คุยแบบเปิดใจ กับ วิศวกรหญิง ผู้อยู่เบื้องหลัง ดาวเทียม THEOS-2A และภารกิจ 6 ด้าน ในการบริหารทรัพยากรชาติเพื่อคนไทย...

เรื่องอวกาศใกล้ตัวกว่าที่คิด ทั้งยังมีประโยชน์ต่อชีวิต และประเทศในหลายด้าน ทุกครั้งที่นานาประเทศ เลือกส่งดาวเทียมทะยานสู่วงโคจร นั่นแสดงถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ดาวเทียมดวงนั้นๆ จะต้องทำหน้าที่บางอย่าง เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศผู้เป็นเจ้าของ…

การเดินทางสู่ห้วงอวกาศของ ดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส-2) ที่เพิ่งถูกส่งสู่วงโคจร ณ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 08.36 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็มีภารกิจเช่นกัน ซึ่งหน้าที่ของมัน คือ การเก็บข้อมูลโดยการถ่ายภาพพื้นผิวโลก เพื่อการติดตามสถานการณ์ และการจัดการภารกิจเชิงพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศอีกมากมาย

'THEOS-2' ทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต้องยกโทรศัพท์ต่อสายตรงถึง 'คุณชิดชนก ชัยชื่นชอบ' วิศวกรดาวเทียม THEOS-2A สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวความน่าสนใจของดาวเทียมดวงนี้ พร้อมทั้งเปิดใจถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง ในฐานะหนึ่งในวิศวกรดาวเทียมไทย ผู้มีส่วนร่วมในการผลิตดาวเทียม THEOS-2A

ขอบคุณภาพจาก Arianespace
ขอบคุณภาพจาก Arianespace

...

รู้จักจักรวาล THEOS : 

THEOS (ธีออส) ย่อมาจาก Thailand Earth Observation Satellite หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งคำว่า THEOS พ้องเสียงกับคำว่า Θεός (Theós) ในภาษากรีก ที่แปลว่า 'พระเจ้า'

คุณชิดชนก เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า หลังจาก ดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อ ปี 2551 กระทั่งทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอด 15 ปี และตอนนี้กำลังจะหมดอายุการใช้งาน GISTDA จึงเล็งเห็นว่า ต้องมีการปล่อยดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทน 

โครงการจัดสร้าง THEOS-2 จึงถือกำเนิดขึ้น โดยดาวเทียม THEOS-2 มีน้ำหนักประมาณ 425 กิโลกรัม และมีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 10 ปี จัดทำโดยบริษัท Airbus ประเทศฝรั่งเศส แต่มีผู้ควบคุมการดำเนินงานเป็นคนไทยทั้งหมด 

ขอบคุณภาพจาก Arianespace
ขอบคุณภาพจาก Arianespace

ถือเป็น 'ดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดสูง' 2.5 เมตรต่อพิกเซล มี 2 ชนิดภาพ ได้แก่ ภาพขาวดำ (Panchromatic) 50 เซนติเมตร และภาพสี (Multi-Spectral) 2 เมตร 

"หากอธิบายให้เข้าใจโดยง่าย คือ THEOS-2 สามารถถ่ายภาพรถที่สัญจรบนถนน หรือเรือที่แล่นในมหาสมุทรได้เลย สามารถถ่ายให้เห็นวัตถุที่ขนาดใหญ่กว่า 50 เซนติเมตร ได้แน่นอน ถือเป็นความละเอียดสูงสุด เท่าที่พลเรือนจะสามารถครอบครองได้ โดยจะถ่ายภาพรายวันซ้ำที่เดิมทุกๆ 26 วัน"

นอกจากนั้น ในปี 2562 ทาง GISTDA ได้ส่งทีมวิศวกรดาวเทียมของไทย เข้าร่วมฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน ของการออกแบบและพัฒนาดาวเทียมกับ Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) ณ เมืองกิลฟอร์ด สหราชอาณาจักร 

จากการเดินทางแสวงหาองค์ความรู้ครั้งนั้น ทำให้ทีมวิศวกรดาวเทียมไทย สามาถจัดสร้างดาวเทียม 'THEOS-2A' โดยมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม และ GISTDA มีแผนปล่อยขึ้นสู่วงโคจร ประมาณเดือนมกราคม 2567 เพื่อไปเป็นกำลังเสริมให้กับ THEOS-2

ขอบคุณภาพจาก Arianespace
ขอบคุณภาพจาก Arianespace

...

