ข้อพิพาทและตราบาปแห่ง 'เกาะเกร็ด' ชาวบ้านขอ 'เขื่อน' ได้ 'ถนน' ปัญหาวังวน และข้อสงสัยทำไมต้องเลือก?

'ที่ไหนมีคน ที่นั่นมีปัญหา...ฉันใด ที่ไหนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่นั่นก็มีปัญหา...ฉันนั้น'

สัปดาห์นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ตั้งใจมุ่งหน้าลงพื้นที่ 'เกาะเกร็ด' แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังใกล้กรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นอันสวยงาม และขนมไทยแสนอร่อย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ ทีมข่าวฯ มั่นใจว่า ที่นี่ต้องมีปัญหาบางอย่างซุกซ่อนไว้ เพื่อรอการแก้ไขแน่นอน

ต้องยอมรับก่อนเลยว่า ปัญหาที่เราคิดและคาดหวังจะได้คุยกับคนพื้นที่ในตอนแรก ก็คือเรื่อง 'น้ำท่วม' ที่ชาวเกาะเกร็ดต้องประสบพบเจออยู่ทุกปี แต่จากการพูดกับชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้ำท่วมไม่ใช่เรื่องที่พวกเขากังวล แต่มี 'บางอย่าง' ที่ทำให้พวกเขากังวลใจมากกว่านั้นเสียอีก...

น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหา :

การพูดคุยกับ 'ผู้ใหญ่พัด' ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ของชุมชนเกาะเกร็ด ทำให้ทีมข่าวฯ ทราบว่า 'น้ำท่วม' ไม่ใช่ปัญหาหลักที่น่ากังวล หรือจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในอนาคต 

...

เนื่องจากเป็นปัญหาที่คนในพื้นที่มองว่า 'ซ้ำซาก' และ 'ยากจะแก้ไข' พวกเขาเข้าใจถึงภูมิประเทศของเกาะเกร็ด และยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น จึงพยายามเรียนรู้และปรับตัวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่น ปรับบ้าน หรือปรับพื้นที่ร้าน ฯลฯ ตราบใดที่น้ำไม่ท่วมทางเดินเท้า คนในชุมชนก็ยังขายของได้ 

อย่างเช่นปีนี้ปริมาณน้ำไม่มาก เป็นเพียงน้ำปริ่มตลิ่ง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ท่วมขัง แต่ในกรณีน้ำท่วมขัง จะมีหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ประสานงานสอบถามเข้าช่วยเหลืออยู่เสมอ และบางครั้งอาจจะมีทหารคอยประจำการอยู่ที่วัดปรมัยยิกาวาส 

ปัญหาของจริง! :

หากเรื่องน้ำท่วมไม่ได้สร้างความกังวลใจต่อการท่องเที่ยวของเกาะเกร็ด แล้วอะไรคือปัญหาที่น่ากังวลกันล่ะ?

คำตอบก็คือ "น้ำกัดเซาะตลิ่ง" นั่นเอง!

ปัญหานี้ดูจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ใหญ่พัดอย่างมาก เพราะในขณะที่คุยกัน ความไม่สบายใจของเธอถูกถ่ายทอดผ่านสีหน้าและบทสนทนาอย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำ บริเวณหมู่ 1 และ หมู่ 7 ได้รับแรงกระแทกจากน้ำ ทำให้แนวตลิ่งถูกกัดเซาะ เนื้อดินทยอยหายไป กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และส่งผลให้สิ่งก่อสร้างของบ้านบางหลังสไลด์ออก เพราะไม่มีหน้าดินรองรับ

ผู้ใหญ่พัดพาทีมข่าวฯ เดินไปดูบ้านริมน้ำ พร้อมชี้แนวตลิ่งเดิมในความทรงจำให้เราดู "เมื่อก่อนตรงนี้จะเป็นหน้าดินทั้งหมด และตลิ่งจะอยู่ตรงนู้น (บริเวณแนวเสาไฟ) แต่ปัจจุบันน้ำกัดเซาะเข้าไป กลายเป็นใต้ถุนบ้าน หน้าดินก็สไลด์ลงเรื่อยๆ บางบ้านต้องมีอุปกรณ์เสริมเสาเข้ามา เพื่อป้องกันบ้านทรุดและถล่ม"

เมื่อปี 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางมาเกาะเกร็ด มีชาวบ้านร้องขอให้จัดสร้าง 'เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง' และนายกฯ ตอบรับ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต., อบจ., กรมเจ้าท่า, กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ ที่ต้องร่วมมือกัน 

...

