นใจ งบประมาณดูแลลิงหาได้ไม่ต้องห่วง...
"นิคมลิงลพบุรี ทำไมไม่ถูกใช้งาน สร้างไว้ทำไม?" นี่คือคำบอกเล่าเชิงตั้งคำถาม ที่ประชาชนในเขตเมืองลพบุรี กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อครั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลเขียนสกู๊ป วิกฤติลิงลพบุรี! กระทบชาวบ้าน ชีวิตเหมือนอยู่ในกรงขัง
ทีมข่าวฯ ไม่รีรอที่จะหา 'ผู้ชี้แจง' แถลงไขข้อคำถามนี้ หลังจากเสาะหาข้อมูล พบว่า ขณะนี้ 'นิคมลิงลพบุรี' อยู่ในความดูแลและความผิดชอบของ 'เทศบาลเมืองลพบุรี' เราจึงเดินทางสู่สำนักงานเทศบาลฯ เข้าพบ 'นายจำเริญ สละชีพ' หรือ 'นายกด้ง' นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี เพื่อให้ชี้แจงเรื่องนิคมลิง และคลายข้อสงสัยเสียทีว่า "สร้างไว้ทำไมไม่ใช้งาน?"
...
'นิคมลิง' ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องมีคุณภาพ-งบประมาณดูแล :
ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนาระหว่างทีมข่าวฯ กับ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลพบุรี เราได้สอบถามไปยัง 'นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม' ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ว่า "การจับลิงไว้ในนิคมลิง สามารถทำได้หรือไม่?"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า "การจับลิงไปไว้ใน 'นิคมลิง' สามารถทำได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้อง และกรงที่ทำก็ต้องแน่นหนา ต้องมั่นใจว่าสามารถขังลิงไม่ให้หลุดออกมาได้"
ในส่วน 'นิคมลิงลพบุรี' ที่มีการก่อสร้างไว้บริเวณข้างๆ สถานีตำรวจท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น ซึ่งยังไม่เปิดใช้งาน กระทั่งส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสงสัยว่า "สร้างแล้วทำไมไม่ใช้"
ส่วนนี้... นายสุทธิพงศ์ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ เทศบาล และจังหวัด กำลังพูดคุย เพื่อดำเนินการปรับปรุงกรง เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการตรวจสอบคุณภาพแล้ว แต่พบว่าสิ่งก่อสร้างยังไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับลิงได้
ผอ.ส่วนอนุรักษ์ฯ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงเท่านั้น ต้องคิดเพิ่มเติมว่า เรื่องงบประมาณค่าอาหารการดูแลลิง ในส่วนนี้ใครจะรับผิดชอบ สมมติว่า ลิง 1 ตัว ต้องใช้ค่าอาหารต่อวันจำนวน 15 บาท ฉะนั้นลิง 1,000 ตัว จะใช้ค่าอาหารต่อวันอยู่ที่ประมาณ 22,500 บาท และต้องไม่ลืมว่าลิงต้องกินทุกวันไม่มีวันหยุด ดังนั้น ปีนึงต้องใช้งบประมาณหลักล้าน ซึ่งต้องคิดต่ออีกว่า งบประมาณส่วนนี้จะนำมาจากไหน
"รวมไปถึงค่ายา ค่าสัตวแพทย์ ค่าดูแล ค่าพนักงาน และอื่นๆ ดังนั้น การที่จะดำเนินการเรื่องเหล่านี้ จึงต้องคิดให้ครบวงจร ไม่ใช่แค่การเอาลิงไปปล่อยไว้ในกรง ต้องดูแลเรื่องความสะอาด โรคที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องดำเนินการหลายอย่าง แต่ส่วนตัวก็เข้าใจในความทุกข์และปัญหาที่ชาวบ้านเจอ ว่าพวกเขาเดือดร้อนมาก จึงต้องมีการระบายออกเป็นธรรมดา"
การย้าย 'ลิง' เข้าสู่ 'นิคม' และการแก้ปัญหาเรื่องลิง ได้กลับมาหารือกันอีกครั้งเมื่อเดือน ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมุ่งมั่นเดินหน้าจะจัดทำ MOU (Memorandum of Understanding : หนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน) หากลงนาม MOU ร่วมกันเมื่อไร แผนต่างๆ ที่วางไว้ก็จะดำเนินการต่อไป
...
