องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยกเลิกการวิ่งรถเมล์ 5 เส้นทาง เลี่ยงเส้นทางทับซ้อนเอกชน แต่พอเริ่มใช้จริงรถเมล์ไฟฟ้ากลับไม่เพียงพอกับผู้ใช้บริการ ทำให้รถขาดระยะ คนล้นป้าย ผู้โดยสารบ่นไปทำงานไม่ทัน ขณะที่นักวิชาการศึกษาเรื่องนี้มองว่า ขสมก. ควรเร่งเข้าไปแก้ปัญหา นำรถเสริมไปช่วยวิ่ง ถ้ารอรถไฟฟ้าของเอกชน ที่เข้ามาเพิ่มในเส้นทาง ต้องรออีก 6 เดือน
เช้าวันนี้ (2 พ.ย.66) มีผู้โดยสารเข้ามาแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม Bangkokbusclub Cafe รวมมิตรเรื่องรถเมล์ เป็นจำนวนมาก ถึงปัญหารถเมล์ขาดระยะ เช่น บรรยากาศเช้าวันที่ 2 หลังจากที่ ขสมก. ได้ยุติการเดินรถของสาย 140ผู้โดยสารยังคงยืนรออย่างมีความหวังว่าจะได้ขึ้นรถเมล์ไปทำงานให้ทันเวลา ในภาพมีผู้โดยสารตกค้างอยู่ที่ป้ายรถเมล์จำนวนมาก หลังจาก ขสมก. ยกเลิกเส้นทางเดิมทับซ้อนกับเส้นทางของผู้ประกอบการเดินรถเอกชน ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 เส้นทาง
ปัญหารถเมล์ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้โดยสารหลายเส้นทางวิตกกังวล ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การยกเลิกเส้นทางโดยสารของ ขสมก. เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูประบบรถเมล์ เดิมการให้ใบอนุญาต แต่ละเส้นทางเดินรถเมล์ มีผู้ประกอบการหลายราย ทำให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร แนวทางใหม่จะให้ผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียวในแต่ละเส้นทาง
...
ขสมก. มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และแผนฟื้นฟูไม่ได้รับอนุมัติมาโดยตลอด ทำให้ในอดีตต้องมีเอกชนเข้ามาเดินรถในเส้นทางเดียวกัน เกิดปัญหาการบริหารจัดการ เช่น สาย 8 มีผู้ประกอบการหลายบริษัท ทำให้รถเมล์ แต่ละบริษัทขับแข่งกัน เลยเกิดแนวทางปฏิรูป “1 สาย 1 ผู้ประกอบการ"
ช่วงเปลี่ยนผ่านติดกับการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้รถเมล์หายไปจากระบบ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการรายเดิม ที่ไม่ได้ดำเนินการต่อ ส่วนเอกชนรายใหม่เข้ามาเดินรถ เป็นเอกชนรายเดียว นำรถไฟฟ้าเข้ามาวิ่งในเส้นทาง มีแผนค่อยๆ เติมรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาวิ่งให้เพียงพอกับผู้โดยสาร
ปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านตอนนี้คือ รถเมล์ไฟฟ้าวิ่งไม่เพียงพอ คาดว่าผู้ประกอบการรายใหม่ นำรถเมล์เข้ามาวิ่งให้เพียงพอ ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งใบอนุญาตของกรมขนส่ง มีกรอบให้ดำเนินการตามระยะเวลา แต่ประชาชนจะมีรถเมล์บริการไม่เพียงพอ เพราะผู้ประกอบการรายใหม่ก็อยากจะวิ่งในเส้นทางเพียงรายเดียว สิ่งนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมาวางแผนกันใหม่ อาจผ่อนผันให้รถ ขสมก. บางส่วนมาช่วยวิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน
อนาคตการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการ 1 บริษัทต่อ 1 เส้นทาง จะมีมากขึ้นในหลายสาย ดังนั้นต้องมีการวางแผนที่รัดกุม ไม่ให้รถเมล์ขาด หรือรถเมล์ วิ่งเกินในเส้นทาง เพราะพฤติกรรมการเดินทางคนในเมืองเปลี่ยนไป เนื่องจากมีรถไฟฟ้าเข้ามาเดินทางในหลายพื้นที่
“แผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 269 เส้นทาง เคยทำไว้ปี 2559 ควรมีการทบทวนใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ตอนนี้ถนนตัดใหม่ไวกว่าการเพิ่มเส้นทางรถเมล์ ทั้งที่จริงไม่ควรเป็นไปเช่นนั้น แต่บนถนนที่ตัดใหม่ ควรมีรถเมล์วิ่งให้บริการไปตามเส้นทางนั้น ไม่ใช่ว่าปล่อยให้รถร่วมเฉพาะกิจ เช่น สองแถวเข้าไปวิ่งก่อน”
...
การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ให้เหลือผู้ประกอบการเพียงเจ้าเดียว หน่วยงานเกี่ยวข้องควรมีการประเมินผู้ประกอบการ หากมีปัญหา ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ ควรเตือน หรือยกเลิกใบอนุญาต และต้องมีการประมูลเส้นทางด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้โดยสาร
สำหรับผู้โดยสารที่ห่วงว่า การให้ผู้ประกอบการวิ่งอยู่ในเส้นทางนั้นเพียงบริษัทเดียว เป็นการผูกขาด หรือไม่มีมาตรการในการควบคุมราคา เป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐมีการดูแล กำหนดเพดานอัตราค่าโดยสาร ไม่ให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน แต่ในเบื้องต้น รถเมล์ให้บริการไม่เพียงพอ ควรมีการประเมินหาแนวทางนำรถเมล์มาเสริมก่อน.