สงครามอิสราเอล-ฮามาส วิเคราะห์เงื่อนไข ปล่อย 22 ตัวประกันไทย เชื่อความพยายามเจรจาส่งสัญญาณบวก... 

“การไปอิหร่านเมื่อ วันที่ 26 ต.ค. 66 ได้เจอตัวแทนกลุ่มฮามาสที่เป็นบุคคลเป้าหมายของสหรัฐอเมริการะดับต้นๆ พูดคุยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เขาเข้าใจที่เรามาในฐานะของประธานสภาฯ และความรู้สึกที่เป็นมุสลิมด้วยกัน ได้ขอร้องให้เขาปล่อยแรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ ตัวแทนกลุ่มฮามาสบอกว่า ช่วยบอกญาติพี่น้องผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั้งหมดว่า คนเหล่านี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแต่หากเขากำหนดวันเวลาที่จะปล่อยเกรงว่าผู้ถูกปล่อยจะเป็นอันตรายจากระเบิดที่มาจากอีกฝ่ายจึงรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้วจะปล่อยทันที เขาให้คำสัญญา เพราะเขาอยากให้คนไทยที่เมื่อถูกปล่อยตัวออกมา ชี้แจงว่าฮามาสโหดร้ายจริงหรือไม่ ได้รับการกระทำอะไรบ้าง เขาอยากให้มาออกสื่อในไทยเขาต้องดูแลทุกคน และเขาจะพยายามทุกวิถีทางที่ให้คนไทยทั้งหมดที่ถูกกักตัวอยู่อย่างปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เขารับปากกับเรา”

นี่คือ เบื้องหลังการเจรจากับกลุ่มฮามาส ที่ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษา นายวัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา ประธานสภาฯ ออกมาเปิดเผย หลังทางการไทย พยายามติดต่อทุกฝ่าย เพื่อช่วยเหลือ 22 คนไทย ที่ตกเป็นตัวประกัน ภัยสงคราม อิสราเอล-ฮามาส 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง มองเรื่องความพยายามในส่วนของรัฐบาลไทย ว่า ความพยายามเวลานี้ถือว่า ทำได้ดี เพราะมีการประสานงานกับประเทศ นอกจากคู่ขัดแย้ง คือ อิสราเอล และ ฮามาส คือ การประสานไปยัง กาตาร์ อิหร่าน หรือ จะเป็นองค์กรอดีตนักศึกษา ที่เคยเรียนในอิหร่าน ซึ่งล่าสุด มีการเดินทางไปของคุณ “อารีเพ็ญ” อดีต สส. ที่ทำงานกับประธานสภาฯ คือ อาจารย์ วัน มูฮัมหมัด นอร์มะทา นอกจากนี้ ยังมี สัญญาณดี ผ่านสถานทูตอิหร่าน ประจำประเทศไทย 

จากการประสานงานทั้งฝ่ายรัฐบาล และการเดินทางไปเยือน ในระดับ รัฐมนตรีต่างประเทศ กับมิตรประเทศ กาตาร์ อิหร่าน โดยมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส รวมถึงการเจรจากับกลุ่มฮามาส ทำให้ได้คำตอบ “เชิงบวก” อย่างมาก มองว่า “ตัวประกัน” เป็นเหมือน “แขก” ของเขา และไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้อยู่ในช่วงยากลำบาก 

“แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า “ตัวประกัน” เหล่านี้อยู่ที่ไหน... ก็ตาม แม้จะมีข่าวต่อมาว่า “ตัวประกัน” บางส่วน เสียชีวิต กว่า 50 คน โดยอ้างว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่า ตัวประกันที่เสียชีวิต เป็นคนชาติใดบ้าง”

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง เผยว่า เท่าที่ทราบ มีการปล่อยตัวประกันแล้วบางส่วน จากการเจรจาของ “กาตาร์” โดยมีการปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอล และ สหรัฐฯ และล่าสุด ทราบว่า ทาง โฆษกฮามาส ได้ยืนยันว่า อาจจะมีการปล่อยตัวประกันต่างชาติเพิ่มเติมในเร็ววัน ซึ่งคำว่า “เร็ววัน” นั้น อาจจะหมายถึง 1-2 วันข้างหน้าก็เป็นได้...