MOU ที่รอดำเนินการ และลงนาม :
เรื่อง MOU ที่นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึง มาจากการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุมทานตะวัน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดลพบุรี มี นายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาลิง จังหวัดลพบุรี
โดยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อข่าววันนี้ จะอยู่ในประเด็นที่ 2 มีเนื้อหาระบุว่า
"หากเทศบาลเมืองลพบุรี ประสงค์จะขออนุญาตดำเนินการเกี่ยวกับลิง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมประสานความร่วมมือ เพื่อให้สามารถย้ายลิงที่ทำหมันแล้วมาดูแลในกรงของจังหวัดลพบุรี ทั้งนี้จังหวัดฯ ต้องมีการซ่อมแซมปรับปรุงกรงให้มีความแข็งแรง มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตลอดจนมีแผนการเลี้ยงและดูแลลิงที่จะนำเข้ามาดูแลในกรง ในทุกมิติ
นอกจากนี้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ สถานสงเคราะห์สัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ก็สามารถรับลิงแสมที่บาดเจ็บ หรือที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลมาดูแลได้"
สามารถอ่านประเด็นอื่นเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี
อย่างไรก็ตาม ผอ. ส่วนอนุรักษ์ฯ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลงนาม MOU แต่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสาร โดยตอนนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 'สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี'
...
เทศบาลฯ ชี้แจงว่าก่อนเล่า 'ปัญหาลิง' :
นายจำเริญ เล่าย้อนในอดีตก่อนชี้แจงว่า 'ปัญหาลิง' มีมานาน ชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนอยู่ตลอด ช่วงนั้นข่าวหลายสำนักก็ลงพื้นที่ และเข้าไปทำข่าว สอบถามปัญหากับชาวบ้านบริเวณที่มีข้อพิพาท แต่ลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง ทำให้หน่วยงานอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะจับหรือจัดการ
ทำให้ 'ตอนนั้น' ทางเทศบาลฯ จึงเริ่มดำเนินงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยกรมอุทยานฯ ขอความช่วยเหลือทางเทศบาลฯ ให้ช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อจับลิงทำหมัน ก่อนจะนำไปฝากไว้ที่สวนสัตว์ลพบุรี และ จ.นครนายก
...
ตอนจับลิง อุทยานฯ จะเป็นคนจับ เทศบาลฯ ช่วยอำนวยความสะดวกในส่วนอื่น เช่น รถ, อาหาร, กรง ฯลฯ แต่ในขณะที่เรา 'ช่วย' กรมอุทยานฯ มีบุคคลบางกลุ่มซึ่ง 'หากินกับลิง' ทำการเปิดรับบริจาคเงิน โดยที่พวกเราไม่รู้ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไร เขามาขอรวมเงินบริจาคกับ ผู้ว่าฯ ในขณะนั้น และทำการเบิกออกเรื่อยๆ โดยบอกว่าจะไปช่วยลิง เบิกเยอะมากจนผู้ว่าฯไม่ยอม เขาจึงแยกออกไปทำเอง
