นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านการใช้งบ 560,000 ล้านบาทของรัฐบาล ”เศรษฐา” ยืนยันจะเดินหน้าแจกให้กับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน คาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าให้ขยายตัว 5-6% ล่าสุดได้แต่งตั้งบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต เร่งพิจารณาหาแหล่งเงิน โดยมีแนวโน้มจะยืมเงินสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารออมสิน ก่อนจะเริ่มแจกเงินดิจิทัล 1 ก.พ. 2567 และนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้
 
ไม่สนคำคัดค้านใดๆ แม้ว่า 2 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติทั้งดร.วิรไท สันติประภพ และดร.ธาริษา วัฒนเกส ได้ลงชื่อในแถลงการณ์ค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล ร่วมกับเหล่านักเศรษฐศาสตร์ มองว่าได้ไม่คุ้มเสียกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ และสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม เพราะเศรษฐีและมหาเศรษฐี อายุเกิน 16 ปี จะได้ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น ขณะที่ภาคเอกชนเสนอให้จำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ใช้ฐานแอปฯ เป๋าตัง 40 ล้านคน เพื่อนำงบที่เหลือประมาณ 160,000 ล้านบาท ไปบริหารจัดการน้ำแทน

เงินดิจิทัล ก่อหนี้ให้ประเทศ ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

...

กระแสคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลมีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะใช้งบมหาศาล ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยมีการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นรัฐบาล “ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ไม่แปลกใจกับเสียงคัดค้านครั้งล่าสุดนำโดย 2 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แต่จริงๆ แล้วมีคนพูดถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพราะไม่เห็นภาพชัดเจนด้านวิธีการหาแหล่งเงินว่าจะหาอย่างไร แต่พอเห็นภาพชัดก็ไม่ต่างจากการก่อหนี้ ไม่ว่าก่อหนี้จากต่างประเทศ หรือในประเทศ ก็มีนัยเดียวกัน ทำให้มีภาระหนี้ จึงมีการคัดค้านในการใช้เงินเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเห็นหลากหลายว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ และผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มองว่ากระตุ้นได้ไม่มาก เป็นการมองเรื่องเสถียรภาพมากกว่า จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งศักยภาพเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-3% ไม่คิดว่าจะโตถึง 5%

“แล้วก็ไม่มีเหตุผลจะต้องใช้เครื่องมือทางการคลังไปกระตุ้นแบบนี้ ไม่มีเหตุจำเป็นในการใช้จ่ายแบบนี้ เพราะจะทำให้เงินเฟ้อ แบงก์ชาติก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัด ไม่แปลกใจที่นักเศรษฐศาตร์คัดค้าน กับคำถามแรกกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรด้วยการแจกแบบเหมาจ่ายคนอายุ 16 ปีขึ้นไป และยังจำกัดพื้นที่ใช้จ่ายอีก ในแง่ความคุ้มค่าแบบนักธุรกิจ กับนักเศรษฐศาสตร์มองต่างกัน และตัวเลขอาจไม่เหมือนกัน นักเศรษฐศาสตร์มองเป็นนโยบายคลังไม่ง่ายอย่างนั้น ไม่เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แทนที่จะเอางบ 5.6 แสนล้านไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า หรือจะเอาไปลงทุนอะไรให้ได้มรรคผลที่ชัดเจน”

หากใช้จ่ายแบบนี้ในโครงการเงินดิจิทัล เห็นปัญหากันอยู่ และขนาดยังไม่เริ่มต้น ยังปั่นป่วนกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน เพราะในแง่ความคุ้มค่าไม่มีเลย ยกตัวอย่างถ้าจะแจกเงิน ด้วยนโยบายให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี แล้วเอาเงินไปจ่ายให้บีทีเอส ก็มีค่าเหมือนกันในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ แต่คนต่างจังหวัดไม่ได้ใช้ด้วย

หรือให้ขึ้นมอเตอร์เวย์ฟรี ก็ใช้เงินเหมือนกัน มีทางเลือกมากมายกับการใช้เงินก้อนนี้ หรือไม่จำเป็นใช้ทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาทก็ได้ และทุกวันนี้โครงการรถไฟฟ้า ก็ขาดทุนไม่เกิดประโยชน์ แต่อย่างน้อยได้กระตุ้นให้คนไปใช้บริการ มีหลายทางเลือกสามารถใช้งบให้เป็นประโยชน์ในแง่ความคุ้มค่าให้ชัดเจน

ข้อเสนอแจกเงินดิจิทัลให้คุ้มค่า ต้องไม่ให้แบบเปล่าๆ

ความเสี่ยงจากนโยบายเงินดิจิทัล ได้สร้างความตื่นตระหนกในตลาดเงิน ตลาดทุน จากความกังวลจะทำให้อันดับเครดิตของประเทศถูกปรับความน่าเชื่อถือลงไป จะกระทบกันไปทั้งหมด แต่ก็เข้าใจในแง่การเมืองว่าจะต้องทำ ควรต้องไปดูในรายละเอียดว่าแจกอย่างไรให้ได้ผลคุ้มค่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นสิ่งแรกต้องทำ และการแจกเงินดิจิทัลฟรีๆ โดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ โดยเฉพาะด้านการคลังจะก่อหนี้

...

หากเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้แล้ว ย่อมสร้างรายได้ให้กับผู้คน จะต้องทำข้อตกลงกันไปเลยว่าอีก 3 ปี หรือในปี 2570 จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ซึ่งก็เป็นอัตราเดิม มีการยกเว้นมาตลอด 10 ปี จากนั้นปีถัดไปค่อยขยับขึ้นแบบขั้นบันได ปีแรก 1% ปีที่สอง 2% และปีที่สาม 3% เพื่อให้มีที่มาที่ไป เป็นการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง

“คนจะมาประเมินเครดิตเรตติ้ง ก็มาดูหลังจากนี้ในปี 2570 เพราะมีที่มาที่ไป ไม่ใช่กู้เงินไปแล้วหายไป ต้องสร้างความมั่นใจ จากผลการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แจกแบบให้เปล่าฟรีๆ จะต้องมีเงื่อนไข ต่างกับกรณีแจกแบบให้เปล่าตอนโรคระบาดในช่วงนั้นทำได้ แต่อยู่ๆ จะมาแจกคงไม่ได้ สุดท้ายต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่แบมือรับไปเปล่าๆ และยอมรับก็มีจุดอ่อน บางคนบอกว่าไม่รับเงินดิจิทัลคงไม่ได้ เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐก็ได้อานิสงส์จากการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับขยับขึ้นเป็นขั้นบันได และไม่ว่าจะแจกเงินดิจิทัลในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ไม่มองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องมีเงื่อนไขข้อตกลง ไม่ได้ให้อย่างเดียว”