ผู้ใหญ่บอกว่า ร่างแบบก่อสร้างแรกที่หน่วยงานเอามาให้ชาวบ้านดู ไม่ได้เป็นร่างที่ผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านมาก่อน แต่ก็มีความสวยงาม และชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมรับได้

"แบบที่เราเห็น เป็นเขื่อนกันตลิ่งพัง และมีทางเดินเลยเขตเสาไฟฟ้าออกไป 6 เมตร ซึ่งมีความสูงเสมอกับหน้าดินของเกาะเกร็ด แต่ชาวบ้านบางส่วนเสนอปรับเหลือ 3 เมตร เพราะแบบเดิมนั้นกินพื้นที่แม่น้ำมากไป ถ้าถามเรา เราอยากให้ทำเขื่อนตามที่ขอไป เพราะในระยะยาว เขื่อนนั้นจะสร้างความมั่นคงต่อที่อยู่อาศัยและแหล่งท่องเที่ยว หากไม่ทำตอนนี้ วันหนึ่งอาจกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้ไข และเกาะเกร็ดอาจถล่มวันไหนก็ได้" 

แม้ว่าการก่อสร้าง 'เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง' จะทำให้หน้าดินได้รับการปกป้อง มีทางเดินเพิ่มขึ้น การก่อสร้างไม่ได้อยู่บนที่ดินของชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่โครงการนี้กลับทำไม่ได้ เพราะมีชาวบ้านบางส่วนของหมู่ 7 ไม่เห็นด้วย ซึ่งโครงการนี้จะสร้างได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากทุกครัวเรือน 100 เปอร์เซ็นต์ จึงมีการจัดประชุมประชาคมอยู่หลายครั้ง ให้ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน แต่ตอนประชุมก็เกิดความวุ่นวายขึ้น…

...

ผู้ใหญ่พัด สรุปว่า การประชาคมแต่ละครั้ง จึงไม่ได้ข้อยุติที่ลงตัว เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลและแนวทางของตนเอง...

เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง :

'คุณโชติกา' หนึ่งในบ้านชาวบ้านริมน้ำ ผู้ 'เห็นด้วย' และต้องการให้สร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง ตามแบบที่เสนอต่อชาวบ้าน เธอไม่ห่วงเรื่องทัศนียภาพของเกาะเกร็ด แต่ห่วงเรื่องที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยของชีวิต เนื่องจากหน้าดินบริเวณบ้านของเธอถูกน้ำกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้โครงสร้างของบ้านเริ่มร้าว ทรุดตัว และเอียง

คุณโชติกา กล่าวด้วยสีหน้าที่ดูจริงจัง แต่แฝงความกังวลที่ผ่านมาทางคำพูดกับทีมข่าวฯ ว่า "เรามีบ้านที่ใช้อาศัย ไม่ได้เป็นร้านอาหารหรือร้านขายของ จึงต้องการโครงสร้างที่แข็งแรง เมื่อมีนโยบายมาให้ เราและคนส่วนใหญ่ยอมรับ มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่ไม่ยอมรับ ทำให้โครงการไปต่อไม่ได้ ซึ่งเราไม่ขอเอ่ยชื่อเพราะเป็นสิทธิ์ของเขา 

เราคิดว่าหากทำเขื่อนและทางเดินขึ้นตามแบบ 'มันจะสวยมาก' คนจะเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น พอถึงช่วงเย็นก็เปิดไฟให้คนมาวิ่งออกกำลังกายหรือเดินเล่น พอเป็นไปแบบที่เราคิด มันก็จะสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และรายได้ให้ชุมชนเพิ่มอีกในอนาคต"

...

ตอนนี้ที่ดินของคุณโชติกามีพื้นที่หน้าบ้านว่างเปล่า เพราะหน้าดินที่เคยมีถูกน้ำกัดเซาะหายไป เธอจึงวางแผนไว้ว่า หากมีการสร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง และทางเดินด้านนอก เธอจะถมดินบนหน้าบ้านเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมไปถึงทางเดินนั้น และทำร้านค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจจะขายอาหารอีสานตามที่ตนถนัด แต่พอมีข่าวว่าโครงการถูกพับเก็บไป เธอจึงรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก...