"คนคนนั้นนำรูปลิงที่โดนรถไฟชนตาย โดนไฟช็อตตาย โพสต์ลงโซเชียล แล้วอ้างว่า 'เทศบาลฯ' กับ 'กรมอุทยานฯ' ทำร้ายลิง ข่าวครึกโครมมากขึ้น เพราะคนต่างมองว่า 'พวกเราทำร้ายลิง' แต่โชคดีที่ทุกขั้นตอนการทำงาน เราถ่ายรูปไว้หมด ทำให้วันแถลงข่าวก็เลยไม่มีใครทำอะไรเราได้ เพราะเราตั้งใจดี"
จังหวัดสร้างสวนลิง แต่ส่งหน้าที่ต่อ ให้เทศบาลฯ ดูแล :
นายกจำเริญ เล่าว่า การทำ 'นิคมลิง' ที่ ต.โพธิ์เก้าต้น ข้างโรงพักท่าหิน ในเริ่มแรก 'จังหวัด' เป็นคนสร้าง โดยใช้งบประมาณของจังหวัด แต่พอสร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำลิงไปไว้ได้ เพราะลิงเป็น 'สัตว์คุ้มครอง' จึงทำให้พื้นที่ 'รกร้าง' แอร์หาย เครื่องใช้ไฟฟ้าหาย ทุกอย่างหายหมด โดนขโมยไป ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น มาบอกกับเราว่า "นายกช่วยหน่อย" เราก็ถามกลับไปว่า จะช่วยยังไง งบไปหมดแล้ว สถานที่ก็เป็นป่ารกไปหมด เขาบอกว่า "เดี๋ยวจะยกให้เทศบาลฯ เป็นผู้ดูแลพื้นที่"
"เท่ากับว่าจังหวัดเป็นคนสร้าง แต่มอบให้เทศบาลฯ ซึ่งพื้นที่นั้นเป็นของ ต.โพธิ์เก้าต้น เขาก็ยินดีจะมอบให้ 11 ไร่ มีการนำเรื่องเข้าสภา มอบพื้นที่ตรงนั้นให้เทศบาลเมืองลพบุรีเป็นผู้ดูแล" นายกจำเริญกล่าว
เทศบาลฯ ดำเนินการดูแลต่อ แต่นิคมยังใช้ไม่ได้ เพราะลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง :
นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลพบุรี ให้ข้อมูลต่อว่า ในเบื้องต้นผู้ว่าฯ ขณะนั้นสร้าง 'สวนลิง' และทำพื้นที่โดยรอบไปแล้วส่วนหนึ่ง พอผู้ว่าฯ ทำเรื่องยกอุปกรณ์ให้ ก็ไม่ครบเพราะมันโดนขโมย เราเลยบอกว่าให้มอบตามความเป็นจริง ของที่หายไปเอามาลงไม่ได้ เราจะรับตามความจริง
"ส่วนอื่นเราตั้งงบประมาณใหม่เพื่อดำเนินการสร้าง คราวนี้ก็มีหอประชุม หรืออื่นๆ เพิ่มเติม โดยใช้งบของเทศบาลฯ ส่วนที่จังหวัดสร้างไปกว่า 27 ล้าน ก็จบแล้ว นั่นเป็นงบดั้งเดิมของจังหวัดตั้งแต่เริ่มต้น แล้วเรามาทำอีกเป็น 10 ล้านเหมือนกัน
พอเรารับมาเสร็จ เราก็ไปสร้างพื้นที่ต่อ 'เตรียมรับลิง' พอเราสร้างเสร็จปุ๊บ เราก็บอกว่า 'พร้อมรับลิง' แต่มันเป็นสัตว์คุ้มครอง เราไม่มีอำนาจในการจับ ทำให้นิคมลิงยังไม่ได้เริ่มใช้ มีการประชุมเกิดขึ้นหลายเที่ยว และประชาชนก็เข้าร่วมรับฟัง"
นายกด้ง บอกว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ เข้าไปตรวจกรงแล้วบอกว่า "มันไม่มั่นคงแข็งแรง" เราบอกออกแบบมาสิ ฝั่งเราก็เขียนแบบแล้ว เดี๋ยวจะต้องไปซ่อมปรับปรุงตามที่เขาบอกอีก พื้นไม่ดีใช่ไหม เดี๋ยวเทปูนให้ บอกมาสิว่าจะให้ทำอะไร สรุป ก็มาจบที่ว่า "เป็นสัตว์คุ้มครอง"