ประโยชน์ 6 ด้าน ของ THEOS-2 :

อย่างที่ ทีมข่าวฯ ได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่า THEOS-2 มีภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ต้องทำเพื่อประเทศไทย โดยหลังจากการพูดคุยกับคุณชิดชนก และทราบข้อมูลจาก GISTDA ทำให้พบว่า ข้อมูลที่จะได้รับจากดาวเทียม จะถูกนำมาใช้เพื่อการบริการภูมิสารสนเทศ ได้ทั้งหมด 6 ด้าน 

1. ด้านการจัดทำแผนที่ หรือ Mapping Center 

ด้วยความสามารถด้านการบันทึกภาพอันสุดยอด! ของ THEOS-2 จะทำให้ประเทศไทย สามารถนำข้อมูลจากภาพถ่าย ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตร ต่อวัน ที่ถูกส่งลงมา ณ สถานีภาคพื้นดิน มาสรุปและประมวลผลข้อมูล สำหรับการผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ 1:1000 เพื่อการแสดงข้อมูลที่หลากหลายในเชิงพื้นที่ได้

...

2. ด้านการจัดการเกษตรและอาหาร หรือ Agriculture & Food Security 

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และครัวโลก ทั้งยังมีอาหารเลิศรสอีกมากมาย ข้อมูลที่ได้รับจาก THEOS-2 จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่การเกษตรของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถคาดการณ์ผลผลิต ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ นั่นอาจแสดงถึงการยกระดับการเกษตรของไทย ให้ก้าวไปอีกขั้น! 

3. ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม หรือ Integrated Water Management

น้ำเป็นอีกสิ่งที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ THEOS-2 จะสามารถถ่ายพื้นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำได้ทั่วประเทศ สิ่งนี้จะทำให้เราบริหารจัดการน้ำ ในระดับชุมชนจนถึงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

...

 4. ด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ Disasters & Geo-Hazards 

ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่อันตราย และสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ข้อมูลที่ได้รับจะทำให้ประชาชนคนไทย มีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะข้อมูลจะถูกนำไปประมวลผลคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที และเป็นการป้องกัน หรือบรรเทาภัยที่อาจเกิดขึ้น 

แต่หากเกิดความเสียหายแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ ก็ไม่เสียประโยชน์แต่อย่างใด มันยังช่วยสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และจะทำให้มีข้อมูล ไว้จัดการการเยียวยาประชาชนได้อย่างเป็นธรรมอีกด้วย

5. ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หรือ Urban, Economic Corridor Planing 

ข้อมูลจาก THEOS-2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงสร้างพื้นฐาน และการวางแผนพัฒนาเมืองของประเทศ เช่น การจัดการน้ำ, รถไฟความเร็วสูง, การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงบริการสาธารณะของสังคมได้

6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ หรือ Natural Resources & Ecosystem 

ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ และดูแลให้มาก ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป ข้อมูลจาก THEOS-2 จะมีส่วนช่วยรักษาสมดุล ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ 

นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า บริหารจัดการป่าชุมชน และดูพื้นที่ที่มีข้อพิพาท เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลและลงตัว

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ทั้ง 6 ด้าน ล้วนมีความสำคัญ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งสิ้น การขึ้นสู่วงโคจรของ THEOS-2 จึงเหมือนเป็นความหวังให้คนไทยอีกครั้ง ที่จะมีข้อมูลดีๆ จากผลงานของคนไทย มาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทยอีกครั้ง…

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

THEOS-2A เสริมกำลัง THEOS-2 :

คุณชิดชนก ให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับทีมข่าวฯ ว่า โดยปกติแล้วดาวเทียมมีวงโคจรคงที่ แต่โลกเราจะหมุนไปเรื่อยๆ ทำให้ THEOS-2 และ THEOS-2A จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 ครั้ง คือ กลางวัน 2 ครั้ง และกลางคืน 2 ครั้ง ในช่วงกลางวันจะใช้ในการถ่ายรูป และกลางคืนจะใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล ดังนั้น การที่มี THEOS-2A เข้ามาช่วย ก็จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลสำหรับการทำงานมากขึ้น

นอกจากนั้น THEOS-2A ที่ถูกประดิษฐ์โดยฝีมือคนไทย ยังมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย เช่น โหมดบันทึกภาพวิดีโอ, โหมดชี้เป้าเฉพาะพื้นที่ที่สนใจ และยังสามารถปรับองศาดาวเทียมเพื่อทำข้อมูลประเภท 3 มิติ 