“สิ่งที่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ไทยกับปาเลสไตน์ นั้นมีความสัมพันธ์อันยาวนาน เราไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกัน แม้ว่า ตอนแรกจะมีข่าวต่างๆ ออกมา แต่ในภายหลัง ท่าทีของเราก็ชัดเจนว่าเราเป็นกลาง ตรงนี้คือ “เรื่องสำคัญ” และที่สำคัญที่สุด คือ เราอยากเห็นการปล่อยตัวคนไทย 

หากมีการปล่อยตัว จะปล่อยอย่างไร ทางไหน 

กับประเด็นคำถามข้างต้น อาจารย์จรัญ เชื่อว่า เส้นทางที่อาจจะเป็นไปได้ คือ ทางประเทศ “อียิปต์” ซึ่งหาเข้าประเทศอียิปต์ได้ก็สามารถต่อเครื่องบินกลับได้ หรือ ทางกลับทางอิสราเอล อาจจะเป็นเส้นทางที่ติดกับ “ฉนวนกาซา” 

“เชื่อว่า หากปล่อยทางอียิปต์ จะเป็นการง่ายที่สุด และเราก็สามารถประสานงานกับทางอียิปต์ได้ ซึ่งเชื่อว่า ทางหน่วยที่เจรจากับฮามาสได้ ก็อาจจะประสานงานในการเชื่อมเส้นทางได้ 

...

วิเคราะห์ทีมเจรจา กับโอกาสการปล่อย “ตัวประกัน” และเงื่อนไข 

ทีมข่าวฯ ถามถึงทีมเจรจา ทำไมถึงไม่เห็นในระดับ รัฐมนตรี ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีข้อเสนอและมีการพูดถึงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนพูดคุยจะเป็นระดับไหน หากฝ่ายที่พูดคุยกันมีความจริงจัง ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรีก็ได้ เป็นระดับนักศึกษา หรือ ตัวแทน ก็สามารถทำได้...

“เข้าใจว่า ระยะหลังนี้ มีตัวแทนระดับสูงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนแลเห็นได้ถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาล แม้ความเป็นจริงช่วงแรกควรส่ง รมว.ต่างประเทศ ไปร่วมเจรจา เนื่องจากหากสังเกตของ สหรัฐฯ ประธานาธิบดี ยังเดินทางมาด้วยตัวเอง แต่ของเรา ค่อยๆ เพิ่มยกระดับ”

จากข้อมูลที่ได้จากทางสถานทูตอิหร่าน ได้เปิดเผยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ได้รับการติดต่อจากประเทศไทย และคำตอบที่ได้ก็ค่อนข้างดี นอกจากนี้ กลุ่มอดีตนักศึกษาอิหร่าน ก็สามารถติดต่อกับกลุ่มฮามาสได้ 

ทุกกระแสข่าวที่ได้รับ ก็เป็นเชิงบวกทั้งหมดว่า มีโอกาสได้รับการปล่อยตัว ไม่มีคำพูด หรือ คำกล่าวใด ที่บอกว่า จะจับไว้เพื่อต่อรองแลกตัว ดังนั้น จึงทำให้เรารู้สึกว่ามีความหวัง

“ส่วนชาวอิสราเอล ที่ตกเป็นตัวประกัน ทางฮามาส ก็มีข้อเสนอว่าจะแลกตัว กับชาวปาเลสไตน์ 6,000 กว่าคน ที่ถูกอิสราเอล จับตัว แต่...ทางอิสราเอลก็มั่นใจว่าเขาสามารถปลดปล่อยได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทราบว่าสามารถช่วยได้แล้ว 1 คน”

เมื่อถามว่า ปกติแล้วเมื่อเกิดสงคราม และ มีการแลก หรือ ร้องขอให้ปล่อยตัวประกัน โดยมากจะมีเงื่อนไขแบบใด ผู้เชี่ยวชาญประเทศตะวันออกกลาง ระบุว่า การตั้งเงื่อนไข มีตลอดอยู่แล้ว บางเหตุการณ์ แลก 1:100 หรือ 1:1,000 ก็มี ตรงนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด 

...