ด้าน 'คุณกัลยารัตน' หรือ 'คุณชมพู่' เธอเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้าง 'เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง' ที่ถูกออกแบบโดยไม่ได้ทำการประชาคม...

"เราอยากมี 'เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง' แต่ที่เรามีปัญหากันอยู่คือ เราไม่ต้องการถนนรอบนอกที่เขาจะสร้างกันขึ้นมา" 

คุณชมพู่กล่าวอย่างหนักแน่นว่า "อันนี้คือสิ่งที่อยากบอกให้รู้ มันเป็นความเข้าใจผิด ไม่ใช่คนเกาะเกร็ดแอนตี้ไม่เอาเขื่อน แต่เราไม่เอาถนนรอบนอกแค่นั้นเอง สภาพภูมิประเทศของเราคือ 'เกาะ' นักท่องเที่ยวมาเยือน เขาก็ต้องการเห็นพื้นที่ลักษณะนี้ หากจะมีการก่อสร้างหรือร่างแบบ สิ่งแรกที่อยากให้คำนึงถึงก็คือเรื่อง 'ทัศนียภาพ'

แบบที่เขียนมาให้เราดู จะมีการสร้างถนนรอบเกาะ กว้างกว่า 6 เมตร เราไม่เอา...เราไม่อยากได้ แล้วก็ไม่อยากได้อะไรที่มันสูงๆ ที่หน่วยงานจะสร้างแบบนั้น เพราะแบบดูสวยงาม ซึ่งเราก็ยอมรับว่ามันสวยจริงๆ แต่เกาะเกร็ดมีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว หากอยากเดินเรามีพื้นที่ด้านในให้เดิน ส่วนด้านนอกปล่อยให้เป็นบรรยากาศริมน้ำ"

แม้ชาวบ้านบางส่วนจะไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างรูปแบบเดิม และเคยมีการเจรจาขอปรับเปลี่ยนแบบ แต่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากแบบถูกเขียนขึ้น และของบประมาณไปแล้ว ทำให้คุณชมพู่มองว่า เรื่องนี้กลายเป็น 'ตราบาป' เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างคิดว่า 'คนเกาะเกร็ดดื้อ ไม่ยอมเอาเขื่อน' 

"ตอนนั้นที่มีปัญหา เราเพิ่งฟื้นจากโควิดและน้ำท่วม เพิ่งลืมตาอ้าปากได้ หากมีการก่อสร้างขึ้นมา เราอาจจะต้องหยุดขายของ แม้เขาไม่ได้บอกให้หยุด เพราะหากมีลูกค้ามานั่งที่ร้าน อาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นและเสียงก่อสร้าง

ทุกวันนี้มาโยนบาปให้คนเกาะเกร็ดว่า พวกเราดื้อ ไม่ยอมเอาสิ่งดีๆ ที่เขามอบให้ มันจะเป็นแบบนั้นไปได้ยังไง เมื่อคนที่บ้านอยู่ริมน้ำเดือดร้อน บ้านพี่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำกัดเซาะตลิ่ง แล้วทำไมพี่จะต้องต่อต้านการสร้างเขื่อน เพราะผลประโยชน์มันมีกับเราอยู่แล้ว

แต่ที่เราออกมาพูด เพราะสิ่งที่คุณทำ มันไม่ตรงกับความต้องการของเรา ถ้าจะหาคนผิด ก็คือคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คุณต้องมาออกรับหน้า เพราะคุณสร้างความผิดมาตั้งแต่แรก คุณเขียนแบบและดำเนินการโดยไม่ประชาคมชาวบ้าน และอ้างว่าช่วงนั้นมีโควิด-19 ระบาด จึงประชาคมไม่ได้ รวมถึงตอนช่วงทดสอบตอกเสาเข็ม ก็ไม่ได้แจ้งชาวบ้านก่อน พอเขาตอกแล้วพวกเราถึงรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน แล้วมาบอกว่าที่ต้องทำแบบนี้เพราะงบประมาณลงแล้ว ต้องรีบดำเนินการ

