'ปอดอักเสบในเด็ก' ระบาดที่จีนเป็นเชื้อเดิม ผลจากล็อกดาวน์เข้ม ทำเด็กไร้ภูมิ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ชี้ โอกาสระบาดในไทยน้อย ฝากถึงประชาชน เปลี่ยน 'ตระหนก' เป็น 'ตระหนัก'...
นับว่าสร้างความ 'ระแวง' ให้ชาวไทย และชาวโลกอีกครั้ง หลังมีข่าวออกมาว่า ประเทศจีนเกิดการระบาดของ 'โรคปอดอักเสบ' ทำให้หลายคนเกรง กังวล และตั้งข้อสงสัยว่าครั้งนี้จะกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่อีกหรือไม่?
แต่แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ได้จัดแถลงข่าว และยืนยันว่า การระบาดของโรคปอดอักเสบนี้ไม่ได้เกิดจากจุลชีพสายพันธุ์ใหม่แต่ประการใด แต่เกิดจากไวรัส และแบคทีเรียดั้งเดิมรวม 6 ชนิดด้วยกัน
ก่อนที่ประชาชนคนไทยจะตระหนกไปมากกว่านี้ และเพื่อคลายความกังวลในเบื้องต้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงต่อสายตรงหา 'ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์' หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสอบถามถึงการระบาดที่เกิดขึ้น และขอข้อแนะนำในการรับมือเบื้องต้น ที่คนไทยพอจะทำได้ตอนนี้
...
สาเหตุ 'โรคปอดอักเสบในเด็ก' ระบาดตอนเหนือของประเทศจีน :
ดร.วสันต์ กล่าวว่า การระบาดของ 'โรคปอดอักเสบในเด็ก' ของประเทศ 'จีน' เกิดขึ้นในช่วงบริเวณตอนเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปักกิ่งเป็นต้นไป โดยพบการระบาดในช่วงเด็กอ่อนถึงอายุประมาณ 12 ปี แต่ ไม่ใช่ว่าไม่มีการพบโรคนี้ในประเทศอื่น เพราะบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย ก็มีการระบาดลักษณะนี้ เพียงแต่หากเทียบประเทศอื่น เรากลับพบในจีนมากกว่า ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดจากการ 'ล็อกดาวน์' (Lockdown) อย่างเข้มข้นของจีนในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ มีลักษณะเป็น 'ไดนามิก' (dynamic) หมายถึง ต้องรับเชื้ออยู่ตลอดเวลา และสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมตลอดเวลา แต่เมื่อจีนล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ทำให้ 'เด็ก' ในช่วงอายุดังกล่าวไม่เคยได้สัมผัสกับไวรัส หรือแบคทีเรียที่เป็นพาหะนำโรค อยู่ระยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปี จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'ช่องโหว่ของภูมิคุ้มกัน' (Immunity gap) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า 'หนี้ทางภูมิคุ้มกันที่ต้องจ่ายคืน' (immunity debt)
"เมื่อเด็กไม่ได้สัมผัสกับเชื้ออื่น ร่างกายจึงไม่เคยรู้จักไวรัส-แบคทีเรียเหล่านี้มาก่อน ภูมิคุ้มกันจึงไม่ได้ไปทำลายไวรัสเมื่อมันเข้ามา ประกอบกับช่วงล็อกดาวน์ เด็กไม่ได้เข้ารับรับวัคซีน ส่งผลให้พวกเขายิ่งไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานไวรัสเหล่านี้ ผิดกับผู้ใหญ่ที่จะมีภูมิคุ้มกัน เพราะเคยรับเชื้อมาก่อน ทำให้เกิดการระบาดในผู้ใหญ่น้อย"
ดร.วสันต์ กล่าวข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ไวรัส และแบคทีเรียที่กำลังระบาดจนก่อให้เกิดปอดอักเสบเป็นเชื้อดังเดิม 'ไม่ใช่จุลชีพใหม่' และ ไม่ได้พบตัวเดียว แต่พบถึง 6 ชนิด แล้วแต่ว่าเด็กแต่ละคนจะได้รับเชื้อใดเข้าสู่ร่างกาย
ไวรัส-แบคทีเรีย 6 ชนิด ต้นเหตุ 'ปอดอักเสบ' :
เชื้อทั้ง 6 ชนิด ที่ ดร.วสันต์ ได้กล่าวถึงประกอบไปด้วย ไวรัส 5 ชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus), ไรโนไวรัส (Rhinovirus), ไวรัสริสไพราโทรี ซินไซเทียล (Respiratory Syncytial Virus : RSV), อะดีโนไวรัส (Adenovirus) และ ไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนเชื้ออีกชนิดเป็น 'แบคทีเรีย' ชื่อว่า ไมโคพลาสมา เนมโมเนีย (Mycoplasma Pneumoniae)
...
