หลังลดค่าไฟฟ้าไปไม่นาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมพิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อหน่วยใหม่ คาดใช้ต้นปีหน้า หลังมีสัญญาณจ่อปรับขึ้นหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาท นายกฯ ถึงกับร้องโอ๊ย! เบรกให้มีการพิจารณาใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน มองต้นเหตุปัญหาดันให้ค่าไฟฟ้าแพง เกิดจากโครงสร้าง “เสือนอนกิน” เรื้อรังมายาวนาน ส่งผลร้ายต่ออุตสาหกรรม นักลงทุนต่างชาติ ย้ายฐานการผลิต ส่วนประชาชนรับกรรมไม่จบสิ้น
ทันทีที่มีกระแสข่าว สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ออกมาแสดงความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า ให้มีความเป็นธรรม พร้อมหารือเพื่อลดค่าไฟต่อหน่วย หลังมีกระแสข่าวว่า ราคาค่าไฟอาจกระโดดสูงขึ้นถึงหน่วยละ 4.68 บาท หรือ 17% จากราคาปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3.99 โดยเตรียมพิจารณาให้อยู่ในราคาใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน เช่นเดียวกับนายกฯ เตรียมพิจารณากับผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง
ด้วยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมายังไม่ได้แก้ไขโครงสร้างใหม่ให้เป็นระบบ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพฯ ในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค มองถึงภาระที่ประชาชนต้องแบกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมาตลอด ล่าสุดมีการเสนอเพื่อแก้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้า แต่ยังไม่ตรงเป้าหมาย
...
เพราะต้นเหตุมาจาก การทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ที่มากเกินกว่าความต้องการจริง ตอนนี้เรามีไฟฟ้าติดตั้งอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ไฟฟ้าที่ใช้จริงมีเพียง 3 หมื่นเมกะวัตต์ ด้วยความที่เผื่อไว้จำนวนมาก ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูญเสียมากกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ต้นทุนไฟฟ้ามีราคาสูง
อีกต้นทุนสำคัญมาจากเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งก๊าซในอ่าวไทยมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งอื่น แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี นำไปใช้ในราคาในประเทศ แล้วผลักให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ไปใช้ก๊าซในการผลิตจากแหล่งอื่น ที่มีราคาแพงกว่า จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรกำหนดว่าทุกอุตสาหกรรม ต้องใช้ราคาก๊าซเดียวกันคือ “pool gas” ที่ทำให้รัฐประหยัดเงินลงไปได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยนำเงินส่วนนี้มาช่วยลดค่าไฟฟ้าได้หน่วยละ 25 สตางค์ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำได้ทันที
“ต้องยอมรับว่าระบบบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้าต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้รัฐบาลซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนมาไว้เกินความต้องการจริง ทำให้มีส่วนต่างที่คนใช้ไฟต้องจ่าย ทั้งที่ไฟฟ้าส่วนนั้นอาจไม่ได้ใช้งาน แต่ต้นทุนมีราคาสูง ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลับได้ใช้ก๊าซในราคาตลาดไทยเพียงเจ้าเดียว ขณะที่อุตสาหกรรมอื่น ต้องใช้ก๊าซในตลาดโลก แต่ถ้ารัฐบาลเอาจริง ให้ใช้ราคาเดียวกับตลาดโลก จะมีรายรับเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8 หมื่นล้านบาท สามารถนำเงินส่วนนี้มาช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 40 สตางค์/หน่วย”
รัฐบาลนี้ต้องทบทวนการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ผ่านมามีการประกันราคาให้กับผู้ประกอบการ ทั้งที่ตอนนี้มีหลายโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว รัฐบาลควรเจรจาขอลดค่าความพร้อมจ่ายลง เพื่อช่วยเหลือประชาชน
อีกประเด็นสำคัญสำหรับโรงไฟฟ้าที่ให้เอกชนมาประมูล มีการกำหนดราคากลาง โดยไม่ได้มีการประมูลจากราคาต่ำสุด เลยทำให้ราคาที่รัฐซื้อจากเอกชนบางรายสูงไปถึงหน่วยละ 6 บาท ขณะที่ กฟผ. ขายส่งคืนให้หน่วยละ 2.57 บาท แต่รัฐบาลไปซื้อไฟจากเอกชนในราคาสูง ทำให้ กฟผ. ต้องแบกหนี้ไว้กว่าแสนล้านบาท เมื่อแบกรับหนี้ไม่ไหว เลยต้องผ่อนถ่ายมาให้ประชาชนในรูปแบบค่าเอฟที
“ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่จัดการกับโครงสร้างที่เป็นปัญหา แต่กลับลดค่าไฟโดยโยนภาระให้ กฟผ. แบกหนี้ไปก่อน เลยไม่สามารถแก้ไขเรื่องค่าไฟฟ้าแพงได้ ขณะเดียวกันก็มีการสั่งซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว เพิ่มอีก และไม่ควรไปทำสัมปทานเพื่อให้มีโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพราะตอนนี้มีไฟฟ้าอยู่ในระบบเกินกว่าความต้องการจริง ถ้าทำได้จะช่วยให้ไม่มีหนี้พอกพูนเพิ่มขึ้น”
...
นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้ง โซลาร์ รูฟ (Solar Roof) บนหลังคาบ้าน ใช้ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) จูงใจให้ประชาชนติดตั้ง หากมีการใช้ไฟในบ้านเกินสามารถคิดเงินได้ตามจริง แต่ถ้าผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการในบ้าน สามารถขายคืนรัฐหน่วยละ 2.20 บาท ที่สำคัญถ้าประชาชนอยากขายไฟฟ้าคืนรัฐต้องขยายสัญญาในการซื้อคืนเกิน 10 ปี เพราะระบบไฟฟ้าสามารถทำงานได้ 25 ปี เลยทำให้คนทั่วไปไม่กล้าลงทุน
“กระทรวงมหาดไทยควรมีการแก้ข้อกำหนดที่ระบุว่า ถ้าประชาชนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ต้องมีวิศวกรชำนาญการมารับรองโครงสร้างของหลังคา ทำให้เพิ่มต้นทุนในการติดตั้ง ควรแก้ไขให้ทำงานง่ายขึ้น คือ ถ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ ไม่ต้องมีวิศวกรรับรอง รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง ในเมื่อคุณช่วยเขาไม่ได้”
รัฐบาลควรเลื่อนการขึ้นค่าเอฟทีของไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ไปก่อน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะต้องแบกรับค่าไฟแพงขึ้นในช่วงหน้าร้อนไปอีก 300-400 บาท ทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม ทำให้ประชาชนมีภาระเพิ่มขึ้น
การที่รัฐบาลไม่มีการแก้ไขค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมที่มาลงทุนในไทย ค่อยๆ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุกถูกกว่า ซึ่งเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากระบบการจัดการค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมอยู่ตอนนี้.