ครั้งหนึ่งเคยมีเอกสารมาให้เราเซ็นชื่อว่า 'จะเอาหรือไม่เอา' ก็ในเมื่อไม่มีความชัดเจนกับเรา เราก็ไม่เอา เราไม่เคยเห็นรูปแบบใหม่ที่มีแค่เขื่อน ดังนั้น หากเราเซ็นไป แล้วการก่อสร้างออกมาเป็นแบบเดิม จะกลายเป็นว่าเราสมยอม"

คุณชมพู่ ระบุว่า หลังจากเกิดปัญหาขึ้น โครงการนี้ก็เงียบหายไป ชาวบ้านยังคงไม่ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อ ตอนนี้ความคาดหวังของเธอ คือ อยากให้มีการตกลงกันใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมถอยครึ่งทางมาพูดคุยกัน...

"เขาเคยบอกว่าอยากรีบทำ พวกเราเลยเสนอให้ไปทำให้หมู่อื่นก่อนดีไหม เนื่องจากช่วงหมู่ 1 และ หมู่ 7 เป็นแหล่งท่องเที่ยว หากมีการก่อสร้างขึ้นมา ร้านค้าอาจจะต้องปิด และการท่องเที่ยวก็สะดุดแน่นอน 

สุดท้ายแล้ว ตอนนี้โครงการก็เงียบหายไปแบบไม่บอกกล่าว เราเสียดายกับงบประมาณตรงนั้น ถ้าจะมาคุยกันอีกครั้ง พวกเราก็ยินดีคุย หากจะมาอ้างว่าไม่มาเพราะเดี๋ยวก็ทะเลาะกัน เราคิดว่ามันไม่ใช่ ทุกวันนี้รออยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำกันแน่ เนื่องจากบ้านทรุดลงไปเรื่อยๆ จนพื้นเกิดรอยแยกออกจากกัน ทำให้ต้องเอาไม้มาปิดไว้ และแก้ปัญหาด้วยตัวเองไปก่อน ก็คือทิ้งหินทำเขื่อนกันหน้าดิน ด้วยเงินตัวเอง ซึ่งการทำแต่ละครั้งก็ใช้เงินถึงหลักแสน"

ความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ 'ไม่' ติดน้ำ :

ทีมข่าวฯ เดินเข้าซอยเล็กๆ สู่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาป้าตุ่ม ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ติดริมน้ำ และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำกัดเซาะ เราจึงพูดคุยและสอบถามความคิดเห็นจาก 'คุณอุ้ย สุทัตตา' ถึงเรื่องการก่อสร้างเขื่อนและปัญหาที่เกิดขึ้น

คุณอุ้ย แสดงความคิดเห็นอย่างเข้าใจต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาจทำให้ผู้ประกอบการริมน้ำที่ต้องการขายอรรถรสบางคนกังวลว่า การสร้างเขื่อนและทางเดินจะทำให้สูญเสียทัศนียภาพของแม่น้ำ และส่งผลกระทบต่อรายได้ของพวกเขา

แต่เธอก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากให้สร้าง เพราะหากบ้านทรุดตัว คนเหล่านั้นอาจกังวลว่า จะไม่มีใครมาช่วยเหลือ จึงอยากกันไว้ดีกว่าแก้ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังหาจุดตรงกลางไม่ได้ เพราะความคิดเห็นของชาวบ้านไม่ตรงกัน...

คุณอุ้ยเผยกับทีมข่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ 'น่าจะ' เป็นผลสืบเนื่องจากความผิดพลาดตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะการออกแบบไม่ได้เกิดการพูดคุยและทำประชาคมก่อน นอกจากนั้น การทดสอบตอกเสาเข็มครั้งแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้แจ้งชาวบ้านก่อนว่าจะมาดำเนินการ จึงสร้างความตกใจให้กับชาวบ้าน และยิ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รู้สึกแย่มากกว่าเดิม แม้ภายหลังจะมีหน่วยงานมาตั้งโต๊ะตอบคำถาม แต่เรื่องก็เกิดขึ้นไปแล้ว ชาวบ้านแตกออกเป็น 2 ฝ่าย และปัจจุบันปัญหาเหล่านั้นก็ยังถูกพูดถึงอยู่

"ลึกๆ ในใจ เราก็อยากให้เกิดการพูดคุยกันอีกครั้ง มาตกลงกันใหม่ว่า ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร ไม่อยากให้คนในชุมชนผิดใจ จนฝังเป็นรากลึกที่อาจแก้ไขไม่ได้ในอนาคต"

ที่มาของปัญหา และสาเหตุยกเลิกโครงการ :

ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดของโครงการได้...ต้องเซ็นยินยอม 100 เปอร์เซ็นต์!