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

คุณชิดชนก กล่าวว่า ยังอีกโหมดที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์เช่นกัน คือ มีอุปกรณ์ชื่อ AIS ไว้รับสัญญาณเรือ และ ADS-B ไว้รับสัญญาณเครื่องบิน ซึ่งทั้งสองตัวนี้ จะทำให้เราสามารถระบุตำแหน่ง และติดตามได้อย่างแม่นยำ

"เรือและเครื่องบิน ต้องระบุตัวตนและแจ้งจุดหมายปลายทาง รวมถึงต้องแจ้งว่ามาจากไหน เมื่อมีภาพถ่ายจากดาวเทียม ก็นำไปจับคู่กับสัญญาณที่ได้รับ หากมีลำไหนที่แปลกปลอมเข้ามา เราจะสามารถรู้ได้ 

ตัวอย่าง เช่น เรือปล่อยสัญญาณมา 5 ลำ มีการแจ้งรูปพรรณของเรือทั้งหมด แต่ข้อมูลรูปภาพที่เราถ่ายได้ไม่ตรงกับข้อมูลที่แจ้ง ก็อาจจะทำให้เราเห็นเรือที่ผิดกฎหมาย หรือเวลามีข้อพิพาททางน่านน้ำ เราก็จะมีทั้งหลักฐานที่เป็นสัญญาณและภาพถ่าย 

ในกรณีตัวอย่างของเครื่องบิน คือ หากติดต่อเครื่องบินไม่ได้ แต่ THEOS-2A สามารถรับสัญญาณสุดท้ายได้ ก็จะมีข้อมูลในการช่วยค้นหา"

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ :

นอกจากข้อมูลที่จะได้รับจาก THEOS-2 จะมีประโยชน์ด้านบริการภูมิสารสนเทศแล้ว โครงการของ THEOS-2 ที่ GISTDA ต่อยอดสู่ THEOS-2A ยังมีประโยชน์ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอีกด้วย… 

คุณชิดชนก เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า หลังจากทีมวิศวกรดาวเทียมไทย เดินทางกลับประเทศ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Know-How Transfer and Training (KHTT) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้นำองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ในการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A ที่บริษัท SSTL มาถ่ายทอดให้กับทีมวิศวกรไทยรุ่นต่อไป 

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

วิศวกรหญิง เล่าต่อว่า GISTDA เล็งเห็นและมีความหวัง ที่ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีตลอดไป เนื่องจากในอนาคตแม้ประเทศจะมีทุน แต่ถ้าประเทศผู้ผลิตไม่ขาย เราก็ทำอะไรไม่ได้

คำพูดของเธอ แสดงความกังวลใจที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นว่า "ตอนนี้อุปกรณ์บางชิ้นมีราคาสูงขึ้นมาก จากหลักหมื่นสู่หลักแสน รวมถึงบางชิ้นก็หยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากไปเน้นผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องอื่น เช่น อาวุธ ที่ทำกำไรได้มากกว่า ทำให้พวกเราต้องเริ่มพัฒนาคนไทย และประเทศไทย ให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองบ้างแล้ว"

ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา GISTDA จึงมุ่งเน้นด้านการวิจัย พัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตอยู่แล้ว รวมไปถึงอุตสาหกรรม เครื่องเย็บ อุตสาหกรรมไฟฟ้า ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ที่สนใจต่อไป

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

ความยากของการถ่ายทอดองค์ความรู้ :

คุณชิดชนก ยอมรับว่า การต้องกลับมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่ได้ไปร่ำเรียนผ่านการทำงานมา ถือเป็นเรื่องที่ยากและใหม่สำหรับพวกเขามาก เพราะข้อมูลบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะทาง จึงอาจจะยากที่ต้องสื่อสารออกไป…

"พวกเราใช้เวลาการเตรียมตัวประมาณ 1 ปี มีการลองอัดคลิปสอน แล้วให้ทีมงานส่วนอื่นๆ ลองรีวิว ว่าสิ่งที่เราพูดหรือสอนนั้นยากไปไหม และหากส่วนไหนควรแก้ไข เราก็จะมีการปรับแก้กันภายใน พอปล่อยเนื้อหาออกไปแล้ว เราก็จะถามผู้เรียนกลุ่มแรก ว่าควรปรับปรุงส่วนไหนเพิ่มเติมไหม

