มนุษย์น่าจะอยู่ยากมากขึ้น จากสภาพอากาศแปรปรวนแบบสุดๆ โลกร้อนขึ้นต้องมาเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญยิ่งทำให้ร้อนและร้อนมากกว่าที่ผ่านมา แม้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนทุบสถิติ แต่ปี 2567 ก็มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนอุณหภูมิจะสูงขึ้นมากกว่านี้อีก
ก่อนหน้านี้หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (C3S) ระบุอุณหภูมิทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมาสูงกว่าปี 2393-2443 ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมมากถึง 0.5 องศาเซลเซียส ขยับมาที่ 1.4 องศาเซลเซียส จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องติดตามดูการประชุม COP28 เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-12 ธ.ค.ปีนี้ จะมีการหารือเพื่อแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศกันอย่างไร
นอกจากนี้รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาระบุปีนี้มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 20 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าจะไม่หนาว และอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเม.ย.ปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5 องศาเซลเซียสอีกด้วย ก็จะร้อนแบบสุดๆ จากโลกร้อน และปรากฏการณ์เอลนีโญ
...
"เอลนีโญ" รุนแรงหนัก อากาศผิดปกติ หนาวไม่กี่วัน
แล้วที่ประเมินกันว่าเอลนีโญ ตัวการทำให้แล้ง ฝนตกน้อย ยังมาไม่เต็มตัว แต่ขณะนี้มีสัญญาณเตือนมาแล้ว จากการยืนยันของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ระบุว่า เอลนีโญ มาอย่างเป็นทางการแล้ว ล่าสุดอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลต่างไปจากค่าปกติ 1.8 องศาเซลเซียส สะท้อนว่ากำลังของเอลนีโญอยู่ในระดับรุนแรง และอาจลากยาวไปจนถึงเดือนมิ.ย.ปี 2567
“เอลนีโญโดยปกติทั่วไป ก็อยู่ในเฟสร้อนอยู่แล้ว ทำให้อุณหภูมิของโลกเราจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ มักจะทำสถิติใหม่ด้วย จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้นและก็ไม่ลดลงเลย จากเอลนีโญยกกำลังรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากขึ้น 22-35% ช่วงเดือนธ.ค.ปีนี้จนถึงเดือนม.ค.ปีหน้า และตั้งแต่ก.พ.ปีหน้าจะร้อนหนักหน่วง จากสถิติตั้งแต่เดือนม.ค.ปีนี้ ร้อนที่สุดในรอบ 100 กว่าปี และเดือนต.ค.ปีนี้ ทำลายสถิติโลกร้อนในรอบ 1 แสนกว่าปี คาดว่าปีหน้าจะทุบสถิติโลกอีก”
เนื่องจากเอลนีโญจะพีกสุดเดือนม.ค.ปีหน้า คาดอุณหภูมิสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.4 องศาเซลเซียส จากปกติอุณหภูมิของโลกร้อนที่สุดเดือนมี.ค. ส่วนเดือนเม.ย.ของไทย ปกติอุณหภูมิเฉลี่ย 45 องศาเซลเซียส อาจสูงขึ้นมาเป็น 46.5 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ จะเห็นสภาพอากาศช่วงกลางวันร้อนจัดและช่วงเย็นจะเย็นเล็กน้อย และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนวันที่จะอากาศหนาวลดน้อยลง คือหนาวไม่กี่วัน แต่ก็ยังหนาวเย็นอยู่ และบางพื้นที่ไม่หนาวสุดขั้วเหมือนปีที่แล้ว จากเดิม 10 องศาเซลเซียส อาจหนาว 11 องศาเซลเซียส เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน
กทม.หนาวน้อย ก่อนเข้าเดือนก.พ.ร้อนหนักหน่วง
ส่วนกรุงเทพฯ น่าจะหนาวน้อยลง และเนื่องจากเอลนีโญได้เข้ามาเชื่อมโยงทำให้ภูมิอากาศผิดปกติ จนทำให้ฤดูหนาวปีนี้มาช้า และฝนขณะนี้ยังไม่หมด คาดว่าฤดูหนาวปีนี้จะประมาณกลางเดือนพ.ย.เป็นต้นไป จะมีสัญญาณลมหนาวและเดือนม.ค.ปีหน้าอากาศจะเริ่มเย็นเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละภูมิภาค จากนั้นเดือนก.พ.อากาศจะร้อนอย่างชัดเจน
เมื่ออากาศร้อนมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งแน่นอนจะก่อผลกระทบต่อมนุษย์จะต้องระวังโรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจล้มป่วยหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต และไม่เท่านั้นในเชิงธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ เช่นบริษัทก่อสร้าง มีการทำงานกลางแจ้งส่งผลต่อคุณภาพของแรงงาน ทำให้ชั่วโมงทำงานลดลงเหลือ 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่ภาคเกษตร จะได้รับผลกระทบจากผลผลิตลดลง เนื่องจากสายพันธุ์พืชที่ปลูกไม่ทนแล้งไม่ทนร้อน และด้านปศุศัตว์เมื่ออากาศร้อนสัตว์ก็จะเครียดทำให้ผสมพันธุ์น้อย รวมถึงการประมง จะได้ผลผลิตปลาน้อยลง
โลกร้อนขึ้น กระทบเป็นลูกโซ่ เตือนปี 68 แล้งหนัก
...