เมื่อถามว่า กรณี ตัวประกันที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม จะมีหลักเกณฑ์การปล่อยอย่างไร ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่เกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะข่าวที่ออกมามีทั้งจริงและลวง แต่หากพูดถึงหลักของ ของ “ฮามาส” จะไม่ทำร้ายคนเหล่านั้น นี่คือวิธีคิดของเขา เมื่อมีสงครามต้องมีความจริงใจก่อน ซึ่งเราต้องรอดูผลกันต่อไป 

ประเมินสงคราม หลัง ปล่อยตัวประกัน 

ศ.ดร.จรัญ ประเมินสงคราม หลังปล่อยตัวประกันว่า เท่าที่ดูความกดดันที่มาจากภายนอกแล้ว พบว่า เริ่มมีคนบางส่วนในโลก ต่อต้านอิสราเอล ซึ่งมันจะกลายเป็นประเด็นคล้ายกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต คือ ฮิตเลอร์ เคยต่อต้านชาวยิว แต่เสียงต่อต้านดังกล่าว เวลานั้น มาจากด้านประชาชนทั่วไป สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขาทนดูความตายของคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามไม่ได้ ขณะที่ ทาง อิสราเอล ก็ทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ สถานที่สำคัญที่ฉนวนกาซา ได้รับความเสียหาย โดยมีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลด้วย โดยมีข้ออ้างว่า ฮามาส อยู่ที่นั่น ซึ่งมันคล้ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับชาวอิสราเอล 

...

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ต้องดูว่า อิสราเอล จะทนกับกระแสต่อต้านนี้ได้แค่ไหน แม้ว่าจะมีกระแสอีกด้านที่สนับสนุนอิสราเอล ว่าไม่ควรหยุดยิง โดยเฉพาะเสียงที่มาจากพันธมิตรของสหรัฐฯ แม้หลายประเทศในโลกจะไม่เห็นด้วยก็ตาม 

“เนทันยาฮู (นายกฯ อิสราเอล) เคยคาดการณ์ว่า สงครามนี้จะยากลำบากและยาวนาน แต่ความจริงก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย คือ อาวุธของกลุ่มฮามาสก็มีเทคโนโลยีทันสมัย เช่น จรวดต่อต้านรถถัง ซึ่งเป็นจรวดที่ผลิตเองเป็นส่วนใหญ่ โดยได้เทคโนโลยีบางส่วน มีรายงานว่า 10% มาจากเกาหลีเหนือ 10% มาจากอิหร่าน และอีก 80% โดยกลุ่มฮามาสเอง”

สงครามเวลานี้ มีลักษณะ “บ้านต่อบ้าน” คือ การเปิดประตูบ้านไปรบ ซึ่ง ตามปกติแล้ว คนที่เคยอยู่ในสภาวะกดดัน มักรบเก่งกว่า แต่...หากถูกยิงถล่ม ซึ่งพื้นที่ของ กาซา นั้น มีขนาดมากกว่าเขตมีนบุรี นิดหน่อย ขณะที่ “อิสราเอล” ก็มีขนาดพอๆ กับ จ.นครราชสีมา เท่านั้น 

“การยิงถล่ม จึงยากที่จะไม่โดนผู้คน เพราะพื้นที่มันเล็ก คำถาม คือ ทางอิสราเอล จะทนเสียงกร่นด่า ได้นานแค่ไหน แม้เนทันยาฮู จะบอกว่าการหยุดยิง คือ การยอมแพ้ ซึ่งนี่คือ ความแข็งกร้าวของ เนทันยาฮู แม้ผู้นำประเทศฝั่งอิสราเอล จะเรียกร้องให้หยุดยิงก็ตาม เพราะสงสารประชาชน โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง” 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