วิตกกังวล เป็นโรคจิตเวชพบมากสุดในคนไทย มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวิตกกังวล หลังเกิดเหตุร้าย เช่น กราดยิง ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ แม้ไม่แสดงผลกระทบทันที แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ทำให้เกิดลุกลาม นำสู่โรคจิตเวชด้านอื่น ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบถึงคนรอบข้าง ที่ผู้ป่วยบังคับคนในครอบครัว ให้เป็นไปตามสิ่งที่ต้องการ นำสู่ความแตกแยก

ส่วนโรคจิตเวช พบรองลงมา คือ จิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว ติดสุราและสารเสพติด ทั้งหมดนี้ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว คนรอบข้างยังไม่มีความเข้าใจเรื่องโรค จนส่งผลสะเทือนต่อครอบครัว ที่ทำงาน และสังคม

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า โรคจิตเวชในคนไทย พบมากสุดคือ กลุ่มโรควิตกกังวล ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา เนื่องจากมีอาการรบกวนเฉพาะในผู้ป่วย ทำให้ไม่มาพบแพทย์

โรควิตกกังวล อารมณ์พื้นฐานมาจากความกลัว เช่น กลัวที่แคบ กลัวการพูดในที่สาธารณะ ความกลัวถือเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ หากไม่มีความกลัวมนุษย์จะไม่มีการป้องกันอันตราย แต่ถ้าความกลัวกลายมาเป็นความวิตกกังวลขั้นรุนแรง มากกว่าผู้ป่วยจะควบคุมตัวเองได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง

...

อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวล จะมีความรู้สึกทุกข์กับภาวะความกลัวที่เกิดขึ้น มีความเครียดกังวล รู้สึกไม่มีความสุข ความรุนแรงของอาการขยายวงกว้างไปกระทบบุคคลรอบข้าง เช่น กังวลในการใช้ชีวิต ส่งผลถึงคนในครอบครัว ที่บังคับให้คนอื่นทำตามสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ เพื่อลดความกังวลของตัวเอง

ขั้นต่อมา เป็นความกังวลรุนแรง จนบุคคลนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ โดยเหตุวิตกกังวลมีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย คือ วิตกกังวลหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ เนื่องจากโลกยุคถัดไป จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้มากขึ้น เช่น การแพร่ระบาดของโควิด สงคราม ภัยพิบัติ ปกติคนทั่วไปจะสามารถปรับตัวได้ หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ แต่ผู้ป่วยจะไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

“เวลาเกิดเหตุสะเทือนขวัญ จะทำให้เกิดบาดแผลทางใจ หากไม่ถูกดูแลเหมาะสมตั้งแต่ช่วงระยะแรก มีโอกาสเป็นบาดแผลทางใจเรื้อรัง นำสู่การป่วยเป็นโรคจิตเวชต่างๆ ได้ง่าย และมีโอกาสใช้ยาเสพติด ตัวอย่างเช่น เด็กถูกบูลลี่ ทำให้เขารู้สึกแย่มาก หากไม่ได้รับการดูแล กลายเป็นความวิตกกังวล เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด เพื่อช่วยลดความกลัวภายในจิตใจ”

4 โรคจิตเวช ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงโรคจิตเวชที่พบได้รองลงมา จะมีอาการรบกวนไปถึงบุคคลอื่น ประกอบด้วย

จิตเภท

ซึมเศร้า

อารมณ์แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว

ติดสุราและสารเพสติด

โรคเหล่านี้มีสาเหตุของโรคคล้ายกัน มาจากร่างกายด้านพันธุกรรม สารในสมองมีความผิดปกติ ส่วนจิตใจ เกิดจากความเครียด ผลกระทบรุนแรงในชีวิต บางรายเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น ตอนเด็กถูกทารุณกรรม ครอบครัวแยกทางกัน หรือเด็กอยู่ในพื้นที่ยากลำบาก ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรง

ปัญหาที่มีผลกระทบจากสังคม มาจากการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ยาเสพติดแพร่ระบาด ง่ายต่อการใช้ยาเสพติด รวมถึงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต และเกิดทัศนคติที่มองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาในการใช้ จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต

ส่วนใหญ่คนไข้จิตเวชไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่คนที่ไปก่อความรุนแรงเป็นผู้ที่ใช้ยาเสพติด คนไข้จิตเวชที่พบจะมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองแบบแปลกประหลาด หลายกรณีไม่มีเหตุจูงใจในการทำร้ายตัวเอง เกิดขึ้นจากจิตใจภายใน ทำให้มีความรู้สึกกลัวและกังวล

...

การรักษาคนที่มีอาการด้านจิตเวช ถือเป็นโรคที่รักษาดีขึ้น แต่สามารถเกิดซ้ำได้ ส่วนใหญ่รักษาหายจนใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ถ้าได้รับการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งความท้าทายตอนนี้ คือ คนไข้มารักษาไม่ต่อเนื่อง เพราะคิดว่ากินยาจนอาการดีขึ้นแล้ว ก็หยุดทานยา แต่ต้องทานยาต่อเนื่องไปสักระยะ

ขณะเดียวกัน ต้องมีการดูแลด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย รวมถึงใช้จิตสังคมรอบข้างมีส่วนร่วมในการบำบัด เพื่อให้คนที่มีอาการมีทักษะทางใจที่ดีขึ้น สามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้

“สำหรับคนที่มีอาการผิดปกติ ต้องรู้ว่าอะไรมีผลต่อการกระตุ้นอาการของตัวเอง เช่น เปิดดูภาพความรุนแรงแล้วส่งผลกระทบด้านจิตใจ ต้องเลี่ยงไม่ดู เพราะสภาพจิตใจยังไม่แข็งแรงพอในการดูสิ่งเหล่านั้น สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรใช้สุราหรือสารเสพติดเป็นตัวกระตุ้น ทำให้มีภาวะที่รุนแรงตามมา”

ปกติโรคจิตเวชมีโอกาสเกิดขึ้นหนึ่งในสี่ของคนทั่วไป และการป่วยของคนหนึ่งคนจะกระทบไปยังคนอีกสามคน ดังนั้น คนทั่วไปมีโอกาสเห็นและเป็นได้ สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจ ป้องกันไม่ให้เกิด เพื่อให้ทุกคนอยู่กับสิ่งนี้ได้ ในสภาวะที่โลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง.