นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กางแผนบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เชื่อมต่อข้อมูลคนไข้ผ่านระบบออนไลน์ ลดการรอคิวหาหมอ ปลดล็อกบัตรประชาชนใบเดียว หาหมอได้ทุกโรงพยาบาล เริ่มทดลองใช้จังหวัดนำร่อง 2 เฟส คาดใช้ได้ทั่วประเทศ 1 ต.ค. 2567 กังวลพยาบาลผลิตไม่ทัน เตรียมส่งเสริมให้เพียงพอรองรับในท้องถิ่น
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขในระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ทางบอร์ดมีการทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ และมหาวิทยาลัย ที่ดูแลโรงพยาบาลท้องถิ่น รวมถึงกลาโหม มีส่วนในการดูแลโรงพยาบาลของทหาร โดยมีกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม
ระบบ 30 บาท รักษาทุกโรค เดิมให้ประชาชนไปขึ้นกับโรงพยาบาลต้นสังกัด แล้วรัฐบาลให้งบเป็นรายบุคคล ให้กับโรงพยาบาลนั้น เท่ากับว่าโรงพยาบาลแห่งดังกล่าวจะเป็นส่วนที่รับประกันสุขภาพ แต่มีข้อจำกัดว่า ประชาชนอาจไม่ได้อยู่ในท้องที่นั้นตลอด ปัญหาที่พบคือ ประชากรอยู่นอกท้องที่ ถ้าป่วยแล้วต้องการใช้บัตร 30 บาท ต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลต้นสังกัด แต่บางกรณีโรงพยาบาลต้นสังกัดอาจส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นไม่ได้อีก ขณะเดียวกันโรงพยาบาลต้นสังกัดมีการรอคิวตรวจนาน
...
“แนวคิดต่อจากนี้ มีการเปลี่ยนใหม่ให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเหมือนบริษัทประกันที่ดูแลผู้ป่วย 30 บาท แห่งเดียวทั่วประเทศ จากเดิมที่แยกเป็นโรงพยาบาลตามที่ผู้ป่วยสังกัด แต่แผนการปรับเปลี่ยนใหม่ รัฐบาลมีงบให้ปีละ 2 แสนล้านบาท ประชาชนสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งไหนก็ได้ ไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัดอีกต่อไป"
ขณะเดียวกันข้อมูลการรักษาคนไข้ทั้งหมดต้องอยู่บนระบบคลาวด์ เชื่อมต่อข้อมูลทั่วประเทศ ดังนั้นประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แล้วประวัติการรักษา มีการเชื่อมโยงกันทั้งหมด โดยสามารถดูย้อนหลังประวัติการรักษาได้ 6 ปี
หากเป็นโรคเรื้อรังไม่รุนแรง ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ไปร้านขายยาที่มีเภสัชกร หรืออนามัยใกล้บ้าน สามารถเข้าถึงประวัติการรักษา จ่ายยาให้ได้ เพื่อลดปริมาณคนไข้ที่ต่อคิวมาโรงพยาบาล ซึ่งต่อไปอาจมาพบแพทย์ปีละครั้ง ระหว่างนั้นสามารถมารับยาที่ร้านขายยาได้ หรือการต้องมาเจาะเลือดก่อนวันตรวจ สามารถไปเจาะที่ศูนย์เทคนิคการแพทย์ของมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เมื่อเจาะเสร็จผลเลือดจะอยู่ในระบบออนไลน์ พอถึงวันตรวจ หมอสามาถดูผลเลือดได้ทันที
“การเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ เป็นการทำงานที่ต้องเชื่อมต่อกันหลายกระทรวง เป็นการทำงานที่ยาก เดิมระบบข้อมูลของคนไข้แยกเป็น 2 อาณาจักรใหญ่คือ โรงพยาบาลที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข หลังมีมติให้เชื่อมข้อมูลกัน จะเริ่มนำร่องในต้นปีหน้า”
30 บาท รักษาทุกโรค คาดยกระดับใช้ทั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค. 2567
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ซุปเปอร์บอร์ดที่เชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบ มีนายกฯ เป็นประธาน โดย 4 จังหวัดนำร่อง เริ่มใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการไปโรงพยาบาล เพื่อรักษาตามมาตรฐาน 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มนำร่องในเฟสแรก วันที่ 8 ม.ค. 2567 ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด เพชรบุรี นราธิวาส แพร่ ส่วนเฟส 2 เริ่ม 1 มี.ค. 2567 อยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมของจังหวัดนำร่อง คาดว่าใช้ระบบเดียวกันทั่วประเทศได้ใน 1 ต.ค. 2567
...
ตอนนี้ได้มีการพัฒนาระบบดิจิทัลในโรงพยาบาลให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อง่ายกับการเชื่อมต่อข้อมูลของคนไข้ ขณะนี้ได้ให้ทุกโรงพยาบาลได้ใช้ระบบเดียวกัน เนื่องจากแต่ก่อนโรงพยาบาลจะใช้ระบบแบบตามยถากรรม ทำให้มีระบบในการเก็บข้อมูลคนไข้กว่า 20 โปรแกรม จึงยากในการเชื่อมต่อข้อมูล
สำหรับความเป็นห่วง ในกรณีที่คนไข้ต้องนอนโรงพยาบาลแล้วเตียงไม่เพียงพอ เชื่อว่าหากมีการจัดการระบบให้คลินิกเอกชนใกล้บ้าน หรืออนามัยใกล้บ้านดูแล จะช่วยลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลได้ ขณะเดียวกัน ถ้ามีการเชื่อมต่อข้อมูลของคนไข้ในระบบออนไลน์ หมอสามารถวางแผนได้ว่า หากโรงพยาบาลในพื้นที่เตียงเต็ม สามารถวางแผนนำคนไข้ไปยังอีกโรงพยาบาลใกล้เคียงที่มีเตียงว่างได้
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการยกระดับบัตร 30 บาท รักษาทุกโรคในครั้งนี้ คือ จำนวนบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลที่ไม่เพียงพอกับการบริการ เพราะต้องยอมรับว่ามีช่วงหนึ่งที่ไม่มีการผลิตพยาบาลออกมา ทำให้ต่อจากนี้ต้องมีการสนับสนุนการเรียนพยาบาลมากขึ้น หรืออาจรื้อฟื้นโรงเรียนพยาบาลบางแห่งของหน่วยงานทหาร ให้กลับมาสอนอีกครั้ง.
...