'นายอดุลย์ คันทะพรม' นายช่างโยธาชำนาญงาน อบต.เกาะเกร็ด เผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดทำ 'เขื่อนกันตลิ่งพัง' ต่อทีมข่าวว่า

วันที่ 21 ธันวาคม 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านถึงปัญหา 'น้ำกัดเซาะตลิ่ง' และจากเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ศาลาท่าเรือขนาดใหญ่ของชุมชนมุสลิมหมู่ที่ 2 ถูกน้ำกัดเซาะ กระทั่งจมสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีการวางแผนประสานของบประมาณทำ 'เขื่อนป้องกันตลิ่งพัง' และได้ออกแบบเพิ่มเติมให้มีทางเดินยื่นออกไปในน้ำ เพื่อผสมผสานให้เกิดมิติ ส่งเสริมวิสัยทัศน์เมืองท่องเที่ยวของเกาะเกร็ด ซึ่งสิ่งก่อสร้างจะอยู่ระนาบเดียวกับพื้นดิน ไม่ได้สูงจนบดบังทัศนียภาพ อีกทั้งชาวบ้านยังสามารถสร้างเศรษฐกิจจากตรงนี้ได้ด้วย

หลังจากนั้น ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงให้นายช่างฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการของบประมาณ ซึ่งเดิมแล้วการก่อสร้างจะเกิดขึ้นทั้งหมด 3 โซน คือ โซน A, B และ C (ตามรูป) ระยะทางรวมประมาณ 2,500 เมตร โดยได้คำนวณงบประมาณคร่าวๆ จากราคาวัสดุอุปกรณ์ช่วงปี 2561-2562 อยู่ที่ 2 แสนบาทต่อตารางเมตร รวมแล้วจะใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 876 ล้านบาท

มื่อปี 2565 กรมโยธาธิการฯ ได้อนุมัติงบประมาณครั้งแรก จำนวน 118,776,000 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามแผนช่วงโซน A ระหว่างวัดปรมัยยิกาวาส ถึงวัดเสาธงทอง (ก็คือช่วงที่ทีมข่าวฯ ไปพูดคุยกับชาวบ้าน) รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 800 เมตร

แต่สาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างบริเวณนั้นหยุดชะงัก ได้รับการเปิดเผยจากนายอดุลย์ ว่า "ชาวบ้านช่วงโซน A ประมาณ 100 หลังคาเรือน มีเพียงบ้านริมน้ำ 2-3 หลัง ที่ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมเซ็นยินยอมให้ก่อสร้างผ่านบ้าน (การก่อสร้างไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นที่ของชาวบ้าน) เมื่อไม่ยอมเซ็น กรมโยธาฯ จึงพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดของโครงการได้ จึงยกเลิกโครงการไป หากจะมีการดำเนินของบประมาณใหม่ ก็ค่อยว่ากันอีกที แต่มีข้อแม้ว่าต้องเซ็นยินยอม 100 เปอร์เซ็นต์"

หลังจากที่งบประมาณการก่อสร้างของโซน A ถูกส่งคืนเข้าคลัง นายช่างฯ และ อบต.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากยังมีโซน B และ C ที่โดนน้ำกัดเซาะ ดังนั้น จากการสรุปในที่ประชุม จึงตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างตามการออกแบบเดิมที่ โซน C ก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบหนัก และชาวบ้านร้องเรียนการสร้างเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้นายช่างฯ สามารถเก็บหนังสือยินยอมของชาวบ้าน โซน C ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว และกำลังดำเนินการถ่ายสำเนาเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายช่างฯ เผยถึงสาเหตุที่กรมโยธาธิการฯ ต้องยื่นคำขาดว่า การก่อสร้างต้องได้รับการยินยอม 100 เปอร์เซ็นต์ จากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีกรณีตัวอย่างที่ จ.ปทุมธานี โดยกรมโยธาธิการฯ โดนฟ้องจากชาวบ้าน 2 หลัง ที่ไม่ยินยอมให้ก่อสร้าง และถูกฟ้องเสียหาย 23 ล้านบาท