เคยมีการจับลิงไปทำหมันที่ 'นิคม' แต่ทำเสร็จเอากลับมาปล่อยที่เดิม พอประชาชนเห็นก็ว่านายก ติผู้ว่าฯ
ทีมข่าวฯ ถามว่า "ทำไมเอากลับมาปล่อยอีก"
นายกด้ง ตอบว่า เขาก็บอกว่า ลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง ขังไม่ได้ มันก็กลับมาเรื่องเดิม คราวนี้ปัญหาก็เกิดเรื่อยๆ ไปทำหมัน ทำได้กี่ตัว จับไปก็เอามาปล่อยอีก จนเราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง
เทศบาลฯ เสนอ นำลิงออกจากสัตว์คุ้มครอง :
นายกจำเริญ กล่าวว่า ผมเลยบอกในที่ประชุมว่า การแก้ปัญหาสำหรับลิงลพบุรีมีวิธีเดียว คือ "เอาลิงออกจากสัตว์คุ้มครอง" ทำกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมา กรมอุทยานฯ ดำเนินการให้หน่อย เดี๋ยวที่เหลือเทศบาลฯ จัดการเอง
"ขอแค่ จับได้-ขนได้-ขังได้ ผมจะดำเนินการอย่างดี และจะทำภายในหนึ่งเดือนให้เรียบเลย แต่ไม่ได้เรียบไปทั้งหมดนะ ลิงศาลพระกาฬ และลิงปรางค์สามยอดจะยังอยู่ แต่ลิงตึกที่อาละวาดเราต้องจัดการ"
คุยกันก็ตกลงว่าจะเป็นไปอย่างนั้น แต่พอสรุปแล้ว ผู้ว่าฯ ก็นัดให้เราเป็นประชุมรอบสุดท้ายที่เทศบาลฯ นี่แหละ กรมอุทยานฯ มา 4 ถึง 5 คน ก็มีชาวบ้านที่เดือดร้อนมาร่วมด้วย ชาวบ้านเขาก็พูดปัญหา เราเลยชี้แจงว่า 'ลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง' ทางชาวบ้านก็ขอโทษเรา เพราะที่ผ่านมาไม่เข้าใจ เลยสงสัยว่าทำไมนายกไม่จัดการ
เราบอกกับกรมอุทยานฯว่า เอาอย่างนี้สิ กรมอุทยานฯ จับลิงมาทำหมันที่สวนลิง แต่ผมมีข้อแม้ว่าตอนเสร็จให้เอาเข้ากรงเลย กรงที่ผมเตรียมไว้ ตอนแรกกรมอุทยานฯ บอกว่า "ได้" แต่พอเราบอกให้ทำหนังสือมาว่า "ขอใช้สถานที่ทำหมันลิง และฝากลิงไว้ที่เทศบาลฯ" เพราะถ้ากรมอุทยานฯ ไม่ทำหนังสือให้ เดี๋ยวเราจะมีความผิดว่า "เราไปกักขัง"
สุดท้ายกรมอุทยานฯ ไม่ทำหนังสือมา และพูดในที่ประชุมว่า "ทางกรมอุทยานฯ ไม่มีนโยบายเอาลิงไปขัง" เราเลยมองว่าถ้าทำไม่ได้ แล้วจะประชุมไปเพื่ออะไร ทำไม่ได้ ขนไม่ได้ ขังไม่ได้ แล้วทีนี้จะแก้ปัญหายังไง
เขาก็บอกว่า ตอนนี้ทำหมันไปแล้ว เมื่อก่อนลิงมี 3,000 กว่าตัว ตอนนี้เหลือแค่ 2,000 กว่าตัว แต่ชาวบ้านและเราก็เห็นกันว่า มันน่าจะต้องมากกว่านั้นอยู่แล้ว เพราะถ้ายกโขยงไปเดินดู จะเห็น 'ลิงเกาะหน้าอก' (แม่อิงที่มีลูกเกาะตรงหน้าอก) มีเต็มไปหมด แต่ตอนนี้ลิงก็อาจจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ มันหายไปไหนไม่รู้ ไม่มีใครเข้าไปทำอะไร
เสนอนำร่อง มอบอำนาจลพบุรี-เพชรบุรี ท้องถิ่นจัดการลิงเขตเมืองได้เอง :
นายกด้ง พูดถึงการประชุมขึ้นมาอีกครั้ง...
