เวียดนามแซงไปไกลแล้ว กับการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ขณะที่ไทยยังติดหล่ม แฉเบื้องหลัง ไม่ประกวดข้าวโลก 2566

กลายเป็นประเด็นดราม่า เมื่อ “แชมป์ข้าวโลก 2566” ไม่ได้มีชื่อ ประเทศไทย ติด 1 ใน 3 

ว่าแต่มันจะติดได้ยังไง ในเมื่อไทย ไม่ส่งประกวด...

เหมือนเรื่อง “ตลกร้าย” ที่คนไทยจำนวนมาก ดราม่ากับเรื่องนี้ ที่สำคัญ “สื่อ” บางสำนักก็ไม่ได้ค้นหาข้อมูล หรือตรวจสอบข้อมูล ทำให้การสื่อสารออกไปคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง 

คำถามของเรื่องนี้ คือ เพราะอะไร “ไทย” ถึงไม่ส่งประกวด และการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทย สู้เพื่อนบ้านไม่ได้จริงหรือ...? วันนี้เรามาหาคำตอบกัน กับ “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งออกข้าวไทย และ ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ ธรรมวิถี ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขานวัตกรรมอาหารและการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

เบื้องหลัง ไทยไม่ส่งประกวดข้าว 

นายชูเกียรติ เผยว่า ไทยไม่ส่งประกวดข้าวจริงๆ เพราะมีที่มาจากการประกวดเมื่อปีที่แล้ว... 

“การประกวดสายพันธุ์ข้าวเป็นกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นโดยฝรั่งคนหนึ่ง และทำกันมาหลายปีแล้ว ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 14 และที่ผ่านมา เราได้รางวัลชนะเลิศมาแล้ว 7 ครั้ง แต่การที่เราไม่ส่งประกวดเพราะ การประกวด ครั้งก่อน ที่จัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต และผู้ชนะในครั้งนั้น “ข้าวหอมมะลิพันธุ์ผกาลำดวน” ของกัมพูชา ซึ่งครั้งนั้น ทีมงานไทยรู้สึกว่า มาตรฐานในการตัดสินอาจจะเปลี่ยนไปจากอดีต นอกจากนี้ เรายังพบข้อมูลที่เป็นเบื้องหลัง บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส ครั้งนั้น 

...

เกณฑ์ที่เปลี่ยนไป หมายถึงอย่างไร และเกณฑ์ในการตัดสินในปีที่ผ่านๆ มา เป็นอย่างไร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งออกข้าวไทย อธิบายว่า ปกติแล้ว เกณฑ์ตัดสินจะดู ภาพรวมว่า ข้าวสวย สะอาดขนาดไหน เม็ดเป็นอย่างไร อันนี้คือดูจากเมล็ดข้าว 

นอกจากนี้ ก็จะดูหลังจาก หุงข้าวมาแล้ว เป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร 

“ปีที่แล้ว เขาบอกว่า เราแพ้กัมพูชาที่กลิ่นหอมหลังจากหุงมาแล้ว เขาบอกว่า ข้าวเขมรหอมกว่า...”

นายชูเกียรติ กล่าวอย่างเสียความรู้สึกว่า การส่งประกวดแล้ว เจอปัญหาต่างๆ ในเรื่องของ ความโปร่งใส จึงรู้สึกว่า “ประกวด” ไปแล้วก็งั้นๆ กลายเป็นประเด็นเรื่องธุรกิจของเขา แล้วเหตุใดเราต้องไปยกย่องเชิดชู  

รางวัลข้าวโลก ไม่มีผลกับการขายข้าว ได้รางวัลเสมอตัว ชวด โดนด่า! 

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งออกข้าวไทย ย้ำว่า การได้รางวัล มันไม่ได้มีผลกับการขายข้าวเลย ทุกอย่างเหมือนเดิม มันเป็นเพียงหัวข้อ ในวันประกาศรางวัลเท่านั้น ดังนั้น เราจึงประชุมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนประกาศรางวัล 2 เดือน และร่วมตัดสินใจว่า “เราไม่ส่ง” คล้ายกับการประท้วงเล็กๆ และเราก็ทบทวนดูว่า เรามีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องส่งประกวด...