อบต. ชี้แจง เรื่องไม่แจ้งชาวบ้าน :

สำหรับการออกแบบ นายช่างฯ แจงว่า แม้แบบแรกจะไม่ได้ทำประชาคม แต่เมื่อได้ร่างแบบต่อมา ก็ได้จัดทำประชาคม และชาวบ้านเห็นว่าระยะทางเดินกว้าง 6 เมตร มันมากเกินไป ขอลดให้เหลือ 4 เมตร โดยมีถนนและเขื่อนในการป้องกันตลิ่งพัง แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนต้องการแค่เขื่อน

ทีมข่าวฯ จึงสอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะสร้างแค่ 'เขื่อน' ตามที่ถูกเสนอแย้ง นายช่างฯ อธิบายว่า เราได้ชี้แจงในที่ประชุมประชาคมแล้ว แนวคิดการสร้างถนนเพิ่ม เพื่อเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยว และสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ในอนาคต แต่ทางชาวบ้านบางส่วนยืนยันว่า จะเอาแค่เขื่อนเท่านั้น จึงทำให้โครงการของโซน A สะดุด

กับประเด็นเรื่องการทดสอบระบบตอกเสาเข็ม โดยไม่แจ้งล่วงหน้ากับชาวบ้าน นายช่างฯ อบต.เกาะเกร็ด กล่าวว่า "อบต. ไม่ได้รับแจ้งว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เราไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว พอผู้รับเหมามาถึงก็บอกว่า จะทดสอบการตอกเสาเข็ม เพื่อทดสอบรับน้ำหนักของอาคาร ปัญหาและความไม่พอใจจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ก่อนตอกเสาเข็ม ทางผู้รับเหมาก็ถ่ายรูปไว้ก่อนหมดแล้ว และมีการแจ้งตอนทำประชาคมว่า หากเกิดความเสียหาย พวกเขาจะรับผิดชอบหมด"

"ต้องยอมรับว่า ทางกรมโยธาธิการฯ อาจจะเร่งรัดเรื่องยกเลิกโครงการเร็วไป ถ้าผมประสานแล้วให้ทางผู้รับจ้างของกรมโยธาธิการฯ ทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์ ในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างไว้ และใช้เหตุผลว่าผู้ว่าจ้าง (กรมโยธาธิการฯ) ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างได้ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของมวลชน แล้วเราก็ลองมาคุยกับชาวบ้านอีกรอบ แต่ผมก็เข้าใจถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่โดนแรงกดดันจากชาวบ้านบางส่วน และมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งให้กรมโยธาฯ เป็นจำเลยที่ 1 และผมเป็นจำเลยที่ 2 จึงทำให้พวกเขาตัดสินใจถอยกัน"

คุณอดุลย์ กล่าวความห่วงใยทิ้งท้ายว่า "ส่วนตัวแล้วผมเสียดายโอกาส และเป็นห่วงปัญหาที่เกิดขึ้น เราบอกไม่ได้เลยว่าอีกกี่ปีที่บ้านอาจจะถล่มลงมา แต่ถ้าเมื่อไรเกิดภาวะน้ำแล้ง และไม่มีแรงดันของน้ำ ก็จะส่งผลต่อโครงสร้าง และอาจทำให้โครงสร้างที่รับน้ำหนักบ้านพังถล่มได้ อย่างไรก็ดี ในอนาคตถ้ามีการพูดคุยตกลงกันใหม่ ผมก็พร้อมทำหน้าหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพียงแต่ตอนนี้เราต้องดำเนินการสิ่งที่ทำได้ก่อน"

ปัญหานี้กลายเป็นข้อพิพาทและตราบาปแห่งเกาะเกร็ด ที่เราต้องต้องติดตามกันต่อไป หากมีความคืบหน้าในอนาคตอย่างไร ทีมข่าวฯ จะรายงานให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในเกาะเกร็ด ยังพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนด้วยรอยยิ้ม บริการที่เป็นมิตร และอาหารคาว-หวาน อีกหลายเมนูที่คุณห้ามพลาด ต้องลองไปเที่ยวสักครั้งในชีวิต เผื่อคุณจะติดใจ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย #ThairathPhoto

อ่านบทความเพิ่มเติม :