“สัปเหร่อ” อาชีพปลงศพคนตายผู้ล่วงลับ ได้จุดกระแสความสนใจของผู้คน ภายหลังหนังไทยม้ามืด "สัปเหร่อ" สร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้ถล่มทลายทะลุ 500 ล้านบาทไปแล้ว เมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 เหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย และอาจทุบสถิติหนังไทยเคยทำรายได้สูงสุดก็ได้

สัปเหร่อ (สับปะเหฺร่อ) ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับศพ ตั้งแต่ทำพิธีมัดตราสัง จนกระทั่งนำศพไปฝังหรือเผา ส่วนคำว่า ตราสัง คืออาการที่สัปเหร่อนำผ้าขาวห่อศพและใช้ด้ายดิบมัดศพเป็น 5 เปลาะ ถือเป็นอาชีพเกี่ยวพันกับความตาย มีการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามความต้องการของเจ้าภาพในการจัดพิธีปลงศพให้กับคนตาย

สัปเหร่อคนเท่ากัน ทำหน้าที่จัดการศพ ถูกมองไม่ใช่อาชีพ 

อาชีพสัปเหร่อในมุมมองของ "ผศ.ดร.รัตนพล ชื่นค้า" ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า แม้สัปเหร่อเป็นผู้ทำหน้าที่จัดการศพตั้งแต่แรกเริ่มทำพิธี จนกระทั่งเผาศพ หากในแง่สังคมไทยไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพเท่าไรนัก และคนไม่ค่อยให้ความเคารพนับถือ ถ้าเทียบกับอาชีพอื่น อย่างในหนังก็บอกว่าเป็นคนเท่ากัน มีรายได้ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่ถูกมองต่างกัน 

...

“จริงๆ แล้วสัปเหร่อมีมานานในสังคมไทยตั้งแต่อดีตกาล มักมีการพูดถึงเรื่องการสืบทอด พ่อส่งต่อมาให้ลูก และคนเป็นสัปเหร่อต้องเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นคนอุทิศตนในการทำบุญกับศพ ซึ่งรูปแบบการทำศพก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างในหนังแสดงให้เห็นความหลากหลายในการจัดการศพว่าเป็นแบบไหน ทางสัปเหร่อต้องก้าวให้ทัน และปัจจุบันมีออนไลน์มาช่วย”

อย่างนวนิยายเรื่องคำพิพากษาของ ชาติ กอบจิตติ ก็ได้ถ่ายทอดชีวิตความตายของสัปเหร่อชื่อไอ้ฟัก จนเห็นความจริงของมนุษย์ทั้งหมด และการหยิบยกอาชีพสัปเหร่อในขณะนั้นมีการเผาศพบนเชิงตะกอน ถ่ายทอดให้เห็นคนที่อยู่กับความตายและเห็นความอนิจจังของชีวิต ทั้งศพเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ คนแก่ ไม่ว่าคนรวยคนจน ก็ต้องตายเหมือนกัน และเมื่อสัปเหร่อเป็นอาชีพ ทางรัฐบาลก็ควรส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจ เพราะคนตายมีทุกวัน และมองอาชีพนี้อย่างไร จากเดิมคนเป็นสัปเหร่อมีความเหนียวแน่นกับชุมชน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป มองคนเป็นสัปเหร่อแบบใดในมุมลบหรือบวก 

คนยุคปัจจุบันอาจมองสัปเหร่อเป็นอาชีพไม่เป็นมงคล ควรต้องปรับทัศนคติใหม่ เพราะสัปเหร่อทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มไปจนถึงหลังการฌาปนกิจศพ ก็มีราคาค่าใช้จ่าย และคนไทยก็ติดเรื่องการทำบุญ แต่ถ้ามีอะไรแอบแฝงควรใช้กลไกของชุมชนจัดการเพื่อป้องกัน เพราะสัปเหร่อเป็นอีกอาชีพที่เกี่ยวกับเงินทอง และรูปแบบการทำพิธีเปลี่ยนไปตามสังคม แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิมในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย และเมื่อมีคนตายก็ต้องให้สิ่งตอบแทนกับสัปเหร่อ เป็นอาชีพที่ถ่ายทอดกันในครอบครัว แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปต้องมองเป็นเรื่องอาชีพ ควรมีมาตรฐานและสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่น