เชื้อไวรัส-แบคทีเรีย 6 ชนิดนี้ ทำให้ 'ปอดอักเสบ' ได้อย่างไร?
ดร.วสันต์ ให้เหตุผลว่า เพราะทั้ง 6 ตัวนี้เป็นเชื้อที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว และปกติเราก็อาจจะได้รับเชื้อกัน แต่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกตัวจะทำให้เกิดปอดอักเสบได้ทันที แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของบางคนที่บกพร่องจริงๆ จึงทำให้เกิดอาการนั้นได้
"เชื้อที่ทำให้เกิด 'โรคปอดอักเสบในเด็ก' น้อยที่สุด คือ 'ไวรัสโคโรนา 2019' เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันจากช่วงการระบาดใหญ่เรียบร้อยแล้ว ส่วนเชื้อที่พบมากที่สุด คือ 'ไมโคพลาสมา เนมโมเนีย' เพราะมันลงไปถึงปอด จนทำให้ปอดเป็นจุด ซึ่งเป็นลักษณะดั้งเดิมของไมโคพลาสมาในแบคทีเรีย"
ทางการจีนแถลงพบ 'เด็ก' ที่เป็นผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อ ไมโคพลาสมา เนมโมเนีย เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ในขณะที่เริ่มพบ ไวรัสไข้หวัดใหญ่, อะดีโนไวรัส และ ไวรัสริสไพราโทรี ซินไซเทียล ในเดือนตุลาคม 2566 ทำให้การตรวจพบ และรายงานการเจ็บป่วยโรคทางเดินหายใจในเด็กในปี 2566 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน"
...
WHO วางใจ จีนโปร่งใสมากขึ้น :
แล้วทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีท่าทีต่อเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง? ดร.วสันต์ กล่าวว่า เมื่อ WHO เห็นว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้น ก็สอบถามข้อมูลไปทางจีนแล้ว และจีนก็ได้ส่งข้อมูลกลับมาให้ว่า 'การระบาดเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่เป็นเชื้อเก่า' รวมไปถึงมีการระบุสายพันธุ์ของไวรัสให้ทาง WHO ทราบ WHO จึงรู้สึกพึงพอใจ และไม่ได้มีมาตรการขอความร่วมมืองดห้ามเดินทางแต่อย่างใด
ดร.วสันต์ ให้ความเห็นว่า รอบนี้จีนยืนยัน และ 'เปิดเผย' ข้อมูลค่อนข้าง 'โปร่งใส' อาจจะเพราะได้รับ 'บทเรียน' จากอดีต คราวนี้...เมื่อจีนเปิดเผยก็ทำให้เชื่อมั่นได้พอสมควร เพราะจีนมีเทคโนโลยีในการถอดรหัสพันธุกรรมเป็นที่ 1 ของโลก ตอนนี้ประเทศจีนก็ไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่มีการรณรงค์ให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีน เพราะเขามองแล้วว่า 'ควบคุมได้'
ส่วนโอกาสการระบาดครั้งใหญ่ หรือ Pandemic สำหรับ 'ปอดอักเสบ' ในจีนนั้น ดร.วสันต์ กล่าวว่า "ดูแล้วไม่น่าจะเป็นแบบนั้น เพราะการระบาดที่เป็นอยู่เกิดขึ้นในเด็กไม่ได้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นระดับ Pandemic การระบาดจะไม่เลือกเพศ หรืออายุ
...
การระบาดครั้งนี้มันแสดงให้เห็นแล้วว่าเกิดในเด็กที่ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันเชื้อดังกล่าว ในช่วงเวลาที่ควรจะได้รับ จึงบ่งชี้ได้ว่ามันเป็นเพียง ‘ช่องโหว่ของภูมิคุ้มกัน’ เมื่อผ่านไปสักพักพวกเขาก็จะมีภูมิคุ้มกัน และช่องโหว่นั้นจะหายไป มันเป็นสิ่งที่เกิดมาช่วงสั้นๆ เท่านั้น"
โอกาส 'ปอดอักเสบ' ระบาดที่ประเทศไทย :
ดร.วสันต์ บอกว่า โอกาสระบาดในไทยนั้นยังมีน้อยมาก เพราะประเทศไทยจะค่อนข้างแตกต่างจากประเทศจีน เราไม่ได้มีการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นเช่นนั้น และนับเป็นเรื่อง 'โชคดี' ที่เรามีการ 'ฉีดวัคซีน' หลากหลาย กล่าวคือ มีการฉีดทั้งชนิดเชื้อตาย, ไวรัสพาหะ และ mRNA เพราะภายหลังเรามาทราบว่าแต่ละชนิดมีข้อดีที่แตกต่างกัน
"ประเทศไทยเรามีวัคซีนหลายสูตร ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากเชื้อตายไปสู่ไวรัสพาหะ และจบด้วย mRNA ไปๆ มาๆ การผสมวัคซีนกลายเป็นข้อดี แรกๆ พวกเราก็อายต่างประเทศ เพราะฉีดแบบ ‘สะเปะสะปะ’ ประเทศต่างๆ ก็เยาะเย้ย แต่ภายหลังประเทศอเมริกาก็แย่ เพราะฉีดแต่ mRNA ไม่มีเชื้อตายเลย"
แล้วเชื้อตายนั้นดีอย่างไร?
