'แท็กซี่' ถูกบีบราคาแก๊สพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง แถมปั๊มแก๊สในกรุงเทพฯ ทยอยปิดตัว ทำให้คนขับแท็กซี่แบกรับหนี้สินนอกระบบ แม้มีการเรียกร้องให้ตรึงราคาแก๊สไม่เกิน 14 บาทต่อ กก. แต่ไร้สัญญาณตอบรับ ทำให้คนขับแท็กซี่ต้องทยอยเลิก ขณะเดียวกันหลายคนหันไปขับรถรับจ้างป้ายดำ ที่เป็นช่องโหว่กฎหมาย ซึ่งสุดท้ายผู้ที่รับกรรมคือ ผู้บริโภค

ศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนขับแท็กซี่อย่างมาก ขณะนี้มาจากปั๊มแก๊สหลายแห่งทยอยปิดตัว ทำให้คนขับแท็กซี่ต้องไปต่อคิวเพื่อเติมแก๊สในปั๊มเดียวกันจำนวนมาก ประกอบกับที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการที่ช่วยเหลือเรื่องพลังงาน LPG จึงทำให้ไปติดตั้งแก๊สจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้รัฐกลับไม่มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องพลังงานให้กับคนขับรถสาธารณะ

“ตอนนี้แก๊สแอลพีจี ราคา 15.78 บาทต่อ กก. ส่วน เอ็นจีวี 19 บาทต่อ กก. ในความเห็นของผู้ขับรถสาธารณะ มองว่าราคาแก๊สเอ็นจีวีที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 14.50 บาทต่อ กก. ส่วนแอลพีจี ควรอยู่ที่ 12-13 บาท ต่อ กก. หลายครั้งที่มีการเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าแท็กซี่ เป็นระบบขนส่งทางเลือก ไม่ใช่ระบบขนส่งสาธารณะที่รัฐจัดสรรเหมือนรถเมล์ ดังนั้นราคาและการบริการส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภคด้วย"

...

ช่วงก่อนโควิดราคาแก๊สอยู่ที่ประมาณ 14.50 บาทต่อ กก. แต่ตอนนี้ราคาแก๊สเพิ่มจากเดิมประมาณ 5 บาทต่อ กก. ทำให้คนขับแท็กซี่แบกรับต้นทุนสูงขึ้น ขณะเดียวกันถ้าผู้โดยสารเรียกให้ไปส่งในเส้นทางที่ไกล ค่าโดยสารเที่ยวนั้นจะคุ้มกว่าวิ่งในพื้นที่ใกล้ ยิ่งในพื้นที่รถติดแท็กซี่ก็ไม่อยากเข้าไป เนื่องจากไม่คุ้มกับค่าแก๊ส ต้องยอมรับว่าผู้โดยสารบางราย เมื่อเจอรถติดก็ขอลงกลางทาง แต่แท็กซี่ต้องขับรถเปล่าออกมาจากพื้นที่นั้น เลยทำให้ไม่คุ้มกับค่าแก๊ส

การทยอยปิดปั๊มแก๊สส่งผลต่อผู้ขับแท็กซี่มาก เพราะต้องแย่งกันต่อคิวเติมแก๊สนาน แล้วยังทำให้ต้องเสียเวลาในการวิ่งรถ แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นไปรับผู้โดยสารแต่ต้องมาต่อคิว ขณะเดียวกันก็เป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล เรื่องรถแท็กซี่สาธารณะแบบวังวน เนื่องจากในช่วงแรกที่รัฐบาลยุคนั้นพยายามส่งเสริมมาให้ใช้แก๊ส แต่พอหันมาใช้ก็ทยอยปิดปั๊มแก๊ส ส่งผลให้ภาระมาตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ

“จากการประเมินพบว่ามีปั๊มแก๊สทั่วกรุงเทพฯ ปิดตัวไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับผู้ประกอบการแท็กซี่ ในภาวะที่ราคาแก๊สก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้หลายคนมองว่าแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า เป็นทางรอด แต่ด้วยต้นทุนรถไฟฟ้าที่แพง ประกอบกับคนบางส่วนยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และอะไหล่ที่ราคาสูง ทำให้รถแท็กซี่ไฟฟ้ามีเข้ามาเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ แม้ปีหน้ามีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนรถไฟฟ้ามากขึ้น แต่รถแท็กซี่ไฟฟ้าไม่น่ามีเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ที่วิ่งอยู่บนถนน”

ด้วยต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ขับแท็กซี่ส่วนใหญ่มีหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่เห็นได้ชัดเจน เนื่องจากตอนที่ออกแท็กซี่มา นึกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดี สามารถผ่อนชำระรายเดือนได้ ทำให้คนที่ขับแท็กซี่ทยอยเลิกอาชีพนี้ แล้วหันไปทำรถรับจ้างป้ายดำ คือเอาแท็กซี่เดิมไปเปลี่ยนสีรถ แล้วไปรับงานตามแอปพลิเคชันแทน

แนวทางแก้ปัญหา ทางกรมที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการขีดเส้นให้บรรดารถป้ายดำ ที่วิ่งให้กับแอปพลิเคชัน มีลวดลายบนรถที่มองเห็นได้ชัดว่าเป็นรถที่วิ่งให้กับแอปพลิเคชันดังกล่าว ต้องให้มีประกันภัยเหมือนแท็กซี่ โดยกรมการขนส่งต้องออกมาตรการให้รถที่อยู่ในแอปพลิเคชัน มีต้นทุนเทียบเท่ากับแท็กซี่ เพราะทุกวันนี้คนขับรถสาธารณะกำลังถูกเอาเปรียบอยู่

...

ปัญหาของคนขับแท็กซี่ถูกหมักหมมมานาน ไม่ถูกแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2535 แต่คนขับรถแท็กซี่มีแต่จะต้องลงทุนมากขึ้นทุกวัน แต่ไม่มีมาตรการมาช่วยเหลือ แถมยังทยอยปิดปั๊มแก๊สทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกอาชีพนี้ไปจำนวนมาก.