นายชูเกียรติ เปลือยใจถึงการประกวดข้าวว่า สมาคมฯ รู้สึกหนักใจมาโดยตลอด ในการประกวด เพราะเวลาได้รางวัล ก็จะรู้สึกดีใจ ที่ได้รางวัล แต่พอไม่ได้รางวัลขึ้นมา โดนด่าเละ “คุณเอาข้าวอะไรไปส่ง คุณคัดเลือกข้าวดีหรือยัง!” 

กลายเป็นว่าได้รางวัล คือเสมอตัว แพ้โดนด่า ฉะนั้น เราจึงตัดสินใจไม่ยุ่งเกี่ยวเลย....

ด้าน ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ ธรรมวิถี ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขานวัตกรรมอาหารและการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นดราม่าเลยนะ การที่ไม่ได้รางวัล ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเสียใจ ซีเรียส เพราะความจริง การขายข้าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกร เพราะอยู่ที่มือโรงสี หรือบริษัทต่างๆ ดังนั้น เวลานี้เกษตรกร ไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะราคาข้าวมันเพิ่มขึ้นมาและการขายส่วนมากจะมีการ “ตกลงล่วงหน้า” ไปแล้ว ฉะนั้น การขายมันเดินหน้าของมันไป ถามว่าไม่ได้รางวัลมีผลอะไร ก็แค่ทาง “จิตวิทยา” 

คำถามคือ ปีถัดๆ ไป จะเอาไง หรือถ้ามันไม่มีอะไรใหม่เลย มันก็อาจจะไม่มีผล เพราะเราตกลงซื้อขายไปแล้ว ส่วนอนาคต จะมีผลไหม ก็อาจจะมีบ้าง สมมติว่า ทางข้าวที่ได้รับรางวัลได้รับความนิยม 

อาจารย์พิสิฏฐ์ ระบุว่า การตัดสิน ต้องชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริงของตลาดข้าวของโลก ว่าตลาดโลกต้องการข้าวแบบไหน ในขณะที่ความเป็นจริงในท้องตลาดทั่วไป คนจะมีรสนิยมแตกต่างกัน 

“เพียงแต่เราต้องดูว่า ตลาดไปทางไหน เช่น ส่งตลาดสหรัฐฯ เยอะ แต่สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ใช่พันธุ์ข้าว แต่มันคือ วิธีการได้มาของข้าว เพราะมันส่งผลต่อการเก็บภาษี เวลานี้ ทางยุโรปกำลังมองเรื่องภาษี “คาร์บอน” ซึ่งการปลูกข้าวของเรา ส่วนมากใช้วิธี “น้ำท่วม” ข้าว มันส่งผลต่อการผลิตสารมีเทนขึ้นมา ต่อไปอาจโดนเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และนี่คือส่วนหนึ่งของการแข่งขันนอกจากสายพันธุ์ข้าว” อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว 

...

ความจำเป็นในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทย 

ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ ตอบคำถามถึงความจำเป็นในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ว่า มีความจำมาก เพราะ...สภาพภูมิอากาศของโลกนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อน สายพันธุ์ข้าวเดิม มันอาจจะส่งผลต่อคุณภาพของข้าว หรือแม้แต่สายการผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทนกับสภาวะแวดล้อม หรือโรคระบาด จะมีผล หากเราไม่ปรับปรุงหรือพัฒนา ข้าวสายพันธุ์เดิม จะทนกับสภาพแวดล้อมไม่ได้ และมันจะส่งผลให้การผลิตข้าวได้ลดลง 

