ว้าวุ่นเลยทีนี้ เมื่อเห็น “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีของไทย สวมสูทสีกรมท่า รองเท้าสีดำถุงเท้าสีชมพูโดดเด่นสะดุดตา ขณะหารือความร่วมมือในด้านต่างๆ กับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระหว่างร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีน เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ได้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ถึงความเหมาะสมบนเวทีโลก
หรือเป็นเพราะวันอังคาร สีชมพู เลยต้องใส่ถุงเท้าสีชมพู เพื่อความเป็นมงคล จนแฮชแท็ก#เศรษฐา ขึ้นเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) ส่วนภาษากายของเศรษฐา ดูเหมือนมีอาการกระสับกระส่ายไม่ปกติ เอื้อมมือขยับถุงเท้า มือซ้ายกำแน่นในช่วงหนึ่ง เมื่อเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกกับผู้นำโลกอย่างปูติน แต่ก็มีความเป็นเซลส์ในสายเลือดได้เอ่ยปากชวนให้มาเยือนประเทศไทย พร้อมการตอบรับจากปูตินด้วยความยินดี
ถุงเท้าสีชมพูของเศรษฐา เหมาะสมหรือไม่บนเวทีโลก
ในเรื่องบุคลิก เครื่องแต่งกายของผู้นำไทยระหว่างการหารือกับประธานาธิบดีรัสเซีย “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรฝึกอบรมผู้นำ ตามแนวทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งปั้นผู้นำระดับโลกมามากมาย มองว่า อย่างแรกในเรื่องการแต่งกาย ไม่แน่ใจว่าคุณเศรษฐา ใส่ถุงเท้าสีชมพูในงานนี้ได้อย่างไร เพราะการแต่งกายเดรสโค้ดของผู้นำเป็นสิ่งค่อนข้างสำคัญ อย่างกรณีบารัค โอบามา ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สวมสูทสีแทนคล้ายสีกากีอ่อนออกครีมๆ เป็นสูทลำลองไม่ใช่ทางการ ในพิธีใหญ่วันอับราฮัม ลินคอล์น ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ทั้งที่ควรต้องเป็นสูทสีเข้มหรือเนวีบลู
...
“มาดูนายกฯ ของเรา เอาถุงเท้าชมพูออกส้มๆ มาใส่ และตอนอยู่เมืองไทยก็ใส่ แต่ไปเวทีโลกดูเหมือนตัวตลกที่ชอบใส่สีแปร๊ดๆ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่เหมาะสมเลย ถุงเท้าควรเป็นสีเข้มกลืนไปกับรองเท้าและกางเกง คนใส่อย่างนั้นมีแต่ตัวตลก ทำให้ภาวะผู้นำบ่งบอกอะไรบางอย่าง ต่างชาติก็มองว่าแปลก และทวิตเตอร์ของคนโปแลนด์ มองท่าทางนายกฯ ของเรา เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย จากลักษณะการแสดงออก แปลว่าได้รับความสนใจ มีการพูดถึงท่าทางภาษากาย”
เมื่อมาดูการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องสูทออกลายๆ ของคุณเศรษฐา เหมือนเป็นเรื่องของกล้อง มีความไวสูงโฟกัสไปที่สูท จนเก็บลายเส้นของผ้าที่ทอได้ชัด ทำให้อาจเห็นลายเล็กๆ สี่เหลี่ยมแบบนั้น แต่เมื่อกล้องอีกตัวถ่ายก็ไม่เห็นสูทลาย ซึ่งตรงนี้ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเป็นสูทลายพร้อยก็ไม่ควรใส่
ภาษากายกระสับกระส่าย มีความเครียด เผชิญหน้าปูติน
ขณะที่ภาษากายลักษณะการนั่งของคุณเศรษฐา เหมือนเบี่ยงตัวประมาณ 45 องศา มาเผชิญหน้ากับปูติน ส่วนปูติน ไม่เบี่ยงตัวขนาดนั้น มีการนั่งตัวตรง 90 องศา แต่นายกรัฐมนตรีของไทย เบี่ยงตัวมาเกือบครึ่ง รวมถึงการนั่งขาชิด โดยปกติผู้หญิงจะนั่ง ไม่เคยเห็นผู้ชายนั่งท่านี้ มีการเบี่ยงตัวไปทางซ้าย เหมือนสนใจคู่สนทนา ซึ่งดูดี และการไหว้เป็นความสุภาพแบบไทย ตีความว่านายกรัฐมนตรีของไทย มีความสุภาพก็ได้
แต่ลักษณะกิริยา เช่น การกระสับกระส่ายไม่นิ่ง มีการมองโน่นมองนี่ เหมือนมีอะไรผิดสังเกตจนดึงความสนใจ สะท้อนถึงความเครียด ดูจากสีหน้าไม่ได้สะท้อนให้เห็นความสุขุม มีแต่ความตึงเครียดอยู่ข้างใน สะท้อนความไม่มั่นใจจากท่าทีไม่นิ่ง กระสับกระส่าย ซึ่งภาษากายบอกว่ามีความกังวลสูงมาก เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้นำระดับโลก และขณะที่ปูตินวางกระดาษ ทางคุณเศรษฐาก็จับกระดาษเหมือนกัน เหมือนระแวงระวังไม่ค่อยมั่นใจ