"การฉีด 'เชื้อตาย' ทำกันมานานแล้ว ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น ทำให้เกิดการอักเสบนั้นไม่มี หรือมีก็น้อยมาก เมื่อเราฉีดเข้าไปก็เหมือนกับฉีดไวรัสเข้าไปทั้งตัว เวลาเราติดเชื้อ พวกไวรัสเชื้อตายจะมีภูมิเข้ามาต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อื่นได้ดี แต่ถ้าเป็น mRNA เวลาออกแบบจะมีความจำเพาะเจาะจงมาก คือ ออกแบบวัคซีนให้ป้องกันสายพันธุ์หนึ่ง แต่พอมีสายพันธุ์ใหม่มาก็ป้องกันไม่ได้"
วิธีเตรียมตัวรับมือในภาพรวมเบื้องต้น :
วิธีรับมือเบื้องต้นสำหรับภาพรวมทั้งหมดที่ ดร.วสันต์ ให้ความคิดเห็นและแนวทางไว้ คือ ต้องมีการเฝ้าติดตามไวรัส และแบคทีเรียเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ตรวจในน้ำเสีย เพราะไวรัสพวกนี้สามารถออกมาข้างนอกผ่านการขับถ่ายได้ และก็นำของเสียเหล่านั้นมาตรวจ อาจจะทำให้พบเชื้อก่อนที่จะเกิดการระบาด หรือเจ็บป่วย จะสามารถทำให้เราป้องกันได้อย่างทันท่วงที
'เน้นให้วัคซีน' โดยเฉพาะในเด็ก หากพบว่าเด็กคนไทยที่ขาดการฉีดวัคซีนต้องพาไปพบแพทย์ เพราะจะช่วยบรรเทาสิ่งที่เรียกว่า 'ช่องโหว่' ในการระบาดลงได้
ภาครัฐเองก็ต้อง 'ประชาสัมพันธ์' ให้ประชาชนตระหนักรู้ไว้ว่ามันอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกหลังการระบาดครั้งใหญ่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นครั้งนี้ ที่มีการระบาดของโรคปอดอักเสบ เพราะเราจะเห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 เราแทบจะไม่พบข่าวเชื้อโรคอื่นเลย แต่พอการระบาดใหญ่ลดลง เชื้อเดิมที่เคยมีก็เริ่มกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง "ไวรัสพวกนี้รอโอกาสอยู่แล้ว" ดร.วสันต์ กล่าว
รวมไปถึงภาครัฐต้องลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ เตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอด เพราะถ้าถอดบนเรียนจาก 'จีน' เราจะเห็นว่าเมื่อเกิดการระบาด เด็กมารวมกันที่โรงพยาบาล ทำให้การแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น 'ต้องยืดหยุ่น-ตอบสนองอย่างรวดเร็ว' เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
เปลี่ยน 'ตระหนก' ให้เป็น 'ตระหนัก' :
ดร.วสันต์ มองว่า 'ความตระหนก' ที่คนไทยกำลังรู้สึกกันอยู่เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้เปลี่ยนเป็น 'ความตระหนัก' แล้วหันมามองว่าเราจะป้องกัน หรือแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น หากใครมีลูกเล็กก็อาจจะพาไปพบแพทย์ และฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนกันน้อยลง อาจจะเป็นผลจากความระแวงในวัคซีนโควิดด้วย และตอนนี้เด็กๆ ก็อาจจะต้องพยายามใส่หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างทางสังคมบ้าง
"หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าในส่วนของภาครัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็มีการเฝ้าระวังอยู่เสมอ เบื้องต้นตอนนี้ประชาชนสามารถวางใจได้".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่สนใจ :