พวกเราพยายามจะเขียนหลักสูตรที่ไม่ยากจนเกินไป เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ และเทคนิคในการทำดาวเทียม ว่าหลักของมันคืออะไร และผู้เรียนอาจจะเกิดแนวคิดในการต่อยอดกับนวัตกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย"

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

ก้าวสู่ THEOS-3 :

จากการพูดคุยกับวิศวกรหญิงของเรา ทำให้ทีมข่าวฯ ได้รู้ว่า ขณะนี้ GISTDA มีแผนจัดสร้าง ดาวเทียม THEOS-3 ซึ่งปัจจุบันได้มีการสัมมนา และประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะเบื้องต้น 

"ตอนนี้ได้ออกแบบครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว โครงการจะได้รับงบประมาณเป็นรายปีจากรัฐบาล หลังจากได้รับงบประมาณแล้ว จะเริ่มดำเนินการผลิตชิ้นส่วน THEOS-3 ต่อไป และยังมีการวางแผนไว้ว่า ดาวเทียม THEOS-3 จะสร้างและประกอบที่ประเทศไทย"

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

เหตุที่ GISTDA มีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า จะสามารถประกอบ THEOS-3 ที่ไทยได้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ในปี 2565 ที่ THEOS-2A ถูกส่งมาถึงประเทศไทย และได้รับทดสอบระบบดาวเทียม เช่น การทนต่อแรงสั่นสะเทือน, การทนต่ออุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ, การหมุนตัว ที่ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (AIT) ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 

หลังจากทดสอบแล้ว พบว่าข้อมูลที่ได้รับตรงกับผลทดสอบ ที่ทีมวิศวกรฯ ทดสอบเมื่อยังอยู่สหราชอาณาจักร จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า บุคลากรและเครื่องมือของ GISTDA ก็มีคุณภาพและศักยภาพเช่นกัน

ขอบคุณภาพจาก GISTDA
ขอบคุณภาพจาก GISTDA

การเรียนรู้ และอุปสรรค การทำงานในต่างแดน :

การไปทำงานที่ สหราชอาณาจักร ทำให้ทีมวิศวกรฯ ได้พบประสบการณ์มากมาย ทั้งเรื่องดีๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ รวมไปถึงอุปสรรคต่างๆ ที่พวกเขาต้องฝ่าฟัน

คุณชิดชนก พูดถึง ส่วนดีจากการได้ไปทำงานต่างประเทศ คือ การได้เรียนรู้รูปแบบการทำงานที่กระชับและชัดเจน เพราะคนไทยประชุมขั้นต่ำ 1 ชั่วโมง แต่อาจจะได้ข้อมูลน้อย แต่ที่ต่างประเทศประชุมประมาณ 30 นาที เนื้อหาครบถ้วน และทุกอย่างจบในที่ประชุม ทุกคนสามารถทำงานกันต่อได้เลย ซึ่งทางทีมได้นำเรื่องนี้มาปรับใช้ที่ประเทศไทยด้วย

การทำดาวเทียมเป็นการทำงานที่รวมหลายศาสตร์ และคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน ต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างมาก หากมีการเข้าประชุม ทุกคนจะต้องเตรียมเนื้อหาส่วนของตนเอง และพูดคุยตกลงทุกอย่างให้เรียบร้อยในการประชุมนั้นๆ เพราะเมื่อประชุมเสร็จเรียบร้อย ทุกคนจะสามารถทำงานต่อได้เลย

ส่วนอุปสรรคหลัก คือ การเดินทางไปทำงานในช่วงวิกฤติ โควิด-19 จากเดิมที่ต้องเข้าทำงานทุกวัน ก็ต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน คือ มีการแบ่งทีมออกเป็นทีม A และทีม B 

ในแต่ละสัปดาห์ทั้งสองทีมจะสลับกันเข้าไปทำงาน ณ สถานที่จริง และเมื่อจบงานในแต่ละวัน ก็จะมีการ VDO Call กัน เพื่อสรุปงาน ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะถ้าทีมใดทีมหนึ่งได้รับเชื้อ โควิด-19 ก็จะต้องหยุดพักทั้งหมด และให้อีกทีมเป็นผู้ดำเนินงานต่อ 

