ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเป็นอย่างไรต่อไปตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หลังเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลงแจงรายละเอียดชัดเจนว่าคนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินเดือนไม่ถึง 7 หมื่น และหรือเงินฝากไม่ถึง 5 แสนบาท จะได้กันทุกคนครอบคลุมผู้ได้รับสิทธิจำนวน 50 ล้านคน ผ่านการใช้แอปฯ เป๋าตัง ในการแจกเงินดิจิทัล และมีระบบบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง

พร้อมกับขยายขอบเขตการใช้จ่ายในพื้นที่ระดับอำเภอที่มีทะเบียนบ้านในช่วงเวลา 6 เดือน จากเดิมในรัศมี 4 กิโลเมตร เริ่มใช้จ่ายช่วงเดือน พ.ค. 2567 ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ หรือสินค้าที่มีแอลกอฮอล์-ส่วนผสมของกัญชา หรือกระท่อมได้ และแลกเป็นเงินสดไม่ได้

ด้านแหล่งเงินทุนจะมาจากการออก พ.ร.บ. กู้เงิน วงเงิน  5 แสนล้านบาท นำมาแจกประชาชน โดยจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูรายละเอียด ก่อนเสนอรัฐสภาให้พิจารณาอนุมัติ และนายกฯเศรษฐา มั่นใจรัฐสภาจะอนุมัติ เพราะการออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะทำอย่างรอบคอบ รัดกุม ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

...

ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้สิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทางรัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น มายื่นภาษีบุคคลธรรมดา และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ จะเริ่มโครงการเดือนม.ค. 2567 เป็นต้นไป

ขณะที่ "ศิริกัญญา ตันสกุล" สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาวิจารณ์มองว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สุดท้ายแล้วอาจจะไม่มีใครได้เงินเพราะการออก พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้าน ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ และ มาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2556

เงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านฉลุยหรือไม่ ขึ้นอยู่ 2 อย่าง

อีก 1 นักเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดค้าน “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  มองว่า การออกมาแถลงเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ตของนายกฯเศรษฐา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นในประเด็นนี้ว่าอย่างน้อยมีความแน่ชัดว่าจะทำในรูปแบบใด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1.แหล่งที่มาของเงินจะออกมาเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ นั่นแปลว่าจะมีการพิจารณาในสภาฯ แต่ขึ้นอยู่กับสภาฯว่าจะคว่ำ หรือจะให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครเดาได้ แม้หลายคนออกมาบอกอาจถูกปัดตกได้ หากสภาฯไม่ผ่านอนุมัติ หรือขัดต่อกฎระเบียบกฎหมายต่างๆ ในการกู้ ทำให้เดายากว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเจออุปสรรคในเรื่องนี้หรือไม่

2.ในเรื่องด้านเทคนิคโอนให้ทีมแอปฯเป๋าตัง ดำเนินการ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่รายใหม่ จากที่ผ่านมายังไม่แน่ชัด และต้องมองดูว่าจะทำได้ดีและทันเวลาหรือไม่ ซึ่งก็เดาได้ยากเช่นกัน แต่อย่างน้อยได้ให้ทีมแอปฯเป๋าตังทำ แต่จะทำตามที่สั่งการหรือไม่นั้น ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะไปทางใด ซึ่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะผ่านฉลุยหรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาฯ และกฎระเบียบกฎหมายจะผ่านหรือไม่ รวมถึงทีมด้านเทคนิคจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไม่ใช่ไทม์มิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเน้นเฉพาะคนจน

ก่อนหน้านั้นโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแหล่งที่มาของเงินจะมาจากที่ไหน และขณะนี้ได้เห็นชัด สามารถตอบโจทย์ได้แล้ว และด้านเทคนิคก็ตอบโจทย์ได้แล้ว จะเอาทีมแอปฯเป๋าตังเข้ามา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของตัวเอง และนักเศรษฐศาสตร์ ทั้ง 99 คน ก็เห็นตรงกันในเรื่องไทม์มิ่งของโครงการและประสิทธิภาพในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งต่างมองกันว่าไม่ใช่ไทม์มิ่งที่เหมาะสม และรูปแบบของโครงการก็ไม่เหมาะสม

...