โจทย์ของการพัฒนาสายพันธุ์ เกี่ยวข้องกับรสชาติของข้าว รวมถึงการทนต่อสภาพอากาศในปัจจุบัน แต่ที่สุดแล้ว มันจะขึ้นอยู่กับ “ความต้องการ” ซึ่งต้องมาก่อน ว่าคนที่เขาจะซื้อเขาต้องการรสชาติแบบไหน ข้าวขาว หรือ ข้าวสี เพราะในตลาดปัจจุบัน สินค้าที่เคยได้รับความนิยม วันนี้อาจจะไม่นิยมแล้วก็ได้ และปัจจุบันเป็น “ตลาดเฉพาะทาง” มากขึ้น โดยแยกตามวัตถุประสงค์ ด้วยการพัฒนาอย่างไร ให้ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย 

ประเด็นปัญหาคือ เวลานี้ นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทย มีไม่เยอะ เหตุเพราะ 1. นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย ส่วนมากอยู่ในสังกัด ก.เกษตรฯ 2. นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีไม่กี่คน โดยเฉพาะคนที่ทำอย่างจริงจัง ตอนนี้เหลือน้อย บางท่านเกษียณไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลไกการพัฒนา “ขาดตอน” 

...

“วันนี้เรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่า “ไทย” จะคือ ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก แต่มันต้องกลับมาดูเป้าหมาย และความคาดหวัง “ข้าว” นั้นเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนทั่วโลก บริโภค “คาร์โบไฮเดรต” ลดลง และหันมาบริโภคโปรตีน เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถามว่า หากเราใช้พื้นที่เท่าเดิม แต่ผลิตข้าวมากขึ้น คำถามคือ มันได้อะไรกลับมาประเทศ หรือ ถึงที่ตัวเกษตรกร จริงหรือไม่” ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ กล่าวและว่า 

ฉะนั้น เราจึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า...ทำอย่างไร จะได้ผลลัพธ์ที่ดีไปถึงเกษตรกร และประเทศ เช่น การผลิตข้าวที่มีสี ซึ่งเป็นเทรนด์สุขภาพโลก หรือข้าวที่มีลักษณะเฉพาะ ในการกิน หรือข้าวที่นำมาทำเป็นอย่างอื่น เช่น น้ำนมข้าว ข้าวกล้องงอก นี่คือการคิดตามหลักวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไป...

เวียดนาม ชนะไทย ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว  

นายชูเกียรติ มองคล้ายอาจารย์พิสิฏฐ์ ในประเด็น นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทย ขาดตอน และเจออุปสรรค โดยมุ่งเป้าไปที่ ปัญหาการเมือง งบประมาณ และกฎหมาย 

“ทางสมาคมฯ เองก็พยายามจัดประกวด โดยมีโจทย์ที่ว่า 1. ต้องเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ต้นทุนการผลิต ต้องได้ผลผลิตสูง เพราะต้องไปแข่งขันได้ หากต้นทุนเราสูงกว่า เราจะขายของได้ยากกว่า”

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันนี้ “เวียดนาม” มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวได้ดีกว่าไทยเยอะ มีพันธุ์ข้าวหลากหลายมากกว่า เพราะเขาทุ่มเทมากกว่าเรา เขามีงบวิจัยพัฒนามากกว่าเรา ในขณะที่งบส่วนใหญ่ของเราใช้ในการช่วยเกษตรกร ปีหนึ่ง เวียดนามใช้เงินไปกับโครงการข้าวราว 3,000-4,000 ล้านเท่านั้น แต่เขาลงงบวิจัยพัฒนามากกว่าเรา นี่คือ สิ่งที่เขากำลังเดินทางไปสู่ความยั่งยืน

...