“หากเทียบกับลุงตู่ เมื่อตอนหารือกับเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษในขณะนั้น มีการนั่งเบี่ยงตัวมากเกินไป แทบเบี่ยงไปหาเทเรซา เมย์ คล้ายๆ กัน สะท้อนความคับข้องใจ มีความเครียดข้างใน เพราะความรู้สึกลึกๆ กำลังเผชิญหน้ากับผู้นำโลก ยิ่งลุงตู่ ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ทำให้ดูเหมือนไม่มั่นใจ แต่คุณเศรษฐาสื่อสารอังกฤษได้ดี ตรงนี้อาจลดความคับข้องใจได้มากกว่าแต่ไม่ค่อยโอเคเท่าไรกับการที่คุณเศรษฐาใส่ถุงเท้าสีชมพู"
แม้ตอนแรกใส่ถุงเท้าแบบนี้ในไทยเหมือนทำตัวสบายๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีการใส่ถุงเท้าสีแดงคิดว่าเป็นกิมมิกให้คนจดจำ แต่ในเวทีโลกจะไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมไม่ได้ หากไม่แต่งกายตามวัฒนธรรมจะถูกมองว่าไม่มีอารยะ เพราะเรื่องการแต่งกายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ยกเว้นใส่ชุดพระราชทานที่ไม่ใช่สูทสากล สามารถอ้างได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เหมือนออง ซาน ซูจี ใส่ชุดประจำชาติเมียนมา หรือผู้นำเมียนมา ใส่โสร่ง หากใส่ชุดประจำชาติ ก็สามารถบอกได้เป็นวัฒนธรรมของเรา
...
วัฒนธรรมบนเวทีโลก ไม่ว่าไปที่ใด เป็นผู้นำต้องเรียนรู้
ยกเว้นเมื่อนำวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ จะต้องทำให้เต็มรูปแบบทั้งเรื่องสูท ถุงเท้า รองเท้า จะทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ จะทำให้ถูกมองว่าประหลาด เหมือนไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเขา และคุณเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อาจใหม่ต่อเวทีระดับโลก แม้เป็นนักธุรกิจใหญ่ในไทยก็ตาม แต่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มีกฎระเบียบ ซึ่งทีมงานของนายกรัฐมนตรีต้องแนะนำ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกให้เป็นบทเรียน และกระบวนการต่อจากนี้ทางทีมงานต้องดูแลให้ดีในเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของคุณเศรษฐา
อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีหลักสูตรสอนคนจะมาเป็นผู้นำ ไม่ว่าเสื้อผ้าหน้าผม หากใครได้เรียนรู้หลักสูตรนี้ก็จะเข้าใจบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศควรเป็นอย่างไร และในสมัยลุงตู่ มีการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเยอะ เพราะถูกสอนให้มาเป็นผู้นำทหาร ไม่ได้เรียนจบต่างประเทศเหมือนคุณเศรษฐาที่จบจากสหรัฐฯ ทำให้มีความแตกต่าง แต่คุณเศรษฐาต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากคำแนะนำของทีมงาน ไม่ใช่เพียงแค่วัฒนธรรมการแต่งกาย รวมไปถึงการแสดงออกต้องเป็นสากล และต้องเข้าใจว่ากำลังสื่อสารกับคนในวัฒนธรรมใด เช่น จีน วัฒนธรรมแบบตะวันออก รัสเซีย วัฒธรรมตะวันตกแบบกึ่งๆ ส่วนสหรัฐฯ วัฒนธรรมตะวันตกแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งการแสดงออกไม่เหมือนกัน
...
หลังจากนี้นายกรัฐมนตรีต้องไปปรับในเรื่องวัฒนธรรมสากล ไม่ว่าจะไปที่ใดของโลก หากต้องการให้ประเทศนั้นมีความประทับใจและเปิดใจ ก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเขาในเรื่องการทักทายการแสดงออก แล้วสื่อสารออกไปจนทำให้ประเทศนั้นเปิดใจในที่สุด เหมือนอย่างที่คุณเศรษฐา ระบุประทับใจปูตินที่พูดคำว่าขอบคุณ นั่นแสดงว่าปูตินยังมีการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของไทย ซึ่งในครั้งต่อไปทางทีมงานต้องให้คำแนะนำ.