ประเด็นเรื่องอุณหภูมิร้อนมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ลามไปถึงด้านท่องเที่ยว เพราะปกติไทยอากาศร้อนอยู่แล้ว เมื่อร้อนมากขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวเบี่ยงเบนไปประเทศอื่น ส่วนคนไทยจะไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ประเทศเสียดุล และยังมากับภัยแล้ง แม้น้ำในเขื่อนมีมากกว่าปกติประมาณ 47% แต่ก็แค่พอใช้เท่านั้น ต้องทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างข้าวนาปรัง ทางกระทรวงเกษตรฯ บอกเกษตรกรให้ปลูกได้ 3-4 ล้านไร่เท่านั้น ไม่สามารถปลูกเกินได้ เพราะน้ำไม่เพียงพอ
จากแบบจำลองของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) คาดการณ์ว่าเอลนีโญจะพีกเดือนธ.ค.ปีนี้เป็นต้นไป และจะลดกำลังในเดือนมิ.ย.ปีหน้า เปลี่ยนเป็นเฟสกลางไม่ร้อนเกินไป และไม่หนาวเกินไป แต่เอลนีโญก็มีโอกาสจะกลับมาอีกครั้ง ส่วนลานีญา ซึ่งหมายถึงน้ำมาก มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หากปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้ามีการเก็บน้ำไม่เพียงพอ และปีหน้าฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จะทำให้ปี 2568 แล้งหนัก
“การที่บอกว่าโชคดีที่เรามีน้ำพอใช้ แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ เพราะอีก 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่ถึงระบบชลประทาน จะได้รับผลกระทบเชิงลบ ขาดน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง และอนาคตจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระหว่างพื้นที่ชลประทานกับนอกเขตชลประทาน เพราะหน้าแล้งปลูกข้าวไม่ได้ และฝนก็ตกน้อย อยากเห็นบทบาทภาครัฐเข้ามาช่วยเกษตรกรนอกเขตชลประทาน เพราะงานวิจัยชี้ว่าเอลนีโญรุนแรงเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 7% และจากนี้ไปจนสิ้นทศวรรษ ไทยก็จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสีแดงเข้ม เมื่อเกิดเอลนีโญอีก รายได้ก็จะลดลงมากกว่า 5%”
...
เกษตรกรต้องปรับตัว รัฐต้องปรับนโยบายช่วยเหลือ
อาชีพเกษตกรถือเป็นอาชีพแรกต้องปรับตัว เพราะใช้ทั้งอากาศและน้ำปลูกพืช ถ้าไม่ปรับตัวจะเดือดร้อน เช่น การปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง จะใช้น้ำน้อย ไม่จำเป็นต้องขังน้ำตลอดเวลา เป็นอีกทางเลือกทำให้ประหยัดน้ำ แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะทำได้เฉพาะเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวในการใช้น้ำและดินปลูกพืชให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยลง ซึ่งภาครัฐต้องปรับนโยบายจากเดิมมีการประกันรายได้ ประกันราคา
เพราะสุดท้ายเกษตรกรก็จะทำเหมือนเดิม โดยช่วยเหลือเรื่องเงินแบบมีเงื่อนไข ต้องมีพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกพืชอื่น และภาครัฐต้องให้องค์ความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้คำปรึกษา ไม่ให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรจนมีหนี้สิน
ปัญหาโลกร้อนและเอลนีโญ ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่หลายอย่าง อยากให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหาปีต่อปี อย่างการช่วยเหลือเยียวยาต้องมีเงื่อนไข หากห้ามปลูกข้าวก็ควรมีข้อเสนอให้เกษตรกร ต้องให้ทางเลือก ให้ความรู้และหาตลาดให้ ไม่ใช่ให้เงิน และการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จะต้องเจาะลึกจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงอย่างเร่งด่วน ทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม และนำดิจิทัลทางการเกษตรเข้ามาแก้ไข
รวมถึงส่งเสริมการประหยัดน้ำในธุรกิจต่างๆ หรือใช้น้ำ 100 ลบ.ม. ก็สามารถนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้ จะบรรเทาภัยแล้งได้ เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตหากฝนอาจจะไม่มาอีกก็ได้ หรือไม่มาตามฤดูกาล ถ้าไม่มีมาตรการประหยัดน้ำมารองรับก็จะเดือดร้อนกันไปทั่ว.