"ทีนี้เรียกประชุมอีก เรายังมองว่าถ้าไม่มีนโยบายเอาลิงเข้ากรง ประชุมไปก็ไม่เกิดประโยชน์ คราวนี้ในที่ประชุมบอกว่า ให้กรมอุทยานฯ เข้าไปขอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอเป็นกรณีพิเศษให้ 2 จังหวัด คือ ลพบุรี และเพชรบุรี
โดยให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการได้ เฉพาะในตัวเมืองจังหวัด "เราก็โอเค ก็ดี ตามนี้" แต่พอไปๆ มาๆ ก็ไม่ได้อีก เขาพูดคำเดิมว่าลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง ทุกวันนี้เราก็เลยไม่สามารถทำอะไรได้ กรงทำไว้ก็ใช้ไม่ได้ ปัญหาตอนนี้ไปอยู่ที่กรมอุทยานฯ เพราะทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องลิง"
ประชุมครั้งล่าสุด มีการทำหนังสือให้เทศบาลฯ ไปทำ MOU กับ กรมอุทยานฯ ผมถามว่า MOU แบบไหน พอเอามาดู ลิงก็เป็นสัตว์คุ้มครองเหมือนเดิม ส่วนเรามีหน้าที่สนับสนุน
"เรื่องจะเอาลิงออกจากสัตว์คุ้มครอง ผมก็เข้าใจกรมอุทยานฯ นะ ว่าถ้าจะยื่นเรื่องมันก็ไม่ใช่ง่ายๆ อีก แต่ถ้าจะไม่ถอดลิงจากสัตว์คุ้มครอง ก็ขอให้ทำเรื่องยกให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้ นำร่องก่อน 2 จังหวัด คือ ลพบุรี กับเพชรบุรี งบประมาณเดี๋ยวผมหาของผมเอง แต่ตอนนี้ไปจับตัวเดียวก็ติดคุกแล้ว"
ทีมข่าวฯ บอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านมองว่านิคมลิงถูกทิ้งไว้ ไม่มีการใช้งาน แล้วถ้าจะใช้งานขึ้นมาตอนนี้ นายกด้งพร้อมจัดการเลยหรือไม่
เขาตอบอย่างทันท่วงทีว่า "นิคมลิงจะเปิดใช้ได้ ก็ต้องรอกรมอุทยานฯ ยืนยัน ที่จริงตอนนี้มันใช้ได้เลยนะ ตอนนี้ก็ใช้ได้ แค่บอกผม เดี๋ยวผมหาคนมาเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย แต่กรมอุทยานฯ ต้องทำหนังสือฝากลิงมารอบละ 2 ปี จะฝากกี่ตัว ถ้าจะมาฝากแบบปากเปล่า ผมไม่เอา เดี๋ยวเทศบาลฯ มีความผิดขึ้นมาอีก เราพร้อมเสมอนะ ขอแค่มีอำนาจจัดการ"
เทศบาลฯ มั่นใจ มีงบประมาณดูแลลิง :
"หากกรมอุทยานฯ ดำเนินเรื่องเรียบร้อย และแจ้งว่าเทศบาลฯ ดูแลลิงได้ นายกด้งจะนำงบประมาณส่วนไหนมาดูแล" ทีมข่าวฯ ถามไปยังนายกด้งที่นั่งอยู่ตรงข้าม
นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี ตอบว่า ถ้าให้เราดูแลได้ก็ดีเลย งบประมาณการดูแลไม่ห่วง เดี๋ยวผมจัดการเอง เรามั่นใจว่าเราดูแลได้ คุณแค่มาฝากลิงไว้ อย่างอื่นเราจัดการเอง เพราะไม่สามารถตั้งเบิกงบค่ายา หรือค่าดูแลลิง กับกระทรวงสาธารณสุขได้ เบิกได้แค่หมากับแมว
"คนจะอุปการะลิงมันมีอยู่แล้ว โดยที่ไม่ใช้งบหลวง อย่างหลวงพ่ออลงกต ท่านก็พร้อมเมตตา ช่วยเหลือชาวลพบุรี คนที่เขาใจบุญอยากช่วยลิงก็มี เคยขอบริจาคอาหาร ก็มีคนมาบริจาค เรามั่นใจว่าหางบประมาณ และดูแลได้"
นายกด้ง บอกว่า ตอนนี้ตรง 'นิคมลิง' มีที่พักรองรับเจ้าหน้าที่เรียบร้อย แต่ ณ เวลานี้บางคนบอกว่า "นายกอย่าเพิ่งไปทำเต็มที่นะ" เพราะงบหลวง ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ เราจะมีความผิดอีกนะ เพราะเราใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ตอนนี้รอแค่กรมอุทยานฯ เท่านั้น"