“สิ่งที่แตกต่างระหว่างไทย กับ เวียดนาม คือ เขามีความุ่งมั่นเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมากกว่าเรา เมื่อ 30-40 ปี เขามุ่งมั่นพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ชนะไทยให้ได้ วันนั้นเขาซื้อข้าวไทยไปกิน เอาสายพันธุ์ข้าวจากไทยไปปลูก แต่ปัจจุบัน เราแพ้เขาเรื่องการวิจัยพัฒนา และยังรับสายพันธุ์ข้าวจากเวียดนามมาปลูก เพราะสายพันธุ์ที่เขาพัฒนา ปลูกได้ต่อไร่ คือ 1.2 ตัน ใช้เวลา 90 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้ แต่ของเรา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ว่า ก็คือ “ข้าวหอมพวง” (jasmine 85) ซึ่งทุกอย่างผ่านการวิจัยพัฒนามาแล้ว” 

การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว กับ อุปสรรคที่ต้องเร่งแก้ไข 

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งออกข้าวไทย ย้ำว่า เราพยายามผลักดันให้ไปถึงรัฐบาล บางรัฐบาลก็ไปถึง บางรัฐบาลก็ไปไม่ถึง บางรัฐบาล มีรัฐมนตรีมาจากพรรคเดียวกันที่คุมเกษตรฯ และพาณิชย์ ยังไปไม่รอด ฉะนั้น สิ่งที่เราเสียเปรียบชาติอื่นๆ ก็คือ ปัญหาเรื่องการเมือง ที่ไปให้ความสำคัญอย่างอื่นมากกว่า การพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืน เรื่องนี้กล้าพูดกล้าที่จะพูด! 

“สิ่งที่อยากจะฝาก คือ คุณต้องเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวไปสู่ภาคการผลิต อะไรที่ลดต้นทุนได้ ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะ กรมการข้าว ควรตัดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้ “นักวิจัย” เข้าไม่ถึงพันธุ์ข้าว กฎหมายประเทศนี้ ล้าสมัยมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่พยายามพัฒนาสายพันธุ์ไม่สามารถต่อยอดได้ เพราะอะไรที่ไม่ใช่พันธุ์ข้าวของกรมพันธุ์ข้าว ก็กลายเป็นว่า “ไม่รับรอง” พอไม่รับรองก็ซื้อขายไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” 

อาจารย์พิสิฏฐ์ กล่าวอีกมุมว่า เราต้องกลับมาดู บทบาท หรือ value chain ของข้าวจะเป็นอย่างไร ควรเหมือน 30 ปีก่อนไหม ถ้าไม่ใช่ กรมการข้าว จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล ว่า “ความต้องการ” ข้าวมีกี่แบบ แต่ละแบบต้องการความชื้นแบบ กี่เปอร์เซ็นต์ และมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ จะต้องปรับปรุงพันธุ์ และวิธีการผลิต เพื่อรับมือกับภาษีคาร์บอน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ว่าเขาสามารถปรับตัวได้หรือไม่ ถ้าปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายคุณจะโดนกำแพงภาษีอยู่ดี  

ตอนนี้ถึงเวลาทบทวนเรื่องนโยบายของกรมการข้าว ว่าเราจะเดินหน้าอย่างไรต่อ... สมมติว่า หากคุณสนับสนุนทำข้าวแบบ Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) คุณอาจจะได้ Margin สูงกว่าก็ได้ แบบนี้เรียกว่า ทำน้อยได้มาก ดีกว่า ทำมากได้มาก เพราะเดี๋ยวนี้เกษตรกร ก็ทำนาไม่ไหวแล้ว เพราะคนที่ทำก็แก่กันแล้ว เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือทำนาแล้ว (จ้างคนปลูก เกี่ยว) กระบวนการต่างๆ เงินหมดไปกับการจ้าง สุดท้ายขาดทุน

“เราต้องทบทวนพัฒนาสายพันธุ์ที่ส่งผลต่อการเก็บเกี่ยว เพาะปลูก รวมไปถึง ค่าของ GI (เปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล) ต้องไม่สูงเกินไป ซึ่งข้าวบางสายพันธุ์ GI ต่ำ แต่มีปัญหาเรื่องการกิน ก็ต้องหาวิธีหุงเพื่อไม่ให้เสียคุณค่าอาหาร ซึ่งทุกอย่างสอดคล้องกันหมด” อาจารย์พิสิฏฐ์ กล่าว 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