“แค่ไทม์มิ่งเดิม แต่เปลี่ยนไปเป็นกลางปีหน้าจากเดิมจะเริ่มโครงการต้นเดือน ก.พ.ปีหน้า ก็ไม่ต่างไปจากเดิมคือกลางปีหน้า ก็ไม่ตอบโจทย์ และการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.4-0.9 เท่า เต็มที่ก็ได้แค่ 2 แสนล้านถึง 4.5 แสนล้านเท่านั้น จนทำให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดค้าน อยากให้เลื่อนโครงการ หรือแบ่งจ่ายก็ได้ ในกรณีเกิดวิกฤติมีความจำเป็นเร่งด่วน”

ประเด็นสำคัญอยากให้คัดกรองคนได้สิทธิ เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.4-0.9 เท่า จึงอยากให้เน้นคนยากจนจะเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3 เท่า เพราะคนยากจนมีความจำเป็นจริงๆ จะทำให้เกิดการหมุนเงินในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายกฯเศรษฐา ไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้เท่าไร แม้จะกำหนดคนได้สิทธิต้องมีเงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่นบาท หรือมีเงินฝากไม่ถึง 5 แสนบาท เพื่อกันคนไม่ได้สิทธิส่วนหนึ่งออกไป และประหยัดงบได้อีก 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ทั้งๆที่ควรลดวงเงินให้ได้มากกว่านี้

e-Refund ลดหย่อนภาษี ยิ่งแย่หนัก แค่ช่วยคนรวย

การที่นายกฯออกมาบอกอยากให้มีความเท่าเทียมกัน โดยคนไม่ได้สิทธิเงินดิจิทัลวอลเล็ต สามารถร่วมโครงการ e-Refund มาลดหย่อนภาษีไม่เกิน 5 หมื่นบาท ก็เหมือนกับโครงการช้อปดีมีคืน ก็เท่ากับว่าคนที่มีฐานะเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ เป็นโครงการที่มักไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ มีเงินก็ไปซื้อสินค้าแล้วขอใบกำกับภาษี ก็สามารถเคลมได้อยู่แล้ว จึงไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการลดหย่อนภาษี ยิ่งฐานเงินเดือนสูงก็ยิ่งได้เงินคืนกลับมามาก เป็นวิธีการที่ด้อยประสิทธิภาพ เท่ากับช่วยให้คนมีเงินได้ประโยชน์

“มันดูแย่กว่าเดิมอีก ถ้าอย่างงั้นก็ควรแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตแบบถ้วนหน้า 1 หมื่นบาทจะดีกว่า อย่างน้อยคนรวยอาจขี้เกียจไม่เข้าร่วม แต่ทำแบบช้อปดีมีคืน ใครมีเงินก็ไปซื้อของก็ได้ แล้วเอาใบเสร็จมายื่นลดหย่อนภาษี เหมือนได้ของฟรี ทำให้ภาษีของสรรพากรหายไป อย่างคนมีเงินเดือน 7 หมื่นบาทขึ้นไป อย่างน้อยก็ใช้เงินซื้อของ 3.5 หมื่นบาทต่อเดือน แล้วก็ขอใบเสร็จมาเคลม จึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับโครงการนี้”

...

โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่เพียงแค่นักเศรษฐศาสตร์ 99 คนที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย แต่ยังมีอีกหลายคนรวมถึงตัวเอง ก็มองอย่างนี้ แม้กระทั่งศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล ก็คัดค้านในฐานะตัวแทนประชาชน แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่สภาฯ จะอนุมัติร่าง พ.ร.บ.กู้เงินหรือไม่ หรือถ้า นายกฯอยากเอาให้ได้ ก็ต้องเข็นให้ได้ แต่ยังดีกว่ากู้เงินแบงก์ออมสิน และดีกว่าไปแก้ พ.ร.บ.การเงินการคลัง.