สะอาด-ระเบียบ อำนาจที่เทศบาลฯ สามารถทำให้ได้ในตอนนี้ :
นายกด้ง อธิบายต่อว่า 'ปัญหาลิง' ก็ยังไม่จบ มีข่าวออกหลายข่าว ทั้งเรื่องลิงตีกัน ลิงทำร้ายร่างกาย ลิงทำลายข้าวของ พอบางคนเห็นเยอะเข้า ก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ด่านายก ด่าผู้ว่าฯ ด่า สส. แต่ทุกคนไม่มี 'อำนาจ' ในการจัดการกับลิง เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง พอเราไม่มีอำนาจทำ เราเลยทำเท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะทุกคนมาร้องเรียน เราจึงเปลี่ยนระบบมาทำในสิ่งที่ทำได้ คือ "ดูแลความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย"
"คนไปให้อาหารลิงตรงหน้าศาลพระกาฬ ปรางค์สามยอด หน้าร้านชโยวานิช ให้ทั่วไปหมดจนเลอะเทอะ เทศบาลฯ จึงจัดโครงการทำความสะอาด ประมาณ 04.30 น. เริ่มมีคนออกทำความสะอาด ถนนบริเวณนั้นจะสะอาดเรียบ แต่พอหลังจาก 08.00 น. ถนนก็เลอะอีกรอบ เพราะคนให้อาหารลิง และคนที่เอาของมาขายหน้าศาลพระกาฬ หรือปรางค์สามยอด พอทำเลอะแล้วก็ไม่เก็บ
เราจึงคิดต่อว่าจะ 'จัดระเบียบ' อย่างไร คราวนี้เลยถ่ายรูปเพื่อเป็นหลักฐาน และเรียกเข้ามาคุย เพราะเรามองแล้วว่า ปัญหามันคือคนไม่ใช่ลิง เราบอกว่า ขายของได้แต่ต้องช่วยกันดูแล แต่ทำไปได้ประมาณอาทิตย์เดียว ก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม เราสั่งให้หยุดขาย ทำอยู่แบบนี้ประมาณ 3 รอบ พอรอบที่ 4 เราจึงสั่งให้หยุดขายเด็ดขาด"
นายกจำเริญ กล่าวว่า เราถาม... จะเอา 'ความสะอาด' หรือ 'ลิง' พอตกลงกันแล้วว่าจะเอาความสะอาด จึงทำการออกระเบียบและติดป้ายชี้แจง ให้เทศกิจอยู่ประจำจุด คอยดูว่าใครทำผิดระเบียบ นอกจากนั้นยังกำหนดจุดให้อาหารลิง 3 จุด คือ ข้างรางรถไฟ หลังโรงหนังมาลัยรามา และในศาลพระกาฬ หากจะให้ต้องให้ตรงนี้ ช่วงเช้าจะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ มาทำความสะอาดเอง
"เราทำความสะอาดตอนเช้า ตอนนี้เลยสะอาด คนในโลกโซเชียลชมกันว่าสะอาดผิดตา บ้านเมืองสะอาด"
แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็ตั้งคำถามลงโซเชียลว่า "จะให้อาหารลิงยังไง ลิงจะเอาอะไรกิน" ผมเลยถามกลับว่า ตกลงจะเอาลิงหรือเอาความสะอาด เพราะอำนาจของเราจัดการได้แค่ความสะอาด การจัดการลิงเราไม่มีอำนาจ...
"คนที่เขาไม่เห็นก็คิดว่าเราไม่ทำ เราสงสารพวกเจ้าหน้าที่ที่เขาทำ เพราะเราทำงานอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้มันก็เริ่มดีขึ้น เพราะชาวบ้านเริ่มเข้าใจ เราสื่อสารให้พวกเขาเห็นอยู่ตลอด เราทำในส่วนที่เราทำได้แล้ว"
"เราอยากให้ในเมืองกลับมารุ่งเรือง แต่ต้องเอาลิงศาลพระกาฬ กับตรงพระปรางค์สามยอดเอาไว้ เพราะมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับตรงนั้น และลพบุรีก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองลิง"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :