ผลสอบ PISA วัดความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอ่านวิเคราะห์ เด็กทั่วโลก 81 ประเทศ ไทยได้ที่ 58 พบคะแนนอ่านวิเคราะห์ต่ำกว่าเกณฑ์ ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ต่ำสุดรอบ 20 ปี ผู้เชี่ยวชาญเผย การเรียนช่วงโควิด ทำให้มีผลคะแนนสอบต่ำลงทั่วโลก ปีการศึกษาหน้าเตรียมปั้นหลักสูตร เพิ่มครูต้นแบบ "คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ"

สำหรับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่เน้นประเมินการศึกษา ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี มีนักเรียนร่วมประเมินประมาณ 690,000 คน ในปี 2565 สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ ดำเนินการจัดสอบเมื่อ เดือน ส.ค. 2565 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วม 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน นักเรียนทำแบบทดสอบ และแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์

...

ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน การอ่าน 379 คะแนน เมื่อเทียบกับ PISA 2018 (พ.ศ. 2561) พบว่า คะแนนเฉลี่ยของไทยทั้งสามด้านลดลง โดยคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ

โดยผลการประเมินของไทยตั้งแต่ PISA 2000 (พ.ศ. 2543) จนถึง PISA 2022 (พ.ศ. 2565) พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ การอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ

ผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ด้านคณิตศาสตร์ เป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน เมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ

เด็กไทยมีปัญหาการอ่านด้านวิเคราะห์ ต้องเร่งแก้ไข

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวกับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า คะแนนการสอบของนักเรียนทั่วโลกในภาพรวมมีคะแนนที่ต่ำลง แต่มีสิงคโปร์ที่มีได้คะแนนดีมาตลอด 

เหตุผลที่คะแนนการสอบต่ำลง เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ภาพรวมของคะแนนโดยรวมน้อยลงในรอบ 22 ปี มีการสอบมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง ซึ่งอันดับคะแนนของเด็กไทย ด้านคณิตศาสตร์อยู่ที่ 50 กว่า จาก 81 ประเทศ แต่น่าสนใจว่ามีบางประเทศที่มีการสอบที่ผิดสังเกต

สำหรับเด็กไทย คะแนน ด้านการอ่านค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จากการประเมินอาจมาจากเด็กไทยไม่ชอบการอ่านโจทย์ที่ยาวๆ ข้อสอบเป็นภาษาไทย แต่จะให้ผู้เข้าสอบอ่านทั้งในกระดาษข้อสอบและในคอมพิวเตอร์ เฉลี่ยมากสุดมีความยาว 3 หน้า A4 ซึ่งความยากของข้อสอบคือ เด็กต้องมีการวิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล

...

“ข้อสอบที่มาจากต่างประเทศ ทางกระทรวงจะมีการแปลเป็นภาษาไทย และส่งให้ต่างประเทศตรวจสอบก่อนจะให้นักเรียนทำข้อสอบ โดยเด็กจะไม่รู้ว่าข้อสอบแนววิเคราะห์ที่อ่านอยู่เป็นโจทย์ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะรวมกันในโจทย์เดียว”

เมื่อตั้งคำถามว่า เด็กไทยมีทักษะการอ่านเพื่อวิเคราะห์ต่ำลงหรือไม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช มองว่า เด็กไทยอาจไม่ชอบอ่านบทความที่มีขนาดยาว หรืออ่านแล้วไม่สามารถตีความได้อย่างตรงประเด็น ขณะเดียวกันเด็กอาจจะยังแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น

เหตุผลที่ต้องประเมินเด็กในช่วงอายุ 15 ปี เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานของหลายประเทศทั่วโลก อยู่ที่อายุ 15 ปี จึงใช้เกณฑ์นี้ในการวัด เพื่อจะบ่งบอกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงการวิเคราะห์ของเด็กในประเทศนั้น ขณะเดียวกันในช่วงอายุดังกล่าว ถ้ามีพื้นฐานความรู้ที่ดี จะสามารถออกไปทำงานตามความถนัดของตัวเองได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการสอบครั้งหน้า จะมีการอบรมเพื่อสร้างครูยุคใหม่ ที่เน้นการอ่านมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ครูภาษาไทย แต่จะนำครูในทุกหมวดวิชาเข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำเทคนิคการสอนเข้าไปในชั้นเรียน ให้เด็กได้มีทักษะการคิด วิเคราะห์มากขึ้น

...

"ตอนนี้มีแผนการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในการเพิ่มหลักสูตรใหม่ ที่เน้นการอ่านเพื่อคิด วิเคราะห์ มากขึ้นกว่าหลักสูตรเดิม ซึ่งจะเป็นขั้นตอนทดลองใช้ เริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้า ถ้าได้ผลดี จะมีแนวทางในการบรรจุไว้ในหลักสูตรการสอน เบื้องต้นต้องมีการอบรมครูนำร่องหลักสูตรก่อน".