"ในตอนที่เราอยู่บ้าน เราก็จะเตรียมคู่มือ วิธีการทำงาน เอกสาร และข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์ผ่านโปรแกรม และโหลดข้อมูลเข้าระบบ เพื่อในวันที่ได้เดินทางเข้าไปที่บริษัท เราก็จะได้ไปทำงานตามวิธีการที่เตรียมไว้ ช่วงโควิดถือว่าทำให้เราต้องรู้จักปรับปรุง และวางแผนให้มากขึ้นกว่าเดิม"

ความพยายามและความมุ่งมั่นของเธอ ถูกส่งผ่านจากการเล่าเรื่องในการทำงานว่า ปกติแล้วการสร้างดาวเทียมหนึ่งดวง จะต้องใช้กำลังคนอย่างน้อย 50 คน แต่ทีมวิศวกรดาวเทียมไทยที่เดินทางไป มีเพียง 22 คน ทำให้ทุกคนต้องคอยย้ำเตือนตัวเองเสมอว่า "เรามาเรียนรู้ เพื่อที่จะกลับไปสร้างเอง" ดังนั้น ทุกคน ทุกฝ่าย จึงต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งยังต้องเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดต่อไป

ความกังวลในอนาคต :

แม้คุณชิดชนกจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ THEOS-2 เนื่องจากมีทีมวิศวกรจาก THEOS-1 รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เธอก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมสร้าง THEOS-2A และจะเป็นแรงสำคัญ สำหรับการสร้าง THEOS-3 ในอนาคต

สำหรับเรื่องเทคนิค หรือวิธีการทำงาน วิศวกรหญิงของเรา ให้ความคิดเห็นว่า ค่อนข้างพร้อม และมั่นใจว่า GISTDA สามารถทำดาวเทียม THEOS-3 ได้เองในประเทศไทยแน่นอน

แต่ส่วนที่เธอกังวลก็คือ "กำลังคนและการส่งเสริมในระยะยาว" เนื่องจากคนที่จะเข้ามาทำดาวเทียมนั้นมีน้อย เพราะส่วนใหญ่มองว่า 'ยาก'

"บางครั้งที่เราเปิดรับสมัครงาน มีคนมาสมัครเพียง 4-10 คน เราไม่อยากให้ทุกคนมองว่ายาก จนปัดโอกาสของตัวเองทิ้งไป อยากให้เข้ามาลองพูดคุยการทำงานกันก่อน นอกจากนั้น การที่พวกเรากลับมา 2 ปี เรารู้ได้เลยว่าปัญหาหลักอยู่ที่ส่วนนี้

GISTDA และทีมงาน จึงพยายามเข้าไปตามมหาวิทยาลัย และเชิญชวนนักศึกษาที่สนใจให้เข้ามาฝึกงาน เพื่อให้มาเรียนรู้กันก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่า ยาก หรือง่าย หากฝึกงานเสร็จแล้ว และสนใจทำงานต่อ ก็สามารถกลับมาทำงานกับพวกเราได้

อยากให้ทุกคนให้โอกาสตัวเอง โอกาสที่จะได้ทำดาวเทียมเป็นทีมแรก สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่เริ่มจากเรา มันก็จะไม่มีคนเริ่ม"

นอกจากนั้น เธอยังบอกกับทีมข่าวฯ ว่า การทำดาวเทียมใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ ต้องการการส่งเสริมระยะยาวจากภาครัฐ เบื้องต้นมีการประสานของบประมาณไปแล้ว แต่งบประมาณที่ได้จะเป็นแบบรายปี ก็จะท้าทายตรงที่ว่า งบอาจจะไม่ได้ตามที่ขอทุกครั้ง พวกเราก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอยู่เสมอด้วย 

คุณชิดชนกกล่าวทิ้งท้ายว่า "เรามองว่าในอนาคต วงการอวกาศจะพัฒนากว่านี้แน่นอน และน่าจะเกิดข้อพิพาทขึ้น ดังนั้น เราต้องร่วมกันพัฒนาบุคลากร รวมถึงปลูกฝังความรู้และความสนใจต่างๆ 

การสร้างคนไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน เราต้องค่อยๆ สร้าง ส่งเสริมพวกเขาไป ให้พวกเขามาเห็นการทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่จะก้าวสู่การเป็นผู้พัฒนาวงการอวกาศไทยในอนาคต"

หากใครที่สนใจเรียนรู้ และอยากจะลองสักตั้ง! สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ GISTDA TRAINING CENTER หรือโทรสอบถาม Contact Center 0-2141-4444 หรือ 0-2141-4674

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :