หลังสภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.5% และคาดทั้งปี 2566 จีดีพีจะโต 2.5% ส่วนปี 2567 มีแนวโน้มจะโตได้ 3.5% ยังไม่รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ต่อ กลายเป็นคำถามตกลงแล้วเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤติจริงหรือไม่ ตามที่รัฐบาลออกมาตีฆ้องร้องป่าวย้ำว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ จำเป็นต้องออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

อีกหนึ่งคำตอบมาไขข้อข้องใจ จากปากของ “ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี” อาจารย์เกียรติคุณ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติ แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้โตเพียง 1.5% แต่ถ้าดูจากอุปสงค์หรือดีมานด์ขยายตัวได้ 3% ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยว ยังไม่มีปัญหา และถ้าเอาตัวเลขแยกออกมาเฉพาะอุปทานโดยไม่มีอุปสงค์ ก็ไม่ได้แย่ แต่เศรษฐกิจยังไม่ดี ยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขไม่กลับไปเป็นเหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด แต่ทุกอย่างก็ไม่เลวร้าย

“วิกฤติเศรษฐกิจตามที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พูดยังไม่ชัด ก็งงว่าตอนไปต่างประเทศก็บอกว่าเศรษฐกิจโต แต่อยู่ในเมืองไทยกลับบอกว่าวิกฤติ ทั้งที่เศรษฐกิจไทยเคยวิกฤติเมื่อปี 2540 และวิกฤติอีกช่วงตอนโควิด แม้กระทั่งช่วงปี 2550-2551 เกิดวิกฤติซับไพรม์สหรัฐฯ และไทยก็เกิดวิกฤติการเมืองซ้อนเข้ามาอีก ยังไม่วิกฤติเท่าปี 2540”

...

เศรษฐกิจไม่วิกฤติ กู้ไม่ได้ คงถึงทางตัน เป็นไปได้ยาก

แต่สิ่งที่รัฐบาลบอกขณะนี้ยังไม่ใช่วิกฤติ และการจะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะขัดต่อกฎหมาย 2 ฉบับ อันแรกกฎหมายของกกต. เพราะตอนหาเสียงเลือกตั้งต้องบอกแหล่งที่มาของเงิน บอกว่าเป็นนโยบายแจกเงินโดยไม่ต้องไปกู้ จะเอาเงินส่วนอื่นมา แต่กลับไม่ใช่ อันที่สองการจะออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ นอกงบประมาณ เศรษฐกิจต้องวิกฤติ เมื่อไม่วิกฤติจริงก็กู้ไม่ได้ เมื่อไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศรษฐกิจวิกฤติ ก็ขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสภาพัฒน์และแบงก์ชาติ ก็บอกไปแล้วว่าไม่วิกฤติ หากถูกฟ้อง จะทำให้การเงินดิจิทัลวอลเล็ตถึงทางตัน ทำได้ยาก

หากดูแล้วทุกอย่างเป็นอย่างนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยยังพอโตได้ แต่มีความเสี่ยงสูง จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป จะแย่ลง โดยเฉพาะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีนแตก มีการปรับซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของโลก หนีจากจีน เพราะนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero-COVID ของจีน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภายหลังจีนออกกฎหมายต่อต้านการจารกรรม มีการจับกุมผู้บริหารต่างชาติหลายคน ทำให้ซัพพลายเชน ไปอยู่ที่เม็กซิโกมากสุด รองลงมาเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งในระยะยาวจะไปอินเดีย

“จีนเกิดปัญหาเชิงซ้อน 2 เรื่อง จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์และการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชนจากจีน ย้ายไปเม็กซิโก ทำให้จีนเจอปัญหา และเป็นห่วงอสังหาริมทรัพย์ฟองสบู่แตกในจีน จะลามไปถึงแบงก์ เพราะทรัพย์สินหายไปเกินครึ่ง จนคนถอนเงินไม่ได้ การบริโภคจะแย่แน่ หากเกิดวิกฤติขึ้นจะกระทบต่อไทยแน่นอน ตรงนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มาท่องเที่ยวไทยเท่าไร และจีนก็มีนโยบายท่องเที่ยวในประเทศ ยิ่งหนังจีนฉายภาพว่าเที่ยวไทยอันตราย จะหวังพึ่งนักท่องเที่ยวจีนคงลำบาก เป็นแค่ความเสี่ยงอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้”

กู้ 5 แสนล้าน ระวังบริษัทเอกชน ล้มตายระเนระนาด

อย่างสิ่งที่ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด หากต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะเบียดแหล่งเงินทุนภาคเอกชน ถ้าเอกชนไปกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนดอกเบี้ยก็จะสูง ตลาดตราสารหนี้หรือบอนด์จะหานักลงทุนซื้อยากมากขึ้น อัตราผลตอบแทนการถือครองก็จะกระชากขึ้น 7-8% จากการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะกระทบภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลยังไม่ดูในประเด็นนี้ อาจต้องเตรียมซอฟต์โลน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทจะมีผลต่อเนื่อง เกิดปัญหาตามมา จะต้องมีมาตรการรองรับไม่ให้บริษัทเอกชน ล้มตายระเนระนาด

การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตควรช่วยเหลือเฉพาะคนรายได้ต่ำ เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น และควรหาซอฟต์โลน มาช่วยบริษัทต่างๆ ที่ไม่สามารถกู้เงินต่างประเทศได้เพราะดอกเบี้ยแพง ที่ผ่านมารัฐบาลอาจไม่เข้าใจ จะต้องเตรียมรับมือ เพราะขนาดไม่กู้เงินก็แย่อยู่แล้ว หุ้นกู้โรลโอเวอร์ (Rollover) สร้างความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน และยิ่งกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ยิ่งไปแย่งเงินภาคเอกชน แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลคงไม่ฟัง หากจะกู้เงิน ก็ขอให้เตรียมเงินซอฟต์โลนช่วยเหลือภาคเอกชน และการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรโฟกัสเฉพาะกลุ่ม 15-16 ล้านคน

...

“ขนาดยังไม่กู้ก็แย่ เมื่อหาเสียงเงินดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้วก็ต้องทำ แต่ถึงเวลาจะทำจริงๆ ก็ไม่ได้ ยิ่งขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี เป็น 25,000 บาท และขึ้นค่าแรง 600 บาท ไปกันใหญ่ เป็นนโยบายที่ขาดการศึกษา คิดแบบเร็วๆ เพื่อให้ได้คะแนนเสียง นึกว่าจะหมู ความจริงแล้วเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมาก และเปลี่ยนแปลงเร็ว คิดว่ารัฐบาลไม่มีคนมาช่วยดู เพราะคนจะมาช่วยก็ไม่ยอมฟังเขา”

วิกฤติจีนน่าห่วง หวั่นเศรษฐกิจไทยหด แต่ไม่ถึงขั้นแย่

ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วในปี 2540 และช่วงโควิด ภาคเอกชนก็น่าจะฝ่าฟันไปได้ ซึ่งความเสี่ยงจากจีนน่าเป็นห่วง ต้องใช้เวลาปรับตัวประมาณ 4-5 ปี อาจจะต้องมองกันยาวๆ แต่ในส่วนของแบงก์พาณิชย์ เตรียมพร้อมกันหมดแล้วในการเตรียมเงินสำรองไว้ 2 เท่า จะไม่เกิดปัญหาลุกลามไปถึงแบงก์ และแบงก์ชาติ ก็คอยดูแลอยู่ อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์ในไทยฟองสบู่แตกมานานแล้ว ในช่วงดอกเบี้ยต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน

แต่วิกฤติในจีนยังไม่นึกภาพไม่ออกว่าจะรุนแรงแค่ไหน และขอให้คนไทยรัดเข็มขัด เป็นเรื่องที่แบงก์ชาติและสภาพัฒน์ ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ให้ประชาชนระมัดระวัง และการคาดการณ์จีดีพีปี 2567 จะโต 3.5% ยังไม่รวมปัญหาจากจีน หากติดลบคงจะเล็กน้อย หรือหากหนักจริง ก็น่าจะพอไปได้ โดยยืนยันเศรษฐกิจไม่วิกฤติ เพราะไม่ลามไปถึงแบงก์ เหมือนปี 2543-2544 แต่เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว หรือขยายตัวได้บ้าง ไม่ถึงกับแย่อย่างที่พูดกัน หรือเต็มที่อาจจะซึมยาว ต้องใช้เวลาฟื้นตัว.

...