“เด็กรุ่นใหม่สามารถทำอาชีพนี้ได้ แต่ต้องมีความรู้ เช่น ใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ มีรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์ ถ้าคนรุ่นหนึ่งไม่ส่งต่อการทำพิธีก็จะหายไป สามารถถ่ายทอดวิชาทางวัฒนธรรมในกลุ่มเครือญาติ และแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามวิถีชีวิต กว่าจะได้รับความน่าเชื่อถือต้องค่อยๆ เรียนรู้ ไม่ใช่คิดกันเอาเอง จนผิดธรรมเนียม หรือคนตายสั่งเสียไว้ก่อน ห้ามใส่ชุดดำ ทำให้พลิกผันไปจากคติเดิม สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความเป็นปัจเจกแตกต่างออกไป มีการทำศพให้แมว ให้หมา เหมือนกับคน จนทุกอย่างเปลี่ยนไป ถ้าสนใจในอาชีพนี้ ก็สามารถเปลี่ยนภาพได้ ไม่มองเป็นอาชีพไม่เป็นมงคล ในการทำหน้าที่วาระสุดท้ายของชีวิต ทำบุญให้กับผู้วายชนม์”

เปลี่ยนมุมมองอาชีพผู้ประกอบพิธีศพ ตามวัฒนธรรม วิถีชีวิต

ปัจจุบันมีการเรียกผู้ประกอบพิธีศพ แทนการเรียกสัปเหร่อโดยตรง อาจมองไม่เป็นมงคล แต่เคล็ดลับในการทำศพต้องมีการถ่ายทอดภายในครอบครัว เพื่อทำเป็นอาชีพและศึกษาเพิ่มเติมให้มีความน่าเชื่อถือในการประกอบพิธี ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือไม่ก็ตามเหมือนกับการเป็นหมอพราหมณ์ จะต้องมีใจอย่าเอารายได้เป็นตัวตั้งในการจัดการศพ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ตายเหมือนกันหมด จากการพาของสัปเหร่อในการเดินทาง

...

การทำพิธีศพยังเป็นประเพณีวัฒนธรรม มีบางบริบทสามารถนำมาเชื่อมโยงกับทุนวัฒนธรรม ผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ท่ามกลางโลกที่กำลังแข่งขัน ซึ่งทางรัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่หนังหรือละคร แต่ควรมองวัฒนธรรมให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้น่าค้นหา อย่ามองแบบฉาบฉวยในทางบันเทิงอย่างเดียว และควรให้ทุนกับเด็กรุ่นใหม่ในการนำเสนอการทำหน้าที่ของผู้ประกอบพิธีศพ ในแง่ของวัฒนธรรมและความเป็นสายใยของครอบครัว ได้พูดถึงโลกหลังความตาย อย่างหนังเรื่องสัปเหร่อได้พูดถึงในมุมมองนี้ แตกต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นที่ไม่เคยพูดถึง

อาชีพสัปเหร่อ หรือผู้ประกอบพิธีศพ จะเป็นประเด็นต่อไปเมื่อคนเปลี่ยนชุมชนเปลี่ยน จะเกิดอะไรขึ้นกับอาชีพนี้ และถ้าไปร่วมงานศพอาจเห็นอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตว่าเป็นอย่างไร ภายหลังหนังเรื่องสัปเหร่อได้ทำให้เกิดการตีความในหลายมิติ โดยเฉพาะในแง่ของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต สามารถขายได้อยู่แล้ว หากได้รับการผลักดันจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงิน แต่ในหลายกลไก รวมถึงด้านเทคโนโลยีและระบบตลาด จะต้องได้รับการส่งเสริม.

...